ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : คำว่า “เดือน” มาจาก “ดวงจันทร์” เป็นระบบนับและคำนวณเวลาที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ว่ากันว่าเครื่องมือในการช่วยนับวันเวลาที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์นั้นก็คืออะไรที่เรียกว่า “ดวงจันทร์”

และก็แน่นอนว่า เป็นการนับระยะเวลาเอาจากการสังเกตข้างขึ้น-ข้างแรมนั่นเอง

ไม่ว่ามนุษย์แต่ดั้งเดิมจะทราบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ จะเกิดการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์หรือเปล่าหรือไม่ก็ตาม?

แต่ก็มีการกล่าวอ้างกันอยู่เนืองๆ ว่า หลักฐานของการใช้พระจันทร์ในการนับวันเวลานั้นเก่าแก่ไปจนถึงสมัยหินเลยทีเดียว

ส่วนตัวอย่างที่มักจะยกมาอ้างกันนั้นก็มีทั้งชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ อายุ 30,000 ปีมาแล้ว (บ้างก็ว่าเก่าถึง 38,000 ปีมาแล้ว) จากจังหวัดดอร์ดอญ (Dordogne) ประเทศฝรั่งเศส ที่มีการแกะสลักลวดลายเป็นรูตื้นๆ และรอยขูดขีดสั้นๆ จำนวนมาก

ซึ่งมีผู้สันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่าเดา) ว่า คือสัญลักษณ์ที่ใช้นับเวลา 2 เดือนครึ่ง จากปรากฏการณ์ข้างขึ้น-ข้างแรมของดวงจันทร์ และกระดูกนกอินทรี อายุ 13,000 ปี จากถ้ำปลาการ์ด (Placard) ในเขตจังหวัดดอร์ดอญเหมือนกัน ที่ก็มีรอยขีดตื้นๆ จำนวนมาก สลักเรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ ที่ก็มีผู้สันนิษฐานอีกเหมือนกันว่าคือปฏิทินโบราณ

นอกจากนี้ยังมีรูปสลักพระแม่ถือเขาสัตว์ อายุ 27,000 ปี จากโลส์เซล (Laussel) ในฝรั่งเศส ซึ่งก็มีคนสันนิษฐานอีกเหมือนกันว่า รอยขูดขีดบนรูปเขาสัตว์ในมือพระแม่ทั้ง 13 ขีดนั้น หมายถึงจำนวนเดือนทั้ง 13 ในรอบหนึ่งปี (คือจำนวนเดือนเมื่อนับอย่างหยาบๆ ตามปฏิทินจันทรคติโบราณ ที่แต่ละปีจะมี 12 เดือนบ้าง 13 เดือนบ้าง เนื่องจากการปัดเศษของวันไม่ลงตัวในแต่ละปี ในทำนองเดียวกับที่บางปีชาวจีนมีเทศกาลกินเจสองรอบนั่นเอง)

น่าสังเกตนะครับว่า ในบรรดาตัวอย่างทั้งหมดที่ผมยกมาข้างต้นนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากประเทศฝรั่งเศส โดยในช่วงระหว่างสมัยหินที่มีการสร้างอะไรต่างๆ เหล่านี้ สภาพภูมิอากาศในฝรั่งเศสนั้นก็หนาวจนจับขั้วหัวใจ ในขณะที่สภาพแวดล้อมก็กลาดเกลื่อนไปด้วยหิมะกับก้อนน้ำแข็ง ไม่ต่างอะไรกับภูมิอากาศและภูมิประเทศในแถบพื้นที่อะแลสกาทุกวันนี้เท่าไหร่นัก

 

ดังนั้น ในรอบปีหนึ่งๆ มนุษย์สมัยหินเหล่านี้ก็คงจะมีช่วงฤดกาลที่แทบจะไม่ได้เห็นแสงตะวันเท่าไหร่นัก การนับวันเวลาโดยสังเกตเอาจากปรากฏการณ์ข้างขึ้น-ข้างแรมของดวงจันทร์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการรับรู้ถึงเวลานั้น ก็ย่อมช่วยให้มนุษย์เหล่านี้สามารถคาดคะเนและจัดการกับอะไรหลายๆ อย่างในธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่รอบตัวของพวกเขาได้มากเลยทีเดียว

ตัวอย่างชัดเจนก็อาจจะเปรียบเทียบได้จากการที่ในทุกวันนี้พวกออสเตียก (Ostiak) ชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาตระกูลยูกริก (Ugric) ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่อันหนาวเหน็บจนทารุณอย่างไซบีเรียนั้น ก็ยังมีการใช้ปฏิทินโบราณตามแบบฉบับของพวกเขาเอง

อาจจะเรียกได้ว่า ปฏิทินของพวกออสเตียกนั้นเป็นปฏิทินที่มีรูปแบบเก่าแก่ที่สุดในประวัติพัฒนาการปฏิทินของมนุษย์เลยก็ว่าได้

พวกเขาสังเกตช่วงระยะเวลา โดยเทียบเคียงกับดวงจันทร์ว่ามีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม หรือบริเวณที่พวกเขาอยู่อาศัยอย่างไรบ้าง?

ซึ่งก็เป็นด้วยการสังเกตเช่นนี้เองที่สร้างเสริมประสบการณ์จนค่อยๆ ต่อยอดจากการนับวงจรเวลาแค่หลักเดือน จนเพิ่มมาเป็นหลักปี

และมันก็แสดงออกมาในรูปของชื่อเดือนที่พวกเขาใช้เรียก เช่น เดือนวางไข่, เดือนที่เป็ดกับห่านอพยพออกไป หรือเดือนของลม ซึ่งก็คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในแต่ละปี เป็นต้น

มนุษย์สมัยหินที่ดำรงชีวิตอยู่ในยุคน้ำแข็ง ไม่ว่าจะที่ดอร์ดอญ หรือโลส์เซล เมื่อ 30,000-13,000 ปีที่แล้วก็อาจจะใช้ “ดวงจันทร์” ในการทำหน้าที่อย่างเดียวกันกับพวกออสเตียก โดยมีเครื่องมือที่ขีดเขียนสัญลักษณ์บนกระดูก หรือเขาสัตว์ ไว้ช่วยในการจดจำ หรือคำนวณคืนวัน หรือฤดูกาลที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการกับสภาพแวดล้อม เพื่อความอยู่รอดได้นั่นเอง

 

แต่ก็นั่นแหละครับ บางทีแล้วรอยขูดขีดบนกระดูกสัตว์เหล่านั้นอาจจะเป็นเพียงแค่ลวดลายประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม โดยที่เจ้ากระดูกหรือเขาสัตว์เหล่านั้นก็เป็นเพียงเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ไม้สอยอย่างอื่นก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็ล้วนแต่เป็นการคาดเดา (ศัพท์ลำลองของคำว่าสันนิษฐาน) ของนักวิชาการเท่านั้นนี่ครับ?

และอันที่จริงแล้ว การตั้งชื่อเดือนในทำนองเดียวกับพวกออสเตียกนั้นก็ยังพบในอีกหลายกลุ่มวัฒนธรรม ที่ยังคงรูปแบบการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเขตพื้นที่หนาวเหน็บเจียนตายอย่างไซบีเรีย ตัวอย่างเช่น พวกชนพื้นเมืองในพื้นที่แถบนัตเชซ (Natchez) ทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ รัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ก็มีชื่อเดือนอย่าง เดือนของกวาง, เดือนแห่งหมี หรือเดือนข้าวโพดอ่อน เป็นต้น

ดังนั้น สภาพแวดล้อมที่หนาวเหน็บจึงอาจจะไม่ใช่ข้ออ้างที่หนักแน่นเพียงพอนัก อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีการนับเดือนของมนุษย์นั้นก็ยังคงมี “ดวงจันทร์” เป็นหมุดหมายอ้างอิงสำคัญ โดยมีวิธีการนับ หรือเรียกชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพแวดล้อมในแต่ละสังคมวัฒนธรรม

 

ตัวอย่างเก่าแก่ (แต่ไม่เก่าไปจนถึงสมัยหิน) ที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงการให้ความสำคัญกับดวงจันทร์ก็คือ ในวัฒนธรรมของพวกกรีก ที่มีปกรณัมปรัมปราถึงเทพีแห่งดวงจันทร์เอาไว้อย่างสลับซับซ้อน

สำหรับชาวกรีกแล้ว เทพีแห่งดวงจันทร์มีถึง 3 องค์เลยนะครับ

โดยแต่ละองค์นั้นก็แสดงถึงบทบาทและสัญลักษณ์ของพระจันทร์ที่แตกต่างกันคือ

เฮอเคต (Hecate) เป็นเทพีแห่งจันทร์เดือนมืด

อาร์ทีมิส (Artemis หรือที่โรมันเรียก ไดอาน่า, Diana) เป็นเทพีแห่งดวงจันทร์ที่ไม่เต็มดวง

และซีลีน (Selene ที่พวกโรมันเรียก ลูนา, Luna) คือเทพีแห่งจันทร์เพ็ญ

ลักษณะอย่างนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและบทบาทของข้างขึ้น-ข้างแรมในวัฒนธรรมของชาวกรีก จนถึงกับสะท้อนออกมาให้เทพีประจำดวงจันทร์นั้น

ยังต้องมีการจำแนกให้มีบทบาทเฉพาะว่าเป็นเดือนมืด เดือนเพ็ญ หรือเดือนเสี้ยวเลยทีเดียว

และนั่นก็คงเป็นเพราะไปด้วยเหตุที่ว่า พวกกรีกนั้นได้นำความรู้ทางด้านดาราศาสตร์มาใช้ในการจำแนกวันเวลาและฤดูกาล เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตอย่างละเอียดลออกว่าชุมชนแบบดั้งเดิมในสมัยหินของฝรั่งเศส หรือพวกออสเตียก กับชนพื้นเมืองในพื้นที่แถบนัตเชซเป็นอย่างมาก

ดังจะเห็นได้จากบทกวีเรื่อง “การงาน และวารวัน” (Works and Days) ของมหากวีชาวกรีกชื่อเฮสิออด (Hesiod) ที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 2,800 ปีที่แล้ว ซึ่งได้พร่ำพรรณนาถึงความเกี่ยวข้องระหว่างวิถีชีวิตในรอบปีตามอย่างชื่อบทกวีของเขานั่นแหละ

ในบทกวีชิ้นที่ว่า เฮสิออดได้กล่าวสั่งสอนน้องชายของเขาที่ชื่อเพอร์เซส (Perses) ซึ่งดูจะไม่ค่อยสนใจในประเพณีความเป็นอยู่และหน้าที่การงานตามขนบตามประสาเด็กหนุ่ม ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเหมาะสม

โดยได้กล่าวถึงเวลาในแต่ละช่วงของปีว่า ชาวกรีกในยุคโน้นมีกิจวัตรอย่างไร

ซึ่งหลายส่วนของบทกวีชิ้นนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความรู้ในการนับวันเวลาได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างเช่น

“…ยามเมื่อดาวโอไรออน (Orion) และดาวซีริอุส (Sirius หรือ Seirios) ตั้งตรงอยู่ที่กลางฟากฟ้า และอุษาสางตั้งตรงอยู่หน้าดาวดวงแก้ว (Arcturus) เพอร์เซสเจ้าจงไปเก็บเกี่ยวผลองุ่น และนำกลับไปที่บ้านด้วยตัวของเจ้าเอง นำผลองุ่นไปตากอยู่ต่อหน้าดวงอาทิตย์จนครบสิบทิวาและสิบราตรี แล้วห่มคลุมพวกมันด้วยร่มเงาอีกห้าทิวา จนถึงวันที่หกจึงค่อยคั้นเอาของขวัญจากเทพไดโอนิซุส (เทพเจ้าแห่งไวน์) ผู้อุดมสมบูรณ์ ลงไปในเหยือก…”

 

แน่นอนว่า ในข้อความข้างต้นไม่ได้เอ่ยถึงดวงจันทร์โดยตรง แต่กลับเต็มไปด้วยชื่อดาวต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ ที่สัมพันธ์อยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ในสังคมที่ซับซ้อนมากกว่าที่จะใช้เพียงแค่ข้างขึ้น-หรือข้างแรมเพียงอย่างเดียว เฮสิออดมีชีวิตอยู่ในระหว่างช่วงที่พวกกรีก

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจอะไรนัก เพราะเฮสิออดมีชีวิตอยู่ในช่วงที่ชนชาวกรีกทั้งหลายกำลังผลัดเปลี่ยนยุคสมัยของตนเอง จากการเป็นเกษตรกร ไปสู่การเป็นพ่อค้า นักเดินทาง และนักแสวงโชค ที่มีบทบาทสำคัญในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ซึ่งก็แน่นอนว่า กิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางดาราศาสตร์ ที่ซับซ้อนมากกว่าการดูแต่ดวงจันทร์เพียงอย่างเดียว

และก็เป็นเพราะความก้าวหน้าทำนองนี้เอง ที่ได้พัฒนาให้ระบบปฏิทินหรือการนับคืนวันค่อยๆ พัฒนาไปพร้อมกับความรู้ทางดาราศาสตร์ โดยมีการดูดวงจันทร์เป็นพื้นฐาน ในทางกลับกัน ดวงจันทร์จึงเป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับการเกษตรกรรมในยุคบุกเบิก ในหลายๆ สังคมวัฒนธรรม โดยเฉพาะชื่อหรือคำเรียกของเดือนในสังคมนั้นๆ

 

ชาวโรมันมีชื่อเดือนในช่วงต้นปีสี่เดือนแรกที่สัมพันธ์อยู่กับการเกษตรกรรม สังเกตได้จากชื่อของเดือนที่เกี่ยวข้องกับเทพและเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ทั้งสิ้น

ลักษณะทำนองนี้ก็เห็นได้ในสังคมไทย ที่แม้ชื่อเดือนจะเป็นเพียงจำนวนนับ แต่ร่องรอยที่เห็นได้ชัดเจนจากหลักฐานแวดล้อมหลายๆ อย่างนะครับ ตัวอย่างก็คือ ในถ้อยคำในเพลงร้องเล่น ที่ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ว่า

“เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง”

ที่ชาวอยุธยา เรื่อยมายันถึงชาวรัตนโกสินทร์ ร้องเรียกให้เดือนอ้าย เดือนยี่ น้ำรีบๆ รี่ไหลลง ก็เพราะถึงช่วงเวลาเพาะปลูกครั้งใหม่นี่แหละ ดังนั้น เรื่องของ “เดือน” จึงเกี่ยวข้องอยู่กับ “น้ำ” ที่มีอิทธิพลต่อการเกษตรกรรมอย่างแยกกันไม่ขาด รวมถึงเรื่องของน้ำขึ้น-น้ำลง อันเป็นอิทธิพลมาจากปรากฏการณ์ข้างขึ้น ข้างแรมของดวงจันทร์ด้วย

การที่หนึ่งเดือนในแต่ละวัฒนธรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มมาจากการสังเกตดูปรากฏการณ์ข้างขึ้น-ข้างแรม

จึงไม่น่าแปลกอะไรที่คำว่า “month” ในภาษาอังกฤษ หรือ “เดือน” ในภาษาไทยนั้น จะมีรากมาจากคำว่า “menoth” ในภาษาก่อนเยอรมนิก (Proto-Germanic) ที่มีความหมายเกี่ยวข้องอยู่กับ “ดวงจันทร์”

(ส่วนคำในภาษาก่อนเยอรมนิกที่แปลว่าดวงจันทร์อย่างตรงตัวคือ “menon” ที่จะเพี้ยนเป็น “mona” ในภาษาอังกฤษโบราณ จนกลายเป็นคำว่า “moon” ในที่สุด)

ในขณะที่ในภาษาไทยเรานั้น คำว่า “เดือน” ก็แปลว่า “ดวงจันทร์” อยู่เห็นๆ ไม่ใช่หรือครับ?