E-DUANG : จาก พลังธรรม เมื่อปี 2531 มายัง อนาคตใหม่ ปี 2561

แรกที่พรรคพลังธรรมโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศจะให้คนของพรรคเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสังคมในการนำเสนอตัวเข้าสู่พื้นที่เลือกตั้งเมื่อปี 2531

ก็มีเสียงหัวร่อดังประสานมาจากแทบทุกสารทิศ มองว่าเป็นเรื่องของการหาเสียง ไม่น่าจะเป็นไปได้

แต่แล้วเมื่อเข้าร่วมในรัฐบาลก็มีการเปิดเผยทรัพย์สิน

คงจำกันได้ว่ามีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในโควตาของพรรคพลังธรรม

มาถึง ณ วันนี้ การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ”นักการเมือง”ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว

แม้จะมี”คนดี”บางคนรู้สึกว่าจุกจิก ไร้สาระก็ตาม

 

บรรทัดฐานของพรรคพลังธรรมอัน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง วางเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2531 ได้กลายเป็นแรงจูงใจให้พรรคอนาคตใหม่ นำมาเป็นข้อปฏิบัติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรทัดฐาน”ประชาธิปไตย”ภายในพรรค

สมาชิกพรรคคือเจ้าของพรรค ไม่มีใครครอบงำหรือสำแดงตนเป็นเจ้าของพรรคแต่เพียงผู้เดียว

บรรทัดฐานนี้กำลังได้รับการพิสูจน์ผ่านพรรคอนาคตใหม่

ตัวอย่างที่สดใสมากเป็นอย่างยิ่งคือ การคัดสรรตำแหน่งภายในพรรคโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ

และในวันที่ 13-14 ธันวาคม ก็จะเปิดการหยั่งเสียงผ่านระบบไพรมารีคัดผู้สมัคร ส.ส.เขต

บรรยากาศอย่างที่เกิดขึ้นในพรรคอนาคตใหม่อาจไม่เห็นจากพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าพรรคใหญ่ ไม่ว่าพรรคเล็ก ไม่ว่าพรรคเก่า ไม่ว่าพรรคใหม่

เป็นการริเริ่มแม้คำสั่งหัวหน้าคสช.จะตัดระบบไพรมารีโหวต ออกไปแล้วก็ตาม

 

โครงสร้างระหว่างพรรคพลังธรรมเมื่อปี 2531 กับ พรรคอนาคตใหม่ในปี 2561 อาจแตกต่างกัน

แต่ความริเริ่มหลายอย่างถือได้ว่าสอดรับกัน

สอดรับในด้านอันสะท้อนความพยายามที่จะนำรูปการเมือง ใหม่เข้ามาแทนที่การเมืองเก่า

บนพื้นฐานแห่งแนวคิด “อนาคตเรากำหนดเอง”