บทวิเคราะห์ : จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีผู้สร้างระเบียบโลกใหม่

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่โศกเศร้าของชาอเมริกัน เป็นช่วงเวลาของการกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้ายให้กับอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีที่เป็นที่รัก ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยวัย 94 ปี

บุช ซีเนียร์ ผู้ผ่านประสบการณ์นักการทูต และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐ เป็นประธานาธิบดีที่ได้เห็นความสำเร็จของ “จอร์จ ดับเบิลยู. บุช” ลูกชายที่ก้าวไปสู่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว กลายเป็นคู่พ่อลูกคู่ที่สองในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐที่สามารถก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้ทั้งคู่ หลังจาก “จอห์น อดัม” และ “จอห์น ควินซี อดัม”

ผู้นำทั่วโลกส่งข้อความไว้อาลัยให้กับอดีตประธานาธิบดี โดยเฉพาะมิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตที่ระบุว่า บุชผู้พ่อนั้นเป็น “หุ้นส่วนที่แท้จริง” ในการช่วยยุติสงครามเย็น

ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส แสดงความอาลัยกับความสูญเสียกับผู้นำที่ “สนับสนุนการเป็นพันธมิตรกับยุโรปอย่างแข็งขัน”

 

บุชเกิดวันที่ 12 มิถุนายน 1924 ที่เมืองมิลตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ในครอบครัวที่อยู่ในวงการการเมืองและมีฐานะร่ำรวย

บุชออกจากโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงเวลาที่บุชได้รับการช่วยเหลือหลังเครื่องบินรบถูกยิงตกกลางมหาสมุทรแปซิฟิก

หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยล บุชเข้าทำงานช่วงเวลาสั้นๆ ในวงการอุตสาหกรรมน้ำมันในรัฐเท็กซัส ทว่า ลูกชายสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐผู้นี้ก็ทนเสียงเรียกจากวงการการเมืองไม่ไหว ก้าวขึ้นเวทีในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐเท็กซัส จากพรรครีพับลิกัน ในช่วงทศวรรษที่ 60

บุชได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีน เคยได้ตำแหน่งผู้อำนวยการซีไอเอ ก่อนจะได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีในยุคอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในต้นทศวรรษที่ 80

บุชตอบรับเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 1988 พร้อมประกาศนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงสหรัฐเป็นประเทศที่ “เกื้อกูลและเมตตา” มากกว่าเดิม

อดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่นำนโยบายต่างประเทศไปปฏิบัติอย่างได้ผล นำสหรัฐอเมริกาผ่านความวุ่นวายของสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

 

ประธานาธิบดีคนที่ 41 ของสหรัฐประกาศ “ระเบียบโลกใหม่” ในปี 1990 แนวนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร 32 ชาติ ซึ่งนำไปสู่การผลักดันกองกำลังของผู้นำอิรัก อย่างซัดดัม ฮุสเซน ออกจากคูเวต ได้สำเร็จ ด้วยการโจมตีอย่างดุดันทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ

อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรจำนวนมากที่มีต่ออิรักในเวลาต่อมา ถูกชาวอิรักจำนวนมากกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และส่งผลให้เกิดฉายาที่ว่า “มิสเตอร์เอ็มบาโก” ของบุชขึ้น ขณะที่ชาวปานามาก็ระบุว่า การส่งกองทัพสหรัฐรุกรานปานามาเมื่อปี 1989 ก็ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตหลายร้อยคนด้วยเช่นกัน

แม้จะได้รับการยอมรับในนโยบายด้านการต่างประเทศ ทว่า นโยบายเศรษฐกิจกลับเป็นจุดอ่อนของบุช

ที่ทำให้บุชต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 1992 ให้กับคู่แข่งตัวแทนจากพรรคเดโมแครตอย่าง “บิล คลินตัน” ไปในที่สุด

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บุชหันไปทำงานด้านการกุศล ร่วมกับบิล คลินตัน ในการระดมทุนช่วยเหลือเหยื่อคลื่นยักษ์สึนามิในเอเชียเมื่อปี 2004 รวมไปถึงเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ เมื่อปี 2010 และระดมทุนร่วมกับอดีตประธานาธิบดีคลินตัน, จิมมี่ คาร์เตอร์, บารัค โอบามา รวมไปถึงลูกชายอย่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ช่วยเหลือเหยื่อพายุเฮอร์ริเคนในรัฐเท็กซัส เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ป่วยเป็นโรคพาร์คินสัน และต้องใช้ชีวิตบนวีลแชร์ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต โดยมีภรรยาอย่าง “บาบารา บุช” คู่ชีวิตยาวนาน 73 ปีอยู่เคียงข้าง โดยทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 5 คน และหลานอีก 17 คน

เจมส์ เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเปิดเผยกับเดอะนิวยอร์กไทม์ส ถึงช่วงเวลาสุดท้ายของบุชผู้พ่อว่า คำพูดสุดท้ายของอดีตประธานาธิบดีเป็นคำพูดที่พูดผ่านสปีกเกอร์โฟนกับจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ลูกชายที่บอกกับพ่อว่าตนรักพ่อและพ่อเป็น “พ่อที่ยอดเยี่ยม”

“ฉันก็รักแกเหมือนกัน” บุชผู้พ่อตอบ