วิรัตน์ แสงทองคำ : เกษตรกรรมไทย 2561 – “พลวัตร-ความท้าทาย”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ ปลายปีเก่าต่อต้นปีใหม่ควรเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนความคิดและมีบทสรุปไว้ เพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์สำคัญๆ ที่เป็นไปกับเรื่องราวที่เคยนำเสนอในระยะที่ผ่านๆ มา ก่อนจะมุ่งมองไปข้างหน้า จากนี้จึงจะขอนำเสนอซีรี่ส์ชุด “บทสรุปปี 2560” สัก 3-4 ตอน โปรดติดตาม

บทสรุปปี 2561-กระแสเกษตรกรรม (1)

กระแสและความเคลื่อนไหวเกษตรกรรมไทย เป็นปรากฏการณ์คึกคักอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องราว

เปิดฉากใหญ่อย่างมีนัยยะ โดยเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี จากไอเดียผู้นำ–ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นปรากฏการณ์ทรงพลังสั่นสะเทือนสังคมไทย พุ่งเป้าอย่างเฉพาะเจาะจง สู่ภาคเกษตรกรรมพื้นฐานเสียด้วย

ไอเดียนั้น ได้ตอกย้ำ 2 ครั้ง 2 คราในช่วงปีที่กำลังจะผ่านพ้น

ครั้งแรก

“ผมกำลังศึกษาโมเดลธุรกิจที่จะสร้างเมืองขนาดใหญ่ ประชากร 3-4 แสนคนมาอยู่รวมกัน โดยคนที่อยู่ในเมืองนี้สามารถทำธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งปลูกพืชเกษตร ทำปศุสัตว์…โมเดลใหม่จะเป็นเมืองขนาดใหญ่ สมมุติที่ดินรวมกันได้ 1,000 ไร่ เคยปลูกพืชขายผลผลิตได้ 1,000 บาทไม่ต้องมาปลูกเอง ผมรับจ้างปลูกให้โดยการันตีว่าได้เงิน 1,200 บาท ถ้าผลผลิตเสียหาย ผมรับผิดชอบ และให้รัฐบาลการันตีว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของคุณ” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวขึ้นอย่างตั้งใจ ในฐานะประธานมอบที่ดินให้ข้าราชการตำรวจที่เข้าร่วมโครงการ ณ หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี (4 มกราคม 2561)

และอีกครั้ง ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวกับสื่อไทยระหว่างการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน (ข่าวสารปรากฏในสื่อต่างๆ อย่างพร้อมเพรียงในวันที่ 27 สิงหาคม 2561) มีตอนสำคัญกล่าวไว้อย่างสอดคล้องกัน ทั้งลงรายละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะเจาะจงเรื่องข้าว เกษตรกรรมพื้นฐานที่สุดของไทย

“ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวมากเกินไปถึง 105 ล้านไร่ มีปัญหาเรื่องตลาดโลกและราคา ควรลดพื้นที่ลงแล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่” เขาโหมโรง

ก่อนจะตอกย้ำความคิดเดิมให้หนักแน่นขึ้น

“หากชาวนามีปัญหาไม่พร้อม ซีพีพร้อมจะเช่าที่ทำแทน ให้ผลตอบแทนมากกว่าเดิมอีก 10% …ต้องมีระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และใช้เครื่องจักร…ต้องเป็นระบบเกษตรกรรมแปลงใหญ่ถึงจะคุ้มกับการลงทุน”

(ข้อความข้างต้น ตัดตอนและเรียบเรียงสาระจากสื่อต่างๆ) บทสนทนานั้นมีบทสรุปชัดเจนเชื่อมโยงถึงโมเดลเกษตรกรรมแปลงใหญ่

แนวคิดผู้นำซีพีย่อมมีน้ำหนัก ในฐานะเครือข่ายธุรกิจการเกษตรและอาหารครบวงจรรายใหญ่ที่สุด ไม่เพียงในไทย หากในระดับภูมิภาค

แนวคิดดังกล่าวย่อมมีฐานความเป็นไปได้ด้วยบทวิเคราะห์อย่างหลักแหลม ภายใต้เงื่อนไขทางสังคม และอำนาจรัฐอันเอื้ออำนวย

ทั้งนี้ เป็นที่แน่ชัดว่ามีความเชื่อมโยงกับแผนการเกษตรกรรมแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ รัฐบาลปัจจุบัน

 

พลังหลัก

แท้จริงแล้วความเคลื่อนไหวข้างต้นสะท้อนพัฒนาการสำคัญที่มีความต่อเนื่อง นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาก็ว่าได้ ตั้งแต่สังคมธุรกิจไทยสถาปนาขึ้นอย่างจริงจัง

เกษตรกรรมไทยมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจใหญ่มาตลอด ธุรกิจซึ่งมีเครือข่ายอย่างหลากหลาย และพยายามแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยมุมมองเกษตรกรรมที่แตกต่าง

ถือเป็นจุดตั้งต้นความเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม โมเดลสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร ซึ่งแต่ก่อนถูกมองเป็นเพียงสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เป็นสินค้าสำเร็จรูปจำนวนมาก สู่ตลาดผู้บริโภควงกว้าง ทั้งภายในประเทศและตลาดโลก

ผมเองเคยเสนอภาพนั้นมาบ้าง ตั้งแต่กรณีพิพัฒน์ ตันติพิพัฒพงศ์ นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนไต้หวัน ผู้มีความสัมพันธ์อย่างดีกับธนาคารกรุงเทพ มองเห็นโอกาสมากับยุคสงครามเวียดนามเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ได้บุกเบิกอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง (ในปี 2505)

ในช่วงเวลาเดียวกันกับเครือข่ายระดับโลก โดลฟู้ดส์ (Dole Food Company) มีฐานเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เริ่มเข้าสู่โลกตะวันออกครั้งแรก (ปี 2506) วางรากฐานอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องเช่นกัน

โมเดลธุรกิจนั้นได้เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยภาคใต้ตอนบนไว้ในนั้น ผมเชื่อว่าเป็นจุดตั้งต้นเกษตรกรรมแปลงใหญ่ (Plantation) และระบบฟาร์มพันธสัญญา (contract farming)

กรณีนั้น ในเวลานั้น มีผลสะเทือนกว้างขวางพอสมควร ทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากธนาคาร กลายเป็นกระแสนักลงทุนอีกหลายรายเดินตาม

ต่อจากนั้นเมื่อผ่านยุคสงครามเวียดนาม ก่อนเข้าช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู มีพัฒนาการเชื่อมโยงเกษตรกรรมไทยอีกกรณีหนึ่งควรกล่าวถึง ธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มกำลังเติบโตขึ้นในสังคมไทย มีฐานใหญ่ที่ภาคใต้ เชื่อกันว่าเป็นปฏิกิริยาการเติบโตอย่างต่อเนื่องและขยายวงมากขึ้น จากศูนย์กลางธุรกิจใหญ่แห่งมาเลเซียในประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นโอกาสใหม่ๆ ของตระกูลธุรกิจดั้งเดิมแห่งภาคใต้ กำลังมีความพยายามปรับตัวปรับเปลี่ยนจากธุรกิจเดิมโดยเฉพาะจากเหมืองแร่ กำลัง “ตะวันตกดิน” ในช่วงเพื่องฟู บางช่วง บางรายได้ร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์รายใหญ่ของโลก

ขณะที่บางรายอยู่ในเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งมาเลเซีย กรณี Sime Darby กลุ่มธุรกิจระดับโลก มีฐานในมาเลเซีย ก่อตั้งโดยชาวอังกฤษในยุคอาณานิคม ปัจจุบันมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลาย รวมทั้งกลุ่มธุรกิจสำคัญดั้งเดิม Sime Darby Plantation ทั้งธุรกิจต้นน้ำ (upstream) ปลูกปาล์มในพื้นที่มาเลเซียและอินโดนีเซียมากกว่า 500,000 เฮกเตอร์ และปลายน้ำ (downstream) มีโรงงานในมากกว่า 15 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เป็นอีกโมเดลหนึ่งเชื่อมโยงสู่เกษตรกรรมพื้นฐานสำคัญ

กรณีข้างต้นมีอิทธิพลพอสมควรให้ภาคใต้ของไทยคงมีความสัมพันธ์ ทั้งผันแปรกับเกษตรกรรมปาล์มน้ำมันตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

พัฒนาเกษตรกรรมรายใหญ่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มายังกรณีสำคัญที่ควรกล่าวถึง เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่-กลุ่มทีซีซี เปิดตัวอย่างเอาการเอางานในธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรเมื่อปี 2549

กลุ่มทีซีซีเป็นเจ้าของพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก ถือเป็นผู้ประกอบผู้ถือครองพื้นที่การเกษตรกรรมรายใหญ่ที่สุดของประเทศรายหนึ่งก็ว่าได้ ทั้งนี้ เชื่อมโยงความเป็นมา ด้วยกลุ่มทีซีซี มีสินค้าหลัก-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีเครือข่ายการผลิตทั่วประเทศและมีสินค้าเข้าถึงชุมชนเกษตรกรรมไทยอย่างทั่วถึงมาช้านาน

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทีซีซี มีความสำคัญ ทั้งปลุกกระแสสังคมเกษตรกรรมไทยให้คึกคักขึ้น ขณะเดียวกันสะท้อนศักยภาพธุรกิจไทย ก้าวสู่ภาคเกษตรกรรมระดับภูมิภาค

เกษตรกรรมรายใหญ่ แต่เดิมเป็นโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง เป็นธุรกิจซึ่งซ่อนตัวค่อนข้างเงียบๆ ในชุมชนเกษตรกรรมไทยอันกว้างใหญ่ ครั้นเมื่อผนวกกับแผนการใหม่กรณีซีพีแล้วดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเชื่อว่าเกษตรกรรมรายใหญ่ยุคใหม่จะกลายเป็นพลังหลัก มีอิทธิพล ผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรมไทยให้พลิกโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็ว

 

พลังหลากหลาย

ท่ามกลางสังคมเกษตรกรรมชุมชน ซึ่งดูมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม่มากนักตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนามเป็นต้นมานั้น แท้จริงมีปรากฏการณ์อีกบางด้านเกิดขึ้น

ซึ่งผมเรียกว่าการเกิดขึ้นของ “เกษตรกรใหม่”

เกษตรกรใหม่ ผู้ประกอบการใหม่ซึ่งแตกต่างจากวิถีเกษตรดั้งเดิม ด้วยอาศัยความรู้โนว์ฮาวและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างจริงจัง สร้างสรรค์ ในความพยายามสร้างผลผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณค่ามากกว่าสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)

ทั้งนี้ ไม่ได้อ้างอิงโครงสร้างเชิงอุตสาหกรรมใหญ่ ซึ่งมีการผลิตจำนวนมาก (mass production)

พัฒนาการที่ว่า ว่าไปแล้วคู่ขนานกับเกษตรกรรมรายใหญ่ สามารถต่อภาพได้มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กรณีจุล คุ้นวงศ์ แห่งไร่กำนันจุล เพชรบูรณ์ เป็นโมเดลเริ่มต้น พัฒนาเกษตรกรรมพื้นฐานโดยพยายามใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สู่ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ยุคสงครามเวียดนามภายใต้โมเดลฟาร์มแบบฉบับอเมริกัน-บุกเบิกโดยโชคชัย บูลกุล แห่งฟาร์มโชคชัย ปากช่อง

มาถึงช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นหลังสงครามในภูมิภาคจบลง กระแสโลกาภิวัตน์พุ่งขึ้น มีอีกรายกรณีเกิดขึ้น เป็นไปตามกระแส รสนิยมแห่งยุคสมัย ไม่ว่ากรณี ปิยะ ภิรมย์ภักดี แห่ง PB Valley เขาใหญ่ ผู้ผลิตไวน์ไทยมาตรฐานโลก

หรือจิมทอมป์สันฟาร์ม ปักธงชัย มีความพยายามเชื่อมโยงและนิยามใหม่ ว่าด้วยวิถีเกษตรกรรมไทยดั้งเดิม ให้เข้ากับกระแสการท่องเที่ยว

“หากพิจารณาลำดับเหตุการณ์ (Time line) แล้ว พบว่าพัฒนาการเกษตรกรรมไทย โดยเกษตรกรหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาการกระชั้นมากขึ้น ตั้งแต่สังคมไทยเชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์มากขึ้น แม้ว่าจะต้องเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงปี 2540 ทว่าเกษตรกรรมใหม่ไม่เพียงไม่หยุดชะงัก กลับมีโอกาสเติบโต” ผมเคยสรุปความไว้

 

เกษตรกรรมไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

โดยอิทธิพลอันไม่อาจทัดทานจากพลังหลัก

ขณะเดียวกันปรากฏโฉมหน้าใหม่ๆ สะท้อนความหลากหลายมากขึ้นๆ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

การปรากฏขึ้น “เกษตรกรใหม่” กระแสที่น่าสนใจเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ต่อเนื่อง จนมาถึงฟาร์มสไตล์ญี่ปุ่นหรือฟาร์มอ้างอิงความรู้ใหม่จากต่างประเทศ เช่น เกาหลี (Korean method of farming)

และศัพท์แสงใหม่ๆ อย่าง “ท่องเที่ยวเชิงเกษตรไลฟ์สไตล์”

ภายใต้ปรากฏการณ์ ภายในโครงสร้างเกษตรกรรมไทยที่ว่ามานั้น เมื่อมองลงลึกไปยังกลไกและวงจร (Supply chain) ก็กำลังมีการปรับเปลี่ยนอย่างมากมายเช่นกัน