ฝึกคิดแบบสาวเหตุปัจจัย ตามแนวทางในพุทธศาสนา : โยนิโสมนสิการ

คิดแบบสาวเหตุปัจจัย

ผมมีนิทานบ้าง เรื่องเล่าขานกันมาไม่เชิงเป็นนิทานบ้าง มาเล่าสู่กันฟัง ฟังจบแล้วค่อยมาคิดว่ามันให้แง่คิดอะไรบ้าง

เรื่องแรก เป็นนิทานชาดก กระทาชายนายหนึ่งเลี้ยงลิงไว้เป็นฝูง แกอยู่กับลิงมานาน จนกระทั่งสามารถสื่อสารกันรู้เรื่องระหว่างคนกับลิง พูดให้ “เว่อร์” ก็คือ สามารถพูดภาษาลิงได้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

กระทาชายนายนี้ปลูกต้นไม้ในสวนใหม่ๆ ไม่บอกว่าต้นไม้อะไร อาจเป็นมะม่วง หรืออะไรทำนองนั้น ต้นไม้ที่เพิ่งลงดินใหม่ๆ ย่อมต้องการการดูแลเอาใจใส่พอสมควร บังเอิญว่าแกมีธุระจะต้องไปต่างเมืองสักระยะหนึ่ง แกจึงสั่งให้หัวหน้าลิงช่วยดูแลต้นไม้แทนด้วย

หัวหน้าลิงก็รับปากว่า นายไม่ต้องเป็นห่วง กู เอ๊ย ผมจะดูแลให้อย่างดี

เมื่อเจ้านายไปแกก็เรียกประชุมบริวารลิงทั้งหลาย บอกว่าเจ้านายก่อนจะไป ได้สั่งให้ข้าดูแลต้นไม้ให้ดี พวกเราต้องช่วยกันรดน้ำต้นไม้ให้นายนะโว้ย เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป รดวันเว้นวันก็พอ

รุ่งเช้าเจ้าจ๋อก็พาบรรดาบริวารไปตักน้ำรดต้นไม้อย่างพร้อมเพรียง หัวหน้าลิงนั่งคิดอยู่พักหนึ่ง จึงร้องถามลูกน้องว่า “เฮ้ยพวกเอ็ง รดอย่างนั้นพวกเอ็งรู้ไหมว่า รากมันชุ่มน้ำหรือเปล่า” “จะรู้ได้ยังไงล่ะเจ้านาย” จ๋อน้อยตัวหนึ่งร้องถาม

“ก็ถอนมันขึ้นมาดูซิวะ ถ้ามันชุ่มแล้วก็ยัดลงไป ถ้ามันไม่ชุ่มก็ยัดลงแล้วรดอีก แล้วถอนมาดูให้แน่ใจ แล้วค่อยยัดลงไปใหม่” มันอธิบายด้วยความภูมิใจในความรอบรู้ของตน

เหล่าบริวารลิงก็พร้อมเพรียงกันถอน-ยัด ถอน-ยัด พึ่บพั่บๆ อย่างน่าสรรเสริญ ประมาณสองสัปดาห์ กระทาชายเจ้าของสวนกลับมาด้วยความเป็นห่วงสวน จึงเรียกหัวหน้าลิงมาหา สอบถามเกี่ยวกับเรื่องที่สั่งไว้

“เรียบร้อยครับเจ้านาย ผมกับลูกน้องพากันรดน้ำต้นไม้ตามที่นายสั่ง พรุ่งนี้เช้าเจ้านายไปดูได้เลย” เจ้าจ๋อรับรองอย่างมั่นใจ

รุ่งเช้า กระทาชายเจ้าของสวนรีบไปดูสวน กวาดตาไปรอบๆ แทบเป็นลมทั้งยืน ต้นไม้เพิ่งลงใหม่ๆ เฉาตายหมดสิ้น ไม่ตายยังไงไหวเล่าครับ พ่อเล่นถอน-ยัด ถอน-ยัด วันเว้นวันอย่างนั้น

เรื่องที่สอง ไม่ทราบว่าเป็นนิทานชาดก หรือเรื่องเล่าธรรมดา มีฤๅษีตนหนึ่ง ชื่อเสียงเรียงไรอย่าไปรู้เลย ผมผู้นำมาถ่ายทอดก็ไม่รู้ ฤๅษีแกเลี้ยงเด็กน้อยไว้เป็นบุตรบุญธรรมคนหนึ่ง เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กๆ อบรมสั่งสอนด้วยความรักมาตลอด

วันหนึ่งฤๅษีแกจะเข้าป่าไปทำธุระ จึงสั่งลูกศิษย์ว่า ให้คอยดูไฟให้ดี อย่าให้ดับ ถ้าดับก็ให้ก่อขึ้นใหม่

เด็กน้อยมัวแต่เล่นเพลิน ลืมเติมเชื้อไฟ กองไฟก็เลยมอดดับลง ด้วยกลัวว่าหลวงพ่อฤๅษีจะดุ จึงจัดแจงจะก่อไฟใหม่

เคยเห็นหลวงพ่อเอาไม้ไผ่บางๆ สองชิ้นมาถูกันไปมาก็เกิดไฟ จึงคิดว่าไฟมันอยู่ในนั้นแหละ ว่าแล้วก็เอาไม้สองชิ้นมาสีกันไปมาอยู่พักหนึ่ง ก็ไม่เห็นมีไฟ

จึงเอามีดมาผ่าดู ผ่าเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก็ไม่เห็นมีไฟ จึงเอามีดสับเป็นชิ้นๆ อย่างละเอียดก็ไม่ได้ไฟตามต้องการ หลวงพ่อฤๅษีกลับมาจึงเล่าให้ฟังว่า ตนพยายามหาไฟจากไม้ทั้งสอง หาอย่างไรก็ไม่พบ กระทั่งสับเป็นชิ้นๆ ก็หาไม่พบ

หลวงพ่อได้ฟังแล้วก็เอามือกุมขมับ ร้องดังๆ ว่า โธ่เอ๋ย อนิจจา อนิจจัง

นิทานก็คือนิทาน ฟังเล่นสนุกๆ ก็ได้ ฟังแล้วนำมาคิด ก็ย่อมให้ความรู้เพิ่มเติม อย่างน้อยก็ได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต

ทางพระพุทธศาสนาท่านสอนโยนิโสมนสิการ แปลกันว่า การทำในใจโดยอุบายอันแยบคาย ถ้าแปลง่ายๆ ก็คือ “การคิดเป็น” หรือ “การคิดวิเคราะห์” มีถึง 10 วิธี ดังกล่าวแล้ววิธีแรกท่านเรียกว่า “คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย”

ในที่นี้ท่านพูดสองคำควบกันคือ เหตุกับปัจจัย เหตุหมายถึงเหตุใหญ่ เหตุสำคัญ ปัจจัยหมายถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ท่านสอนให้มองว่าปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นมิใช่เกิดเพราะเหตุเพียงอย่างเดียว ดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าปัจจัยหรือเงื่อนไขอื่นๆ ก็มีส่วนด้วย

ยกตัวอย่าง ถ้าถามว่าต้นไม้เจริญเติบโตเพราะอะไร ถ้าตอบว่าต้นไม้ต้นนี้เจริญเติบโตก็เพราะเมล็ด ต้นไม้ต้นนี้มาจากเมล็ด เพราะฉะนั้น เมล็ดจึงเป็นสาเหตุทำให้มีต้นไม้ต้นนี้

ตอบแบบนี้ก็ถูก แต่ถูกส่วนเดียว ถ้าจะให้ถูกครบถ้วนไม่มีที่เถียงเลย ก็ต้องตอบว่าเมล็ดเป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ช่วยให้ ต้นไม้ต้นนี้เจริญงอกงามได้ เช่น ดิน ปุ๋ย น้ำ อุณหภูมิ การดูแลเอาใจใส่ของคน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ต้นไม้ต้นนี้เจริญงอกงามทั้งนั้น ทั้งหมดนี้แหละทางพระท่านเรียกว่า “เหตุปัจจัย”

การคิดอะไรคิดให้รอบคอบ อย่างนี้เรียกว่า “คิดเป็น” เห็นผลปรากฏเฉพาะหน้าให้คิดสืบสาวหาเหตุ ปัจจัยว่า มันเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้

คนคิดเป็นตามนัยข้อแรก (คิดสืบสาวเหตุปัจจัย) จะเป็นคนคิดยาวมองไกล เห็นผล คิดสาวหาเหตุปัจจัย เห็นเหตุปัจจัยคิดคาดถึงผลที่จะเกิดข้างหน้า ไม่ใช่คิดตื้นๆ สั้นๆ เฉพาะหน้าเท่านั้น

หัวหน้าลิงและบริวารลิงในนิทาน คิดตื้นๆ ว่าต้นไม้ที่รดน้ำจะต้องมีรากชุ่มน้ำจึงจะเจริญงอกงาม การคิดเช่นนั้นก็ถูก เพราะการรดน้ำ ถ้ารดรากไม่ชุ่มน้ำ ต้นไม้ก็ไม่ได้น้ำเพียงพอ

แต่การถอนต้นไม้มาดูเพื่อให้แน่ใจ แล้วยัดลงดินใหม่นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ต้นไม้เฉาตาย ยังมีวิธีอื่นที่จะมั่นใจได้โดยไม่ต้องถอนต้นไม้ เช่น กะกำหนดเอาจากปริมาณน้ำที่เทรดลงไปแต่ละครั้ง

แต่คิดไม่กว้างและไม่ไกลไปถึงว่า การถอนต้นไม้ทุกครั้งที่รดน้ำต้นไม้ จะไม่มีโอกาสหยั่งรากลงดิน ในที่สุดก็จะเฉาตาย

เจ้าจ๋อและบริวารมองเหตุปัจจัยไม่ออก ถึงคิดเป็นอยู่บ้างก็คิดเป็นแบบลิง ไม่ใช่คิดเป็นแบบมนุษย์

มนุษย์ที่มีความคิดแบบลิงฝูงนี้ น่าเป็นห่วง ถ้าหลีกเลี่ยงได้ให้หลีกเลี่ยง อย่ามอบงานรับผิดชอบที่สำคัญๆ ให้ทำเป็นอันขาด คนพวกนี้มีดีอย่างเดียว คือความขยัน แต่ต้องไม่ลืมว่า

คนขยันอย่างโง่ๆ อันตรายต่อส่วนรวมที่สุด

เด็กน้อยในนิทานเรื่องที่สอง เป็นตัวแทนของคนที่มองเหตุปัจจัยไม่ชัด รู้อะไรเผินๆ มองอะไรมัวๆ ไม่กระจ่าง จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้

รู้ว่าเหตุปัจจัยทำให้เกิดไฟคือ ไม้สีไฟสองชิ้น รู้ว่าถ้าเอาไม้สีไฟสองชิ้นนั้น

แต่รู้ไม่ครบวงจร ไม่รู้วิธีทำให้เกิดไฟขึ้นมาจริงๆ เด็กน้อยจะต้องเรียนรู้วิธีเอาไม้สีไฟสองอันมาสีกันจะต้องจับอย่างไร จะต้องสีอย่างไร หนักเบาแต่ไหน สีนานแค่ไหน ทั้งหมดต้องอาศัยทักษะความเหมาะสมลงตัว ถ้าทำไม่ถูก ทำไม่เหมาะไม่ลงตัว ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดไฟขึ้นมาได้

เมื่อทำอย่างไรก็ไม่ได้ไฟ จึงเอามีดมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ยิ่งทำอย่างนั้น ยิ่งไม่มีทางหาไฟพบ หนำซ้ำ ยังทำลายไม้สีไฟของหลวงพ่อฤๅษีหมดสิ้น

เรื่องนี้ให้แง่คิดอย่างดีคือ เพียงแต่รู้ว่าอะไรคืออะไร มันเป็นอย่างไรยังไม่พอ ต้องลงมือทำจนเกิดความชำนาญด้วยจึงจะดี เช่น รู้ว่ารถคันนี้ควรจะขับอย่างไร จับพวงมาลัยอย่างไร เหยียบคลัตซ์ (clutch) เหยียบเบรกอย่างไร เหยียบคันเร่งอย่างไร รู้แค่นี้ไม่พอ จะต้องทำเป็นตามนั้น และทำจนเกิดทักษะด้วย จึงจะเรียกว่า รู้เรื่องขับรถดี

ฉันใดก็ฉันนั้น

พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักคิด สาวหาเหตุปัจจัย เห็นเหตุปัจจัยให้สาวหาผล เห็นผลให้สาวหาเหตุปัจจัย ก็มิได้หยุดอยู่แค่คิด รู้แค่นั้น ต้องทำตามที่คิดรู้นั้น จนเกิดทักษะด้วยจึงจะเรียกว่า คิดเป็น

รู้ว่า จราจรติดขัดเพราะอะไร จะไม่ให้จราจรติดขัดต้องทำอย่างไร วงแหวนรอบนอก รอบใน ต้องทำอย่างไร ไม่ใช่แค่ให้รู้แล้วโอ้อวดกัน ต้องลงมือทำอย่างชำนิชำนาญ และทำอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนด้วยนั่นแหละ จึงจะเรียกว่า “คิดเป็น” ในเรื่องการแก้ปัญหาจราจร

ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าสอนวิธีคิดไว้มากมายหลายนัยเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เพราะปัญหานั้นเกิดได้หลายทาง บางคนก็ได้ปัญญาเพราะคิดเอง วิเคราะห์วิจัยด้วยตัวเอง บางคนก็ได้ปัญญาเพราะลงมือกระทำจนเกิดประสบการณ์ตรง

เมื่อพระพุทธเจ้าท่านมีเป้าหมายคือการฝึกฝน อบรมคนให้เกิดปัญญาที่แท้จริง เพื่อใช้ปัญญาดำเนินชีวิต ทางใดที่จะก่อให้เกิดปัญญา พระองค์ก็จะทรงสอนหรือแนะนำ และเนื่องจากพื้นฐานการรับรู้หรือภูมิหลังของแต่ละคนแตกต่างกันไป วิธีการสอน วิธีการฝึกฝนจึงหลากหลาย

ในหมู่คนที่รู้ได้เพราะการคิด ท่านก็จะสอนวิธีคิดให้ถูก คิดให้เป็น เมื่อคิดถูก คิดเป็นก็ได้ปัญญา แต่ถ้าคิดไม่ถูก คิดไม่เป็น ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะมี “ศักยภาพ” ในการคิดก็อาจไม่เกิดปัญญา หรือเกิดช้าก็ได้

มันก็เหมือนเมล็ดพืชนั่นแหละครับ สมมติว่า เมล็ดมะม่วงก็แล้วกัน ในเมล็ดมะม่วงนั้นมันก็มีศักยภาพในตัวที่จะงอกขึ้นมาเป็นหน่อ เป็นราก เป็นลำต้น มีอยู่ในเมล็ดเล็กๆ นั้นเสร็จสรรพ

แม้ว่าคนบางคนหรือหลายคนจะมี “ศักยภาพ” ในการคิดให้เกิดปัญญาอยู่ในตัว แต่ถ้าเขาไม่รู้วิธีคิด หรือคิดไม่ถูก คิดไม่เป็น เขาก็อาจไม่ได้ปัญญาเลย หรือได้แต่ได้ช้าก็ได้ ตรงนี้แหละครับ บทบาทของ “ครู” หรือผู้ชี้แนะแนวทางให้เป็นสิ่งจำเป็น

ครู ผู้ชี้แนะแนวทาง จึงต้องมีหลายเทคนิค หลายวิธีการ ที่จะนำไปแนะให้ศิษย์แต่ละคนแตกต่างกันไป

พระพุทธเจ้าผู้เป็น “ยอดครู” (บรมครู) จึงมีเทคนิคคิดไว้หลายวิธี เพื่อให้เหมาะแก่อุปนิสัยและภูมิหลังของแต่ละบุคคล ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ 10 วิธีคิดด้วยกัน คือ 1) คิดสืบสาวเหตุปัจจัย 2) คิดแยกแยะส่วนประกอบ 3) คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา 4) คิดแบบแก้ปัญหา 5) คิดแบบหลักการและความมุ่งหมาย 6) คิดแบบคุณโทษและทางออก 7) คิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม 8) คิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม 9) คิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน

และ 10) คิดแบบวิภัชชวาท