ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
สุสานราชวงศ์หมิงจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อของจีน
ยิ่งนักท่องเที่ยวไทยด้วยแล้ว สถานที่แห่งนี้ถือว่าแทบจะขาดไม่ได้ของผู้จัดการท่องเที่ยวไปปักกิ่ง
เพราะเมื่อจะมุ่งไปยังเมืองหลวงนี้แล้ว สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นสูตรสำเร็จจะมีอยู่ 2-3 แห่งด้วยกันคือ พระราชวังต้องห้าม กำแพงเมืองจีน และสุสานราชวงศ์หมิง
โดยที่ตั้งของสุสานนี้จะห่างจากปักกิ่งประมาณ 60 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างปักกิ่งกับกำแพงเมืองจีน ซึ่งถือเป็นทางผ่านพอดี
สำหรับผู้ที่เคยไปเยือนสุสานราชวงศ์หมิงแล้วจะพบถึงความใหญ่โตอลังการ
ทั้งนี้ ใช่แต่เฉพาะทางเดินเข้าไปก่อนถึงตัวสุสานจริงเท่านั้น หากแต่พอถึงตัวสุสานแล้วยังต้องเดินลึกลงไปอีกประมาณ 3-4 ชั้นตึก
ความอลังการแรกที่พบก็คือ ประตูหินอ่อนที่สูงใหญ่และหนา ประตูนี้เป็นทางเข้าไปยังที่ตั้งพระศพของจักรพรรดิราชวงศ์หมิง และเมื่อเข้าไปแล้วก็จะเห็นได้ถึงความใหญ่โตอลังการของภายใน
หลายคนอาจนึกในใจว่า มนุษย์หนอมนุษย์ ช่างอุตสาหะอะไรปานนี้… ขณะที่หลายคนอาจทึ่งในวิทยาการเมื่อหลายร้อยปีก่อนของจีน เพราะสุสานนี้มีอายุถึงประมาณ 400 ปี
แต่เคยมีใครบ้างไหมที่จะตั้งคำถามว่า ในเมื่อเป็นสุสานของจักรพรรดิก็ย่อมต้องมีพระศพของจักรพรรดิด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้วพระศพอยู่ที่ไหนเล่า?
ไม่เพียงเท่านั้น ในสุสานยังมีโลงพระศพของจักรพรรดิตั้งแสดงเอาไว้ด้วย แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นโลงที่ทำขึ้นใหม่
ถ้าเช่นนั้นแล้วทำไมจึงไม่นำโลงจริงๆ มาตั้งแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน? อย่างน้อยก็ให้ความรู้สึกได้ดีกว่าโลงจำลอง
คำตอบคือ มี
แต่ถ้าจะให้ตอบคำถามข้างต้นว่าสิ่งเหล่านี้หายไปไหน คำตอบสุดท้ายที่ได้เชื่อว่าทุกคนย่อมต้องเห็นตรงกันว่า นี่คือโศกนาฏกรรมโดยแท้
เมื่อคำตอบสุดท้ายเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า โศกนาฏกรรมนี้ย่อมมีที่มาที่ไปมากกว่าที่จะตอบแต่เพียงสั้นๆ แบบสามวาสองศอก
และต่อไปนี้คือเรื่องราวของสุสานนี้…

สุสานราชวงศ์หมิงที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ติ้งหลิง หรือสุสานติ้ง สุสานนี้เป็นที่ฝังพระศพของจักรพรรดิเสินจง
และเนื่องจากสุสานนี้มีชื่อรัชศกว่า ว่านลี่ ผู้คนจึงมักเรียกขานพระนามของพระองค์ว่า จักรพรรดิว่านลี่ ส่วนพระนามเดิมของพระองค์คือ จูอี้จวิน
ว่านลี่เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 13 ของราชวงศ์หมิง ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.1572 ถึง 1620 รวมเวลาครองราชย์ 48 ปี ซึ่งนับเป็นเวลาที่ยาวนานไม่น้อย
โดยภายหลังสวรรคตแล้วจึงได้นำพระศพของพระองค์มาฝังที่สุสานติ้งหรือติ้งหลิง โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า อาณาบริเวณอันเป็นที่ตั้งของติ้งหลิงนี้ยังเป็นที่ฝังพระศพของจักรพรรดิราชวงศ์หมิงโดยส่วนใหญ่อีกด้วย
ดังนั้น ติ้งหลิงจึงเป็นเพียง 1 ในสุสานของจักรพรรดิราชวงศ์นี้ที่มีอยู่ 13 แห่งเท่านั้น
แม้จะมีสุสานให้เลือกขุดอยู่ถึง 13 แห่ง แต่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ก็เลือกที่จะขุดที่ติ้งหลิง เพราะดูจากสภาพแวดล้อมต่างๆ แล้วเห็นว่าเหมาะสมที่สุดในเวลานั้น ซึ่งคือราวกลางทศวรรษ 1950 อันเป็นช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งปกครองจีนได้ไม่ถึง 10 ปี
จากเหตุนี้ ติ้งหลิงจึงถูกนับเป็นสุสานแรกที่มีการขุดค้นในยุคที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์ คณะที่ทำการขุดค้นครั้งนี้จึงย่อมรู้สึกภูมิใจที่ตนได้มีส่วนร่วมเป็นธรรมดา
และจากนี้ไปจะเรียกติ้งหลิงหรือสุสานราชวงศ์หมิงแต่โดยสั้นๆ ว่า สุสานหมิง
แน่นอนว่า ผู้มีส่วนร่วมในการขุดค้นสุสานหมิงนั้นย่อมมีอยู่มากมาย คือมีตั้งแต่บุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อนุมัติให้ดำเนินการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ คณะกรรมการ และคณะทำงานที่ทำการขุดค้น เป็นต้น จากเหตุที่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องมากมายเช่นนี้ ในที่นี้ขอเลือกที่จะกล่าวถึงเพียงบางคนเท่านั้น
คนแรกคือ เผิงเจิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำปักกิ่งในขณะนั้น
คนต่อมาคือ อู๋หาน นักประวัติศาสตร์จีนที่เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์หมิง และยังเป็นรองนายกเทศมนตรีของปักกิ่งอีกด้วย
คนที่สาม เซี่ยไน่ นักโบราณคดีที่มีประสบการณ์ในการขุดค้นสูงมาก่อนหน้าที่จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีที่ขึ้นต่อสถาบันสังคมศาสตร์จีนอีกชั้นหนึ่ง
สุดท้ายคือ จ้าวฉีชาง บันฑิตหนุ่มทางประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี
กล่าวเฉพาะอู๋หานกับเซี่ยไน่แล้ว ทั้งสองเป็นเพื่อนนักศึกษาที่สนิทกันมาแต่ครั้งที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิงฮว๋า
วันหนึ่งใน ค.ศ.1935 ขณะที่ทั้งสองกำลังสนทนากันอยู่นั้น เซี่ยไน่ได้ถามอู๋หานซึ่งในขณะนั้นกำลังเตรียมที่จะเป็นอาจารย์ในชิงฮว๋า ว่าหากให้อู๋หานเลือกที่จะขุดค้นแหล่งโบราณสถานสักแห่งแล้ว เขาจะเลือกขุดที่แหล่งใดก่อน
อู๋หานตอบโดยแทบไม่ต้องคิดว่าย่อมต้องเป็นสุสานหมิง
ในบรรดาบุคคลทั้งสี่นี้ จะมีก็แต่เผิงเจินเท่านั้นที่มิได้เกี่ยวข้องกับงานนี้โดยตรง แต่การเกี่ยวข้องโดยอ้อมของเขาเป็นส่วนหนึ่งของโศกนาฏกรรม ในที่นี้จึงรวมเขาเข้ามาด้วย
นอกจากบุคคลทั้งสี่แล้วก็ยังมีบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง ที่แม้จะไม่ใช่บุคคลสำคัญ ซ้ำบางคนอาจเป็นเพียงสามัญชนคนธรรมดาหรือชาวนา แต่ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในบางช่วงบางตอนของเรื่องราวนี้ด้วย
บุคคลเหล่านี้จึงควรที่จะถูกกล่าวถึงเช่นกัน
ราวกลางทศวรรษ 1950 แม้จีนเพิ่งจะอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ได้ไม่ถึง 10 ปี แต่หากกล่าวในแง่เสถียรภาพแล้วก็นับว่ามีความมั่นคงมากขึ้น องค์กรและหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในด้านต่างๆ เริ่มถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ และมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น
องค์กรด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็เช่นกัน กล่าวเฉพาะที่ปักกิ่งแล้วงานหนึ่งที่องค์กรด้านนี้คิดที่จะดำเนินการก็คือ การขุดค้นแหล่งโบราณคดี ซึ่งในจีนมีอยู่มากมายหลายแห่งทั่วประเทศ
แหล่งโบราณคดีที่มีอยู่มากมายนี้มีความหมาย 2 นัย
นัยหนึ่ง เป็นแหล่งที่รู้และเห็นกันมานานแล้ว แต่ด้วยเหตุที่จีนต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากต่างชาติก่อนหน้านี้นับร้อยปี อีกทั้งยังประสบกับปัญหาความขัดแย้งจากการเมืองภายในอีกยาวนาน ความคิดที่จะขุดค้นจึงเกิดมรรคผลไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น
อีกนัยหนึ่ง เป็นแหล่งที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน นอกจากจะพบเข้าโดยบังเอิญ และผู้ที่พบหากไม่เป็นชาวนาในชนบทก็จะเป็นกรรมกรในเมือง
เพื่อนนักวิชาการจีนท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า กล่าวเฉพาะในเมืองที่อายุนับร้อยนับพันปีแล้ว หากจะให้ขุดกันจริงก็คงพบโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ยังจมอยู่ใต้ดินไม่น้อยทีเดียว
แต่ก็คงไม่มีใครคิดจะทำเช่นนั้น เพราะนั่นหมายถึงว่าจะต้องระเบิดตึกรามบ้านช่องทิ้งกันขนานใหญ่ ซึ่งคงโกลาหลวุ่นวายไปทั้งประเทศ
เมื่อพิจารณาที่จะให้มีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีแล้ว องค์กรที่ปักกิ่งจึงมาสรุปอยู่ตรงที่สุสานหมิง จากนั้นจึงจัดตั้งองค์กรและบุคคลชุดต่างๆ ขึ้นมารับผิดชอบ
ทุกอย่างมาพร้อมเอาเมื่อปลายปี ค.ศ.1955
ครั้นถึงกลางปี ค.ศ.1956 งานขุดค้นก็เริ่มขึ้น ซึ่งหากกล่าวเฉพาะอู๋หานที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการขุดค้นแล้ว แม้เขาไม่ได้ลงมือขุดค้นด้วยตัวเอง แต่การที่โครงการนี้ได้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาก็ย่อมถือได้ว่าสมดังใจหวังของเขาในระดับหนึ่ง
งานขุดค้นดำเนินไปจนหลังเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ (ตรุษจีน) ค.ศ.1957 ไปแล้ว เค้าลางที่ชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าก็เริ่มปรากฏ เมื่อคนงานพบว่ามีอุโมงค์ใต้ดินที่จะนำไปสู่สุสาน
ตอนนั้นความหวังของคณะทำงานเริ่มส่องประกาย แต่ครั้นขุดต่อไปก็กลับพบว่า โดยรอบของสุสานถูกครอบด้วยผนังกำแพงอิฐที่สูงใหญ่ และไม่เห็นช่องทางใดที่จะเข้าไปได้นอกจากจะพังทลายมันเข้าไปเท่านั้น
แต่นักโบราณคดีที่มีประสบการณ์สูงอย่างเซี่ยไน่แล้ว นั่นไม่ใช่วิธีที่ถูก เพราะหากทลายเข้าไปจริงก็อาจสร้างความเสียหายให้กับตัวสุสานได้ง่าย
กล่าวอีกอย่าง นักโบราณคดีที่มีประสบการณ์สูงมักเชื่อว่าสุสานของชนชั้นสูงโดยเฉพาะในระดับจักรพรรดินั้น ย่อมถูกสร้างให้มีกลไกที่ซับซ้อนเพื่อป้องกันการบุกรุกของนักล่าสมบัติที่มีอยู่ทุกยุคสมัย
กลไกที่ว่านี้บางแห่งจะสร้างจากภายใน ซึ่งหมายความว่า หากขุดค้นจนพบกับประตูทางเข้าแล้วก็ตาม แต่ประตูนั้นก็มิอาจเปิดจากภายนอกเข้าไปได้ เพราะมันถูกสร้างให้ปิดจากภายในมาก่อนแล้ว
เหตุดังนั้น คนที่สร้างกลไกเช่นนี้ย่อมต้องสร้างทางออกจากสุสานให้กับตัวเองด้วย หาไม่แล้วก็จะถูกขังอยู่ภายในและตายไปในสุสานนั้น
ปัญหาจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วทางออกที่ว่านั้นอยู่ตรงจุดใดของกำแพงอิฐขนาดใหญ่ที่สร้างครอบปิดสุสานเอาไว้?
สุสานหมิงก็เช่นกันที่เซี่ยไน่เชื่อว่าจะต้องมีช่องทางลึกลับให้เข้าไป ปัญหาจึงมีแต่เพียงว่าจะพบมันได้อย่างไรเท่านั้น
แต่แล้วพวกเขาก็พบเข้าจนได้!?