วิช่วลคัลเจอร์/ ประชา สุวีรานนท์ /มังกรหยก : ร่างกายเชิงเปรียบเปรย

วิช่วลคัลเจอร์/ ประชา สุวีรานนท์

มังกรหยก

: ร่างกายเชิงเปรียบเปรย

 

กิมย้งเป็นนักเขียนที่ทำให้ “นิยายกำลังภายใน” เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และมีฐานะสูงส่งเทียบเท่าวรรณกรรม ได้เสียชีวิตไปไม่นานนี้

ผลงานของเขาซึ่งเริ่มราวหกสิบปีที่แล้วเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนทั้งในประเทศและโพ้นทะเล ตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดาไปจนถึงผู้นำจีนชื่อเติ้งเสี่ยวผิง และต่อมาก็ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่นอังกฤษและญี่ปุ่น ทำให้แพร่หลายออกไปมากขึ้น

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงและผลงานของเขาได้กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ นิยายถูกแปรเป็นสื่ออื่นหลายชนิด เช่น ภาพยนตร์ ละคร การ์ตูน แอนิเมชั่น และเกม

ทั้งหมดล้วนได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เฉพาะที่เป็นภาพยนตร์จากฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ แต่ละเวอร์ชั่นมีผู้ติดตามดูและออกความเห็นกันมากมาย

 

ว่ากันว่า รูปจากหนังสือ ภาพยนตร์ และสื่อต่างๆ กระตุ้นความคาดหวังให้แก่ผู้อ่าน และมีความสำคัญไม่แพ้ตัวหนังสือ อย่างน้อยก็บอกได้ว่าผู้สร้างและผู้อ่านมีภาพของตัวละครและฉากทั้งหลายอย่างไรก่อนจะอ่าน

รูปวาดทั้งสองนี้มาจากฉบับภาษาไทยที่แปลโดยประยูรและจำลอง พิศนาคะ ซึ่งพิมพ์ในปี พ.ศ.2501 โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ มีปกที่ถ่ายทอดมาจากรูปของจีน โดยฝีมือของวารินทร์ ศิลปินไทย และมีภาพประกอบที่ใช้สไตล์ของภาพลายเส้นแบบจีน

ในมังกรหยกภาคหนึ่ง หรือ Legend of the Condor Heroes ซึ่งมีพระเอกคือก๊วยเจ๋ง กิมย้งให้ความสำคัญอย่างมากแก่เกียรติยศและยกย่องคุณค่าประเพณีจีน นั่นคือความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างผู้ปกครองและประชาชน พ่อกับลูก ผู้อาวุโสและผู้น้อย อาจารย์กับศิษย์

แต่ในภาคสอง หรือ Return of the Condor Heroes ซึ่งมีพระเอกคือเอี้ยก้วย กิมย้งตั้งคำถามกับคุณค่าเหล่านี้ โดยให้เอี้ยก้วยเป็นผู้ที่ถูกขับออกจากสังคม และแม้จะยอมรับก๊วยเจ๋งเป็นพ่อ แต่ก็ยกอาวเอี้ยงฮง พิษร้ายตะวันตกให้เป็นพ่อบุญธรรมอีกคน ที่สำคัญ มีความรักกับครู ซึ่งถือว่าขัดต่อจารีตสังคมอย่างรุนแรง

ดังนั้น นอกจากจะเป็นต้นแบบของพระเอกผู้ไม่สมประกอบและความรักที่ผิดประเพณี (Star Wars) รวมทั้งดาบเหล็กขนาดมหึมา (Berzerk) นิยายเรื่องนี้จึงต้องมีฉากสำคัญคือห้องนอนในสุสานโบราณ ซึ่งเซียวเล้งนึ่งจัดให้เอี้ยก้วยนอนบนเตียง ส่วนตนขึ้นไปนอนบนเชือก

ในแง่สมจริง ท่านอนพิสดารของเซียวเล้งนึ่งเป็นการรักษาพรหมจรรย์ของฝ่ายหญิง และการนอนเตียงของเอี้ยก้วยเป็นวิธีถอนพิษจากร่างกาย แต่ถ้าจะตีความภาพนี้ ก็คงบอกได้ว่ามีการกลับบทบาทกันระหว่างหญิง-ชาย หญิงอยู่บนและชายอยู่ล่าง รวมทั้งการสลับค่าหยิน/หยาง คือให้หญิงเป็นธาตุร้อนและชายเป็นธาตุเย็น

ฉากนี้มีความสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อไปรษณีย์ของฮ่องกงจะออกแสตมป์ที่เฉลิมฉลองนิยายของกิมย้ง สำหรับมังกรหยกภาคสอง แสตมป์ใช้ฉากนี้เป็นตัวแทน

 

ตอนที่กิมย้งเริ่มเขียนเรื่องมังกรหยกนั้นเป็นช่วงสงครามเย็น ซึ่งโลกกำลังกลัวจีนแผ่นดินใหญ่จนขึ้นสมอง และประเทศในเอเชียที่มีชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมาก กำลังกลัวว่าคนเหล่านี้จะถูกปลุกปั่นให้เข้าข้างจีน

อัตลักษณ์จีนในประเทศต่างๆ เช่น ฮ่องกงและไต้หวันกลายเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวล

ในภาคแรก สิ่งที่กิมย้งตั้งใจบอกชาวจีนโพ้นทะเลคือ ถ้าจำเป็นต้องเลือกระหว่างบ้านเกิดกับประเทศที่ตัวเองไปอยู่ ก็ขอให้เลือกจีน แต่ในภาคสอง กลับแสดงความขัดแย้งของความเป็นจีน ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันและฮ่องกง กิมย้งบอกว่าหนทางจะอยู่รอดไม่ได้ถือชาตินิยมอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง และรู้จักใช้อัตลักษณ์ความเป็นจีนอย่างพลิกแพลงมากขึ้น

สะท้อนชัดที่สุดคือฮ่องกง เพราะมีสองสถานะคือเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพอังกฤษกับเป็นเมืองหนึ่งของจีน เรียกว่ามีความขัดแย้งระหว่างของสองระบบ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ปัญหาชาตินิยมหรืออัตลักษณ์ความเป็นจีนรวมศูนย์อยู่ที่ฮ่องกง

 

ในช่วงนั้น ชอว์บราเดอร์ส บริษัทสร้างหนังของฮ่องกง ซึ่งผงาดขึ้นมาหลัง พ.ศ.2500 ได้หันมาผลิตหนังกำลังภายในออกมามากมาย กระแสความนิยมหนังกำลังภายในเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชีย ตัวอย่างเด่นคือ เดชไอ้ด้วน หรือ The One – Armed Swordsman (1967) ซึ่งนำแสดงโดยหวังหยู่ เป็นหนังกำลังภายในเรื่องแรกที่กวาดรายได้ถึงล้านดอลลาร์สหรัฐในฮ่องกง และภาคสองซึ่งออกมาเพียงสองปีหลังจากนั้นก็ทำรายได้สูงขึ้นไปอีก

หลังจากที่ให้ผู้หญิงเป็นดารานำหรือเป็นหลักของหนังมานาน ชอว์อยากทำหนังจีนที่เป็นผู้ชายมากขึ้น และว่ากันว่า จางเชอะ ผู้กำกับหนังคนหนึ่ง ทำให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ เคล็ดของจางเชอะคือเพิ่มองค์ประกอบด้านความรุนแรงและเลือด (masochism) เข้าไป

โดยทั่วไปหนังกำลังภายในคือหนังแอ๊กชั่นที่เน้นร่างกายของผู้ชายอยู่แล้ว แต่ในช่วงนั้นหนังกำลังภายในที่มีพระเอกไม่สมประกอบ เช่น The Chinese Boxer (1970), Zatoichi and the One-Armed Swordsman (1971), One-Armed Boxer (1972) และ One-armed Boxer vs. the Flying Guillotine (1976) เป็นที่นิยมมาก

บุคลิกดังกล่าวน่าจะมาจากเอี้ยก้วยในนิยายของกิมย้งซึ่งออกมาก่อนหน้านั้นราวสิบปี พระเอกหนังและนิยายมีความคล้ายคลึงกันเป็นพิเศษ เช่น ในหนัง ถูกตัดแขนโดยลูกสาวเจ้าสำนัก ในขณะที่เอี้ยก้วยถูกตัดแขนเหลือข้างเดียวโดยลูกสาวของก๊วยเจ๋ง

ความหมายของความด้วนหรืออาการไม่สมประกอบอาจจะมีสองแง่คือ แง่หนึ่ง เน้นความเจ็บปวดขณะเรียนรู้เพื่อปรับปรุงตัวเองของตัวเอก และอีกแง่หนึ่ง เน้นความไม่เสร็จสมบูรณ์ของความเป็นจีน

 

ในปัจจุบันหนังกำลังภายในจากฮ่องกงอาจจะยุติลง (หรือพ้นยุคของ “ชายนิยม” และ “ชาตินิยม” ไปแล้ว) แต่มังกรหยกภาคสองก็ยังถูกสร้างเป็นหนังอยู่เรื่อยๆ เพราะมีโครงเรื่องที่พิสดารพันลึก

ที่สำคัญ ไม่ละทิ้งความสำคัญของร่างกาย ซึ่งถูกเน้นในเชิงเปรียบเปรย