คำ ผกา l ปลอดการเมือง คือปลอดการตรวจสอบ

คำ ผกา

อ่านข่าวงานเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียนเปลี่ยนไทยทันโลก” ที่ตัวแทนภาคีเพื่อการศึกษาไทยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาเสวนาเกี่ยวกับปัญหาของการศึกษาไทย

ซึ่งตัวแทนภาคีคือ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากทีดีอาร์ไอ ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของการศึกษาไทยมาโดยตลอดชี้ว่า ปัญหาใหญ่คือความไม่ต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย เพราะเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย เฉลี่ยในรอบ 20 ปี ใช้รัฐมนตรีศึกษาฯ ไปถึง 21 คน

จากนั้นตัวแทนพรรคการเมืองหลายๆ พรรค อย่างคุณกัญจนา ศิลปอาชา และอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็บอกว่า จะแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการปลอดจากการเมือง

และหากเป็นไปได้ ควรให้คนนอกเข้ามาเป็นรัฐมนตรี

อาจารย์เอนกยังพูดอีกด้วยว่า พร้อมเป็นรัฐมนตรี!

เดี๋ยวนะ ฉันไม่มีปัญหาอะไรกับการที่อาจารย์เอนกจะเป็นรัฐมนตรี จะกระทรวงศึกษาฯ หรือกระทรวงอะไรก็ได้

แต่อาจารย์ช่วยไปสมัคร ส.ส. ก่อน เพราะไหนๆ ก็สังกัดพรรคการเมืองแล้ว ได้รับเลือกเป็น ส.ส.พรรคของอาจารย์

ได้เป็นรัฐบาลแล้วค่อยมาว่ากันเรื่องเป็นรัฐมนตรีดีไหม?

นี่เราไม่ได้เลือกตั้งกันมาแค่เกือบๆ 10 ปี มีรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 10 ปีแค่นี้ สะหมงสมองคนไทยเริ่มวิปลาสถึงขั้นเรียกหารัฐมนตรีคนนอกกันแล้วหรือ?

ที่น่าเศร้าคือ มันออกมาจากปากของคนที่เป็นนักการเมือง!!!

นี่ถ้าเป็นทหารหรือเทคโนแครตกระหายอำนาจพูดจะไม่ว่าสักคำ

แต่นักการเมืองมาพูดเรื่องกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ต้องปลอดการเมือง ควรไปเอาคนนอกที่ปลอดผลประโยชน์ทางการเมืองมาเป็นรัฐมนตรี

ถ้านักการเมืองคนไหนแสดงวิสัยทัศน์แบบนี้ออกมา ฉันคิดว่านักการเมืองคนนั้นควรยุบพรรคการเมืองของตนเองไปเสีย

จะมาเสียเวลาลงเลือกตั้งทำไม ถ้าเชื่อว่าการเมืองมันสกปรก มันคืออุปสรรคของการพัฒนา

ส่วนคนที่บอกว่า นโยบายไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อย เคยถามตัวเองไหมว่า ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลเกิดจากอะไร?

มีรัฐประหารสองครั้งในรอบ 10 ปี คุณจะมาถามหาความต่อเนื่องทางนโยบายอะไร?

และเอาเข้าจริงๆ เกิดมียุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลเผด็จการนั่งอยู่ในอำนาจต่อเนื่องไปสิบห้าปี ไม่มีการเปลี่ยนตัว รมต.ศึกษาฯ เลย

คุณคิดหรือว่ากระทรวงศึกษาฯ ของไทยจะออกมาจากแดนสนธยาได้?

เปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลตะหวักตะบวยห่วยแตกที่มาจากการเลือกตั้ง เอานักการเมือง ส.ส. มาเป็น รมต. ทำงานไม่เข้าเป้า โดนฝ่ายค้าน “แหก” บ่อยๆ แล้วถูกเปลี่ยนตัวเอาคนอื่นมานั่งทำงานแทน และคนอื่นนั้นก็ยังห่วยแตกอีก ก็ถูกปรับออกอีก เอาคนใหม่เข้ามา

ด้วยกลไกแบบนี้ ไม่รู้ว่าดีกว่าหรือเปล่า แต่มันดู make sense ว่าการมีคนที่ตรวจสอบไม่ได้ แล้วนั่งคุมกระทรวงต่อเนื่องไป 20 ปี ไม่ใช่หรือ?

คำว่า “ปลอดการเมือง” เป็นคำขี้โกง มันฟังดูดี ดูสะอาด แต่มันเป็นคำโกหก หลอกลวง

เพราะการที่เอาใครไม่รู้ที่ไม่ใช่ ส.ส. ไม่ใช่นักการเมืองมาเป็นรัฐมนตรีนั้นมันไม่ได้รับประกันว่ามัน “ปลอดการเมือง”

คล้ายๆ กับคำว่า “องค์กรอิสระ” นั่นแหละ เป็นถ้อยคำ ภาษา ที่ขี้โกงเหมือนๆ กัน

เพราะคำว่าอิสระ มันทำให้เราเข้าใจว่า มันปลอดจากอำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์

แต่จริงๆ แล้วคำว่าองค์กรอิสระมันแปลว่า อิสระจากการตรวจสอบของประชาชน อิสระจากการยึดโยงผลประโยชน์เข้ากับประชาชน

แต่ไม่ได้แปลว่าอิสระจาก “การเมือง” หรืออำนาจ ผลประโยชน์ อิทธิพล ของกลุ่มคนที่อุปถัมภ์ค้ำจุนให้พวกเขาได้เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขององค์กรอิสระ

คําว่า “ปลอดการเมือง” นั้น ต้องแยกออกจากคำว่า “ปลอดนักการเมือง”

ข้อเสนอให้กระทรวงศึกษาฯ ปลอดการเมือง และหากเป็นไปได้ควรให้ “คนกลาง” มาทำหน้าที่รัฐมนตรี เพื่อความ “ต่อเนื่อง” ทางนโยบายนั้นฟังดูดี

แต่ว่า “คนกลาง” นั้นจะเป็นใคร?

คัดสรรมาอย่างไร?

ใครเป็นคน “เคาะ” เออ คนนี้แหละคือ “คนกลาง” ที่ดีที่สุด

กระบวนการคัดสรร เลือก เคาะ นี่แหละ คือกระบวนการทางการเมือง

สมมุติว่าเลือกตั้งเสร็จแล้ว พรรคเกียนเป็นรัฐบาล แล้วคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ บอกว่า คนกลางที่เหมาะสมจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคือคุณลีน่า จัง – ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้น?

คุณลีน่า จัง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองอะไรเลย ถือเป็นคนกลางหรือไม่? แล้วคุณลีน่า จัง จะดำเนินนโยบายการศึกษาบนฐานของอะไร?

แต่ท้ายที่สุด ถ้าพรรคเกียนตั้งคุณลีน่า จัง เป็นรัฐมนตรี คุณลีน่า จัง ก็ไม่ใช่ “คนกลาง” อีกต่อไป แต่เป็นตัวแทนจากพรรคเกียน

ดังนั้น สถานะของคุณลีน่า จัง ก็ย่อมไม่ “ปลอดการเมือง” อยู่นั่นเอง?

ถ้าพรรคเกียนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องยุบสภา คุณลีน่า จัง ก็ต้องพ้นสภาพรัฐมนตรีไปตามครรลอง

ดังนั้น รัฐมนตรีปลอดการเมืองจึงไม่มีอยู่จริง เว้นแต่จะไปสร้างอภินิหารทางกฎหมาย ออกกฎข้อยกเว้นมาว่า คุณลีน่า จัง ในฐานะรัฐมนตรีคนกลาง ให้เป็นรัฐมนตรีต่อเนื่อง 20 ปี ไม่ต้องพ้นสภาพ พ้นวาระ ตามพรรครัฐบาล?

โอ๊ย แบบนี้ยิ่งดูเละตุ้มเป๊ะ ใช่หรือไม่?

ทีนี้ถ้าบอกว่า ตัวอย่างคุณลีน่า จัง มันสุดโต่งเกินไป ทุกพรรคควรร่วมกันเสนอชื่อคนที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายว่าเก่งเรื่องการศึกษา

แต่คำว่าทุกฝ่ายยอมรับ มันมีความเป็นไปได้แค่ไหน

เช่น สามพรรคอยากได้สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ อีกสองพรรคอยากได้อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ แล้วจะทำอย่างไร?

แล้วเกิดเคาะมาได้คนหนึ่ง เราจะเอาอะไรรับประกันว่าการทำงานของสองคนนี้ “ปลอดการเมือง” และไม่ผูกพันกับคนที่สนับสนุนตนให้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี

แล้วเอาอะไรมารับประกันว่า “การเมือง” จะหายไปในการบริหารของสองคนนี้?

และคำถามเดิม เราจะเอาอะไรมาเป็นตัวกำกับควบคุมการทำงานของคนสองคนนี้? หรือเราจะใช้บรรทัดฐานแค่ “เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ”

ตามหลักการแล้ว แต่ละพรรคการเมืองเสนอนโยบายทางการศึกษา เกษตร เศรษฐกิจ ฯลฯ ต่อประชาชนก่อนการเลือกตั้งใช่ไหม?

สมมุติว่าพรรคเกียนเสนอปฏิรูปการศึกษาผ่านการกระจายอำนาจ เอาการศึกษาไปให้ท้องถิ่นจัดการให้หมด ยกเลิกการสอบวัดผลทั้งหมดของชั้นประถมศึกษา ฯลฯ และฉันชอบแนวทางนี้ ฉันเลือกพรรคเกียน พรรคเกียนชนะการเลือกตั้ง ส่ง ส.ส.ของพรรคมานั่งกระทรวง จะเป็นใคร อ้ายแก้ว อี่คำ ที่ไหนก็ช่าง

อ้ายแก้ว อี่คำนี้ก็ต้องดำเนินนโยบายการศึกษาตามพิมพ์เขียวที่พรรคไปทำสัญญากับประชาชนเอาไว้

จะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคเกียนต้องพิสูจน์ตัวเอง เพราะมันคือจุดที่จะไปวัดกันใหม่ที่การเลือกตั้งครั้งต่อไป

ในกระบวนการประชาธิปไตย เราต้องทำงานการเมืองกันแบบนี้มิใช่หรือ?

รัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษา แต่รัฐมนตรีมีหน้าที่ผลักดันให้นโยบายที่พรรคไปสัญญากับประชาชนเป็นจริงให้ได้

มีหน้าที่ตั้งคณะทำงาน และบริหารคณะทำงานนั้นให้ทำงานให้สำเร็จ

ไอ้แก้ว อี่คำ อาจจะไปตั้งอาจารย์สมพงษ์ สมเกียรติ เทคโนแครต มาเป็นคณะทำงาน รัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารเทคโนแครตเหล่านี้ให้ทำงานให้เข้าเป้าไปตามนโยบายที่ตนเองต้องการให้บรรลุ ส่งนโยบายไปที่ข้าราชการประจำให้เดินงานไปให้ถึงฝั่งฝัน

นี่คือหน้าที่รัฐมนตรี คือ เป็นผู้บริหาร

คำว่าปลอดการเมืองจึงไม่มีจริง แต่การทำให้กระทรวงปลอดนักการเมือง จะทำให้การทำงานของกระทรวงนั้นปลอดจากการยึดโยงอำนาจ ผลประโยชน์จากประชาชน และปลอดการตวจสอบ

ขอย้ำอีกครั้งว่า คำว่า “ปลอดการเมือง” ไม่มีอยู่จริง เป็นคำโกหกพกลม

แต่คำว่า “ปลอดนักการเมือง” จะเท่ากับปลอดจากการตรวจสอบจากประชาชน!!!

สิ่งที่คนไทยเราต้องเรียกร้องให้มากคือ เราต้องการให้ทุกพื้นที่การเมืองของเรามี “นักการเมือง” เราไม่ต้องการสภาวะ “ปลอดนักการเมือง”

ในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พรรคการเมืองและนักการเมืองที่เข้าไปทำงานแทนประชาชนอย่างพวกเรา ผ่านระบบการเลือก ทุกองคาพยพของการเมืองต้องมี “นักการเมือง” ที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน

พอกันทีกับการให้พวกเทคโนแครต ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมาชุบมือเปิบอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชนผ่านถ้อยคำเพ้อพกที่ไม่เป็นจริงว่า ถ้า “ปลอดการเมือง” แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

เวลาที่พวกเขาพูดว่า “ปลอดการเมือง” มันแปลว่า “ปลอดการตรวจสอบ”

ถึงได้หนีญญ่ายพ่ายจะแจ ลาออก ไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินกันไง – นี่แหละ “ปลอดการเมือง” ในแบบไม่มีนักการเมืองกันสักคน!!!