บทวิเคราะห์ : สัตยาบัน “ซี-188” กับ เสียงสะท้อนจากอเมริกา

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 188 (ซี-188) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการทำการประมง

ทำให้ไทยกลายเป็นชาติใน “เอเชีย” ประเทศแรกที่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 188 อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ไอแอลโอบัญญัติขึ้นเป็นข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานในเรื่องการทำประมงเอาไว้ตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

องค์กรเอกชนที่รณรงค์ด้านสิทธิและแรงงานพยายามผลักดันไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพื่อให้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญานี้มานานแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากอนุสัญญาฉบับที่ 188 นี้ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับสภาพเงื่อนไขบนเรือประมงเอาไว้ จนถูกยึดถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่จำเป็นประการหนึ่งหากต้องการก้าวไปสู่การขจัดการบังคับใช้แรงงานประมงอย่างบิดเบือนในห่วงโซ่การผลิตทั้งหลายจากประเทศไทยของบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลที่ผลิตออกจำหน่ายด้วยเครื่องหมายการค้าในระดับนานาชาติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มทำงานด้านอาหารทะเลไทย” หรือ “ไทยซีฟู้ดเวิร์กกิ้งกรุ๊ป” ที่ถือว่าการผลักดันให้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้เป็นการรณรงค์สำคัญสูงสุดของปี 2018 นี้

 

อนุสัญญาฉบับที่ 188 นี้ เป็นอนุสัญญาหนึ่งในจำนวน 188 ฉบับที่ไอแอลโอบัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานแรงงานในด้านต่างๆ เอาไว้ อนุสัญญาเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกต่อเมื่อประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนั้นๆ แล้ว โดยประเทศสมาชิกสามารถพิจารณาเลือกให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับใดก็ได้ที่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อสถานการณ์แรงงาน สภาพเศรษฐกิจ และสังคมของตน

หลังจากการให้สัตยาบันแล้ว ประเทศดังกล่าวต้องออกกฎหมาย ข้อบังคับ หรือแนวปฏิบัติภายในประเทศให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญา และต้องขจัดอุปสรรคในการปฏิบัติตามอนุสัญญา ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกกฎหมายหรือแนวปฏิบัติภายในประเทศที่ขัดกับอนุสัญญา

ดังนั้น การให้สัตยาบันซี-188 ของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ ในทางหนึ่งจึงได้รับการตอบรับอย่างยินดีจากองค์กรเอกชนทั้งหลาย รวมทั้ง “อินเตอร์เนชั่นแนล เลเบอร์ ไรต์ส ฟอรั่ม” หรือ “ไอแอลอาร์เอฟ” องค์กรเอกชนที่รณรงค์เพื่อสิทธิแรงงานในสหรัฐอเมริกา

จูดี้ เกียร์ฮาร์ต ผู้อำนวยการบริหารของไอแอลอาร์เอฟ ออกถ้อยแถลงมาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมนี้ แสดงความยินดีกับความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของทางการไทย

แต่ในเวลาเดียวกันก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า ไทย “ยังคงต้องมีอะไรต้องทำอีกมาก”

“อย่างไรก็ตาม ยังคงมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาแรงงานอพยพในประเทศไทย”

สิ่งที่เกียร์ฮาร์ตชี้เอาไว้ให้เห็นก็คือ ไทยยังคงไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ซึ่งเป็นอนุสัญญาสำคัญ 2 ฉบับที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการให้ความคุ้มครองสิทธิต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะแรงงานในภาคการประมง แต่ให้ความคุ้มครองต่อแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย

อนุสัญญาฉบับที่ 87 หรือซี-87 คืออนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ.1948 ส่วนซี-98 คืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ.1949

“ถ้าหากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อแรงงานอย่างแท้จริง ไทยต้องอนุญาตให้แรงงานอพยพทั้งหลายสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นอิสระของตนเองขึ้นมาได้”

เกียร์ฮาร์ตระบุต่อไปด้วยว่า

“จนกว่า ซี-87, ซี-98 จะได้รับสัตยาบันรับรอง และอนุสัญญาทั้ง 3 ฉบับถูกนำมาปรับใช้ บัญญัติกฎหมายของไทยให้สอดคล้อง และมีการบังคับใช้ให้เป็นไปตามนั้นอย่างเต็มที่ แรงงานทั้งหลายจะยังคงตกอยู่ในสภาพและเงื่อนไขเดิมที่เปราะบางต่อการถูกกดขี่ในทุกรูปแบบ รวมทั้งการบังคับใช้แรงงานต่อไป”

 

ในถ้อยแถลงของเอ็นจีโอจากวอชิงตันเปิดเผยเอาไว้ด้วยว่า ตัวแทนของทางการไทยเพิ่งเข้าให้ปากคำต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือที่รู้จักกันในชื่อ จีเอสพี เมื่อ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และอ้างเอาไว้ทั้งในเอกสารสำหรับการแถลงต่อสื่อมวลชน และในการให้ปากคำว่า ในการหารือสาธารณะ “กับทุกฝ่าย” ว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์นั้น “ทุกๆ ฝ่ายไม่เห็นด้วยที่จะเปิดทางให้ลูกจ้างซึ่งไม่ได้ถือสัญชาติไทยสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน”

เกียฮาร์ตบอกว่า “ทุกฝ่าย” ที่ทางการไทยอ้างนั้น เป็นที่แน่ชัดว่า “ไม่ได้รวมถึงความเห็นของกลุ่มสิทธิมนุษยชน, องค์กรเพื่อสิทธิผู้ใช้แรงงาน และสหภาพแรงงานต่างๆ ซึ่งเรียกร้องตรงกันให้มีการปฏิรูป (เรื่องนี้)”

ดังนั้น จึงถือได้ว่า เป็นความพยายามทำให้เข้าใจไขว้เขว และ

“สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามกดขี่สิทธิแรงงานอพยพอย่างเป็นระบบ เนื่องจากแรงงานอพยพนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย”!