วงค์ ตาวัน : มีเก้าอี้ฟาดและยิงคนในวัด

วงค์ ตาวัน

ขณะที่ยอดคนเข้าดูมิวสิกวิดีโอเพลงประเทศกูมียังคงพุ่งทะยานไม่หยุด สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะเหล่าวัยรุ่น วัยหนุ่ม-สาว ว่าอึดอัดกับบรรยากาศประเทศในยุคไร้สิทธิเสรีภาพเช่นไร

“เลยขานรับเสียงเพลงที่ต่อต้านท้าทายอำนาจกันอย่างกว้างขวาง”

แถมเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังจะผ่านพ้นยุครัฐประหาร เข้าสู่ยุคประชาธิปไตย กำลังจะมีการเลือกตั้ง คงยิ่งกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวกันยกใหญ่

ยิ่งบรรยากาศในช่วงใกล้เข้าสู่เลือกตั้ง เต็มไปด้วยพฤติกรรมพิลึกพิลั่นของฝ่ายที่มีอำนาจ เล่นได้ฝ่ายเดียว แจกได้ฝ่ายเดียว

น่าจะยิ่งปลุกความรู้สึกไร้ความเป็นธรรมในประเทศนี้ให้ยิ่งพลุ่งพล่าน

ยิ่งปลุกเร้าให้อยากออกจากบ้านเดินเข้าคูหากาบัตรในวันเลือกตั้งกันอย่างล้นหลาม

“เพื่อยืนยันว่าอำนาจการเมืองต้องอยู่ในมือของประชาชน ไม่ใช่อยู่ในมือของกลุ่มคนคณะเดียว ภายใต้ข้ออ้างปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง!?!”

คนไทยไม่ได้เลือกตั้งมาแล้วถึง 7-8 ปี มันน่าเจ็บใจขนาดไหน

ทั้งที่วีรชนคนหนุ่ม-สาวและประชาชนจำนวนมากมาย ยอมตายยอมเสียเลือดเนื้อเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย เสรีภาพ และอำนาจการเมืองเป็นของประชาชน

แล้วประชาธิปไตยก็เบ่งบาน ภายใต้การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา-ประชาชน ตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งต้องมีแผนโหดเหี้ยมปราบปรามเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เพื่อหยุดยั้งและกวาดล้าง ไม่ให้ฝ่ายที่ใฝ่หาเสรีภาพประชาธิปไตยขยายใหญ่ไปกว่านี้

“เป็นการดิ้นรนครั้งสำคัญของฝ่ายอำนาจเก่า ฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง ที่ปรารถนาให้สังคมไทยอยู่กันอย่างว่านอนสอนง่าย”

คิดดูแล้วกัน ฆ่ากันใจกลางเมืองหลวง ฆ่าในธรรมศาสตร์ แล้วเอามาฆ่ากลางสนามหลวงอีก

โจ๋งครึ่มขนาดนี้ คนที่ลงมือฆ่าก็กล้าฆ่าได้อย่างไม่หวั่นเกรงอะไร และสุดท้ายก็ไม่ต้องมีใครรับผิดอะไร

“ลงเอยด้วยการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายในเหตุการณ์นี้”

กระนั้นก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงยังถูกปกปิด ประวัติศาสตร์ยังถูกกลบ ฝ่ายที่ถูกกระทำ หรือคนที่ไม่ยอมจำนนกับอำนาจเลวร้าย จึงยังคงทวงถามความจริงไม่สิ้นสุด

สำคัญสุดคือ ถ้าปล่อยเฉย ก็พร้อมจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้อีก

6 ตุลาฯ ผ่านมาแล้ว 42 ปี ทั้งที่ทางการพยายามจะให้ทุกคนลืมเลือน ไม่พูดถึง ไม่มีการบันทึกอะไร ไม่มีอยู่ในตำราเรียน

แต่วันนี้คนจำนวนไม่น้อยก็ไม่เคยลืม และยังพูดถึงต่อไป

ฉากสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นภาพข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ระดับโลก และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้ายในเหตุการณ์นี้ กระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์โดยรวมของการประจานความรุนแรงในประเทศไทย ที่เกิดจากฝ่ายผู้มีอำนาจกระทำกับคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตย

“นั่นคือ ภาพเก้าอี้ฟาดศพ!!”

ฟาดใส่ร่างที่โดนแขวนคอกับต้นมะขาม ริมสนามหลวง หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขนาดคนรุ่นใหม่ที่ผลิตเพลงประเทศกูมี ยังเลือกนำฉากเก้าอี้ฟาดศพนี้มาใช้ในมิวสิกวิดีโอ

“เหมาะสมกลมกลืนอย่างมาก และกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ได้ฟังเพลงได้ดูวิดีโอให้เห็นถึงความเลวร้ายที่เกิดในประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี”

เช่นเดียวกัน คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่เกิดไม่ทัน หรือไม่เคยได้รับรู้ความจริงของ 6 ตุลาฯ

เมื่อได้รู้ได้เห็นผ่านเพลงประเทศกูมี คงมีจำนวนไม่น้อยที่ค้นหาความจริงของ 6 ตุลาฯ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงให้ได้ศึกษาเรียนรู้กันมากมายผ่านเว็บไซต์หลายเว็บที่บรรจุเรื่องราวเอาไว้

“โลกดิจิตอล เปิดกว้างให้ได้เรียนรู้เสมอ ถ้าเปิดหูตาและเปิดใจ!”

42 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ทำให้ความจริงความเจ็บปวดเลือนหายไปได้ง่ายๆ

“แต่คงไม่ปลุกให้ลุกขึ้นมาล้างแค้นเอาคืนกัน เพียงแต่ปลุกให้ทุกคนตระหนักถึงความไม่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก”

เช่นเดียวกัน วันนี้คนอีกจำนวนไม่น้อยก็คงต้องสนใจศึกษาเหตุการณ์ 99 ศพ ปี 2553 อีกเรื่องราวเลวร้ายรุนแรง ที่ผู้มีอำนาจกระทำกับประชาชนที่มาชุมนุมต่อสู้ทางการเมือง

เนื่องจากระยะนี้ได้กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อแกนนำ นปช. ยังคงติดตามทวงถามความคืบหน้าคดี

เมื่อญาติมิตรของผู้สูญเสีย เช่น นางพะเยาว์ อัคฮาด เเม่ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิต 1 ใน 6 ศพวัดปทุมวนาราม ออกมาเรียกหาความเป็นธรรมอย่างไม่ท้อถอย

แล้วความจริงก็ปรากฏว่า ผ่านมา 8 ปีแล้ว แต่สำนวนคดีไม่คืบหน้า เกี่ยงกันไปมาระหว่างอัยการกับดีเอสไอ

ผลสะเทือนจากความจริงอันน่าเศร้าเหล่านี้ ย่อมทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยต้องสนใจค้นหาข้อมูลของเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อปี 2553

เกิดอะไรขึ้นกับ 99 ศพ และโดยเฉพาะ 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม!?

ในทางการเมือง อาจจะมีการสร้างวาทกรรมเพื่อกล่าวหาใส่ร้ายกันขนาดไหน และอาจจะทำให้คนจำนวนหนึ่งเห็นภาพตึกรามอาคารถูกไฟเผา เป็นเรื่องใหญ่กว่าภาพคนที่ถูกยิงตายร่วมร้อยศพก็ตามที

แต่ในทางพยานหลักฐานทางกระบวนการคดี

“ผู้มีอำนาจในเหตุการณ์ปี 2553 กลับละเลี่ยงที่จะพิสูจน์คดีนี้ผ่านกระบวนการยุติธรรม!?!”

“ฝ่ายผู้ชุมนุม ที่เขาหาว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมืองเสียอีก ที่ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อต้องการให้คดีนี้ขึ้นสู่ศาล เพื่อเปิดพยานหลักฐานพิสูจน์ความจริง”

ข้อเท็จจริงทางคดีนี้ นอกจากภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ ของนักข่าวทั้งไทยและต่างชาติ ไปจนถึงจากประชาชนทั่วไปที่บันทึกเอาไว้

เห็นภาพเจ้าหน้าที่ ศอฉ.ยิงใส่ผู้ชุมนุมแน่นอน มีเสียงสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่ทีมสไนเปอร์ชัดแจ้ง ยิงแล้ว ล้มแล้ว พอแล้ว

“ไม่เท่านั้น มีการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรศพ ขึ้นพิสูจน์ในชั้นศาลไปแล้วบางส่วน และศาลชี้ไปแล้ว 17 ศพ ว่าตายด้วยปืนของเจ้าหน้าที่ ศอฉ.”

โดยเฉพาะ 6 ศพวัดปทุมฯ ซึ่งเกิดเหตุในเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากแกนนำเสื้อแดงถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวไปหมดแล้ว การชุมนุมสลายไปหมดแล้วตั้งแต่ช่วงบ่าย เหลือผู้ชุมนุมราว 2 พันคนที่ขอหลบอยู่ภายในวัดปทุมฯ เนื่องจากได้ประกาศเป็นเขตอภัยทาน เอาไว้เป็นที่พักพิงของผู้ชุมนุมสูงวัย หรือคนเจ็บป่วย

ไม่มีกระบวนการต่อสู้ของฝ่ายเสื้อแดงหลงเหลืออีกแล้ว

สายตาของคนในวัดปทุมฯ นับพัน และกล้องวิดีโอของตำรวจถ่ายจากตึกสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นเจ้าหน้าที่ชุดลายพราง หมวกเหล็กติดสติ๊กเกอร์สีชมพู สัญลักษณ์ปฏิบัติการของ ศอฉ.ในวันนั้นชัดเจน

“ยืนยิงจากรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ ส่องยิงลงไปภายในวัด โดยคนยิงไม่ต้องก้มหลบ อธิบายได้เลยว่า ไม่มีใครยิงต่อสู้ขึ้นมา”

การไต่สวนชันสูตรศพวัดปทุมฯ ศาลชี้ว่า 6 ศพตายด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส และจากชุดพื้นราบที่ยิงจากหน้าวัด โดยไม่มีชายชุดดำยิงต่อสู้ ไม่มีการใช้อาวุธจากคนในวัด

ในสำนวนของดีเอสไอ มีสอบปากคำเจ้าหน้าที่ ศอฉ.ชุดนั้น ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามและสังกัดชัดเจน

“ขนาดนี้ถ้าไม่มีการพิสูจน์คดี ไม่มีความจริง ไม่มีความเป็นธรรม ก็ยากจะยอมรับกันได้”

ทั้งเมื่อเป็นข่าวดังขึ้นมาอีกรอบ มีการปกปิดยื้อคดีแบบนี้ จึงยิ่งกระตุ้นให้เกิดข้อสงสัยและความสนใจ

วันนี้คนจำนวนไม่น้อยเข้าไปค้นหาข้อเท็จจริง คำตัดสินผลการไต่สวนชันสูตรศพ 17 ราย ที่ค้นหาได้ไม่ยาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการไต่สวน 6 ศพวัดปทุมฯ

ประวัติศาสตร์ความรุนแรงในประเทศนี้ไม่มีทางลบเลือนได้ง่ายๆ

ภาพเก้าอี้ฟาดศพก็ไม่มีใครลืม และภาพยิงคนตายในวัดด้วย!