ผ่า!! ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉ.ปลดเปลื้องทุกข์ ปฏิรูปสีกากี คลี่ปม มียศ-ไม่มียศ

“การปฏิรูปตำรวจ” ภายใต้คณะรัฐบาลทหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังเป็นรูปเป็นร่าง หลังจากใช้เวลาคิด วิเคราะห์ แยกแยะ นานมากกว่า 4 ปี เท่าๆ กับอายุของ คสช.

ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ออกแบบเขียน คิด กลั่นกรองโดยคณะทำงานชุดประธานร่างรัฐธรรมนูญ “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และเผยแพร่ฉบับล่าสุดออกมา

หลังจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเปิดเผยร่างแพร่ออกมาให้แสดงความคิดเห็น

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ระบุชัดยึดตามรัฐธรรมนูญ และเขียนโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ

คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายยกหลักการและเหตุผลการออกกฎหมายตำรวจใหม่ เป็นไปตามมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ

มีหลักประกันว่า ตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

คณะทำงานชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับนี้มีคอนเซ็ปต์คือ ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยโอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้ตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็นสายงานต่างๆ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานสามารถเจริญเติบโตตามสายงานด้วยความรู้ความชำนาญในสายงานของตน

โฟกัสเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย กฎหมายใหม่ ชูการกำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งไว้ชัดเจน โดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกำหนดระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งของตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของตำรวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา

“รวมทั้งให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เพื่อเป็นกลไกการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบของตำรวจอันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการกระทำของตำรวจ ตลอดจนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตำรวจเพื่อประโยชน์ ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนั้น และจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ”

คณะปฏิรูปตำรวจระบุเหตุและผลชัดเจนในการตรา พ.ร.บ.นี้

อย่างไรก็ตาม ห้วงที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ มีการเสนอความคิดเห็นเข้าไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างหลากหลาย ทั้งจากคนในองค์กร นอกองค์กร และพาร์ตเนอร์ชิพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานตำรวจผ่านหลายช่องทาง ทั้งเวทีเสวนา การเปิดอภิปราย การส่งจดหมายแสดงข้อคิดเห็น

หลายความเห็นเป็นเสียงสะท้อนที่น่าสนใจ

ประเด็นที่พูดถึงในวงการตำรวจอย่างกว้างขวาง คือ ตำรวจไม่มียศ

ตามมาตรา 9 ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … “ข้าราชการตำรวจมี 2 ประเภท ได้แก่

1.ข้าราชการตำรวจที่มียศ ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 55 (ซึ่งมาตรา 55 ตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่มียศมีดังต่อไปนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและรองจเรตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการสอบสวน และจเรตำรวจรองผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการสอบสวน และรองจเรตำรวจ ผู้บังคับการและผู้บังคับการสอบสวน รองผู้บังคับการและรองผู้บังคับการสอบสวน ผู้กำกับการและผู้กำกับการสอบสวน รองผู้กำกับการและรองผู้กำกับการสอบสวน สารวัตรและสารวัตรสอบสวน รองสารวัตร รองสารวัตรสอบสวน รองสารวัตรสืบสวนในการสอบสวน ผู้บังคับหมู่และผู้ช่วยพนักงานสอบสวนและรองผู้บังคับหมู่)

2. ข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ ได้แก่ ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ การพยาบาล การพิสูจน์หลักฐาน และการสอนในกองบัญชาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือสถาบันการศึกษาอื่นในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เฉพาะที่เกี่ยวกับการสอนวิชา ที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กำหนด หรือหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ประเด็นนี้มีการแสดงความเห็นผ่านช่องทางคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างหลากหลาย เสนอไว้ในรายงาน

มีทั้ง “เห็นด้วย”

เห็นด้วยที่กำหนดให้ตำรวจในสายงานแพทย์ วิทยาศาสตร์และการพิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งการสอนในกองบัญชาการศึกษาและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ

“ไม่เห็นด้วย” กับการที่ให้มีข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ เพราะการที่รับราชการเป็นตำรวจมียศก็เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เป็นขวัญกำลังใจ และความภาคภูมิใจของตำรวจ และเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้บุคคลภายนอกสมัครใจมาเป็นข้าราชการตำรวจ หากมีทั้งข้าราชการตำรวจที่มียศและไม่มียศ จะทำให้การปกครองบังคับบัญชายุ่งยากมากขึ้น ส่งผลต่อความสามัคคีในหน่วยงาน ขาดเอกภาพในการสั่งการ

ขณะที่อีกความเห็นระบุว่า หากจะกำหนดให้ข้าราชการตำรวจมียศหรือไม่มียศก็ควรจะเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ควรแบ่งแยก เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และมีแนวปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ประเด็นตำรวจไม่มียศถูกหยิบยกถกเถียงมีการโต้แย้งคณะทำงานร่างกฎหมาย ทว่าคณะทำงานร่างกฎหมายชี้แจงว่า

“คณะกรรมการได้พิจารณากำหนดข้าราชการตำรวจออกเป็น 2 ประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ โดยในส่วนของตำรวจที่ไม่มียศจะมีการกำหนดประเภทตำแหน่ง วิธีการกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง การบรรจุ การแต่งตั้ง การบังคับบัญชา วินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย อัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง ตลอดจนการอื่นตามที่จำเป็นไว้ในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะไม่กระทบต่อข้าราชการตำรวจที่มียศอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”

มีการตั้งคำถามว่า ตำรวจที่ไม่มียศ เห็นควรแยกไปสังกัดกับหน่วยงานที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกัน เช่น พิสูจน์หลักฐาน ควรไปสังกัดกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน และความน่าเชื่อถือต่อองค์กร

ประเด็นนี้คณะทำงานชี้แจงว่า

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีความจำเป็นต้องมีข้าราชการตำรวจที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน แต่เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการจึงได้พิจารณากำหนดความในร่างมาตรา 9 วรรคสอง ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน พระราชกฤษฎีกาที่ต้องกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ที่บัญญัติให้จัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกันเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก”

เป็นหนึ่งประเด็นฮอตที่ยกเป็นตัวอย่าง!!

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายประเด็นที่เหล่าสีกากียังตั้งคำถามถึงการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้กับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับนี้

หนึ่งคำถามคือ ปฏิรูปตำรวจนี้ตอบโจทย์ประชาชน หรือตอบโจทย์ใคร!!??