ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 ธันวาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ในตอนที่ผ่านๆ มาเราเขียนถึงเทศกาลศิลปะร่วมสมัยทั้งเบียนนาเล่ (และไม่เล่) ทั้งหลายแหล่ติดต่อกันมาหลายตอนแล้ว
ตอนนี้เลยขอพักยกมาพูดถึงนิทรรศการศิลปะน่าสนใจ ที่เราได้ไปดูมาบ้างอะไรบ้าง เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ
นิทรรศการแรกที่เราจะพูดถึงมีชื่อว่า The Nerve that Eats Itself
หรือในชื่อภาษาไทยว่า “ประสาทแดก” (แค่ชื่อก็น่าสนใจแล้ว!)
นิทรรศการแสดงเดี่ยวของศิลปินไทย เถกิง พัฒโนภาษ ที่ประกอบด้วยงานประติมากรรมติดผนังและงานวาดเส้น ที่มีลักษณะเป็นวัสดุเส้นสายโครงข่ายซับซ้อน แปลกตา น่าพิศวง ส่งประกายระยิบระยับเมื่อต้องแสงไฟ
ดูๆ ไปก็คล้ายกับภาพขยายเซลล์ประสาทของมนุษย์จากกล้องจุลทรรศน์ หรือไม่ก็เป็นชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตจากใต้ทะเลลึก, กลุ่มดาวฤกษ์ในห้วงอวกาศ
หรือสัตว์ประหลาดจากต่างโลกที่เราเห็นในภาพยนตร์ไปโน่นเลย
“เราทำงานเกี่ยวกับเรื่องของร่างกายคนมา 20 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาเอก เริ่มจากทำประติมากรรมทั้งตัวแบบคลาสสิคที่อ้างอิงไปถึงประติมากรรมกรีก เชื่อมโยงกับงานพุทธศิลป์
ต่อมาก็พยายามลดขนาดลง แล้วแทนที่จะมองเปลือกข้างนอก เราก็มองลึกไปถึงข้างในร่างกาย ซึ่งอันที่จริงก็เป็นความหมกมุ่นส่วนตัวตั้งแต่เด็ก ที่อยากรู้ว่าร่างกายของเราเป็นยังไง มีชีวิต เจ็บปวด และตายได้ยังไง
ในขณะเดียวกันเราก็สนใจมองออกไปนอกโลก ในจักรวาล ด้วยความเป็นเด็ก เรารู้สึกด้วยตัวเองว่า ระหว่างโลกข้างในกับโลกข้างนอก สองสิ่งนี้โคตรจะเชื่อมโยงกันจนดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ
และในช่วงหลังๆ มีอีกเรื่องที่เราเริ่มสนใจก็คือ เรื่องของ Dark Matter (สสารมืด-องค์ประกอบของอนุภาคที่ยังไม่มีใครรู้จักในห้วงอวกาศ ในปัจจุบันเป็นเพียงสมมุติฐานทางด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยา) ที่มีอยู่ทั่วจักรวาล เราก็พยายามสร้างภาพของสิ่งนั้นขึ้นมา
แรงบันดาลใจอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อ 7 ปีก่อน เราเป็นเนื้องอกในต่อมหมวกไต ซึ่งใช้เวลาในการตรวจ 3 ปี ระหว่างนั้นเราก็สงสัยว่าเราเป็นมะเร็งหรือเปล่าวะ?
เราก็เลยพยายามสร้างภาพของโรคออกมา ซึ่งน่าสนใจตรงที่ พอหมอมาดูงานของเรา เขาบอกทันทีว่าเหมือนเซลล์มะเร็งมากๆ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ดูภาพเหล่านั้นเลย และพยายามปิดตัวเองไม่ให้เห็นด้วยซ้ำ ผลงานชุดนี้เหมือนกับการถ่ายทอดความรู้สึกว่าเรามีเอเลี่ยนอยู่ในตัวออกมา”
เถกิงกล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานชุดนี้ของเขา
งานศิลปะของเถกิงที่ดูเหมือนเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนสัตว์ประหลาดนอกโลก และกลุ่มดาวหรืออนุภาคในห้วงอวกาศ ทำให้เรานึกไปถึงเรื่องราวนิยายวิทยาศาสตร์หรือหนังไซไฟ
ที่จินตนาการว่า อันที่จริงแล้วระบบสุริยจักรวาลหรือห้วงอวกาศที่เราอาศัยอยู่อาจจะเป็นภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอะไรสักอย่างก็เป็นได้ ซึ่งบังเอิญว่าเขาก็คิดแบบนี้ด้วยเหมือนกัน
“จริงๆ แล้วเราอาจจะอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอะไรสักอย่าง และจริงๆ ก็รู้ๆ กันอยู่ ว่าในร่างกายเราก็มีสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นอาศัยอยู่ข้างในด้วยเหมือนกัน เราเลยพยายามหารูปทรงชีวภาพที่ดูยุ่งเหยิง แต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามจัดระเบียบมัน ให้มีทั้ง Chaos (ความยุ่งเหยิง) และ Control (การควบคุม) ซึ่งจะเห็นได้ชัดในผลงานประติมากรรมสีแดงและน้ำเงินบนผนัง (TransPollock #3 [red shift, blue shift]) ที่ดูใกล้ๆ จะเห็นรายละเอียดของเครือข่ายซับซ้อนยุ่งเหยิงวุ่นวาย กระจัดกระจาย โกลาหล แต่ถ้าเราถอยออกไปมองในระยะไกล ก็จะเห็นเป็นรูปแบบของตารางชัดเจน”
ที่น่าสนใจก็คือ งานประติมากรรม (หรือ จิตรกรรมสามมิติ) ที่มีลักษณะคล้ายกับงานศิลปะนามธรรมของเถกิงทั้งสองชิ้นนี้มีความหมายแอบแฝงโยงใยไปถึงผลงานของศิลปินในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบนามธรรม ที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูในสหรัฐอเมริกาอย่างแอ็บสแตรกต์ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionism)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานของจิตรกรนักหลั่งรดหยดสีบนผืนผ้าใบผู้ทรงอิทธิพลในกระแสเคลื่อนไหวนี้อย่างแจ๊กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock)
ผลงานประติมากรรมบนผนังขนาดมหึมา ความยาวกว่า 5 เมตรของเถกิงทั้งสองชิ้นนี้แสดงการคารวะไปพร้อมๆ กับเย้าหยอกตัวตนศิลปิน “สุดแมน” ผู้นี้ได้อย่างครื้นเครงยิ่งนัก
“จะว่าไป ผลงานทั้งสองชิ้นนี้เป็นบทสนทนาของเรากับงานศิลปะสมัยใหม่อย่างแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานของแจ๊กสัน พอลล็อก ซึ่งในโลกศิลปะเนี่ย พอลล็อกถูกยกให้เป็นโคตรพ่อโคตรแม่ของความ “แมน” ในโลกศิลปะเลยน่ะ
เราก็เลยแอบใส่ความเป็นเกย์ของเราเข้าไป ตั้งแต่ชื่องานที่ตั้งว่า TransPollock หรือ “พอลล็อกแต๋วแตก” ซึ่งถ้าเข้าไปดูใกล้ๆ ก็จะเห็นว่าเราแอบใส่ลูกปัด เลื่อม หรืออะไรที่หวานแหววลงไปในงานด้วย ก็เหมือนกับเราเอาตัวตนความเป็นเกย์ของเรามาวิจารณ์ความโคตรแมนของเขาน่ะ
งานของเราส่วนมากจะมีชั้นของความหมายซ้อนกัน ไม่สามารถอ่านได้ทางเดียว อย่างชิ้นที่ชื่อ Monstrous Monstrance #1 เนี่ย ที่มาของงานชิ้นนี้ทะลึ่งมาก เพราะตอนทำงานชิ้นก่อนหน้า ผู้ช่วยของเราแซวว่าเหมือน “ขอบตาแพะ” (เซ็กซ์ทอยชนิดหนึ่ง) เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร พอไปเสิร์ชเจอรูป เฮ้ย แม่งแจ๋วว่ะ! รูปทรงโคตรจะเป็นประติมากรรมเลย เราก็เลยคิดใหม่ ว่าเราจะทำขอบตาแพะด้วยเหล็กดีกว่า
แต่พอทำไปทำมาก็เริ่มมีสิ่งอ้างอิงอื่นเข้ามา อย่าง Monstrance (ภาชนะใส่น้ำมนต์มีรูปร่างเป็นแฉกรัศมี) ซึ่งเป็นวัตถุทางคริสต์ศาสนา รวมถึงสุริยุปราคาและหลุมดำด้วย”
นอกจากรายละเอียดอันซับซ้อนโกลาหล แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยระบบระเบียบและการควบคุมไปพร้อมกันๆ ในผลงานของเขาแล้ว องค์ประกอบอันสำคัญอีกประการในผลงานของเถกิงชุดนี้ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “แสง” ที่นอกจากจะช่วยขับให้ผลงานของเขาเปล่งประกายระยิบระยับจับตาแล้ว ยังช่วยสร้างอารมณ์ลึกลับน่าพิศวงให้กับผลงานได้เป็นอย่างดี
“ตอนที่ทำงานเราก็พยายามนึกว่าแสงควรจะเป็นยังไง ด้วยความที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมคนละแบบกับห้องแสดงงาน โชคดีที่ทางหอศิลป์ให้เวลาเราได้ทดลองจัดแสง เราก็ทดลองหลายรูปแบบ ทั้งการใช้กล่องไฟ ติดสติ๊กเกอร์ ฯลฯ ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่างานแต่ละชิ้นใช้วิธีการจัดแสงไม่เหมือนกันเลย คิดดูว่านิทรรศการนี้ใช้เวลาติดตั้งงานแค่สองวัน แต่ใช้เวลาจัดแสดงเป็นสิบวันน่ะ ซึ่งก็ต้องขอบคุณอาจารย์อภิสิทธิ์ หนองบัวและทีมติดตั้งงาน ที่ช่วยทดลองให้เราเยอะมาก”
อ้อ ถ้าสงสัยว่า ชื่อประหลาดๆ ของนิทรรศการอย่าง “ประสาทแดก” นั้นมีที่มาจากไหน ศิลปินผู้ตั้งชื่อเขาก็เฉลยให้เราฟังว่า
“เราอ่านเจอข่าวเกี่ยวกับการค้นพบเซลล์มะเร็งของนักวิทยาศาสตร์ที่พาดหัวข่าวว่า “They discover the cell that eat itself” แล้วก็รู้สึกว่าประโยคนี้จับจินตนาการเรามาก และคำนี้ก็เป็นกุญแจสำคัญในแนวคิดทางศิลปะของเรา เพราะเราเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะกัดกินตัวเองและกลับไปสู่สภาวะว่างเปล่า ไม่เหลืออะไรเลย
พอพูดอย่างงี้แล้วก็มีความเสี่ยงว่าคนจะตีความว่าเราทำพุทธศิลป์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราแค่บังเอิญแตะในประเด็นที่คล้ายกันเท่านั้นเอง”
นิทรรศการ The Nerve that Eats Itself ประสาทแดก จัดแสดงที่แกลเลอรี่เวอร์ (Gallery VER) ซอยนราธิวาส 22 ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน – 28 ธันวาคม 2561 ใครสนใจจะไปชมก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือเบอร์โทรศัพท์ 0-2103-4067 กันได้ตามอัธยาศัย
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน/แกลเลอรี่เวอร์