อาชญากรรม : ย้อนคำพิพากษาศาล ใครฆ่า 6 ศพวัดปทุมฯ

หวั่นคดี 99 ศพไม่คืบ ยื่น อสส.เปิดสำนวน ย้อนคำพิพากษาศาล ใครฆ่า 6 ศพวัดปทุมฯ

ขึ้นชั้นเป็นคดีประวัติศาสตร์ไปแล้ว

สำหรับการสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 99 คน บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคน

ที่เกิดขึ้นในยุคที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ.

แม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในคดีที่ถูกฟ้องฐานความผิดฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล โดยให้เหตุผลว่าอยู่นอกเขตอำนาจศาล เนื่องจากเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในอำนาจหน้าที่

เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะต้องพิจารณา แล้วส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่อีกด้านก็คือ สำนวนการไต่สวนการตายของประชาชนอย่างน้อย 17 ศพ ที่ศาลชี้ว่าเกิดขึ้นจากกระสุนฝั่งเจ้าหน้าที่

โดยเฉพาะ 6 ศพวัดปทุมวนาราม ที่ศาลชี้ชัดว่าเกิดจากกระสุนของทหารบนรางรถไฟฟ้าอย่างชัดแจ้ง

เหตุใดยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

และยิ่งน่าตกตะลึงขึ้นไปอีก เมื่อญาติผู้เสียชีวิตพยายามสอบถามความคืบหน้า

สำนวนดังกล่าวกลับยังไม่มีถึงมืออัยการ

แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วถึง 8 ปีก็ตาม

มึนสำนวน 6 ศพล่องหน

เป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. เปิดเผยว่า มีข่าวจากสื่อมวลชนว่ามีบิ๊กมีสีพยายามล็อบบี้ให้อัยการสูงสุดสั่งยุติสำนวน 99 ศพ ทั้งในส่วนที่มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ให้พิจารณาสั่งการเป็นสำนวนมุมดำ ที่หาผู้กระทำความผิดไม่ได้ จนต้องนัดหมายเข้าพบ อสส. เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง

โดยช่วงบ่ายวันที่ 30 พฤศจิกายน นายณัฐวุฒิพร้อมญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเดินทางเข้าพบนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุด พร้อมระบุว่า ที่ต้องมาทวงถามก็เพราะทำหนังสือเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุด โดยมีตัวแทนแจ้งว่าจะมีหนังสือตอบกลับ

แต่สุดท้ายก็ไม่มีคำตอบ แถมยังมีสื่อระบุเลขในคดีสำนวนพิเศษ ที่ 86/61 89/61 92/61 94/61 99/61 ซึ่งเป็นสำนวนคดีที่เกี่ยวกับคนบาดเจ็บชัดเจน ถูกสั่งให้เป็นสำนวนมุมดำไปเเล้ว เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ส่วนคดีที่มีคนตายกำลังถูกทำให้เป็นสำนวนมุมดำ คือการยุติคดีในช่วงเดือนพฤศจิกายน จึงต้องมาทวงถาม

ขณะที่นายประยุทธระบุว่า จากการสอบถามสำนักงานอัยการคดีพิเศษ พบว่าสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดี 6 ศพ วัดปทุมวนาราม ยังส่งมาไม่ถึงสำนักงานอัยการคดีพิเศษ ส่วนสำนวนที่มีผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ปี 2553 นั้นมีส่งเข้ามาแล้วบางส่วน ซึ่งกระจายอยู่หลายกอง อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลว่าแต่ละคดีอยู่ในขั้นตอนไหน มีคำสั่งคดีไหนไปแล้วหรือไม่

ส่วนสำนวนมุมดำ เป็นคดีที่พนักงานสอบสวนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิดแล้ว จึงส่งมาขอให้พนักงานอัยการเห็นชอบ และมีคำสั่งให้งดการสอบสวนไว้ชั่วคราว จึงยังไม่ได้มีการแตะลงไปในเนื้อหาคดีว่ามีใครผิดถูกอย่างไร

ภายในอายุความคดีนี้ 20 ปี คดีจะสามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้

ส่วนทำไมสำนวนยังมาไม่ถึง คงไม่สามารถไปก้าวล่วงองค์กรอื่นได้ แต่เรื่องนี้ดีเอสไอทำสำนวนแต่แรก ก็น่าจะมีวิธีการสืบค้นว่าอยู่ในขั้นตอนใด

กลายเป็นคำถามย้อนกลับไปที่ดีเอสไออีกครั้งว่าสำนวนคดี 6 ศพวัดปทุมฯ อยู่ที่ใดกันแน่

ดีเอสไอแจงขั้นตอนพัลวัน

หลังจากถูกตั้งคำถาม พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอก็ชี้แจงว่า ยืนยันไม่ได้ดึงเรื่อง แต่คดีดังกล่าวศาลอาญาเห็นว่าไม่ใช่ขอบเขตอำนาจ จึงยกฟ้อง ให้เป็นขั้นตอนของ ป.ป.ช. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทน

บางสำนวน ป.ป.ช.ส่งกลับมาให้ดีเอสไอสอบเพิ่มเติมหลายประเด็น ซึ่งจะชี้แจงทั้งหมดในวันที่ 3 ธันวาคม

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 3 ธันวาคม ดีเอสไอก็ออกเอกสารข่าวชี้แจง ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติในการประชุม ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2553 ให้การกระทำความผิดทางอาญา กรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี 2552 รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน

ดีเอสไอรับคดีอาญาที่เกิดขึ้นภายใต้มติคณะกรรมการคดีพิเศษดังกล่าว 371 คดี แบ่งเป็น 4 กลุ่มคดี ดังนี้

กลุ่มที่ 1 คดีเกี่ยวกับการก่อการร้าย 155 คดี สอบสวนเสร็จหมดแล้ว

กลุ่มที่ 2 คดีเกี่ยวกับการขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ 25 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว

กลุ่มที่ 3 คดีเกี่ยวกับการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 169 คดี สอบสวนเสร็จ 154 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 15 คดี

และกลุ่มที่ 4 คดีเกี่ยวกับการกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ 21 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว

คดีกลุ่มที่ 3 ที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน 15 คดีนั้น ในข้อเท็จจริง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนเสร็จสิ้นและส่งไปยังพนักงานอัยการแล้ว แต่เนื่องจากคดีกลุ่มดังกล่าวจะมีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ในความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นจากการสั่งการให้สลายการชุมนุม รวมอยู่ด้วย

ซึ่งเมื่อปี 2560 ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่าข้อหาดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. พนักงานอัยการจึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว

ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวนประเด็นผู้ลงมือกระทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.อีก 15 คดี เนื่องจากเห็นว่า แม้ผู้ตายและผู้บาดเจ็บจะอยู่ในที่เกิดเหตุหรือเหตุการณ์เดียวกัน แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากการกระทำของบุคคลคนเดียวกัน

ไม่ได้ชี้แจงถึงเรื่อง 6 ศพวัดปทุมฯ เลย

ย้อนคำพิพากษาคดีวัดปทุมฯ

เมื่อย้อนไปวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการตายของนายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี และนายอัครเดช ขันแก้ว อายุ 22 ปี

ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 น่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติผู้ตายทั้ง 6 อันประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณี และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า

ผู้ตายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส

ผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประจำการอยู่บนถนนพระรามที่ 1

จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายที่ 1 คือนายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 2 คือนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 คือนายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 4 คือนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 คือ น.ส.กมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 6 คือนายอัครเดช ขันแก้ว ถึงแก่ความตายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลากลางวัน

เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.

เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก ผู้ตายที่ 2 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ ตับ ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าในช่องปาก โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

เป็นสำนวนที่มีความชัดเจน ตั้งแต่ปี 2556

แต่มาถึงวันนี้ยังไม่ถึงมืออัยการ