บทวิเคราะห์ : จับกระแสข่าว คสช. ทาบ “ปชป.” ตั้งรัฐบาล ลีลา “ประยุทธ์-อภิสิทธิ์” ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนไม่ว่าโพลแท้ หรือโพลเทียม

ประเด็นที่สะท้อนตรงกันคือ การมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น “คู่ชิงดำ” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เช่นเดียวกับในส่วนพรรคการเมือง ที่เสียงส่วนใหญ่ระบุต้องการให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชนิดผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะก็คือ พรรคเพื่อไทย กับพรรคพลังประชารัฐ

ที่น่าสนใจ ทั้ง 2 ประเด็นคำถาม ยังมีชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคำตอบอยู่ในอันดับ 3 และ 4

ซึ่งหมายถึงว่าทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในฐานะพรรค “ตัวแปรสำคัญ” ตามสูตรทางคณิตศาสตร์ ในการชี้ขาดว่าแผนสืบทอดอำนาจที่วางไว้อย่างเป็นระบบตลอด 4-5 ปี ก่อนมีการเลือกตั้งจริง

จะ “สำเร็จ” หรือ “เสียของ” ในที่สุด

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ ประกาศอุดมการณ์จุดยืนพรรคชัดเจนว่า จะไม่ขอร่วมขบวนการสืบทอดอำนาจเผด็จการรัฐประหารในทุกกรณี

นั่นทำให้พรรคอนาคตใหม่ถูกจัดหมวดหมู่การเมืองให้อยู่ในขั้วพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น

หรือกล่าวอีกอย่างคือ พรรคอนาคตใหม่ถูกจัดให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพรรค คสช. และพรรคเครือข่ายสนับสนุนสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นหัวขบวน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศตัวเป็นพรรคแนวทางที่ 3 ไม่อยู่กับทั้งแนวทางพรรคประชาธิปไตย ไม่อยู่กับทั้งแนวทางพรรค คสช. ท่ามกลางความงุนงงสงสัย

สรุปแล้วจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์อยู่ตรงไหนกันแน่

เพราะในการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง 2 ขั้ว 2 แนวทาง ประชาธิปไตยกับไม่ใช่ประชาธิปไตย เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาย่อมมีเพียงฝ่ายได้รับชัยชนะ กับฝ่ายพ่ายแพ้เท่านั้น ไม่มีเสมอ

แล้วอะไรคือแนวทางที่ 3

ความไม่ชัดเจนในจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากทำให้ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่พรรค “แทงกั๊ก” ในระนาบเดียวกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา แทนที่จะเป็นพรรคแนวทางที่ 3

ยังเป็นสารตั้งต้นกระแสข่าวว่า เมื่อหนุนหลังอดีตแกนนำ กปปส.เข้ายึดพรรคไม่สำเร็จ

คสช.จึงเปลี่ยนแผนด้วยการ “ต่อสาย” ถึงแกนนำประชาธิปัตย์บางคนที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่วันนี้กลายเป็น “เด็กดื้อ” ของ คสช. ให้ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค

เพื่อเจรจาประนีประนอมด้วย “กระทรวงเกรดเอ” และ “ตำแหน่งสำคัญ” ในรัฐบาลหน้า โดยมีข้อแม้ให้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากบุคคลในข่าวทั้งหมด

ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ข่าวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง

เนื่องจากตนเองไม่เคยเจอกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ไม่เคยพูดคุยกันและไม่เคยพูดคุยกับใครในพรรคประชาธิปัตย์ จะให้พูดเรื่องอะไร เพราะไม่ได้อยู่พรรคการเมือง และไม่ได้เป็นมือประสานงานอะไรทั้งนั้น

การพูดคุยอะไร เป็นเรื่องของพรรคจะคุยอะไรก็ว่ากันไป จะไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร เพราะตนไม่เกี่ยวกับการเมือง

ข่าวที่ออกมาไม่รู้ว่าต้องการอะไร จะดิสเครดิตตนหรือเปล่า ยืนยันว่าไม่เคยพูด ไม่เคยเจอหน้า แต่ยอมรับว่ารู้จักนายเฉลิมชัยและคนในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเคยเป็นรัฐบาลร่วมกันมา 3 ปี แต่ไม่มีเบอร์โทร.ติดต่อทั้งสิ้น

คำตอบของ พล.อ.ประวิตร สอดรับตรงกับนายเฉลิมชัย ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ทราบ ไม่ได้รับโทรศัพท์ เพราะเบอร์แปลกๆ ไม่รับอยู่แล้ว

ส่วนที่ว่ามีการประสานมาเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ไปสนับสนุนเพื่อให้เป็นรัฐบาล ก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้คุยกัน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์กล่าวตอบในเชิงเหน็บแนมว่า “เห็นเขาบอกว่าจะได้ 350 ที่นั่ง ส.ส.ไม่ใช่หรือ ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องคุยกัน”

นายอภิสิทธิ์เชื่อว่า ข่าวที่ออกมาจะไม่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนพร้อมร่วมเป็นรัฐบาล เพราะเป็นแค่รายงานข่าว

อีกทั้งระหว่างเดินสายพบปะสมาชิกพรรคช่วงหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ได้พูดชัดเจนว่าอย่าพูดเรื่องตำแหน่ง เพราะไม่ใช่จุดประสงค์ของพรรค แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือนำพาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ฟังดูดี แต่แล้วร่องรอยการ “แทงกั๊ก” กลับปรากฏในประโยคถัดมา

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเป็นไปตามรายงานข่าวว่าจะเสนอกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ก็ไม่ใช่ประเด็นและเวลา เพราะยังต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ประชาชนต้องให้คำตอบก่อนว่าสนับสนุนแนวทางพรรคไหน อย่างไร

ทั้งต้องดูว่าตอนหาเสียง แนวทางพรรคพลังประชารัฐยังยืนยันการทำงานในรูปแบบรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ หากบริหารเศรษฐกิจแบบนี้ก็ยากจะทำงานด้วยกันได้เพราะประชาชนเดือดร้อนมาก

“ผมยืนยันว่าการเมืองมี 3 ขั้ว คือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ผมคิดว่าตอนนี้ 3 แนวทางแตกต่างกันชัดเจน จึงต้องให้ประชาชนพิจารณาก่อน

แล้วค่อยมาว่ากัน”

อย่างไรก็ตาม คำตอบแบบแทงกั๊กของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเผชิญกับการถูกสื่อมวลชนซักถามความเป็นไปได้ในการสนับสนุนทหารกลับมาเป็นรัฐบาล ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่

ไม่เช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่พรรคที่ไม่มีจุดยืนชัดเจน หรือพรรคแทงกั๊ก ตั้งแต่แรก

และอย่าคิดว่าจะเจ็บช้ำ จากการที่ คสช.ส่งคนมายึดพรรค พยายามเขี่ยพ้นจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค ทั้งยัง “ดูด” เอาอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ไปหลายคน

และหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ในวันแรกของการเปิดให้ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560

นายอภิสิทธิ์กล่าวตอนหนึ่งว่า สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

ส่วนใครจะออกนอกแถวไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ไปทางเลือกอื่น ไม่ต้องมาที่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีพรรคอื่นรองรับเยอะแยะ

แต่ขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์ก็กล่าวถึง “ความเป็นไปได้” ที่พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนทหารเป็นรัฐบาลว่า “ต้องดูว่าทหารเข้ามาได้อย่างไร และมีกี่เสียง”

ทิ้งโจทย์เงื่อนไขไว้ตั้งแต่ตอนนั้น

กระนั้นก็ตาม คำพูดของนายอภิสิทธิ์ได้รับการโต้ตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในแบบทันควัน

“พูดอะไรมาก็ระมัดระวังไว้ด้วย อยู่ที่ประชาชนจะเชื่อถือได้แค่ไหนอย่างไร ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องมาสนับสนุน แต่กรุณาพูดจาให้มันดีๆ ใครจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนผมก็แล้วแต่เขา ไอ้การพูดอย่างนี้มันฟังดูดีหรือเปล่า ให้เกียรติซึ่งกันและกันหรือเปล่า

ถ้าบางเวลาผมมีอารมณ์ขึ้นมาแล้ว ผมพูดไปมันก็เสียหายด้วยกันทั้งหมด ผมไม่อยากจะมีอารมณ์ตรงนี้ ประชาชนก็ไปใคร่ครวญเอาเอง และดูด้วยวันหน้าเขาจะทำตัวกันอย่างไรที่ออกมาพูดกันวันนี้

ลองคอยดูวันหน้าก็แล้วกัน เลือกตั้งแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันอย่างไร ก็ไปคอยดูตรงนู้นแล้วกัน แล้วค่อยไปถามเขาอีกที”

เป็นการโต้ตอบในลักษณะ “ไก่เห็นตีนงู”

กระแสข่าวการทาบทามพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ฟอร์มรัฐบาลล่วงหน้า สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

หากเป็นจริง ก็เท่ากับว่า คสช.นั้นได้มองทะลุพรรคประชาธิปัตย์ไปถึงไส้ใน แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนในอีกมุมหนึ่งว่า

พรรค คสช. ถึงแม้จะ “ดูด” อดีต ส.ส.จากพรรคอื่น ย้ายมาเข้าสังกัดได้จำนวนมาก พร้อมหว่านโปรยเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลนับแสนล้าน ซื้อใจชาวรากหญ้า

ไหนจะยังมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ “ดีไซน์” ขึ้นมาเพื่อตนเองโดยเฉพาะ

แต่เมื่อทุกอย่างต้องมาจบลงที่การเลือกตั้ง

คสช.กลับไม่มีความมั่นใจในชัยชนะเพื่อการสืบต่ออำนาจ ต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “เห็นนมไก่”

แบะท่าเตรียมพร้อมอยู่แล้ว