ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 ธันวาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
เมื่อแพร่ภาพทะลุหลัก 80 ตอน ในที่สุด “สังข์ทอง 2561” ก็เผยอีกหนึ่ง “ท่าไม้ตาย” ซึ่งแปลกใหม่แหวกแนวจาก “สังข์ทอง” ฉบับก่อนๆ
นั่นคือ การกำหนดให้ “รจนา” ต้องสวมรูปเงาะ จนกลายเป็น “เงาะหญิง” ไปอีกคน!
เช่นเดียวกับการแยกนักแสดงผู้รับบท “พระสังข์” และ “เจ้าเงาะ” ออกจากกัน
ผู้จะมารับบท “รจนาสวมรูปเงาะ” ซึ่งถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ จึงมิใช่ “เกศรินทร์ น้อยผึ้ง” ที่สวมบท “พระธิดารจนา” อยู่แต่เดิม
หากเป็นดาราสาวอีกรายของค่าย “ดาราวิดีโอ-ดีด้า-สามเศียร” อย่าง “วรัญภรณ์ พัฒน์ช่วย”
วรัญภรณ์ไม่ใช่คนแปลกหน้าของ “จักรวาลสามเศียร” เพราะเธอได้เริ่มต้นบทบาทนักแสดงในฐานะนางเอกหน้าใหม่ของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “อุทัยเทวี” (2560) ก่อนจะผันตัวไปเป็น “นางไม้ลักษณา” ใน “เทพสามฤดู” (2560-2561)
ขณะเดียวกัน สาวหน้าคมคนนี้ยังฝากผลงานการแสดงไว้ในละครโทรทัศน์ประเภทอื่นๆ ของช่อง 7 สี 35 เอชดี ไล่ตั้งแต่ละครเย็น “ชะชะช่า ท้ารัก” จนถึงละครหลังข่าว “พ่อมดเจ้าเสน่ห์”
วรัญภรณ์มีภูมิหลังคล้ายคลึงกับเพื่อนๆ นักแสดงหญิงของละครจักรๆ วงศ์ๆ ร่วมสมัยอีกหลายคน ซึ่งล้วนเคยผ่านประสบการณ์การประกวดนางงามมาก่อน
เธอมีดีกรีเป็น “มิสมอเตอร์โชว์ พ.ศ.2558” ทั้งยังผ่านเข้ารอบ 12 คนสุดท้ายในการประกวด “นางสาวไทย พ.ศ.2559” รุ่นเดียวกับ “ปิ่นทิพย์ อรชร” (ซึ่งคว้าตำแหน่งรองอันดับ 1) และ “ชนารดี อุ่นทะศรี” (ซึ่งผ่านเข้าถึงรอบ 5 คนสุดท้าย)
ใน “สังข์ทอง 2561” สามสาวจะได้กลับมาร่วมจอเดียวกันอีกหน เนื่องจากปิ่นทิพย์รับบทเป็น “พรรณผกา” และชนารดีรับบทเป็น “ปัทมา” พระธิดาองค์ที่ 2 และ 4 ของท้าวสามนต์
เดิมที ในพิธีบวงสรวงเปิดกล้องละคร “สังข์ทอง” เวอร์ชั่นนี้ วรัญภรณ์ได้ร่วมปรากฏตัวด้วยชุดนางไม้
ทว่าสุดท้ายกลับมีการพลิกโผสร้างเซอร์ไพรส์ให้เธอมารับบทสำคัญที่ท้าทายกว่าและน่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง
มองเผินๆ เส้นทางการแสดงละครจักรๆ วงศ์ๆ ของดาราสาว คล้ายจะค่อยๆ คลี่คลายจากการเป็นนางเอก มาเป็น (กึ่ง) นางร้าย และตัวตลกเรียกเสียงหัวเราะเฮฮา!
ขณะที่หลายคนอาจประเมินว่าตัวละคร “เงาะหญิง” เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ถูกใช้สอยในการยืดตอนของละครให้ยาวขึ้น เพื่อประคับประคองเรตติ้ง
หรือเป็นการด้นสด ออกทะเล ออกมหาสมุทร อันไร้แก่นสาร
อย่างไรก็ดี หากเราเชื่อว่าสถานภาพของ “เจ้าเงาะป่าบ้าใบ้” คือการพยายามพลิกหัวกลับหางความสัมพันธ์ทางอำนาจและฐานานุศักดิ์ทางสังคมในโลกของนิทานพื้นบ้าน/จักรๆ วงศ์ๆ โดยใช้ประเด็นเรื่อง “ชาติพันธุ์” เป็นอาวุธ
การปรากฏกายขึ้นของตัวละครใหม่เช่น “เงาะหญิง” ก็ย่อมช่วยเพิ่มเติมมิติซับซ้อนในทาง “เพศสภาพ” ให้แก่การต่อสู้ดังกล่าว
นอกจากนั้น การสวมใส่รูปเงาะยังช่วยขับเน้นให้เรามองเห็นปัญหา “วิกฤตอัตลักษณ์” ของตัวละครอย่าง “รจนา” โดยชัดเจนขึ้น
ใน “สังข์ทอง 2561” ลูกสาวคนสุดท้องผู้นี้มิได้มีเพียงความขัดแย้งกับครอบครัว (พ่อ, พี่สาว และพี่เขย) แต่เธอก็ไม่ต่างอะไรจากผู้เป็นสามี ที่มีความขัดแย้งกับตัวเองด้วย
จนทั้งสองต้องพยายามปิดบังตัวตนแท้จริง หรือหลบซ่อนหลีกหนีจากสถานะ/ตำแหน่งแห่งที่/หัวโขนที่สังคมหยิบยื่นหรือสถาปนาให้
“รูปเงาะ” จึงเป็นทั้งหน้ากากอำพรางตนของ “พระสังข์-รจนา” และเป็นการเผยโฉมของอัตลักษณ์ใหม่ ที่ทั้งคู่พึงปรารถนาอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจ
ในแง่มุมธุรกิจสื่อ ต้องจับตาดูว่าตัวละคร “รจนาสวมรูปเงาะ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จะกระตุ้นเรตติ้งความนิยมของ “สังข์ทอง 2561” ให้ผงาดพุ่งสูงได้อีกระลอกหรือไม่?
เพราะหลังจากจุดพีกในตอน “พระสังข์ถอดรูปเงาะตีคลีกับพระอินทร์” ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ก็ไม่เคยทำเรตติ้งได้สูงเกินหลัก “8” อีกเลย
โดยความนิยมเฉลี่ยจะวนเวียนอยู่แถวๆ หลัก “6” เป็นส่วนใหญ่
ส่วนในแง่นักแสดง น่าติดตามว่า “วรัญภรณ์ พัฒน์ช่วย” จะสามารถแจ้งเกิดในบท “รจนาแปลงเป็นเงาะ” ได้อย่างงดงาม เหมือนกับที่ “โอภาภูมิ ชิตาพัณณ์” ประสบความสำเร็จในการสวมบท “เจ้าเงาะกล้ามโต” หรือเปล่า?
ขอบคุณภาพประกอบจากยูทูบ SAMSEARN OFFICIAL และ https://www.instagram.com/mean_waranporn/