วิเคราะห์ : 12 ปมปัญหาโลกร้อนในรายงานฝั่งสหรัฐฯ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ผู้คนในแวดวงสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลกพากันจับจ้องการประชุมสุดยอดว่าด้วยโลกร้อนของสหประชาชาติที่มีขึ้นในประเทศโปแลนด์สัปดาห์นี้ว่าจะมีแนวทางป้องกันไม่ให้ชาวโลกเผชิญกับหายนะอันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างไร

การประชุมดังกล่าวมีตัวแทนจากทั่วโลกเกือบ 200 ประเทศสุมหัวหาข้อสรุปเป็นเวลา 2 สัปดาห์

เป็นข้อสรุปทางออกใหม่หลังจากทุกฝ่ายเห็นว่าข้อตกลงลดโลกร้อนที่กรุงปารีสเมื่อปี 2558 ล้มเหลวและโลกเดินเข้าสู่ห้วงหายนะ

เนื่องจากช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ อุณหภูมิโลกทำสถิติร้อนที่สุด แถมประเทศต่างๆ ยังปล่อยก๊าซพิษเพิ่มขึ้นจากเดิม

ยูเอ็นย้ำเตือนว่า นับจากนี้ไป ชาวโลกมีเวลาแค่ 12 ปีในการระดมพลังสกัดวิกฤต

ฝ่ายประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารโลกชี้ว่า ชาวโลกทุกคนที่อยู่ในยุคนี้อาจเป็นยุคสุดท้ายที่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนให้บรรเทาลงได้และอาจเป็นชาวโลกยุคแรกที่ได้รับผลจากการปล่อยก๊าซพิษ

รออีกอึดใจว่า ข้อสรุปใหม่ในเวทีโลกร้อนมีรูปร่างยังไง ประเทศต่างๆ จะร่วมมือทำ หรือจะเล่นลิ้นร้อยเล่ห์อย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐที่ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสเพราะไม่เชื่อว่าโลกร้อน

 

พูดถึง “ทรัมป์” ขอนำรายงานการประเมินผลสภาวะภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐ ฉบับที่ 4 (Fourth National Climate Assessment) หรือเอ็นซีเอ ซึ่งรัฐบาลทรัมป์นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณะตามข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยการวิจัยการเปลี่ยนแปลงของโลก ปี 2533 ค้นคว้าวิจัยและสังเคราะห์ข้อมูล

รายงานชิ้นนี้มีข้อสรุปใน 12 ประเด็น ย้อนแย้งแนวคิดของ “ทรัมป์” อย่างชัดเจน

ประเด็นแรก นั้น กล่าวถึง “ชุมชน” ผู้เขียนรายงานเอ็นซีเอส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญโลกร้อน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ชุมชนชาวอเมริกันต่างรู้สึกถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ รู้ว่าภูมิอากาศวิกฤตแปรปรวนถี่บ่อยครั้งขึ้น รุนแรงมากขึ้น

ในอนาคตข้างหน้า ภาวะโลกร้อนคาดว่าจะทำลายพื้นที่กว้าง คุกคามชีวิตชาวอเมริกันรุนแรงกว่าเดิม อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบนิเวศน์ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมถ่างห่างมากขึ้น คนที่มีรายได้น้อยจะได้รับแรงกระทบจากภาวะโลกร้อนสูง

ประเด็นที่ 2 เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ มีผลโดยตรงกับเศรษฐกิจ อากาศที่ร้อนแล้งหรือพายุเฮอร์ริเคน มีผลต่ออุตสาหกรรมเกษตร ท่องเที่ยวประมงหนักขึ้นเรื่อยๆ

อุณหภูมิที่ร้อนจัด กระทบกับการผลิตกระแสไฟฟ้า ความต้องการพลังงานเพื่อนำไปใช้ในการปรับอุณหภูมิในบ้านเรือน ร้านค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ย่อมสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ภาวะโลกร้อนยังเชื่อมโยงกับการผลิตสินค้า การนำเข้าสินค้าและการส่งออกสินค้า ถ้าอุณหภูมิโลกยังเพิ่มสูงเช่นนี้ เศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรง

ประเด็นที่ 3 ผลกระทบภายในสังคม

ภาวะโลกร้อนมีผลต่อกระบวนการภายในสังคม เช่น อุณหภูมิที่ร้อนจัดมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ การย้ายถิ่นฐาน แหล่งน้ำ การผลิตอาหาร พลังงาน การขนส่ง สาธารณสุข และความมั่นคงของประเทศ

ถ้าขาดการบริหารจัดการกับกระบวนภายในสังคมไม่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุอาจเสียชีวิตมากขึ้น ป่วยมากขึ้น โรงพยาบาลไม่มีเตียงมากพอจะรับผู้ป่วยสูงอายุเหล่านี้ คนป่วยยิ่งเครียดหนัก

ประเด็นที่ 4 ปฏิบัติการลดความเสี่ยง

การลดความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจทำในวันนี้ เพราะถ้าปล่อยให้ก๊าซพิษสะสมในชั้นบรรยากาศเข้มข้นมากขึ้น สภาวะภูมิอากาศวิกฤตแปรปรวนจะส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุน มาตรฐานทางวิศวกรรม และการบริหารจัดการภัยพิบัติ

ประเด็นที่ 5 น้ำ

คุณภาพน้ำและปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างแนบแน่น

เช่น การเกิดปรากฏการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐมีผลโดยตรงกับแม่น้ำโคโรลาโด นับตั้งแต่ปี 2543 ปริมาณน้ำหายไปเกินกว่าครึ่ง

 

ประเด็นที่ 6 สุขภาพ

การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีผลกับสุขภาพของคนอเมริกันโดยตรง อากาศแปรปรวนวิกฤตเพิ่มขึ้น อัตราการเสียชีวิตของชาวอเมริกันจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน รวมถึงผลจากโลกร้อนทำให้เกิดไฟป่าครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง ยังทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นควันขี้เถ้าจะส่งผลต่อสุขภาพของชาวอเมริกันมากขึ้น

ประเด็นที่ 7 ชนเผ่าประจำถิ่น

ชนเผ่าในสหรัฐปัจจุบันยังอาศัยอยู่กระจัดกระจายหลายพื้นที่ คนเหล่านี้มีอารยธรรมของตัวเองและพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าอย่างมาก เช่น ภัยแล้งทำให้ในพื้นที่ขาดน้ำดื่มน้ำใช้

เมื่อแหล่งน้ำแห้งขอด การจับสัตว์น้ำน้อยลง แปลงเพาะปลูกไม่มีน้ำเพียงพอ

ประเด็นที่ 8 ระบบนิเวศน์

อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ที่ไหนมีระบบนิเวศน์สมบูรณ์ มีป่าไม้เขียวชอุ่ม สัตว์ป่าชุกชุม อากาศสะอาด แหล่งน้ำใส มีปลาหลากชนิด มีนกหลากสายพันธุ์ ที่นั่นถือว่ามีสิ่งแวดล้อมที่ดี

แต่หากระบบนิเวศน์เปลี่ยนไป ไฟป่าเผาป่าไม้พินาศ สัตว์ป่า นกทิ้งถิ่นหนีไปอาศัยที่อื่น อากาศที่ร้อนทำให้แมลงร้ายขยายพันธุ์ โรคระบาดเกิดตามมา

ประเด็นที่ 9 เกษตรกรรมและอาหาร

รายงานของเอ็นซีเอ คาดว่าในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ผลผลิตทางการเกษตรในสหรัฐจะลดลงอย่างฮวบฮาบ

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่ตอนกลางฝั่งตะวันตกหรือมิดเวสต์ ชาวนาชาวไร่เจอกับภัยพิบัติอันเนื่องจากผลผลิตตกต่ำมากถึง 75%

ประเด็นที่ 10 โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน

พายุเฮอร์ริเคนที่พัดถล่มพื้นที่สหรัฐทำให้เกิดน้ำท่วมแผ่กว้าง ความเสียหายเกิดกับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สะพาน เสาไฟฟ้า ท่อประปา ท่อส่งก๊าซ อาคารที่ทำการของรัฐ ฯลฯ

รัฐบาลสหรัฐต้องนำงบประมาณมาอุดหนุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้กลับสู่สภาพปกติอีกครั้ง

 

ประเด็นที่ 11 มหาสมุทรและชายฝั่ง

อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดภาวะกรด ระดับน้ำทะเลที่สูง คลื่นซัดกระหน่ำรุนแรงมีผลต่อพื้นที่ชายฝั่ง การถอยร่นของชุมชนหรือการย้ายถิ่นฐาน จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การท่องเที่ยวหดลง

ประเด็นที่ 12 ท่องเที่ยวและสันทนาการ

กิจกรรมการเดินป่า ไต่เขา ปั่นจักรยาน ส่องนก หรือเล่นสกี จะหดหายไปในทันทีที่เกิดไฟป่า ภัยแล้ง หรือพายุฝนกระหน่ำ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสหรัฐอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ วิปริตมากน้อยแค่ไหน