ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ l พรรคทหาร : การเมืองเครือข่ายที่ประชาชนรังเกียจ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ความเบื่อหน่ายที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลทหารเป็นข้อเท็จจริงซึ่งใครๆ ก็รู้กัน

ผลสำรวจของนิด้าโพลและกรุงเทพโพลล์ตลอดสี่ปีกว่าๆ จึงพบว่า ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ยาว คะแนนนิยมก็ยิ่งดิ่งเหว ทั้งๆ ที่ความนิยมต่อฝ่ายไม่เอารัฐบาลทหารสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอนาคตใหม่ก็ตาม

ในการสำรวจของนิด้าโพลเรื่องประชาชนอยากให้ใครเป็นนายกฯ ครั้งล่าสุด คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากเพื่อไทยมีคะแนนนิยม 25.16% มากกว่าคุณประยุทธ์ที่ประชาชนนิยมแค่ 24%

ยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อเทียบกับผลสำรวจเดือนมีนาคมซึ่งมีผู้นิยมคุณหญิงที่ 13.04% ก็เท่ากับฝ่ายเพื่อไทยมีคะแนนสูงขึ้นหนึ่งเท่าในเวลาแปดเดือน

ท่ามกลางคะแนนนิยมคุณหญิงสุดารัตน์ที่เพิ่มขึ้นตามความชัดเจนของพรรคเพื่อไทย

พล.อ.ประยุทธ์ที่ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ มาเกือบห้าปีกลับมีผู้สนับสนุนลดลงจาก 38.64% เหลือแค่ 24.05% ซึ่งก็คือตกต่ำลง 1 ใน 3 สวนทางกับผู้นำฝ่ายไม่เอารัฐบาลทหารที่ความนิยมพุ่งขึ้นเกือบ 100% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ถ้าคุณจาตุรนต์ ฉายแสง เข้าพรรคไทยรักษาชาติและเปิดตัวเรื่องสถานะในพรรคให้เร็วยิ่งขึ้น ผู้สนับสนุนให้คุณจาตุรนต์เป็นนายกฯ ก็น่าจะสูงขึ้นแบบเดียวกับที่เกิดแก่คุณหญิงสุดารัตน์และคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นอกจากการสำรวจที่ยึดหลักวิชาจะให้ผลอย่างที่กล่าวไป ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐก็เป็นหลักฐานว่าคนหน่ายรัฐบาลทหารยิ่งขึ้นไปอีก เพราะประธานหาเสียงของพรรคอย่างคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน ต้องย้ำกับประชาชนในพื้นที่ว่าพรรคไม่ใช่พรรคทหาร ถึงแม้จะเตรียมชูนายพลผู้ก่อรัฐประหารเป็นนายกฯ ต่อก็ตามที

ถ้าทหารคะแนนนิยมดี ผู้นำพรรคสาย “นักเลือกตั้ง” คงไม่ต้องสร้างวาทกรรมเพื่อขายพรรคโดยไม่ตรงกับความจริงแบบนี้

และถึงแม้รองหัวหน้าพรรคอย่างคุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ จะถึงขั้นประกาศแล้วว่าเตรียมเชิญ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนในพรรคนี้ก็ยังยืนหยัดอสัจวาจาว่าพรรคไม่ใช่พรรคทหารต่อไป

ตรรกะวิปริตที่ถูกสร้างเพื่อลบภาพ “พรรคทหาร” คือคนตั้งพรรคไม่ใช่ทหาร ซ้ำทหารที่ถูกเชิญเข้าพรรคก็มี พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว

แต่ “พรรคทหาร” ตั้งโดยพลเรือนที่ทำงานเอกสารที่กฎหมายกำหนดก็ได้ และการเชิญหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกฯ ก็พอแล้วที่จะเป็นหลักฐานว่าพรรคเป็น “พรรคทหาร” จริงๆ

พรรคพลังประชารัฐมีผู้บริหารคือกลุ่มสี่คนที่หัวหน้าคณะรัฐประหารตั้งเป็นรัฐมนตรี และด้วยเหตุที่ภูมิหลังของคนกลุ่มนี้คือพลเรือนที่คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้จัก สังคมจึงระแวงว่าการตั้งพรรคเกิดขึ้นพื่อตอบสนองหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2557 และแสดงท่าทีอยากสืบทอดอำนาจต่อไป

หากตัดหัวหน้าพรรคออกไป รองหัวหน้า, โฆษก และเลขาฯ พรรคนี้มีตำแหน่งสาธารณะครั้งแรกเพราะหัวหน้า คสช.ตั้งให้กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น

การตั้งพรรคตามคำบัญชาของผู้มีอำนาจจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ไม่ว่าผู้มีอำนาจสูงสุดจะเป็นผู้บัญชาเรื่องนี้ตรงๆ หรือผ่านคนอื่นที่เป็นนายหน้ารับงานอีกที

ถ้าไม่มีรัฐประหารปี 2557 ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐคงเป็นข้าราชการหรือพ่อค้าที่ร่วมงานด้านต่างๆ กับคุณสมคิดอย่างที่เคยเป็นมา แต่ทันทีที่คุณประยุทธ์ยึดอำนาจ คุณสุวิทย์ก็ได้เป็นสภาปฏิรูป

ส่วนคุณสนธิรัตน์เป็นทั้งสภาปฏิรูปและสภาขับเคลื่อน จากนั้นปีกว่าๆ ทั้งคู่ก็ถูก คสช.อัพเกรดเป็นรัฐมนตรี

สำหรับโฆษกกอบศักดิ์ซึ่งจู่ๆ ตั้งตัวเป็น “พี่กอบ” หากพูดตรงๆ ก็เข้าข่ายเป็นคนที่ผู้มีอำนาจโปรดปรานที่สุด เพราะเป็นไม่กี่คนที่ถูกตั้งเป็นสภาปฏิรูป, สภาขับเคลื่อน และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อรวมตำแหน่งรัฐมนตรีก็เท่ากับโกยตำแหน่งในแม่น้ำห้าสายไป 3 ใน 5 ซึ่งไม่มีใครทำได้อย่าง “พี่กอบ” ทำ

มองในแง่นี้ ครึ่งหนึ่งของผู้บริหารพรรคนี้คือนักการเมืองที่หัวหน้า คสช. ทำให้ได้เงินเดือนแก่ตัวเองและพวกพ้องอย่างต่ำ 202,560 บาท และหากทุกคนยอมลาออกตามที่สังคมกดดันในปี 2561 แต่ละคนก็จะได้ลาภที่มิควรได้ให้ตัวเองกับเครือข่ายอย่างน้อย 10.5 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียงสี่ปีสี่เดือน

ทุกคนในวงการเมืองรู้ว่าสี่พลังประชารัฐได้เป็นรัฐมนตรีเพราะคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผลักดัน กลุ่มบุคคลทั้งสี่จึงเข้าสู่อำนาจได้เพราะสังกัด “มุ้งสมคิด” ซึ่งมีตำแหน่งการเมืองหลังจากหลายฝ่ายกดดันให้หัวหน้า คสช.ไล่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล สำเร็จ ไม่ใช่เพราะเป็นตัวแทนประชาชนที่มีผลงานโดดเด่นจนได้เป็นรัฐมนตรี

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะเกิดเพราะอะไร ผู้บริหารพรรคคือนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจจาก “การเมืองเครือข่าย” จนการตั้งพรรคย่อมจรรโลงผลประโยชน์ที่เครือข่ายได้ต่อไปอีก และการผลักดันให้นายกฯ หลังเลือกตั้งปี 2562 เป็นคนเดียวกับนายกฯ หลังรัฐประหาร 2557 คือจิ๊กซอว์ที่จะเติมเต็มเรื่องนี้ให้สมบูรณ์

สื่อบางคนตั้งข้อสังเกตว่า “มุ้งสมคิด” ที่วางท่านักเรียนนอกหรือไฮโซนั้นไม่ลงรอยกับ “มุ้งนักเลือกตั้ง” ที่คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดูแลคุณสมศักดิ์กับทีมสามมิตร แต่ผู้อยู่ในกระบวนการย้ายพรรคบางคนระบุว่า “ทหาร” บางคนคือตัวกลางผู้ประสานทุกองค์ประกอบกับทุนประชารัฐหรือ “เจ้าสัว” จนพรรคราบรื่นราวไหมชั้นดี

พลังประชารัฐคือพรรคที่ผู้บริหารเป็นตัวแทนของ “การเมืองเครือข่าย” ซึ่งร่วมมือกับคนหลายกลุ่มใน “การเมืองเครือข่าย” อื่นๆ เพื่อให้ประเทศไทยอยู่ใต้การปกครองของ “การเมืองเครือข่าย” อย่างที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 ที่พลเอกไม่กี่คนยึดอำนาจแล้วตั้งสมาชิกคณะรัฐประหารทุกคนเป็นรัฐมนตรี

โดยปกตินั้น “การเมืองเครือข่าย” เกิดขึ้นเมื่อคนต่างกลุ่มมีบางอย่างเหมือนกันจนเชื่อมต่อกันเพราะรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน (homophily) แต่สี่เสาของ “การเมืองเครือข่าย” ยุคนี้คือทหาร-นักเลือกตั้ง-มุ้งสมคิด-ทุนเจ้าสัว ซึ่งยึดโยงเพราะมีผลประโยชน์ร่วมจนเห็นว่าต้องค้ำยันให้ระบอบที่คุณประยุทธ์สร้างนั้นอยู่สืบไป

ความแปลกแยกของทุกองค์ประกอบทำให้พลังประชารัฐมีฐานที่เปราะบาง ความร่วมมือกันเกิดขึ้นเพราะสี่เสาของ “การเมืองเครือข่าย” เห็นว่าได้ประโยชน์จากระบอบหลังปี 2557 อย่างที่ไม่เคยได้ในระบอบอื่น

ส่วนผู้มีอำนาจก็เชื่อมั่นว่ามีโอกาสเป็นนายกฯ ต่อเพราะแรงหนุนของคนกลุ่มนี้ในเวลาเดียวกัน

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่พลังประชารัฐเกิดจากการสมประโยชน์ของ “การเมืองเครือข่าย” มากกว่าความนิยมจริงๆ พรรคเผชิญโจทย์การเมืองที่ย้อนแย้งจนแก้ยากอย่างการผลักดันให้ทหารเป็นนายกฯ แต่ไม่ให้ประชาชนเห็นความเป็น “พรรคทหาร” จนเกิดแรงต้านที่ทำให้พรรคเสียคะแนนและความชอบธรรม

ที่ผ่านมาพลังประชารัฐพยายามสร้างวาทกรรมว่า “พรรคทหาร” คือพรรคที่ทหารเป็นผู้นำ แต่ “พรรคทหาร” ครั้งล่าสุดอย่าง “พรรคสามัคคีธรรม” ที่หนุนทหารเป็นนายกฯ จนไล่ฆ่าประชาชนปี 2535 มีผู้นำคือนักการเมืองทั้งหมด ประชาชนจึงรู้มาเกือบสามสิบปีแล้วว่า “พรรคทหาร” ไม่จำเป็นต้องมีทหารเป็นผู้นำ

พูดก็พูดเถอะ พลังประชารัฐตอนนี้มีสมาชิกอย่างน้อยสองรายที่ได้ดีตั้งแต่ “พรรคทหาร” ปี 2535

หนึ่งคือ คุณสุชาติ ตันเจริญ ผู้เป็นโฆษกพรรคสามัคคีธรรม ที่ยืนยันความถูกต้องของการปราบประชาชน

และสองคืออดีตรัฐมนตรีปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ที่คุมกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งกระจายข่าวลือว่าผู้ชุมนุมเป็นคอมมิวนิสต์ล้มล้างสถาบัน

สี่ปีกว่าๆ ใต้รัฐบาลทหารคือห้วงเวลาที่รัฐบาลออกนโยบายหลายอย่างเพื่อคนใน “การเมืองเครือข่าย” เดียวกัน สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐต้องทำเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ใช่ “พรรคทหาร” จึงได้แก่ การแถลงว่าจะเอาอย่างไรกับนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่ “การเมืองเครือข่าย” ซึ่งโอบอุ้มรัฐบาลทหารตลอดมา

จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำชดเชยที่ พล.อ.ประยุทธ์กดให้เพิ่มแค่สิบบาทหรือไม่

จะลดงบฯ ทหารที่ตอนนี้เกินกว่าสามแสนล้านหรือเปล่า

จะเลิกคำสั่งให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติแสดงทรัพย์สินหรือไม่

จะไม่อุ้มสินค้าเกษตรต่อไปหรือเปล่า

และจะเอาไงกับรถเมล์ฟรีที่ คสช.ล้มจนคนจนมีรายจ่ายสูงขึ้นสี่สิบบาทต่อวัน ฯลฯ

ไม่มีใครในพลังประชารัฐประกาศว่าคิดอย่างไรกับนโยบายเหล่านี้

และการไม่ประกาศเรื่องนี้คือหลักฐานว่าพรรคไม่ได้คิดอะไรมากกว่าการแจกเงินคนจนและช่วยเกษตรกรแล้วเลิกหลังเลือกตั้งจบ

การให้คนจนวันละสิบบาทที่รัฐเลิกเมื่อไรก็ได้

รวมทั้งการเอาเงินรัฐซื้อซิมจากเจ้าสัวแล้วอ้างว่าช่วยให้คนไทยหายจน เพื่อที่จะทวงคืนประเทศให้ประชาชน

พรรคการเมืองมีภารกิจในการสร้างนโยบายเพื่อปลดปล่อยประเทศจาก “การเมืองเครือข่าย” กลุ่มนี้

การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแค่การโจมตีทหารหรือพรรคทหาร

แต่คือการชี้ให้ประชาชนเห็นว่ายุคสมัยนี้ทำให้คนส่วนใหญ่เสียโอกาสมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร

พูดให้ถึงที่สุดแล้ว พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะแปรคะแนนนิยมเป็นจำนวน ส.ส.ในสภาได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำให้ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งปี 2562 คือประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าการเป็นแค่ “คนในบังคับ” ของผู้มีอำนาจอย่างที่เป็นมาตลอดสี่ปี

พูดให้สั้นที่สุด “พรรคทหาร” ไม่ใช่ตัวคนหรือองค์กรทางการเมือง

แต่ “พรรคทหาร” หมายถึงวิธีบริหารประเทศที่การปกป้องผลประโยชน์ของ “การเมืองเครือข่าย” สำคัญกว่าประโยชน์สาธารณะ

ส่วนการทำเพื่อประชาชนเป็นแค่อุบายในการทำให้ “การเมืองเครือข่าย” ปกครองประเทศต่อไป