วิเคราะห์ : เรื่องเล่าจาก “ซินเจียง” ว่าด้วย “ค่ายปรับทัศนคติ” สุดฉาว

ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยที่โลกให้ความสนในช่วงที่ผ่านมานอกจากเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในพม่าแล้ว

อีกหนึ่งชาติพันธุ์ที่ประสบเคราะห์กรรมที่เลวร้ายไม่ต่างกันก็คือ ชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ ในเขตปกครองพิเศษซินเจียง อุยกูร์ ทางตะวันตกของประเทศจีน

เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในพม่า กลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ในจีนถูกมองด้วยแนวคิดทางศาสนาที่แตกต่าง รวมไปถึงการก่อเหตุร้ายที่มีชาวอุยกูร์อยู่เบื้องหลังบางเหตุการณ์ ส่งผลให้ชาวอุยกูร์ต้องถูกทางการจีนจับจ้อง และมีนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ไม่ใช่การถูกกวาดล้างเนรเทศออกจากพื้นที่ในแบบที่ชาวโรฮิงญาเผชิญ

แต่เป็นการถูกจับกุมคุมขังเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติใน “ค่ายปรับทัศนคติ” ที่คุมขังชนกลุ่มน้อยเอาไว้จำนวนมหาศาล

 

ในช่วงปีที่ผ่านมา สื่อหลายสำนัก นักสืบสมัครเล่น รวมไปถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชน เปิดเผยข้อมูลว่า รัฐบาลจีนกำลังดำเนินการคุมขังชาวอุยกูร์เอาไว้จำนวนถึง 2 ล้านคน เพื่อดำเนินการนโยบายของรัฐที่มีชื่อว่า “เอกภาพแห่งชาติพันธุ์”

จากการสืบค้นจากภาพถ่ายดาวเทียม หลักฐานการจ้างงาน รวมถึงการประมูลงานก่อสร้างในพื้นที่ นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า รัฐบาลจีนได้สร้าง “ค่ายปรับทัศนคติ” ขึ้นคุมขังชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอุยกูร์ เข้ากระบวนการที่ทำให้เกิดความเครียดทางกายและจิตใจ

บังคับให้เลิกใช้ภาษาแม่ ละทิ้งความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของตนเอง

ขณะที่พื้นที่นอกค่ายนั้นก็มีการสร้างเครือข่ายสอดส่องชาวอุยกูร์ที่เข้มข้น เช่น การตั้งด่านตรวจ การละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น การติดตั้งแอพพลิเคชั่นในสมาร์ตโฟน การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ ลายนิ้วมือ ม่านตา เก็บตัวอย่างเสียง รวมไปถึงกล้องตรวจจับใบหน้านับหมื่นตัวที่ใช้เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของชาวอุยกูร์ทั้งหมด

แม้ว่าจีนเคยปฏิเสธการมีอยู่ของ “ค่ายปรับทัศนคติ” ดังกล่าวหลังเรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก โดยระบุที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาโดยระบุว่า ค่ายดังกล่าวเป็นค่ายฝึกวิชาชีพสำหรับผู้ต้องหาเท่านั้น

แต่ล่าสุดนักวิชาการกว่า 270 คนจาก 26 ประเทศออกแถลงการณ์ให้โลกหันมามอง “การละเมิดสิทธิมนุษยชนหมู่และการจงใจคุกคามวัฒนธรรมชนพื้นถิ่น” ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน

พร้อมกับการเปิดเผยเรื่องราวของ “มิห์ริกุล ทูร์ซุน” หญิงชาวอุยกูร์วัย 29 ปี ผู้เคยผ่าน “ค่ายปรับทัศนคติ” ของรัฐบาลจีนออกมาเล่าถึงประสบการณ์อันเลวร้ายที่ต้องเผชิญ จากการถูกจับกุมถึง 3 ครั้ง

 

ทูร์ซุนเกิดและเติบโตในประเทศจีน ก่อนเดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยในประเทศอียิปต์ ที่ซึ่งเธอพบกับสามีและมีลูกด้วยกัน 3 คน

ทูร์ซุนเดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัวในประเทศจีนเมื่อปี 2015 ช่วงเวลาที่เธอถูกแยกจากลูกๆ เข้าไปอยู่ในค่ายปรับทัศนคติเป็นเวลา 3 เดือน หลังได้รับการปล่อยตัวเธอก็ต้องพบว่าลูก 1 ใน 3 คนได้เสียชีวิตลงแล้ว ขณะที่อีก 2 คนก็มีปัญหาสุขภาพ ก่อนที่จะถูกจับเป็นครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ในปี 2017

ทูร์ซุนระบุที่สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งชาติ ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ถึงการถูกสอบสวนเป็นเวลา 4 วันต่อเนื่องโดยไม่ได้นอน การถูกโกนผม และการถูกบังคับกินยาปริศนา

ชีวิตในค่ายหลังการถูกจับกุมครั้งที่ 3 ทูร์ซุนระบุว่า เธอต้องอาศัยกับผู้ถูกคุมขังหญิงคนอื่นๆ อีก 60 คน นอนอย่างแออัด เข้าห้องน้ำต่อหน้ากล้องวงจรปิด และถูกบังคับให้ต้องร้องเพลงสรรเสริญพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นอกจากนี้ ทูร์ซุนยังเล่าว่า ตนและผู้ต้องขังหญิงคนอื่นๆ ได้รับยาปริศนาที่บางรายทำให้มีประจำเดือนออกมากผิดปกติ ขณะที่บางรายประจำเดือนหยุดไปเลย โดยตลอดช่วงเวลา 3 เดือนมีเพื่อนผู้ต้องขังเสียชีวิตไปถึง 9 ราย

ไม่เว้นแม้แต่ประสบการณ์การถูกนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า

“ผู้คุมนำบางอย่างที่เหมือนหมวกมาครอบที่หัวฉัน และแต่ละครั้งที่ฉันถูกช็อตไฟฟ้า ร่างกายฉันสั่นอย่างรุนแรงและฉันรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก” ทูร์ซุนระบุ และว่า “ฉันจำส่วนที่เหลือไม่ได้ เริ่มมีโฟมสีขาวออกจากปากฉันและฉันก็หมดสติไป”

 

หลังทูร์ซุนได้รับการปล่อยตัว เธอสามารถพาลูกกลับประเทศอียิปต์ ก่อนทางการจีนจะสั่งให้เธอกลับประเทศจีนอีกครั้ง ทว่า ทูร์ซุนเลือกที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อตั้งรกรากในรัฐเวอร์จิเนีย ทิ้งประสบการณ์เลวร้ายไว้เบื้องหลัง

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีหลักฐานเกี่ยวกับค่ายปรับทัศนคติกักกันชาวอุยกูร์ใดๆ หลุดออกมาอีกหรือไม่

และทางการจีนจะชี้แจงประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของจีนในเวทีนานาชาติอย่างไร