วิเคราะห์ : “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ในวัน “ชีวิตลงตัวทุกมิติ” พร้อมพิสูจน์ “แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี”

1คน 3 วงการ เป็นคำนิยามตัวเองของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตนักวิชาการผู้มีโอกาสได้สัมผัสงานการเมืองและเคยนั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นคนการเมืองที่ใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างยอดเยี่ยม

กระทั่งสร้างภาพจำในฐานะรัฐมนตรีที่ “แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน ดร.ชัชชาติ นั่งตำแหน่งซีอีโอให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์มหาชน “ควอลิตี้เฮ้าส์” หรือคิวเฮ้าส์ครบ 4 ปีในปีนี้

ในวาระที่ประเทศไทยนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ภายในต้นปี 2562 เขายังยืนยันว่าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

อนาคตทางการเมืองเริ่มมองเห็นแคตวอล์กชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

 

เมื่อถูกถามว่าในมุมผู้บริหาร ในฐานะซีอีโอของคิวเฮ้าส์ ได้ประสบการณ์และมุมมองอะไรบ้าง

“…4 ปีที่คิวเฮ้าส์ ผมเผอิญโชคดี เป็น passion (แพสชั่น) ผมพอดี ก่อนหน้านี้เราก็สงสัยว่าแพสชั่นเราคืออะไร ตื่นมาก็มาทำงานเพื่ออะไร ผมเป็นอาจารย์ เป็นรัฐมนตรี มาทำอสังหาฯ ดูไม่เกี่ยวกันเลยไง

แต่ถามว่าแพสชั่นคืออะไร เพิ่งมารู้ว่าไปสอนหนังสือเด็ก เรื่องลีดเดอร์ชิป เรื่องดีไซน์ยัวร์ลิฟวิ่ง ยัวร์ไลฟ์ ผมเพิ่งรู้ว่าแพสชั่นผมคือการทำให้คนอื่นมีความสุขขึ้น”

ในความหมายของชัชชาติ แพสชั่นไม่ใช่เรื่องรายละเอียดของงาน แต่เป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งแพสชั่นทั้ง 3 งานไปด้วยกันได้

เช่น เป็นอาจารย์ก็ทำให้เด็กมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไปอยู่ (กระทรวง) คมนาคมผมชอบลงไปดูชาวบ้าน จะให้ชาวบ้านเดินทางเร็วขึ้น แต่เราไม่ได้อยากไปทำงานสะพงสะพาน งานกฎหมาย …เราชอบออกไปดูงานรถไฟ ชอบออกไปปรับชีวิตผู้คน

มาอยู่อสังหาฯ ก็คล้ายๆ กัน เราชอบไปดูลูกบ้าน ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น

ผมว่าจริงๆ แล้วถามว่าเรียนรู้อะไร มันก็คอนเซ็ปต์ design thinking นี่แหละ เข้าใจลูกค้าก่อนว่าต้องการอะไร เทคโนโลยีสำคัญน้อยกว่าคน ต้องเข้าใจคนก่อน”

 

กับสถานะที่เป็นมาแล้วทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย รัฐมนตรี และวันนี้เป็นผู้บริหารบริษัทเอกชน ชัชชาติมองสถานการณ์ที่ธุรกิจกำลังถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยีในมุมที่อาจจะต่างไปจากคนทั่วไป

“…ถามว่าอะไรที่ดิสรัปต์เราในปัจจุบัน ทุกคนบอกว่าเทคโนโลยี ผมมองว่าไม่ใช่ เทคโนโลยีไม่ได้ดิสรัปต์เรา เทคโนโลยีค่อยเป็นค่อยไป แต่ที่ดิสรัปต์เราคือบิสสิเนสโมเดล”

บิสสิเนสโมเดลมี 3 องค์ประกอบคือ เทคโนโลยี, บิสสิเนส และคัสตอมเมอร์หรือลูกค้า

มีคำถามว่า ทำไมบริษัทที่แข็งแรง ทำไมจึงโดนดิสรัปต์ ก็เพราะมีบิสสิเนสโมเดลเดิมซึ่งปรับแก้ทิ้งลำบาก ถ้าธุรกิจเจ๊งไปเลยแล้วเริ่มใหม่กลับกลายเป็นดีกว่า

เช่นกรณีของสตาร์ตอัพเริ่มต้นใหม่เลยจะมีโอกาสดีกว่า บริษัทที่มีบิสสิเนสโมเดลเดิม เช่น การบินไทย แอร์เอเชีย จะถูกดิสรัปต์ด้วยบริษัทใหม่ๆ ที่ไม่มีต้นทุนเดิม

ซึ่งสตาร์ตอัพเกิดได้เพราะไม่มีอะไรให้ดิสรัปต์ เพราะไม่มีของเก่าให้แบก ไม่มีบิสสิเนสโมเดลเดิมให้กังวล หรือยึดติดอยู่ในคัลเจอร์ อยู่ในความภูมิใจ มี history มี lacacy

ฉะนั้น ดิสรัปต์อย่าไปติดกับเทคโนโลยีๆ ไม่ใช่คำตอบ

“บริษัทที่เจ๊งเยอะแยะเพราะมันเปลี่ยนแต่เทคโนโลยี แต่ไม่มีอีก 2 circle คือบิสสิเนส กับพีเพิล ว่า people available หรือเปล่า ต้องการหรือเปล่า technology flexible หรือเปล่า ก็เห็นสตาร์ตอัพเยอะแยะที่เจ๊ง

ของเรา (คิวเฮ้าส์) จุดแข็งคือเราเข้าใจ people (คน)”

 

ขณะที่แพสชั่นของ “ชัชชาติ” คือการทำให้คนมีความสุข เมื่อวันนี้เขายังเป็นซีอีโอบริษัทอสังหาฯ สิ่งที่เขาคิดก็คือ ทำอย่างไรให้คนซื้อบ้านมีความสุข

“ทุกอย่างต้องสตาร์ตด้วย why เราทำเพื่ออะไร จากนั้นเราก็ทำ how และ what”

ชัชชาติเชื่อว่า บริษัททั่วไปจะรู้แค่ what เช่น ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทำบ้านขาย ก็รู้ว่าทำบ้านขาย หรืออาจจะรู้ how แต่กลับลืมจุดสำคัญคือ why

“สาเหตุที่ลืมก็เพราะส่วนใหญ่เลือกใช้ตัวชี้วัดเกี่ยวกับ what จนหลงลืมเรื่อง why

“คิวเฮ้าส์ทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อบ้านที่มีคุณภาพ แต่ทีนี้ เราวัดเคพีไอของพนักงานเราวัดที่ยอดขาย แต่ยอดขายไม่รีเฟล็กลูกค้า ไม่ reflect คุณภาพของบ้าน

…ผมติดตามตลอด พอเราดีไซน์เคพีไอขึ้นมาวัดยอดขาย เราก็ต้องดีไซน์เคพีไอขึ้นมาวัด why ผมวัดที่จำนวนลูกค้าที่มาบอกเพื่อนให้ซื้อบ้าน

ซึ่ง word of mouth การบอกต่อ อันนี้สำคัญ ลูกค้าที่บอกให้เพื่อนมาซื้อบ้านแสดงว่าเป็น total experience ตั้งแต่วินาทีแรกที่เขามาอยู่ เป็นตัวชี้วัดว่าลูกค้ามีความสุข”

ชัชชาติเชื่อว่า ยอดขายเป็นตัวแสดงผลแค่ชอร์ตเทอม

“เขาอาจซื้อบ้านวันนี้แล้วพรุ่งนี้เขาด่าเราก็ได้ แต่เพื่อนบอกต่อคือตั้งแต่ก้าวเข้าไป ซื้อ อยู่อาศัย บริการหลังการขาย เป็น total process

และบ้านเป็นสินค้าราคาสูง ไม่ใช่ซื้อยาสีฟัน สบู่ อีกอย่างลูกค้าบอกต่อมันก็ดี ไม่มีคอสต์สูง ต้องวัดตรงนี้ คนไหน (พนักงาน) ทำตรงนี้ดีก็ต้องเป็นสตาร์ของเรา”

นั่นคือหลักคิดที่เขาคิดว่าการวัดประเมินผล ต้องวัด why เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่ why

“ผมว่าราชการเป็นตัวอย่างที่ดีของการวัด what เคพีไอของราชการ ใช้งบประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ ทำได้กี่โครงการ คนอบรมกี่คน วัดเป็นแบบวัดอย่างเดียว แต่ลืมวัด why ว่าทำเพื่ออะไร แต่วัด why วัดยาก”

 

สําหรับเส้นทางการเมืองของผู้ชายชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาจากหลายๆ ฝ่ายนั้น เขายืนยันว่า ยังทำเต็มที่กับภารกิจในงานด้านธุรกิจที่ต้องดูแลรับผิดชอบ

“…ผมยังเป็นลูกจ้างอยู่ ผมต้องนึกถึงใจเขาใจเรา คงไม่ทำอะไรบุ่มบ่าม เดี๋ยวธุรกิจกับผู้ถือหุ้นจะมีปัญหา เมื่อวานลูกน้องก็ยังมาถามอยู่เลย

คือเราต้องทำหน้าที่เราให้ดีที่สุดก่อน ไม่ใช่ว่าเราอยากจะทำโน่นทำนี่

เราต้องรู้บทบาทตัวเองว่า ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้

ที่สำคัญ ผมมีภารกิจชีวิต ต้องส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ต้องมีค่าใช้จ่าย ผมไม่ใช่มหาเศรษฐี ไม่ใช่แบบมีเงินแล้วไม่ต้องทำงาน

คือผมต้องทำงาน ไม่มีหรอก ไม่ทำงานแล้ว จนตาย เมียด่าแน่

พรรคเพื่อไทยนั้นผมอยู่อยู่แล้ว ผมเป็นสมาชิกพรรค ผมไม่รู้จักหรอก พรรคเพื่อทั้งหลาย ปีหน้ากฎหมายคงชัดเจน ถึงเวลานั้นค่อยว่ากันอีกที”

แม้จะโฟกัสไปที่บทบาททางธุรกิจ แต่มุมมองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศของชัชชาติ ก็ยังแหลมคมและน่าสนใจเสมอ คำถามสำคัญของเขาก็คือ

ประเทศไทยจะไปทางไหน?

“มีหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่าอนาคตไม่ได้ถูกกำหนดด้วยแผนที่ ถูกกำหนดด้วยเข็มทิศมากกว่า compass จะชนะ map เสมอ

สมัยก่อนเราใช้ map ได้เพราะโลกไม่เปลี่ยนเยอะ เรามี map อาจใช้ 10-20 ปีได้ สมัยก่อนใช้ map ได้เพราะโลกเปลี่ยนช้า”

ในความคิดของเขา วันนี้โลกเปลี่ยนทุกวินาที หากจะทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็ไม่ต่างจากทำแผนที่ หรือทำ map ซึ่งพรุ่งนี้ก็อาจล้าสมัยแล้ว

การจัดการในอนาคตจึงไม่ใช่การเตรียม map แต่คือการเตรียมเข็มทิศ คือการเตรียม mindset การเตรียมความสามารถ การเตรียมวิธีคิด agility หมายความว่าปรับตัวได้ หัวใจคือไม่ใช่แผนที่ แต่คือเข็มทิศที่ช่วยให้ปรับตัวกับสถานการณ์ได้

“ถ้ามาดูบิสสิเนสแพลน อย่าง AIS ไม่มีหรอกว่าวิสัยทัศน์ 5 ปีจะเป็นอะไร เพราะเทคโนโลยีอีก 5 ปีไม่รู้จะเป็นอะไร แต่จะดีไฟน์ไว้ว่าจะหา agility ใหม่ๆ เอาคนเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน พูดเข็มทิศ พูดในเชิงไมนด์เซ็ตมากกว่า ผมว่าเรายังขาด mindset

ถ้าเข็มทิศไม่แม่นก็จะมีปัญหา”

นั่นคือคำยืนยันจากชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี