จรัญ พงษ์จีน : ทุกความได้เปรียบ “พลังประชารัฐ” มีแต่ได้?

จรัญ พงษ์จีน

หากวิเคราะห์กันอย่างตรงไปตรงมา ต้องยอมรับว่า “พรรคพลังประชารัฐ” แม้จะยังอ่อนต่อโลก ประสบการณ์น้อย อ่อนปวกเปียก แต่ด้วยองคาพยพเอื้อประโยชน์ให้ในทุกประการ ทั้ง “อำนาจรัฐ” ใช้บริการทุกกลไก “ท่อน้ำเลี้ยง” โคตรจะรวยฟ่ะ หรูเฟ่ “กลุ่มทุน” แย่งกันสนับสนุน ทุกเครือข่ายร่วมลงขันกันแบบจ่ายไม่อั้น กินไม่หมด

หรือแม้กระทั่ง “กรรมการ” ที่ถูกวางตัวมาทำหน้าที่คนกลาง เมื่อดูรูปพรรณสันฐานแล้วเชื่อกันว่าจะต้องเอียงกระเท่เร่ เป็นสนต้องลม

ด้วยปัจจัยดังกล่าว ศึกเลือกตั้งใหญ่ในช่วงต้นปี 2562 ที่โรดแม็ปถูกเล่นแร่แปรธาตุเลื่อนแล้วเลื่อนอีกมานับครั้งไม่ถ้วน ปากกล้าขาสั่นมาตลอด “เลือกตั้งไม่กลัว กลัวแพ้”

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ซึ่งเสียเครดิตที่ไม่ยอมเลือกตั้งตามที่รับปากไว้หลายครั้ง แต่ถ้าเลือกแล้วแพ้ “ยิ่งเสีย”

เมื่อหนทางแห่งชัยชนะที่ยากอยู่ กลับมามียุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบกว่า เป็นใครก็ต้องชิงโอกาส ตามสภาพที่กุมเครื่องทุ่นแรงไว้ในมือสารพัด ไม่ว่าจะเป็นกระแส-ตัวบุคคล-กระสุน อ่านหน้าไพ่ทุกประตูดูแล้ว เป็นต่อ “พรรคเพื่อไทย” หลายขุม เมื่อเป็นเยี่ยงนี้ พี่จึงจัดให้

หมากกระดานนี้จึงมีดราม่าตามมาทันตาเห็น “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ได้รับการวางตัวให้เป็นแม่บ้าน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ควง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน-อนุชา นาคาศัย” 3 ประสาน อดีตแกนนำแชมป์เก่า แห่งซุ้มวังบัวบาน เกี่ยวก้อยกันตะลอนทัวร์ถิ่นอีสาน และไม่ได้บุกถ้ำเสือแบบเปล่าๆ ปรือๆ

ประกาศศักดาแบบไม่เกรงใจเจ้าอาวาสว่า “พปชร.” จะกวาดที่นั่ง ส.ส.ในถิ่นที่ราบสูงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่กี่เดือนข้างหน้าได้มากกว่า 50 ที่นั่ง

สัดส่วน ส.ส.ทั่วประเทศ ที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ปรับลดจำนวนใหม่ จากศึกเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด 375 ที่นั่ง เหลือ 350 ที่นั่ง โดยแยกแต่ละภาคดังนี้คือ “ภาคเหนือ” 33 คน “ภาคตะวันตก” 19 คน “ภาคใต้” 50 คน “ภาคตะวันออก” 26 คน “ภาคกลาง” 106 คน และ “ภาคอีสาน” 116 คน

เลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 “พรรคเพื่อไทย” ได้ ส.ส. 265 คน เขตเลือกตั้ง 204 คน บัญชีรายชื่อ 61 คน “ประชาธิปัตย์” 159 คน เขตเลือกตั้ง 115 คน บัญชีรายชื่อ 44 คน “ภูมิใจไทย” 34 คน เขตเลือกตั้ง 29 คน บัญชีรายชื่อ 5 คน “ชาติไทยพัฒนา” 19 คน เขตเลือกตั้ง 15 คน บัญชีรายชื่อ 5 คน “ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” 7 คน เขตเลือกตั้ง 5 คน บัญชีรายชื่อ 2 คน “พลังชล” 7 คน เขตเลือกตั้ง 5 คน บัญชีรายชื่อ 1 คน

คิดเป็น “คะแนนเสียง” พรรคเพื่อไทยได้ 15.7 ล้านเสียง ประชาธิปัตย์ได้ 11 ล้านเสียง

ภาพโดยรวม นับถอยหลังตั้งแต่มีการเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2550 เป็นต้นมา “พรรคเพื่อไทย” ไม่ว่าจะใช้ชื่อ “ไทยรักไทย” หรือ “พลังประชาชน” จุดที่ทำให้ชนะถล่มทลาย “แลนด์สไลด์” มากที่สุดคือ “ภาคอีสาน” ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนสามารถโค่นล้มได้

เลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ การที่ “พปชร.” ป่าวประกาศจะชิงพื้นที่ ส.ส.ในภาคอีสานให้ได้มากกว่า 50 ที่นั่ง จึงเป็นเรื่องน่าติดตามว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมหรือมีหน้าด้านพลิกโฉมใหม่ ต้องติดตามดูกันต่อไป

 

เหตุที่ “สุริยะ” กล้าฟันธงและรับประกันว่า “พลังประชารัฐ” จะช่วงชิงที่นั่งในภาคอีสานเกิน 50 ที่นั่ง จุดเปลี่ยนหนึ่งน่าจะมาจากการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นพ่อครัวหัวป่าก์

ซึ่งเพื่อนเกลอที่ชื่อ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ชิงสรุปเป็นคัมภีร์ให้ลูกพรรคพึงนำพาไปปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐธรรมฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เราต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป้าหมายทุกคะแนนมีความสำคัญ ฉะนั้น ตัวบุคคลในแต่ละเขตแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนให้ได้ เพราะทุกคะแนนมีความสำคัญมาก”

ซึ่งดังที่ทราบ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กติกาเปลี่ยนแปลง มี 2 ระบบเหมือนเดิม คือ “เขตเลือกตั้ง” กับ “บัญชีรายชื่อ” เช่นเดียวกับจำนวนรวม ส.ส. 500 ที่นั่ง

แต่ปรับลด ส.ส.เขตเลือกตั้งจาก 375 เขตเหลือ 350 เขต “บัญชีรายชื่อ” ของเดิม 125 คน เพิ่มเป็น 150 คน

เป็นการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ทำให้ทุกเสียงที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งมีความหมาย มีทั้งผลดีและผลเสีย

“ผลดี” คือ เลิกการผูกขาด เสียงข้างมากไม่ลากไปเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา “ผลเสีย” ก็มีไม่น้อย ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ

กติกาการลงคะแนนเลือกตั้ง “กาครั้งเดียว” ได้ทั้งพวกและคน จากแต่เดิมมีสองช่องให้เลือกกา ช่อง ส.ส.กาคนที่ตนเองชื่นชอบ และกาเลือกพรรคที่ตัวเองศรัทธา “เลือกตั้งคนรัก เลือกพรรคที่ชอบ” แล้วนำคะแนนไปคิดหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

“พรรคพลังประชารัฐ” เมื่อมั่นใจจะยึดหัวหาดในพื้นที่ภาคอีสานได้เกิน 50 ที่นั่งแล้ว บันไดก้าวถัดมา “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค คอนเฟิร์มเสียงดังฟังชัดว่า “พรรคพลังประชารัฐตัดสินใจส่งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อันดับ 1”

ชัดเจนแน่นอน ไม่ต้องมีอะไรคาดเดาอีกต่อไป และตามสภาพเชื่อว่า “พปชร.” น่าจะมั่นอกมั่นใจถึงขนาดว่า “บิ๊กตู่” จะเดินกลับตึกไทยคู่ฟ้ารอบที่สอง อย่างสง่างาม มาตามช่องทาง “ที่ 1” ที่ระบุว่า

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คน เสนอชื่อบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 251 คน”

“จบข่าว” ตามมาตรา 83 ที่กำหนดว่า ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองส่งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกฯ ไม่เกินสามรายชื่อ โดยไม่กำหนดว่าสามรายชื่อนั้นจะต้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้

ไม่ต้องพึ่งพา “ช่องทางที่ 2” ที่ต้องใช้บริการ “นายกฯ คนนอก”

“พปชร.” เดิมพันไม่อั้นว่า สำเร็จโทษตั้งแต่ยกที่ 1 “บิ๊กตู่” จะเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง โดยมี “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “พรรคภูมิใจไทย” เป็น “พรรคร่วม” ฐานคะแนนรวมกันไม่ต้องพึ่งพิง “ส.ว.” เสียงทะลุ 251 เสียง

แถมเกทับบลั๊ฟฟ์แหลกอีกว่า “พรรคเพื่อไทย” และเครือข่ายจะได้เป็น “ฝ่ายค้าน” หะแรกในรอบหลายปีก็งวดนี้