เศรษฐกิจ/คลังแจกช้อปปีใหม่-คืนแวตตรุษจีน ฝ่าครหา…กระตุ้นเศรษฐกิจหรือหาเสียง

เศรษฐกิจ

คลังแจกช้อปปีใหม่-คืนแวตตรุษจีน

ฝ่าครหา…กระตุ้นเศรษฐกิจหรือหาเสียง

 

หลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกาศสู้ศึกเลือกตั้ง และเปิดตัวพรรคปลายเดือนกันยายนผ่านไปไม่นาน ฝั่งรัฐบาลก็อัดมาตรการทางเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ ยกเหตุผลคือต้องการดูแลกลุ่มที่ยังเดือดร้อน และพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวเกิน 4%

ตลอดเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มาตรการที่กระทรวงการคลังประกาศออกมาแล้ว รวมถึงมาตรการที่กำลังอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม 2561-กุมภาพันธ์ 2562 รวมแล้วต้องใช้งบประมาณกว่า 7.33 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีประชาชนได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 36 ล้านคน

มาตรการแรกที่นำมาใช้คือมาตรการคืนแวตคนจนที่ถือบัตรสวัสดิการ 14.5 ล้านคน เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562 ใช้เงินไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท กำหนดเพดานคืนแวต 500 บาทต่อคนต่อเดือน

หลังจากนั้น ประกาศแจกของขวัญปีใหม่วงเงินสูงถึง 5.87 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มคนจนถือบัตรสวัสดิการ 3.87 หมื่นล้านบาท เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561-กันยายน 2562 เป็นเวลา 10 เดือน

มาตรการมีทั้งหมด 4 มาตรการ คือ ช่วยค่าไฟ 230 บาทต่อเดือน ช่วยค่าน้ำ 100 บาทต่อเดือน เป็นค่าน้ำค่าไฟในเดือนธันวาคมเป็นต้นไป เริ่มจ่ายเงินเข้าบัตรวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562

แจกเงินให้กับผู้ถือบัตรทุกคนวงเงิน 500 บาทต่อคนในเดือนธันวาคมครั้งเดียว สามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการหรือกดเป็นเงินสดก็ได้ เริ่มใส่เงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการ วันที่ 8-10 ธันวาคม 2561 ให้ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล สำหรับคนสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 1,000 บาทต่อคน จ่ายเข้าบัตรวันที่ 21 ธันวาคม 2561

ช่วยค่าเช่าบ้านแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เดือนละ 400 บาท เริ่มจ่ายเข้าบัตรเดือนแรกวันที่ 12 ธันวาคม 2561

พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังออกมาตรการช่วยเหลือข้าราชการบำนาญ อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ให้เงินเพิ่มอีกไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคน มีข้าราชการบำนาญ 1.59 แสนคน ได้รับเงินดังกล่าว

ส่วนข้าราชการบำนาญรายได้ต่ำเพิ่มเป็นเดือนละ 1 หมื่นบาท มีข้าราชการในกลุ่มนี้ 5.27 หมื่นคน

 

นอกเหนือจากมาตรการดูแลคนจน รัฐบาลเร่งอัดมาตรการเอาใจคนชั้นกลาง ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีจากช้อปช่วยชาติ โดยจำกัดสินค้าแค่ 3 กลุ่มสินค้า คือ ยางรถ หนังสือ โอท็อป ในวงเงินช้อปปิ้งไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งผ่านการพิจารณาจาก ครม.ไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม เริ่มมาตรการในวันที่ 15 ธันวาคม 2561-16 มกราคม 2562 เป็นเวลา 1 เดือน คาดว่าทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ 1,600 ล้านบาท

ที่ต้องจำกัดเพียง 3 สินค้า เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังจะยืนยันว่าไม่ทำช้อปช่วยชาติอีกแล้ว เพื่อไม่ให้ประชาชนเสพติดมาตรการ

แต่เมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3/2561 ต่ำเพียง 3.3% พร้อมหั่นตัวเลขคาดการณ์ปีนี้เหลือ 4.2% จากเดิม 4.5% ทำให้ต้องมีมาตรการเสริม

 

คงประเมินแล้วว่าช้อปช่วยชาติจำกัด 3 สินค้าจะไม่หวือหวาเหมือนปีที่ผ่านๆ มา นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้ดำเนินมาตรการอั่งเปาตรุษจีน ด้วยการคืนแวต 5% ให้กับประชาชนจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเดบิตในสินค้าที่มีแวตวงเงินไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน ตั้งแต่วันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 คิดเป็นเงินได้คืนสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน คาดว่าจะเสนอ ครม.ในเร็วๆ นี้

การคืนเงินจะดำเนินการผ่านอีเพย์เมนต์ที่ลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน โดยจะขอเงินจาก ครม. 1 หมื่นล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการ เป็นการขอเผื่อไว้จากคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 6-7 พันล้านบาท มาตรการนี้คาดว่าจะมีประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 10-20 ล้านคน จากบัตรเดบิตในระบบล่าสุด 58 ล้านใบ มีประชาชนลงทะเบียนพร้อมเพย์ 45 ล้านบัญชี

เดิมทีมาตรการนี้จะทำช่วงปีใหม่พร้อมๆ กับโครงการช้อปช่วยชาติ แต่การจัดทำระบบเพื่อรองรับโครงการ เช่น ระบบกลางเก็บข้อมูลใช้จ่าย ระบบให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเจ้าของบัตรต้องยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเพื่อคืนเงิน โดยไม่ต้องยื่นเอกสารขอคืนเงิน แค่นำบัตรเดบิตไปรูดซื้อสินค้า กระทรวงการคลังสามารถประมวลผลคืนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที

แม้ว่าจะเสียเงินไป 1 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลังมองว่าคุ้ม เพราะทำให้คลังสามารถขยายฐานภาษีจากข้อมูลใช้บัตร เช่น ทำให้ทราบว่าซื้อจากร้านค้าไหน เท่าไหร่ ร้านดังกล่าวมีรายได้เท่าไหร่ จ่ายภาษีครบไหม

นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอีเพย์เมนต์ โดยกระทรวงการคลังเตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจัดทำบัตรเดบิต เพื่อจูงใจประชาชนเข้าร่วมโครงการ

 

แน่นอนเมื่อมาตรการประกาศออกมาช่วงใกล้เลือกตั้ง และแกนนำพรรค พปชร. คือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หนีไม่พ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเพื่อหวังผลทางการเมือง

เรื่องนี้ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า มาตรการของกระทรวงการคลังและรัฐบาลออกมาช่วงนี้มองได้อย่างเดียวคือใกล้เลือกตั้ง การอ้างทำเพื่อดูแลเศรษฐกิจนั้นฟังไม่ขึ้น ในปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเกินกว่า 4% ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแล

อีกทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการลดแวต หรือใช้แวตอ้างอิงเพื่อทำมาตรการ เพราะทำให้ประชาชนไม่รู้หน้าที่ตัวเองในการเสียภาษี ทำลายวินัยทางการเงินการคลัง

โดยควรใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะช่วงวิกฤตจริงๆ เพื่อให้เหลือกระตุ้นไว้ใช้ในช่วงจำเป็น

พร้อมกับเรียกร้องให้กระทรวงการคลังชี้แจงเงินที่นำมาทำนโยบาย ถ้าบอกว่าเป็นเงินจากงบประมาณขอให้บอกว่าจะกู้อย่างไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ และกี่ปีจึงจะหมด เพื่อให้ประชาชนทราบว่ามาตรการที่ทำอยู่ในขณะนี้ไม่ใช่ของฟรี เป็นเงินที่ประชาชนต้องจ่าย

แม้จะบอกว่ามาจากงบประมาณ แต่ต้องไม่ลืมว่าขณะนี้ไทยยังดำเนินมาตรการขาดดุล ต้องกู้มาใช้จ่าย ซึ่งมาตรการที่ทำมาทั้งหมดถือเป็นภาระของผู้เสียภาษีต้องจ่ายในอนาคต

 

ฝั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้ทำเพื่อหาเสียง โดยอธิบายว่าให้การบ้านกระทรวงการคลังมานานแล้ว เพิ่งสรุปออกมาในช่วงนี้ ซึ่งสิ่งที่ทำเพื่อมาดูแลกลุ่มคนที่ต้องการดูแล มาตรการที่ออกมานั้นไม่กระทบงบประมาณ เพราะมีเงินเตรียมพร้อมไว้แล้ว โดยเฉพาะเงินช่วยคนจน ซึ่งนำมาจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม มีเงินในกองทุนตุนไว้แล้วถึง 1 แสนล้านบาท

นายสมคิดแจงว่า ส่วนการแจกเงิน 500 บาทต่อคนให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ 14.5 ล้านคน ถือเป็นการช่วยเหลือปลายปี เพราะตลอดทั้งปีคนเหล่านี้ลำบากมามาก ซึ่งใช้งบฯ ไม่มาก

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะมือชงมาตรการ ปฏิเสธเช่นกันว่า ไม่ได้ทำเพื่อหาเสียง แต่เป็นโครงการต่อเนื่องที่ทำมาตลอด เช่น ช้อปช่วยชาติในปีก่อนๆ ทำมาตรการขึ้นมาเพราะการบริโภคลดลงหรืออยู่ที่ 1% แต่ขณะนี้การบริโภคอยู่ที่ 4% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในบางสินค้ายังต้องช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องทำมาตรการต่อ ส่วนมาตรการคืนแวต เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจในปี 2561 และ 2562 ต้องโตเกิน 4%

ถือว่าเซอร์ไพรส์กับมาตรการของกระทรวงการคลัง หลังจากนี้คงต้องจับตาว่าจะออกมาตรการทิ้งทวนก่อนเลือกตั้งอีกหรือไม่?