รายงานพิเศษ/Mission Possible ‘พี่ใหญ่’ เคลียร์ทาง ‘บิ๊กตู่’ กลับทำเนียบ ‘บิ๊กป้อม’ สายดีล ส่องทำเนียบน้อย ‘3 ป.’ ร.1 รอ. และอาคันตุกะ บ้านป่ารอยต่อฯ

รายงานพิเศษ

Mission Possible ‘พี่ใหญ่’

เคลียร์ทาง ‘บิ๊กตู่’ กลับทำเนียบ

‘บิ๊กป้อม’ สายดีล

ส่องทำเนียบน้อย ‘3 ป.’ ร.1 รอ.

และอาคันตุกะ บ้านป่ารอยต่อฯ

สถานการณ์การเมืองที่มีสัญญาณชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 แล้วจากนั้นราวต้นเดือนพฤษภาคมจะมีพระราชพิธีสำคัญ ก็ทำให้มั่นใจกันยิ่งขึ้นว่า ประเทศไทยจะมีเลือกตั้ง

โดยเฉพาะเมื่อบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกาศว่า จะมีการเลือกตั้งก่อนแล้วจึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากที่เคยประกาศไว้ว่า จะมีพระราชพิธีก่อนเลือกตั้ง

“ยังไงก็ต้องเลือกตั้งก่อนอยู่แล้วมั้ง แต่ถ้าไม่สงบล่ะ…” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว เมื่อถูกถามย้ำว่า เลือกตั้งก่อนมีพระราชพิธี ใช่หรือไม่

แต่ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังห่วงว่า ทั้งการเลือกตั้งและพระราชพิธีสำคัญจะมาพอดีกัน แล้วจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาขอร้องให้ทุกฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อเตรียมเลือกตั้ง และการมีพระราชพิธีสำคัญของประเทศ

“การเลือกตั้ง เราจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยอย่างไร เป็นเรื่องของ กกต. แต่ทั้งหมดต้องเข้าใจว่า มีหลายกลไก นายกฯ คนเดียวไม่ใช่จะสั่งการได้ทั้งหมด บางอย่างไม่ควรสั่ง บางอย่างไม่ควรไปยุ่ง แม้จะมีอำนาจก็ตาม” พล.อ.ประยุทธ์เปรย

แต่ตามไทม์ไลน์ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แถลงก่อนหน้านี้คือ 8 พฤษภาคม 2562 หมายกำหนดการ เสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภา และมิถุนายน 2562 รัฐบาลใหม่เข้าถวายสัตย์ฯ

จึงไม่แปลกที่ตอนนี้การเมืองจะเข้มข้น มีการเตรียมฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลกันแล้ว โดยเฉพาะในฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ และพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยเป็นการเตรียมจับขั้วเอาไว้ก่อน แต่รอดูผลการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ก่อนว่า พรรคไหนจะได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง

 

นี่จึงเป็นที่มาของกระแสข่าวที่พุ่งตรงที่ไปบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. และพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ที่เจรจากับพรรคการเมือง เพื่อต่อรองให้มาร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ด้วยการแลกกับเก้าอี้รัฐมนตรี

โดยเฉพาะการเจรจากับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และยื่นเก้าอี้ รมต.กระทรวงเกรดเอเป็นการแลกเปลี่ยน

จน พล.อ.ประวิตรต้องปฏิเสธว่าไม่จริง ไม่เคยเจอ ไม่เคยพูดคุยกับนายเฉลิมชัย หรือแกนนำพรรคประชาธิปัตย์คนใด แม้จะยอมรับว่า รู้จักกันกับนายเฉลิมชัย และคนในพรรค ปชป. เพราะตนเองเคยร่วมรัฐบาลมา 3 ปี

“แต่ผมไม่มีเบอร์เขา และเขาก็ไม่มีเบอร์ผม” บิ๊กป้อมกำปั้นทุบดิน พร้อมมองว่า เป็นข่าวที่ปล่อยออกมาเพื่อดิสเครดิตตนเอง เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคไหน

แต่กระนั้นก็ตาม แม้ พล.อ.ประวิตรจะปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกเรียกว่าพรรคทหาร พรรค คสช. และตนเองไม่เล่นการเมืองก็ตาม แต่ พล.อ.ประวิตรก็หลุดปากเรียกว่า “พรรคเรา” มาหลายครั้ง

อีกทั้งรู้กันดีว่า พล.อ.ประวิตรก็ต้องทำหน้าที่พี่ชายที่แสนดีอีกครั้ง ในการทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

เพราะในอดีต  ในฐานะพี่ใหญ่ผู้มากบารมี เคยเจรจาในค่ายทหารจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ มาแล้ว ก่อนที่ตัวเองจะถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคในเวลานั้น นำกุหลาบแดงช่อโตมาเชิญให้เป็น รมว.กลาโหม

“ผมไม่ได้เป็นมือประสานสิบทิศ” พล.อ.ประวิตรปฏิเสธบทบาทของตนเองในการเตรียมจับขั้วตั้งรัฐบาล

“ยังไม่ได้เลือกตั้ง ยังไม่รู้เลยว่าใครจะเป็นนายกฯ แล้วเขาจะให้ผมช่วยไหม แม้จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม ต้องรอให้ถึงเวลาก่อน”

พล.อ.ประวิตรระบุ

 

แต่กระแสข่าวนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกโฟกัสทันทีว่า หลังเลือกตั้ง จะร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ เพราะถึงอย่างไรก็เคยสนับสนุนกันมา ตอนก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเล่นเกมต่อรองหนักขึ้น ด้วยการไม่ไปร่วมหารือกับแม่น้ำ 5 สาย กับพรรคการเมือง 7 ธันวาคม 2561 ที่สโมสร ทบ. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรร่วมด้วย

โดยมีการเล่นแผนรุกเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากการเป็นนายกฯ เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในระยะนี้ ที่ ครม.อนุมัติมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือประชาชน เติมเงินบัตรคนจน แจกเงิน และให้ของขวัญปีใหม่ จนถูกมองว่าเป็นการหาเสียงล่วงหน้า

แม้ตามข้อกฎหมายจะไม่ได้กำหนดให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกก็ตาม ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงสมัครสมาชิกพรรคใด แต่แค่เพราะพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นนายกฯ และเป็นพรรคที่เชื่อกันว่า คสช.ตั้งขึ้นมารองรับการสืบทอดอำนาจด้วยนั่นเอง

โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องลาออก เพราะที่ผ่านมา สมัยรัฐบาลรักษาการ ก่อนเลือกตั้ง นายกฯ ก็ไม่ต้องลาออก

 

ท่ามกลางการจับตามองว่า หลังพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคแนวร่วม และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ร่วมหารือ 7 ธันวาคม แล้วจะเกิดความวุ่นวายใดตามมาหรือไม่

เพราะมีข่าวสะพัดในแวดวงการเมืองว่า การเมืองหลังการเลือกตั้งอาจไปจบลงที่การมี “รัฐบาลพิเศษ” และ “นายกฯ พิเศษ” ในสถานการณ์พิเศษ เกิดขึ้นก็เป็นได้

โดยจะมีอดีตนายทหารคนสำคัญอย่างน้อย 2 คนถูกจับตามองว่ามีความเหมาะสม

แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รวมทั้ง คสช. สามารถดูแลสถานการณ์ได้ โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะคัมแบ๊กมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ก็มีสูง โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประวิตรเตรียมการทุกอย่างไว้แล้ว

เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.อ.ประวิตรถูกพาดพิงทางการเมือง โดยเฉพาะอยู่เบื้องหลัง “พลังดูด” ของพรรคพลังประชารัฐ จนตกเป็นข่าวว่า มีนักการเมืองเข้าไปพบปะเจรจากับ พล.อ.ประวิตรอยู่เนืองๆ

อันเป็นภารกิจสำคัญของพี่ใหญ่ที่จะช่วยกรุยทาง เคลียร์ทาง เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์น้องรักน้องเล็ก เป็นนายกฯ อีกสมัย

ปกติที่บ้าน ร.1 รอ. หรือมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ ของ พล.อ.ประวิตร จะคลาคล่ำไปด้วยทหาร ตำรวจ และข้าราชการ รวมทั้งภาคเอกชน ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ หรือแม้แต่เสาร์-อาทิตย์ หาก พล.อ.ประวิตรเข้ามา

บารมี พล.อ.ประวิตรมากแค่ไหน ผู้คนก็แน่นบ้านมากเท่านั้น จนต้องมีการทำบัตรประจำตัวมูลนิธิ ที่ปัจจุบัน เลขรันนิ่งนัมเบอร์ เป็นหลักหลายร้อย

ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร ที่ส่วนใหญ่จะไปนอนบ้านส่วนตัวที่มีนบุรี จะมาถึงบ้าน ร.1 รอ. นี้กี่โมงกี่ยาม ที่ปกติจะราวๆ ตี 5 ครึ่ง แต่ก็ยังมีคนมารอต้อนรับ ยืนแถวรับเต็มบ้าน เพื่อร่วมรับประทานอาหารเช้ากับ พล.อ.ประวิตร

แต่เป็นที่รู้กันว่า ทุกวันศุกร์เช้า จะเป็นวันที่ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ และตำรวจ มาทานอาหารเช้ากับ พล.อ.ประวิตร ที่บ้าน ร.1 รอ. เพื่อพูดคุยหารือวงเล็ก หรือเป็นการนอกรอบในเรื่องต่างๆ มาตลอดยุค คสช.

เป็นทั้งโอกาสที่ พล.อ.ประวิตรจะถามไถ่หรือสั่งการเงียบๆ ลับๆ กับ ผบ.เหล่าทัพ ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ ผบ.เหล่าทัพจะได้นำเรียน หรือร้องขอในเรื่องต่างๆ ที่เป็นความต้องการ หรือรายงานความคืบหน้าจากที่ได้สั่งการ

โดยเฉพาะในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร ก็จะมีการนัดแนะหารือกันทุกเช้าวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่ ผบ.เหล่าทัพต้องมาทานข้าวเช้ากับ พล.อ.ประวิตร ที่เป็นประธานบอร์ดกลาโหม ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายอยู่แล้ว

 

แต่ตอนนี้ข่าวว่า ทุกวันพฤหัสฯ บ้าน ร.1 รอ. ของ พล.อ.ประวิตร จะเป็นสถานที่ต้อนรับอาคันตุกะในสายการเมือง ที่จะมาทานข้าวและหารือเรื่องต่างๆ

โดยเป็นที่ร่ำลือในหมู่นักการเมืองว่า มีนักการเมืองในซีกพรรคพลังประชารัฐหลายคนเลยทีเดียว จนมีการยกให้ “ลุงป้อม” เป็นประหนึ่ง “เลขาธิการพรรคตัวจริง” เลยทีเดียว ส่วนหัวหน้าพรรคเงาคือ พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวจากนักการเมืองว่า มี ส.ส.อีสานมาพบหารือกับ พล.อ.ประวิตรที่บ้านป่ารอยต่อฯ แห่งนี้มาหลายครั้ง จนทำให้ พล.อ.ประวิตรตกเป็นข่าว และถูกจับตามองว่าเป็นผู้จัดการรัฐบาล

โดยเฉพาะการประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่ออีก 4 ปีหลังการเลือกตั้ง เพื่อสานต่องานต่างๆ ให้จบ

จนถูกจับจ้องว่า พล.อ.ประวิตรพี่ใหญ่คนนี้ มีภารกิจสำคัญในการเคลียร์ทางให้ พล.อ.ประยุทธ์น้องเล็กกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย

ส่วนตัว พล.อ.ประวิตรเองก็แบ่งรับแย่งสู้ว่า จะวางมือทางการเมือง หรือว่าพร้อมที่จะกลับมาช่วยงานน้องเล็กเช่นเดิม

“ผมไม่เล่นการเมือง ผมจะอยู่เฉยๆ ก็เหมือนครั้งก่อน เขาก็มาเชิญผมเป็น รมว.กลาโหมเอง” พล.อ.ประวิตรกล่าว โดยหมายถึงตอนที่นายสุเทพมาเชิญไปเป็น รมว.กลาโหม หลังการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารสำเร็จนั่นเอง

 

ปกติแล้ว พล.อ.ประวิตรจะเป็นคนที่ไม่ชอบทานข้าวที่อื่น ยกเว้นจำเป็น ทั้งมื้อเช้า กลางวัน และเย็น โดยเมื่อเสร็จประชุม ก็จะกลับมาทานข้าวที่บ้าน ร.1 รอ. เพราะจะมีอาหารโปรดที่ทีมงานเตรียมไว้แบบรู้ใจ

เพราะหากต้องไปทานข้าวนอกบ้าน พล.อ.ประวิตรจะต้องให้ทีมงานเตรียมปิ่นโตของโปรดไปด้วย เช่น จับฉ่าย หมูพะโล้  ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ

ว่ากันว่า มื้อกลางวันจะเป็นมื้อที่ผู้คนมาเยอะที่สุด โดยคนที่มาล้วนมีวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น ทั้งมาขอ หรือมารายงาน หรือเอาหน้ามาให้เห็นเฉยๆ

โดยขาประจำทุกมื้อและทุกวันก็คือ เพื่อนเตรียมทหาร 6 ที่เป็นทีมงานที่ปรึกษา และคนที่ทำงานในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ

บ้านเป็นที่แห่งความสุขที่สุด จะพูดอะไร กินอะไร หรือสูบไปป์ ก็ทำได้แบบไม่ต้องกลัวใครมาส่อง

 

ท่ามกลางการถูกจับตามองมายาวนานว่า บ้านพักใน ร.1 รอ. ของทั้ง 3 ป. จะได้รับผลกระทบจากการปรับหน่วยปรับพื้นที่ของ ร.1 พัน 4 รอ. ที่จะเริ่มในต้นปีหน้าหรือไม่

แต่มีรายงานว่า บ้านของ พล.อ.ประวิตร และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่ร้อง และ พล.อ.ประยุทธ์ น้องเล็กที่อยู่ไม่ห่างกันนัก ในฝั่งปีกขวาของ ร.1 รอ. ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะมีแต่บ้านพักในฝั่งปีกซ้ายเท่านั้น

จึงยังทำให้ ร.1 รอ. ยังคงเป็นเสมือนวอร์รูม หรือทำเนียบรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการของพี่น้อง 3 ป.ต่อไป เพราะไม่ได้เป็นแค่ที่พบปะหารือของกลุ่มต่างๆ แต่ยังเป็นที่ประชุมวงเล็กนอกรอบในการทำงานต่างๆ โดยเฉพาะของ พล.อ.ประวิตรด้วย

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์จะไม่รับแขกที่บ้าน ยกเว้นเครือญาติ หรือคนพิเศษจริงๆ เพราะกำหนดให้บ้านเป็นที่ปลอดการเมือง จะเป็นพื้นที่และเวลาของครอบครัวเท่านั้น

ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ใช้บ้าน ร.1 รอ. เป็นที่พัก รอการประชุมระหว่างวัน หรือนัดพบแขกคนสำคัญ หรือนัดหารือสำคัญวงเล็ก เพราะ พล.อ.อนุพงษ์เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบนั่งทำงานที่มหาดไทยนานๆ เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ที่ก็ไม่นั่งทำงานที่กลาโหม หรือทำเนียบ แต่จะเข้าไปเมื่อมีงาน มีภารกิจ รับแขก หรือประชุมเท่านั้น เมื่อเสร็จแล้วก็กลับเข้า ร.1 รอ.

จึงยังคงทำให้ ร.1 รอ. เป็นศูนย์กลางอำนาจของ คสช. นอกเหนือจากทำเนียบรัฐบาล แต่ทว่าที่นี่เป็นเสมือนทำเนียบน้อย เพราะเป็นสถานที่ทำงานของ รมต.ทหาร แกนนำ คสช.นั่นเอง

 

ท่ามกลางการจับตามองว่า หลังการเลือกตั้ง ถนนทุกสายจะมุ่งสู่ปีกขวาของ ร.1 รอ. โดยมีเป้าหมายที่บ้านป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตรที่เคยสร้างประวัติศาสตร์จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารมาแล้ว

เพราะมีรั้วรอบขอบชิด นักข่าวจะแอบเข้ามาส่องความเคลื่อนไหวก็ไม่ได้

แต่หากไปที่บ้านส่วนตัวย่านมีนบุรีของ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่อาจพ้นสายตาของเพื่อนบ้านใกล้เคียง

จากนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องทั้งรักษาและเพิ่มคะแนนนิยม รักษาภาพพจน์ ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด

แต่ภาระอันหนักอึ้งไปอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร จะถูกจับตามองเขม็ง ในฐานะพี่ใหญ่ผู้เปี่ยมบารมี ที่จะทำหน้าที่ทั้ง “มิสเตอร์ดีล” และมือประสานสิบทิศ และผู้จัดการรัฐบาล

ว่า ครั้งนี้จะเนรมิตเก้าอี้นายกฯ ให้ “บิ๊กตู่” ได้อีกคนหรือไม่