ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 ธันวาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
การศึกษา
‘ยูเนสโก’ ขึ้นบัญชี ‘โขนไทย’
มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้!!
นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปีสำหรับคนไทย เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2561 ที่เมืองพอร์ตหลุยส์ สาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เข้าร่วม 181 ประเทศ
ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและประกาศให้ขึ้นบัญชีการแสดงโขนในประเทศไทย “Khon masked dance drama in Thailand” ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ!!
ภายหลังยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ละคอนโขน” Lkhon Khoal Wat Svay Andet ของประเทศกัมพูชา ในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ต้องการสงวนรักษาโดยเร่งด่วน ในการประชุมเดียวกันนี้
โดยประเทศไทยได้ผลักดัน “โขนไทย” และนำเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ให้ยูเนสโกพิจารณาตั้งแต่ปี 2561 หลังจากไทยเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559
โดยมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559 รองรับการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และมีคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธาน
และมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำเอกสารในการนำเสนอโขนไทยต่อยูเนสโก
นอกจากนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนาการแสดงโขนในทุกมิติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายเครื่องประดับโขนชุดใหม่ พัฒนาการแต่งหน้าให้งดงาม ดึงดูดความสนใจ พัฒนารูปแบบและเทคนิคการแสดง ฉากเวที แสง สี เสียง จนเป็นที่มาของ “โขนพระราชทาน”
บวกกับองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น จึงทำให้โขนไทยยิ่งใหญ่ อลังการ สร้างความตื่นตาตื่นใจ และสร้างความประทับใจแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติมาแล้วทั่วโลก
ทำให้ยูเนสโกประกาศให้ขึ้นบัญชีการแสดงโขนไทย ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ!!
สําหรับ “โขน” ถือเป็นนาฏศิลป์ และศิลปะชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยรวมเอาศาสตร์และศิลป์หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม พิธีกรรม และงานช่างฝีมือต่างๆ
ทั้งนี้ โขนถือเป็นมหรสพที่บรรพชนไทยสร้างสรรค์ขึ้น และยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบันมีการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนโขนในสถาบันการศึกษาหลายแห่งและหลายระดับ
ดังนั้น คุณค่าของโขนจึงไม่ใช่แค่เพียงศิลปะการแสดง แต่ยังผสานและสะท้อนถึงวิถีแห่งความเป็นไทยไว้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ โขนยังถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกันในอาเซียน ซึ่งปรากฏในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และไทย โดยรับเอาวัฒนธรรมมาจากประเทศอินเดีย และดัดแปลงจากวรรณกรรมเรื่องรามายณะ มีการพัฒนารูปแบบของการแสดงโขนในแบบฉบับของตนเอง
จนมีอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ…
อย่างไรก็ตาม เพื่อเฉลิมฉลองโขนไทยที่ได้รับการประกาศบัญชีการแสดงโขนไทย ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่ผ่านมา สวธ.ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ได้เตรียมแผนงานและกิจกรรมสำหรับเฉลิมฉลองโขนไทย ภายหลังได้รับการประกาศขึ้นบัญชีอย่างเป็นทางการตลอดปี 2562
อาทิ
- จัดแสดงโขนรอบพิเศษ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” วันที่ 3-4 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- จัดสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ ตอน “รามาวตาร” เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ และจัดเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสาธิตงานช่างฝีมือโขน สาธิตการแสดงโขน การเสวนาความรู้คุณค่าของโขน การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ จัดพิมพ์หนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับโขนฉบับเยาวชน จัดทำสารคดีโขน นิทรรศการเผยแพร่ความรู้ รวมทั้งการจัดทำคลังข้อมูลโขนในรูปแบบดิจิตอล
- จัดกิจกรรมสร้างความภาคภูมิใจด้วยการยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับบุคคล องค์กรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการโขน
และ 4. จัดงานมหกรรมการแสดงโขน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนาการแสดงโขน เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น ภายหลังยูเนสโกได้ประกาศขึ้นบัญชีการแสดงโขนไทยในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว ขณะนี้คณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้เตรียมเสนอมรดกภูมิปัญญาของไทยเพื่อเสนอต่อยูเนสโก เพื่อขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติในปีต่อไป ได้แก่ “นวดแผนไทย”
ซึ่งเดิมในการประชุมยูเนสโกครั้งที่ 13 ที่ผ่านมา ไทยได้เสนอให้คณะกรรมการพิจารณามรดกทางภูมิปัญญาใน 2 รายการพร้อมๆ กัน คือ โขนไทย และการนวดไทย แต่ที่ประชุมได้ให้เลือกว่าจะประกาศขึ้นทะเบียนเรื่องใดก่อน
ไทยจึงตัดสินใจเลือกขึ้นทะเบียนโขนไทยก่อน…
โดยปีต่อไปตั้งใจจะเสนอการนวดไทยเพื่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้…
สำหรับการเสนอ “การนวดไทย” นั้น ทางไทยได้เตรียมการที่จะเสนอเป็นภาพรวมของการนวดไทย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการนวดไทย การนวดไทยต้นตำรับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ที่มีตำรามาจากฤๅษีดัดตน รวมถึงจารึกวัดโพธิ์ ที่รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้น เนื่องจากนวดไทยเป็นเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญา และสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
รวมถึงการนวดไทยยังเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมาประเทศไทย ที่ต้องมาสัมผัสการนวดไทยที่วัดโพธิ์ ที่สำคัญ คนไทยยังได้นำองค์ความรู้นวดไทยไปต่อยอดเปิดกิจการร้านนวดไทยในหลายประเทศทั่วโลก
วธ.จึงเห็นว่าการนวดไทยควรได้รับการสืบสานให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ และเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อไป!!
นอกจากนี้ ไทยยังมีบัญชีมรดกภูมิปัญญาของไทยที่เตรียมไว้ และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดทำเอกสาร เพื่อเตรียมเสนอต่อยูเนสโก ได้แก่ “มโนรา” และอาหาร เช่น “ต้มยำกุ้ง” หรือ “อาหารที่เป็นสำรับ” เป็นต้น
ต้องลุ้นกันว่าการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกในครั้งหน้า…
บัญชีมรดกภูมิปัญญาของไทยรายการใดจะได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก!!