ในประเทศ / สาหัส เสียงร้องจากแผ่นดิน

ในประเทศ

สาหัส

เสียงร้องจากแผ่นดิน

 

หลังจากเดิน “คารวะแผ่นดิน”

และพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภาคใต้ และภาคกลางบางส่วน

มาระยะเวลาหนึ่ง

ทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการรณรงค์หาสมาชิกพรรค พบ “เรื่องที่ต้องรายงานต่อสังคม”

ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2561 นายสุเทพ เคียงข้างด้วยผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคนอื่นๆ อาทิ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายสำราญ รอดเพชร นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ออกมาร่วมกันแถลงข่าว

อันเป็นเหมือนการแสดงจุดยืนพรรค รปช. อย่างเป็นทางการ

และถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงออกมาพร้อมหน้าพร้อมตากันเช่นนี้

 

นายสุเทพกล่าวว่า จากการเดินคารวะแผ่นดินและได้พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ พบว่ามีเรื่องที่ต้องรายงานต่อสังคม

นั่นคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ

ซึ่งชาว กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าครอบครัวที่ทำงานคนเดียว มีภาระต้องดูแลทั้งครอบครัว ปรากฏว่า รายได้ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต

ส่วนบรรดาพ่อค้าแม่ค้าแจ้งว่าเศรษฐกิจในระดับล่างไม่ดี ค้าขายตกต่ำ

ซึ่งหากสภาพแบบนี้ยังดำรงคงอยู่ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้

ส่วนต่างจังหวัดนั้น

ประสบปัญหาหนักกว่าคน กทม.

เรียกว่า “สาหัส”

เพราะคนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ได้รับผลกระทบมากจากภาวะพืชผลตกต่ำอย่างต่อเนื่องหลายปี

รายได้แต่ละครอบครัวลดลงจนกระทบถึงความมั่นคงในเศรษฐกิจครอบครัว

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มะพร้าว เป็นต้น ตกต่ำ เกษตรกรขายไม่คุ้มทุน

ดังนั้น จึงทำให้ครอบครัวเกษตรกรจนลง

นอกจากนี้ ครอบครัวทำประมง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ประชาคมยุโรปกดดันให้ประเทศไทยออกระเบียบมาตรการต่างๆ ทำให้ชาวประมงจำนวนมากไม่สามารถประกอบกิจการได้ต่อไป

ชาวประมงจำนวนมากต้องหยุดประมง ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและเจ้าของกิจการ ทำให้กระทบจำนวนเงินหมุนเวียนในพื้นที่

เกษตรกรจำนวนเกือบครึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่ในต่างจังหวัด ทำให้เสียโอกาสในการเยียวยาจากรัฐ เช่น สวนยาง ไม่สามารถทำให้คนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือ และอีกส่วนคือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ

นี่คือปัญหาที่รอการแก้ไข

กำลังซื้อตกต่ำจนถึงขีดสุด พ่อค้าแม่ค้าขายไม่ได้ ยอดขายตกต่ำกว่าครึ่ง

 

นายสุเทพสรุปตอนท้ายว่า เศรษฐกิจระดับล่างของไทยไม่ดีอย่างมาก เรียกว่าซบเซา

วันนี้พ่อค้าแม่ค้าทุกจังหวัด ทุกอำเภอเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเรื่องรายได้ของประชาชนข้างล่าง คือรายได้ของเกษตรกร หรือผู้มีรายได้ไม่พอเพียงต่อการดำรงชีวิต

เพราะหากไม่แก้ปัญหาจะทำให้เศรษฐกิจฟุบ

การนำเรื่องนี้มากราบเรียน เพื่อจะให้สังคมได้ตระหนักในความจริงที่เป็นอยู่ในประเทศไทย

พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะที่ประชาชนเดือดร้อนแล้ว

จึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ทางการเมืองระดมกำลังแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง

ในฐานะ รปช. เป็นพรรคการเมืองที่แท้จริงของประชาชน

พรรคจะอาสารับเอาปัญหาความทุกข์ไปกำหนดเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังให้ได้ผล

ไม่ว่าจะทุ่มเทงบประมาณแผ่นดินแค่ไหน

ไม่เช่นนั้นประเทศจะมีอันตราย

พรรคจะผนึกกำลังพี่น้องประชาชนร่วมกันรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

“ไม่ได้ต้องการทำให้ตระหนกตกใจ หรือตำหนิใคร แต่ต้องการให้สังคมตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ เราจะทุ่มเททำงานเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจมหภาคอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้น้ำหนักในการพัฒนาในเศรษฐกิจระดับจุลภาค ครอบครัว และท้องถิ่น ทั้งนี้ รปช.จะรับภาระดูแลแก้ไขปัญหาทั้งคนต่างจังหวัดและคน กทม. โดยจะรณรงค์ยกระดับเป็นวาระของประเทศ เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง” นายสุเทพระบุ

 

แม้การแถลงข่าวครั้งนี้

นายสุเทพจะไม่ได้หลั่งน้ำตา เหมือนวันที่ยอม “เสียสัตย์” กลับมาเล่นการเมือง

แต่คำว่า “สาหัส” จากปากของแกนนำ รปช. ย่อมเป็นเรื่องสะเทือนใจอย่างสูง

สะเทือนใจต่อชะตากรรมของประชาชน

นี่ย่อมเป็นภาพอันแตกต่าง หลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่นายสุเทพและมวลหมู่มหาประชาชน มากด้วยความหวัง

ความหวังที่ประเทศจะดีขึ้น จากการ “ปฏิรูป” ภายใต้การนำของคณะรัฐประหาร

นี่จึงเป็นเหตุผลที่นายสุเทพประกาศสนับสนุน “รัฐบาลของเรา” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี อย่างเต็มที่

ทั้งในการทำงาน และทั้งการปูทางที่จะบริหารงานต่อไป

กระทั่งนายสุเทพยอมเสียสัตย์ ย้อนกลับมาเล่นการเมือง ด้วยการตั้งพรรค รปช.

เพื่อหนุน พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ให้สืบอำนาจต่อไป

 

แต่ที่สุด เมื่อนายสุเทพและแกนนำพรรคออกเดินเพื่อคารวะแผ่นดิน และรณรงค์หาสมาชิกพรรค

สิ่งที่ก้องสองหูของนายสุเทพ ก็คือคำว่า “สาหัส”

เศรษฐกิจอันสาหัสของประชาชนชั้นล่าง

ซึ่งนี่เป็นภาพที่แตกต่างจากภาพที่รัฐบาลและทีมเศรษฐกิจบอกกล่าวกับคนทั้งประเทศว่า เศรษฐกิจประเทศฟื้นแล้ว

ฟื้นหลังจากอัดเงินมากมายมหาศาลลงสู่ภาคเกษตรและคนจน

บัตรสวัสดิการคนจน เป็นประหนึ่งบัตรที่นำพาคนยากจนก้าวไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข

ผลงานที่รัฐบาลบอกว่า เป็นผลงานโบแดงของตน

ไม่ว่าเรื่องที่ทำกิน ที่สามารถคืนที่ดินทำกินให้ชาวบ้านได้จำนวนมาก ช่วยไถ่ถอนจากสินเชื่อนอกระบบ หลายพันหลายหมื่นราย

ไม่ว่าเรื่องประมง ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในการแก้ไขปัญหา

แต่สิ่งที่นายสุเทพและ รปช.ได้ยิน

กลับเป็นสิ่งตรงข้าม

มิใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการจมอยู่ในปัญหา

จำเป็นต้องยกระดับการช่วยเหลือ ให้เป็นถึงขนาด “วาระแห่งชาติ”

 

นี่ย่อมเป็นภาพคนละภาพกับสิ่งที่รัฐบาลและ คสช.บอกกับประชาชน

รวมทั้ง “ภาพอันสวยงาม” นี้ถูกนำไปเป็นแนวทางในการจัดตั้งพรรคการเมือง ที่มีทีมเศรษฐกิจทั้งชุดของรัฐบาลเข้าไปเป็นแกนนำในการจัดตั้ง

และกำลังขับเคลื่อนกันอย่างคึกคักในนามพรรคพลังประชารัฐ

โดยมีเป้าหมายที่จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ซึ่งก็ไฟเขียวโร่ เพียงแต่รอเวลาอันเหมาะสมเท่านั้น

ดังนั้น การที่นายสุเทพและแกนนำ รปช.ออกมาแถลง “ภาพอีกด้าน”

ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจ

เพราะว่าที่จริง นี่อาจมิได้เป็นเรื่องใหม่

ด้วยว่า พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ ต่างเคยสะท้อนปัญหา “เศรษฐกิจ” มาอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ถูกตอบโต้ว่า เป็นเกมการเมืองของ “ฝ่ายค้าน” หรือพรรคที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งมีท่าที “คัดค้าน” เช่นนี้เป็นปกติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ปัญหาเศรษฐกิจ” หลุดออกจากปากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ย่อมเป็นกรณีพิเศษ

พิเศษเพราะว่า นายสุเทพและ รปช. ถือได้ว่าอยู่ในเครือข่ายสำคัญของพรรคตระกูล “พลัง”

เห็นชอบกับ “รัฐประหาร”

สนับสนุน “คสช.”

ไม่ขัดข้องกับการสืบทอดอำนาจ

การมีเสียงที่ “ต่าง” ไปจากเดิม ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ปกติ

 

อาจจะมีการมองว่า “สิ่งที่ต่างไป” มีที่มาที่ไป

ด้วยต้องไม่ลืมว่า ในระยะหลัง รปช.และนายสุเทพถูกมองว่า มี “ระยะห่าง” จากฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบัน

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพรรคพลังประชารัฐแล้วเป็นคนละเรื่อง เพราะพรรคนี้กำลังขับเคลื่อนไปด้วยความคึกคักในเชิงปริมาณ

มีรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. นักการเมืองทั้งปัจจุบันและในอดีต แห่เข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก

จนถูกมองว่า จะเป็นแกนนำสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล

ต่างกับ รปช. ที่ดูเหมือนจะเรียวลงๆ

ในเชิงระบบพรรค บทบาทของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ในฐานะหัวหน้าพรรค แทบจะหายสาบสูญ

เหลือเพียงนายสุเทพที่เหน็ดเหนื่อยกับการเดินคารวะแผ่นดิน ซึ่งไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว คือมิได้มีแต่สรรเสริญเยินยอ หรือเป็นพวก

หากแต่มีฝ่ายต้าน มีฝ่ายคืนนกหวีด มาแสดงความไม่เป็นหนึ่งเดียวกันอีกแล้ว

มวลมหาประชาชน เป็นคำในอดีต อย่างรวดเร็ว

การเดินคารวะแผ่นดิน จึงอยู่บนบ่าของนายสุเทพ ผู้ทนฟ้าทนฝนเท่านั้น

ภาวะที่ปลุกไม่ขึ้นดังกล่าว ทำให้ รปช.เงียบงันลง และไม่อยู่ในสายตาของฝ่ายที่มีอำนาจซึ่งหวังการสืบทอดอีกต่อไป

จึงอาจเป็นภาวะอันโดดเดี่ยว และนี่อาจทำให้นายสุเทพจำเป็นต้อง “มีเสียง” และมีตัวตน

คำแถลงเรื่องเศรษฐกิจที่สาหัส อันเป็นผลมาจากการเดินคารวะแผ่นดิน จึงถูกนำเสนอขึ้นมา

ซึ่งแม้ดูเหมือนว่า จะไม่ได้ “ฮือฮา” อย่างที่หวังนัก

แต่เสียงร้องจากแผ่นดินระดับ “สาหัส” จากคนกันเองนั้น

ก็ช่วยสะท้อนอะไรบางอย่างของ คสช.และรัฐบาล ได้อย่างน่าสนใจ