วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การเมืองในสุสานหมิง (ตอน2)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
the Ming Dynasty Tombs in Changping District, on the outskirt of Beijing. AFP PHOTO / STR

ช่องทางลับที่เข้าสู่สุสานนี้ถูกสร้างเป็นสามเหลี่ยมรูปตัว V คว่ำ โดยแฝงตัวอยู่ในผนังกำแพงที่ก่อด้วยก้อนอิฐขนาดใหญ่ ช่างที่สร้างทำเก่งมาก คือก่ออิฐจนกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับตัวผนังกำแพงอย่างแนบเนียน และเฉพาะช่องทางลับสามเหลี่ยมตัวอิฐจะถูกตัดแต่งให้เข้ารูปจนดูเหมือนกับอิฐธรรมดาก้อนอื่นๆ กระทั่งหากมองแบบผ่านๆ ก็จะไม่มีทางที่จะเห็นช่องทางลับนี้ได้

แต่ด้วยประสบการณ์สูงของเซี่ยไน่ที่แนะนำให้คณะขุดค้นลองหาดู ในที่สุดพวกเขาก็มองจนออก หาจนพบ

และเนื่องจากช่องทางลับมีรูปร่างเป็นรูปตัว V คว่ำจนดูคล้ายกับเพชรที่มีขนาดใหญ่ ต่อมาคณะขุดค้นจึงเรียกช่องทางนี้ว่า กำแพงเพชร

จากนั้นคณะขุดค้นก็ค่อยแซะช่องทางลับนี้อย่างระมัดระวังที่สุดจนสำเร็จ และทำให้คณะขุดค้นเข้าไปยังตัวสุสานได้ในที่สุด

เมื่อเข้าไปได้แล้วการสำรวจตรวจสอบก็เริ่มขึ้น แล้วก็พบปัญหาใหม่อีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือว่า สุสานนี้มีบานประตูหินอ่อนขนาดใหญ่สำหรับเข้าสู่สุสานปิดอยู่ ประตูนี้เป็นบานคู่ แต่ละบานหนาประมาณ 40 เซนติเมตร สูง 3.3 เมตร และกว้าง 1.7 เมตร ดังนั้น หากรวมความกว้างของทั้งสองบานแล้วจะเท่ากับ 3.4 เมตร ความกว้างขนาดนี้ทำให้จินตนาการได้ว่า ระหว่างราชพิธีศพนั้นจะอลังการเพียงใด

แต่ที่ว่าเป็นปัญหาคือ ด้านหน้าประตูมีแท่งหินขนาดใหญ่ค้ำยันประตูเอาไว้ แท่งหินนี้ถูกขัดด้วยกลไกหินที่อยู่ติดกับบานประตูอีกชั้นหนึ่ง กลไกหินนี้จะขัดแท่งหินที่ค้ำประตูเอาไว้แน่นจนขยับไม่ได้ นอกจากจะระเบิดหรือทุบทำลายสถานเดียว แต่นั่นก็อาจสร้างความเสียหายให้แก่สุสานได้

จากกลไกนี้เองที่ว่าเมื่อเจาะช่องทางลับ “กำแพงเพชร” เข้าไปด้านในสุสานได้แล้ว แต่คนที่อยู่ด้านในก็ไม่สามารถเปิดประตูออกมาด้านนอกได้ เว้นแต่จะแก้ปัญหากลไกที่ว่านี้ได้เท่านั้น

แต่ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคณะขุดค้น พวกเขาพบในเวลาต่อมาว่า ด้านในของประตูมีกุญแจขนาดใหญ่สำหรับไข กุญแจนี้ไม่ใช่ไขแล้วประตูจะเปิดออกดังที่เราไขกุญแจบ้านหรือสำนักงาน หากแต่เมื่อไขแล้ว ตัวกุญแจจะไปดุนให้กลไกหินที่ขัดแท่งหินค้ำประตูให้แยกจากกัน จากนั้นแท่งหินก็จะแยกตัวออกจากประตูโดยอัตโนมัติ และทำให้เปิดประตูได้ในที่สุด

จะเห็นได้ว่า ทั้งช่องทางลับกำแพงเพชรและกลไกที่ปิดประตูนี้นับเป็นภูมิปัญญาของคนยุคนั้นโดยแท้

จากการสำรวจสุสานด้านใน คณะนักโบราณคดีไม่เพียงจะพบสมบัติที่สูงค่ามากมายหลายรายการเท่านั้น หากยังพบโลงพระศพที่มีขนาดใหญ่ของจักรพรรดิอีกด้วย โลงนี้ถูกขนาบข้างซ้ายขวาด้วยโลงพระศพของมเหสีอีกสองพระองค์และมีขนาดเล็กกว่าโลงของจักรพรรดิ

จากโลงที่มีขนาดใหญ่นี้อย่าเพิ่งเข้าใจว่าพอเปิดโลงแล้วก็จะพบพระศพทันที หากข้างในยังมีโลงขนาดเล็กลงมาอีกสองโลง และโลงชั้นในสุดก็คือ พระศพของจักรพรรดิ และเช่นเดียวกันที่ภายในก็มีสิ่งของมีค่าหลายรายการ

โลงพระศพนี้สร้างด้วยไม้หายากชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า หนานมู่ ไม้ชนิดนี้พบได้ในมณฑลหูหนาน หูเป่ย อวิ๋นหนาน (ยูนนาน) กุ้ยโจว และซื่อชวน (เสฉวน) หนานมู่เป็นไม้ที่มีรูปร่างเฉพาะตัว คือเป็นไม้ยืนต้นตลอดปี มีใบเป็นรูปกลมรี ด้านหน้าใบจะเกลี้ยงเป็นมัน ด้านหลังจะมีขนอ่อน จัดเป็นไม้ที่มีผลและมีน้ำมาก ตัวผลมีสีน้ำเงินอมดำ

หนานมู่แม้จะขึ้นอยู่ในมณฑลที่ว่า แต่ก็ไม่ใช่ไม้ที่มีมาก เพราะเวลาขึ้นจะไม่ขึ้นเป็นกลุ่มไม้เดียวกันดังไม้อื่นๆ หากแต่ขึ้นกระจัดกระจายกันไป และมักขึ้นในที่ที่เป็นหน้าผาสูงชัน หรือไม่ก็ในป่าดงดิบที่ยากแก่การเข้าถึง

ด้วยเหตุนี้ การค้นหาไม้หนานมู่จึงเต็มไปด้วยอันตรายจากงูพิษ สัตว์ป่าที่ดุร้าย และแมลงกับพืชมีพิษอื่นๆ

ค่าที่เป็นไม้หายากและมีเนื้อไม้ที่แตกต่างไปจากไม้ทั่วไป หนานมู่จึงเป็นไม้ที่นิยมนำมาทำเป็นวัสดุสูงค่าต่างๆ และ 1 ในนั้นก็คือ โลงศพของชนชั้นสูง ซึ่งในที่นี้ก็คือ จักรพรรดิและบรมวงศานุวงศ์

หลังจากเข้าไปในสุสานได้แล้ว นักโบราณคดีก็ทยอยกันขนสิ่งของต่างๆอย่างระมัดระวังตามหลักวิชา ส่วนพระศพของจักรพรรดิกับมเหสีสองพระองค์ซึ่งกลายเป็นโครงกระดูกไปแล้วก็ถูกนำออกมา จากนั้นก็ถูกส่งไปสำรวจตรวจสอบผ่านขั้นตอนต่างๆ ขั้นตอนหนึ่งก็คือ ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งพบว่า จักรพรรดิว่านลี่ทรงมีกรุ๊ปเลือดเอบี ในวัยชราทรงหลังโกง และตอนที่วัดความยาวของโครงกระดูกจากในโลงซึ่งมีมงกุฎสวมอยู่บนพระเศียรด้วยนั้นจะเท่ากับ 164 เซนติเมตร

ที่สำคัญ จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ได้บันทึกไว้ว่า ตลอดพระชนม์ชีพของจักรพรรดิว่านลี่นั้น พระองค์ทรงใช้ยาอยู่บ่อยครั้ง เพราะทรงมีพระพลานามัยที่ไม่สู้จะดีนักและป่วยอยู่บ่อยครั้ง

และเมื่อศึกษาจากโครงกระดูกแล้วก็พบว่า พระบาทข้างขวาจะสั้นกว่าข้างซ้าย และทำให้รู้ว่าพระองค์ทรงมีอาการของโรคที่พระบาท

และทรงเจ็บปวดกับโรคนี้ก่อนจะสิ้นพระชนม์

โครงการขุดสุสานหมิงนี้มาสำเร็จเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1958 รวมเวลานับจากเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1956 ที่เริ่มโครงการแล้วใช้เวลานาน 2 ปีกับอีก 2 เดือน

และพอถึงเดือนกันยายนปีเดียวกัน สิ่งที่พบในสุสานทั้งหมดก็ถูกนำมาจัดแสดงในบริเวณประตูทางเข้าด้านหลังของพระราชวังต้องห้าม

เรื่องราวจากที่เล่ามานี้น่าจะจบด้วยดี ถ้าพูดตามภาษาหนังก็ต้องบอกว่าจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

แต่ถ้าจบแบบนั้นบทความนี้ก็คงไม่ต้องเขียน แล้วปล่อยให้นักโบราณคดีเป็นผู้เล่าน่าจะดีกว่าเป็นไหนๆ

แต่เพราะเรื่องราวไม่ได้จบแบบนั้น บทความนี้จึงเกิดขึ้น

เพราะอย่างน้อยจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ให้คำตอบเลยว่า

แล้วพระศพของจักรพรรดิและมเหสีสองพระองค์อยู่หนใด

จากเหตุดังกล่าว ในที่นี้จะขอเริ่มจากงานเปิดการแสดงหรือนิทรรศการสุสานหมิงตามที่เล่าไว้ข้างต้น เรื่องของเรื่องก็คือว่า ก่อนนิทรรศการจะมีขึ้นไม่กี่วัน จ้าวฉีชาง ผู้ซึ่งมีบทบาทสูงในการขุดครั้งนี้ก็มีอันต้องพบกับมรสุมทางการเมือง

จ้าวถูกระบุว่ามีความผิดใน 2 ข้อหา

ข้อแรก เขามีประวัติว่าเคยเข้าร่วมกิจกรรมกับสันนิบาตเยาวชนกว๋อหมินต่าง (ก๊กมินตั๋ง) โดยเป็นประธานนักเรียนขององค์กรนี้ในโรงเรียนที่เขาเรียนอยู่

จากประวัติตรงนี้ทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายขวา ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการรณรงค์ต่อต้านฝ่ายขวาอยู่ และมีผู้ถูกกล่าวหาในทำนองเดียวกับเขาทั่วประเทศหลายแสนคน

จ้าวไม่ได้ปฏิเสธข้อหานี้ เขากล่าวว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นประวัติที่เขามิอาจเปลี่ยนแปลงได้

แต่กับปัจจุบันแล้วเขาไม่เคยต่อต้านพรรคเลยแม้แต่น้อย และเมื่อถูกระบุความผิดเช่นนี้แล้ว เขาก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ถึงแม้มันไม่ยุติธรรมเลยก็ตาม เขาก็จำยอมก้มหน้ารับกรรมนี้ไป

อีกข้อหนึ่งคือ จ้าวถูกกล่าวหาว่าได้ใช้สารพิษในระหว่างการขุดค้นสุสานหมิง

จ้าวงุนงงกับข้อหานี้อย่างมาก เขาอธิบายว่า หลังจากสามารถเข้าไปถึงตัวสุสานแล้ว เขาก็ได้ผสมฟอร์มาลินกับแอลกอฮอล์เข้าด้วยกัน แล้วพ่นไปทั่วบริเวณสุสานเพื่อฆ่าเชื้อที่อาจมีอยู่ภายในนั้นและเป็นอันตรายต่อคณะขุดค้น

จ้าวกล่าวว่านี่เป็นวิธีปกติที่นักโบราณคดีทำกัน ซึ่งไม่ควรถือเป็นความผิดแต่อย่างใด

แต่เมื่อจ้าวทบทวนเหตุการณ์นี้แล้วเขาก็นึกขึ้นได้ว่า มีอยู่วันหนึ่ง ฝ่ายนำคนหนึ่งพร้อมภรรยาและลูก 2 คนได้มาเยี่ยมชมสุสาน (ซึ่งถือเป็นอภิสิทธิ์อย่างหนึ่ง เพราะถ้าเป็นสามัญชนคนธรรมดาแล้วคงไม่มีสิทธิ์ได้เยี่ยมชมในขณะที่ทุกอย่างยังไม่เรียบร้อย)

ตอนที่ฝ่ายนำคนนี้กับครอบครัวมาเยี่ยมชมนั้น ภายในสุสานเพิ่งได้รับการพ่นสารดังกล่าวใหม่ๆ สารนี้ส่งกลิ่นรุนแรงจนคนที่เป็นภรรยาสำลักและไอ ขณะที่ลูก 2 คนก็บ่นโวยวายเสียงดัง

ผลดังกล่าวทำให้จ้าวถูกมองว่าใช้ “สารพิษ” ด้วยเหตุนี้

จ้าวเชื่อว่า ข้อหาหลังนี้น่าจะเป็นข้อหาที่แท้จริง ขณะที่ข้อหาแรกเป็นข้อหาเสริมเพื่อให้ดูมีน้ำหนัก และก็เป็นข้อหาที่เขาควรได้รับมาตั้งแต่ตอนเริ่มรณรงค์ต่อต้านฝ่ายขวาเมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว ไม่ใช่มากล่าวหาในตอนนี้

ถึงกระนั้น ข้อหาหลังก็ใช่จะทำให้จ้าวเข้าใจเช่นกัน เขาโต้แย้งว่าถ้าสารที่ว่าเป็นสารพิษจริง เหตุใดเขากับคณะขุดค้นจึงมีชีวิตอยู่ได้เป็นแรมเดือน เพราะสารนี้ไม่ใช่จะฉีดแค่ครั้งเดียวในวันที่ฝ่ายนำคนนั้นมา หากฉีดอยู่เป็นระยะๆ เสมอ

กล่าวโดยง่าย พื้นฐานของข้อหาหลังก็คือ เป็นเพราะจ้าวได้ไปทำให้สมาชิกครอบครัวของฝ่ายนำคนนั้นระคายเคือง หาใช่เพราะเขาเป็นฝ่ายขวาไม่ แต่ถ้าเขามีความผิดเพราะเป็นฝ่ายขวาจริง การลงโทษเขาในตอนนี้แทนที่จะเป็นเมื่อ 2 ปีก่อนจึงไม่ต่างกับเมื่อใช้งานเขาเสร็จแล้วก็เขี่ยทิ้ง

กล่าวอีกอย่างคือ เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล