อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ASEAN’s Centrality

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ASEAN”s Centrality หรือความเป็นกลางของอาเซียน เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอด ทั้งยุคสงครามเย็นและหลังยุคสงครามเย็น (Post Cold War era)

ในตอนแรกช่วงการก่อตั้งอาเซียนนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1967 หลายชาติต่างเข้าใจกันดีว่า อาเซียนไม่มีความเป็นกลาง แต่เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อการสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์

นั่นหมายความว่า อาเซียนเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่มีฝักฝ่ายคือ อยู่กับโลกเสรี โดยเฉพาะกับประเทศสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ต้น

ดังจะเห็นได้จากการที่อาเซียนมีสมาชิกขององค์กรที่ได้รับงบประมาณและเงินทุนสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและการทหารเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลในกลุ่มประเทศในอินโดจีนได้แก่ ลาว กัมพูชาและเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ความเป็นกลางของอาเซียน ได้รับการทดสอบอีกครั้งช่วงหลังสิ้นสุดสงครามเย็น

ช่วงที่กำแพงเบอร์ลินพังทลายและสหภาพโซเวียตและประเทศบริวารล่มสลาย ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก

อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลาย อีกทั้งอาเซียนก็ไม่เป็นกลาง แต่ยิ่งเข้าข้างชาติตะวันตกที่นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกามากขึ้นตามลำดับ

แต่ความผันแปรในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกนับตั้งแต่ต้นศตววรษที่ 21 ในแง่ของการผงาดขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกแทนที่ญี่ปุ่น

ความก้าวล้ำของการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านต่างๆ ก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสาร การขนส่ง รวมถึงนวัตกรรมด้านการเงิน

สังเกตได้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนได้จดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเสียอีก

ทั้งนี้ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาในรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจทำสงครามการค้า ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีขาเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยข้ออ้างการขาดดุลการค้า

ทั้งที่จริงๆ เป็นการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ความเป็นกลางอาเซียนในบริบทใหม่

ดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น ความเป็นกลางของอาเซียนถูกตั้งคำถามจากชาติต่างๆ มานานแล้ว ใครๆ ก็รู้ว่า อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่นิยมชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากการผงาดขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและเทคโนโลยี ความเป็นกลางของอาเซียนกลับด้านเข้าหาสาธารณรัฐประชาชนจีน

“…สถานการณ์อาจจะไปถึงจุดที่อาเซียนอาจต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง…” นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) แห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ อ้างจาก ไทยโพสต์ 23 พฤศจิกายน 2018

เป็นคำกล่าวเตือนอย่างตรงไปตรงมา ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนการเป็นประธานอาเซียนจากสิงคโปร์มาเป็นประเทศไทย

คำกล่าวเตือนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นคำกล่าวเตือนที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งยังสะท้อนประเด็นปัญหาที่กำลังก่อตัวของทั้งชาติสมาชิกอาเซียน องค์กรอาเซียนและชาติพันธมิตรของอาเซียนทั้งหลาย

ไม่ว่าอาเซียนยังพยายามให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทของตนไว้ในเอเชีย มีการสร้างอำนาจต่อรองในนาม

Quad ซึ่งรวมเอาสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเพิ่งประชุมกันที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยแถลงว่าจะมีการรวมตัวกันรักษาระเบียบในย่าน Indo-Pacific บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล โดยเคารพในอธิปไตย ความแข็งแกร่งและความเฟื่องฟูของกันและกัน

เสียงของราชอาณาจักรกัมพูชา
และประตูที่เปิดออก
ของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

แทบไม่น่าเชื่อ ฮุน มนี (Hun Many) ประธานคณะกรรมการชุดที่ 7 สภานิติแห่งชาติของราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวว่า

“…บางที่อาเซียนอาจต้องเลือกระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกาในวันหนึ่งเพื่อจัดการกับ ภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว…”

คำกล่าวของท่านฮุน มนี ลูกชายของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง แห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ (1) กล่าว ที่น่าสนใจมากคำกล่าวของฮุน มนี เกิดขึ้นหลังจากไม่กี่วันที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชากล่าวว่า จะไม่มีฐานกำลังทหารตั้งอยู่ในประเทศของเขา หลังจากที่มีรายงานว่า ทางการจีนได้หว่านล้อมราชอาณาจักรกัมพูชาให้เปิดเป็นฐานทัพเรือที่จังหวัดเกาะกง (Koh Kong) จังหวัดที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของราชอาณาจักรกัมพูชา (2)

ในทางภูมิศาสตร์ เกาะกงอยู่ใกล้กับจังหวัดตราดของไทยนิดเดียว

ช่างบังเอิญเหลือเกิน ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์เมื่อ 21-23 พฤศจิกายน 2018 อันเป็นเวลานานถึง 13 ปีที่ผู้นำระดับสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้เยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

แล้วข้อตกลงที่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนมอบให้กับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์นานัปการได้แก่

1) ข้อตกลงร่วมสำรวจก๊าซและน้ำมัน

2) โครงการเขื่อน Kaliwa ในจังหวัดเกซอน (Quezon) ตามข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) อันนี้ทางการฟิลิปปินส์กู้เงินจากทางการจีน

3) เดือนตุลาคมที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนได้บริจาคปืนและกระสุนมูลค่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ บางส่วนเพื่อใช้ต่อสู้กับลัทธิการก่อการร้าย

4) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยามชายฝั่งจีนได้จับฝูงเรือประมงฟิลิปปินส์ที่เข้ามาอยู่แถวเกาะปการังสการ์โลโรห์ ซึ่งเป็นเขตควบคุมของจีน ด้านฟิลิปปินส์ออกโรงประท้วง ในที่สุดตกลงกันได้ว่า อนุญาตให้เรือประมงฟิลิปปินส์เข้าไปหาปลาในบริเวณดังกล่าว แต่เรื่องเรือยามฝั่งต้องดูกันต่อไป (3)

น่าสนใจมาก อาเซียนตอนนี้มีอย่างน้อย 2 ประเทศในอาเซียนภาคพื้นทวีปเอียงไปทางจีน อีก 1 ประเทศในอาเซียนภาคพื้นสมุทรเอียงไปทางจีน ASEAN”s Centrality นับเป็นโจทย์ใหญ่ของภูมิภาคอย่างไม่ต้องสงสัย

แล้วไทยละครับ เอาอย่างไร

—————————————————————————————————————–
(1) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2018 อ้างจาก “Hun Many warns of making superpower choice” Bangkok Post 23 November 2018, : 1
(2) เพิ่งอ้าง.,
(3) จับตา 5 เรื่องระหว่างสี จิ้น ผิง เยือนแดนตากาล็อก 21 พฤศจิกายน 2018