จรัญ มะลูลีม : ผู้นำคนใหม่และที่พักพิงสุดท้าย

จรัญ มะลูลีม

ตลอดเวลาที่ชาวมุสลิมมัวถกเถียงกันถึงปัญหาการสืบต่อหน้าที่ผู้นำอยู่ในลานบ้านของบะนูชาอิดะฮ์และในมัสญิดนั้น ศพของศาสดาก็ยังนอนอยู่บนเตียง ห้อมล้อมด้วยญาติสนิทของท่าน

หลังจากเลือกตั้งอะบูบักร์แล้ว ผู้คนก็พากันมาที่บ้านของศาสดาเพื่อเตรียมทำศพและฝังศพให้ท่าน

มีความเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องที่ว่าจะฝังศพของศาสดาไว้ที่ไหน

ฝ่ายมุฮาญิรูนบางคนแนะว่าควรจะฝังศพท่านไว้ในนครมักกะฮ์อันเป็นเมืองเกิดของท่าน ใกล้ๆ กับญาติๆ ของท่านเอง

บางคนก็แนะว่าควรฝังท่านไว้ในนครเยรูซาเลม ซึ่งเคยฝังศาสดาอื่นๆ ก่อนหน้าท่าน คำแนะนำอย่างหลังนี้ออกจะน่างงจริงๆ เนื่องจากว่านครเยรูซาเลมนั้นอยู่ในมือของพวกไบแซนไตน์ และความสัมพันธ์ระหว่างพวกนี้กับชาวมุสลิมก็เป็นไปอย่างมุ่งร้ายที่สุด โดยเฉพาะนับตั้งแต่มีการรบที่มุอฺตะฮ์และตะบูก

กองทัพที่ท่านเองได้สั่งให้เคลื่อนไปโดยมีอุสามะฮ์เป็นแม่ทัพนั้นก็กำลังจะเข้าต่อสู้และแก้แค้นแทนการที่ฝ่ายมุสลิมเคยพ่ายแพ้มาในสงครามเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่จะฝังศพศาสดาไว้ในนครมักกะฮ์หรือในนครเยรูซาเลมก็ได้รับการปฏิเสธทั้งคู่

 

ชาวมุสลิมตกลงใจที่จะฝังท่านไว้ในนครมะดีนะฮ์นครที่เคยให้ที่พึ่งพิงและความช่วยเหลือแก่ท่านและเป็นเมืองแรกที่ชูธงอิสลามขึ้น เมื่อได้ตัดสินใจดังนี้แล้วพวกเขาก็ออกไปหาที่เหมาะๆ สำหรับฝัง บางคนแนะให้ฝังไว้ในมัสญิดที่ท่านเคยกล่าวปราศรัยกับผู้คน สอนศาสนาและนำละหมาดพวกเขา

พวกเขาคิดว่าจุดที่เหมาะสมที่สุดควรจะเป็นตรงที่ตั้งธรรมาสน์หรือจุดที่อยู่ติดกับจุดนั้น

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นนี้ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ อาอิชะฮ์ได้เล่าว่า ในระยะสุดท้ายของท่าน เมื่อความเจ็บปวดของท่านเพิ่มขึ้น ศาสดาเคยปิดหน้าแล้วก็สาปแช่งผู้คนที่เอาหลุมฝังศพของศาสดาของพวกเขามาเป็นสถานที่สักการะ

อะบูบักร์เป็นผู้ตัดสินเรื่องนี้เมื่อเขาประกาศขึ้นว่า เขาเคยได้ยินศาสดากล่าวว่า บรรดาศาสดาควรถูกฝังไว้ตรงที่ที่ท่านเสียชีวิต ทุกคนจึงยินยอมตามความคิดเห็นนี้

 

การอาบน้ำศพศาสดาก่อนจะฝังนั้น ญาติสนิทของท่านเป็นผู้กระทำ คือ อะลี อิบนุ อะบีฏอลิบ อัล อับบาส อิบนุ อับดุล มุฏเฏาะลิบ กับบุตรชายสองคนของเขาคือ อัลฟัฏล์ และกุษัม รวมทั้งอุสามะฮ์ อิบนุ ชัยค์ ด้วย อุสามะฮ์ อิบนุ ชัยค์กับซุกรอน ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ของศาสดาเป็นผู้รินน้ำให้ในขณะที่อะลีทำความสะอาดร่างกายซึ่งมีเสื้อนอนของศาสดาปิดไว้ตามที่เป็นอยู่

เป็นที่ตกลงกันว่า ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ร่างของศาสดาไม่ควรจะเปิดอย่างเต็มที่ ในขณะที่พวกเขากำลังชำระล้างศพอยู่นั้นได้มีกลิ่นหอมลอยออกมา จนกระทั่งอะลีต้องเอ่ยปากชมอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “อะไรกัน นี่กระผมใส่อะไรให้ท่านนะ! ท่านช่างหอมและสวยงามเสียจริงๆ ไม่ว่าในตอนมีชีวิตอยู่หรือในตอนที่สิ้นชีวิตแล้ว”

นักบูรพดคีชาวตะวันตกบางคนพยายามอธิบายเรื่องกลิ่นหอมที่พวยพุ่งมาจากศพของศาสดาว่าเป็นผลของการที่ท่านเคยใช้น้ำหอมอย่างมากมายเป็นประจำ เนื่องจากจำได้ว่าครั้งหนึ่งท่านกล่าวว่าน้ำหอมเป็นของดีอย่างหนึ่งที่ท่านรักอย่างแท้จริงในโลกนี้

เมื่ออาบน้ำศพเสร็จแล้ว ร่างของศาสดาก็ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าสามชิ้น สองชิ้นทำในเมืองสุฮาร ส่วนชิ้นที่สามทำในหิบะเราะฮ์ในยะมัน (เยเมน)

 

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำศพไปวางไว้บนเตียงที่เคยอยู่และประตูก็ถูกเปิดออกเพื่อให้ชาวมุสลิมที่เข้ามาจากมัสญิดได้มีโอกาสดูศาสดาของพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย และละหมาดเพื่อท่าน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาเข้ามาดูอย่างเต็มไปด้วยความโศกเศร้าและสำนึกถึงความสูญเสียอันน่ากลัวของตนเอง

ห้องนั้นแน่นขนัดไปหมดเมื่ออะบูบักร์และอุมัรเข้ามาในห้องและร่วมทำละหมาดแก่ศาสดากับมุสลิมคนอื่นๆ การละหมาดนี้ทำโดยไม่มีผู้นำละหมาด เมื่อเสร็จแล้วอะบูบักร์ก็กล่าววิงวอนด้วยเสียงอันดังโดยกล่าวว่า

“ขอความสันติ ความเมตตาและพรของพระผู้เป็นเจ้าประสบแด่ท่านเถิด โอ้ศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า เราขอเป็นพยานว่าศาสดาและศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าได้นำคำสั่งสอนซึ่งท่านได้รับมอบหมายจากพระผู้อภิบาลของท่านมาแล้ว และท่านได้ออกแรงต่อสู้ตามเจตนารมณ์ของพระองค์จนกระทั่งพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบชัยชนะให้แก่ศาสนาของท่าน เราขอเป็นพยานด้วยว่าศาสดาและศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าได้กระทำตามสัญญาของท่านอย่างเต็มที่ และท่านได้สั่งไม่ให้เราสักการบูชาผู้ใดนอกจากพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ผู้ไม่มีสิ่งใดเป็นภาคี”

เมื่อพูดจบทุกๆ วลี มุสลิมทั้งหลายก็ตอบพร้อมๆ กันว่า “อามีน อามีน”

 

เมื่อเสร็จการละหมาด พวกผู้ชายก็ออกไป และพวกผู้หญิงและเด็กๆ ก็เข้ามาดูศาสดาเป็นครั้งสุดท้ายบ้าง ทุกคนคือผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กๆ ทุกคนต่างก็ออกจากห้องนั้นอย่างโศกเศร้า รู้สึกถึงความสูญเสียอย่างลึกซึ้งที่ต้องเสียศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าและศาสนทูตท่านสุดท้ายของพระองค์ไป พวกเขาต่างก็เต็มไปด้วยความหวาดกลัวว่าอาจจะมีความเสียหายบางอย่างบังเกิดขึ้นแก่ศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ในกาลอนาคต

ในปัจจุบันนี้คงจะไม่มีใครสามารถสร้างภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาถึงสิบสามศตวรรษแล้วนี้ขึ้นมาได้ในจินตนาการของตนโดยไม่เต็มไปด้วยความพรั่นพรึงและเคารพนับถือภาพอันน่าเจ็บปวดรวดร้าวของร่างนี้ที่ถูกวางลงตรงมุมห้องมุมหนึ่งซึ่งกลายเป็นหลุมฝังศพไปในวันรุ่งขึ้น

และซึ่งจนถึงวันก่อนหน้านั้น เคยก้องสะท้านไปด้วยพลัง ความเมตตา และแสงสว่างของศาสดานั้นทำให้หัวใจของผู้ศรัทธาที่เศร้าโศกทุกคนเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น

มันจะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร เพราะที่นั่นคือร่างของบุรุษผู้เคยเรียกร้องผู้คนมาสู่สัจธรรม มาสู่หนทางแห่งความเที่ยงธรรมและเคยเป็นตัวอย่างอันสูงสุดของความดีงาม ความเมตตา ความกล้าหาญ ความสะอาดบริสุทธิ์ และความยุติธรรม

ขณะที่หมู่ชาวมุสลิมผ่านแคร่ใส่ศพของท่านไปอย่างหมดหวัง หมดกำลังใจ และท้อแท้นั้น ทั้งชาย-หญิงและเด็กๆ ทุกคนในหมู่คนนั้นได้แลเห็นร่างที่นอนนิ่งไม่ไหวติงอยู่ต่อหน้าพวกเขาว่าเป็นพ่อ เป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นสหายที่มีค่า เป็นศาสดาและเป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า

การคำนึงถึงเวลานั้นก็คือการสร้างภาพอันน่าเวทนาขึ้นมาใหม่อย่างแท้จริง

 

เป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวมุสลิมจะต้องรู้สึกหวาดกลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต อันที่จริงนั้นเมื่อข่าวอสัญกรรมของศาสดาแพร่ไปในนครมะดีนะฮ์และไปถึงเผ่าชาวอาหรับต่างๆ ในเขตรอบๆ นั้น ชาวยิวและชาวคริสเตียนก็กระโดดลุกขึ้นยืน พวกหน้าไหว้หลังหลอกกลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ และความศรัทธาของชาวอาหรับที่อ่อนแอหลายคนก็ตกต่ำลงจนกลายเป็นความสับสน

ชาวนครมักกะฮ์คิดจะละทิ้งอิสลาม แล้วก็ทำดังนั้น จนกระทั่งทำให้ความหวาดกลัวเกิดขึ้นในตัวอัตตาบ อิบนุ อะซีด เจ้าเมืองของพวกเขาที่ศาสดาแต่งตั้งให้ปกครองพวกเขา สุฮัยล์ อิบนุ อัมร์ ซึ่งติดตามข่าวการเสียชีวิตของศาสดามาก็ลุกขึ้นยืนกลางกลุ่มผู้คนและกล่าวว่า

“อสัญกรรมของศาสดาจะช่วยเพิ่มพลังอำนาจของอิสลามให้เข้มแข็งขึ้น ผู้ใดก็ตามโจมตีเราหรือละทิ้งความมุ่งหมายของเรา เราจะฟาดฟันเสียด้วยดาบ โอ้ประชาชนชาวนครมักกะฮ์ พวกท่านเป็นพวกสุดท้ายที่มาเข้ารับอิสลาม เพราะฉะนั้น จงอย่าเป็นพวกเราที่ละทิ้งมันเลย จงมีศรัทธาเถิดว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำเอาชัยชนะมาให้พวกท่านในที่สุดเช่นเดียวกับที่ศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ขอความสันติและพรของพระผู้เป็นเจ้าจงประสบแด่ท่านเถิด ได้สัญญาไว้กับพวกท่าน”

เมื่อเป็นดังนี้เท่านั้นชาวนครมักกะฮ์จึงได้เปลี่ยนใจ