รู้จัก “อับดุล ราฮิม” มือขวา “มหาธีร์” มิตรสนิท “บิ๊กทหารไทย” สู่ยุคใหม่ ดับไฟ “ชายแดนใต้”

กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดทัพเปลี่ยนหัวใหม่ โดยตั้ง “บิ๊กเมา” พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ที่จะทำการพูดคุยกับฝ่ายมาราปาตานี แล้วปรับ “บิ๊กโบ้” พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่เป็นหัวมานานกว่า 4 ปี ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะพูดคุยฯ

ด้านมาเลเซีย หลัง “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” ขึ้นเป็นนายกฯ ได้ตั้งผู้อำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ คนใหม่ คือ นาย “อับดุล ราฮิม นูร์” วัย 75 ปี ที่ได้ชื่อว่าเป็น “มือขวา-ที่ไว้วางใจ” ของ “มหาธีร์”

เพราะสมัยที่ “มหาธีร์” เป็นนายกฯ เมื่อ 20 ปีก่อน “อับดุล ราฮิม” ก็ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ตร.มาเลเซีย อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วย Special Branch ที่เทียบได้กับ “ตำรวจสันติบาล” ของเมืองไทย

ทั้งยังต้องพิจารณาด้วยว่า “สถาบันตำรวจ” ของมาเลเซีย นั้นถือว่าทรงอิทธิพล เทียบเท่า “สถาบันกองทัพ” ของไทย

แน่นอนว่า “อับดุล ราฮิม” มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับอดีตผู้นำทหารและคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยพอสมควร จุดนี้เองจึงทำให้มีความคาดหวังเกิดขึ้นกับการพูดคุยสันติสุขฯ

ในยุคเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของทั้งมาเลเซีย ซึ่ง “มหาธีร์” เพิ่งคืนตำแหน่ง และของไทยที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง และเชื่อกันว่านายกฯ จะหน้าตาคล้ายเดิม

ในอดีต “อับดุล ราฮิม” เคยได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพฝ่ายมาเลเซีย ที่ร่วมเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งมลายา สมัยที่ฝั่งมาเลเซียมีปัญหาเรื่องโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา

ทั้งสองฝ่ายได้ใช้ฝั่งไทยเป็นสถานที่พูดคุยสันติภาพ โดยมี พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นตัวกลางประสานงาน จนทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพหาดใหญ่ เมื่อปี 2532 ซึ่งการแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาดำเนินไปอย่างเข้มข้นในยุค “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ “มหาธีร์” เป็นนายกฯ

นอกจากนี้ “อับดุล ราฮิม” และ พล.อ.อุดมชัย ก็รู้จักกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยการทำงานแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา สมัยนั้น พล.อ.อุดมชัยยังเป็นนายทหารหนุ่ม และ “บิ๊กเดฟ” พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ก็มีแนวทางการแก้ปัญหาชายแดนใต้แบบ พล.อ.อุดมชัยด้วย

ขณะเดียวกัน “เสธ.แม็กซ์” พ.อ.คมกฤช รัตนฉายา ผบ.กองกำลังทหารพราน จังหวัดชายแดนใต้ บุตรชาย พล.อ.กิตติ ยังเป็นนายทหารที่คุมกำลัง “ทหารพราน” ทั้งหมดในพื้นที่ ซึ่ง พล.อ.กิตติ กับ “อับดุล ราฮิม” ก็เป็นเพื่อนเก่าแก่ สะท้อนภาพบุคลากรสำคัญด้านความมั่นคงของฝ่ายไทยกับมาเลเซีย ที่ต่างมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดแนบแน่นกันมาแต่อดีต

ทั้งนี้ “อับดุล ราฮิม” ยังรู้จักกับ “เสธ.เจี๊ยบ” พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตนายทหารที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเปิดให้มีการพูดคุยสันติสุขระหว่างมาเลเซียกับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา

“เสธ.เจี๊ยบ” ทำงานด้านการข่าวและยุทธการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 มานาน และเป็นเพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญ ว่ากันว่าก่อนหน้านี้ “อับดุล ราฮิม” นั้นชอบเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยเป็นประจำ

ฝ่ายความมั่นคงไทยระบุว่า “อับดุล ราฮิม” มีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งสามารถนำประสบการณ์สมัยเป็นนายตำรวจมาทำงานได้ด้วย

พร้อมกันนั้น การปรับระดับหัวใหม่ของทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซีย ยังส่งผลให้ระดับผู้ปฏิบัติงานมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และ “มหาธีร์” เองก็ยังจดจำบทบาทที่ไทยเคยช่วยแก้ไขปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์เมื่อ 30 ปีก่อนได้ดี

หลังผู้นำรัฐบาลไทย-มาเลเซียได้พูดคุยวงเล็กกัน ก็มีรายงานออกมาว่า “เราจะได้คุยกับคนที่อยากคุยมานาน” จากขบวนการบีอาร์เอ็น

นายกฯ “มหาธีร์” พร้อมที่จะสนับสนุนไทย โดยการเป็นกลไกหนึ่งในการอำนวยความสะดวกให้กระบวนการพูดคุยฯ เพราะพื้นที่ภาคใต้ของไทยก็คือตอนเหนือของมาเลเซีย หากมีความสงบก็จะเกิดผลดีต่อทั้ง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดน

 AFP PHOTO / FILES / Saeed KHAN

อีกด้านหนึ่ง มาเลเซียก็จะมีภาพลักษณ์ทางการต่างประเทศที่ดีมากขึ้น ในฐานะ “ประเทศตัวกลาง” เช่นไทยในอดีตที่ถูกใช้เป็นพื้นที่ตรงกลางในการให้ประเทศเพื่อนบ้านและคู่ขัดแย้งเดินทางมาเจรจาแก้ปัญหาร่วมกัน

ฝ่ายความมั่นคงไทยระบุเพิ่มว่าการตัดสินใจในกระบวนการพูดคุยทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาลไทยเป็นส่วนใหญ่ หากมาเลเซียจะเชิญระดับผู้มีอำนาจในบีอาร์เอ็นมาร่วม ก็ต้องเป็นเพียงบุคคลที่อยู่ในมาเลเซียเท่านั้น ส่วนคนที่อยู่ในฝั่งไทยต้องเป็นฝ่ายไทยเชิญมาเอง เพราะเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยระหว่างกัน

แต่อย่าลืมว่า องค์กรบีอาร์เอ็นไม่ได้มีโครงสร้างชัดเจนและเป็นรูปธรรม การเป็นบีอาร์เอ็นอยู่ที่ใจและอุดมการณ์ที่ยึดถือ แล้วนำไปสู่การก่อเหตุต่างๆ จุดนี้จึงทำให้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้แตกต่างจากปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในประเทศอื่นๆ เพราะที่อื่นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมีโครงสร้างชัดเจน และมีชุดเครื่องแบบเป็นของตัวเอง

ดังนั้น เพียงแค่การพูดคุยสันติสุขกับมาราปาตานี-บีอาร์เอ็นที่ประเทศมาเลเซียจึงไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการเปิดเวทีสาธารณะในประเทศไทยเองด้วย เพื่อรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพวกเขาต้องการให้รัฐให้เกียรติในสิ่งที่เขาเคารพนับถือและเชื้อชาติของพวกเขา ไม่ใช่ไปดูถูกดูแคลน

เช่น เมื่อไปสถานที่ราชการ หลายครั้งพบว่าข้าราชการที่เป็นคนไทยพุทธไปพูดจาดูถูกพวกเขา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถูกเล่าขานปากต่อปากและรุ่นสู่รุ่น กระทั่งกลายเป็นปมในใจของคนพื้นที่มายาวนาน

ฝ่ายความมั่นคงไทยชี้ว่า แนวคิดแบ่งแยกดินแดนเป็นเพียง “ยอดภูเขา” แต่ปัญหาจริงๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นฐานของภูเขา จะต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการให้เกียรติกัน

ฝ่ายความมั่นคงยังระบุอีกว่า การก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ช่วงหลัง จะเน้นการตอบโต้เป็นหลัก เช่น เมื่อฝ่ายทหาร ตำรวจไปตรวจค้นโรงเรียนหรือศาสนสถานโดยไม่ให้เกียรติ ก็จะมีการตอบโต้กลับมา และการก่อเหตุเพื่อแย่งชิงพื้นที่ข่าว

แต่อีกด้าน เมื่อการเป็นบีอาร์เอ็นนั้นอยู่ที่ใจ ก็ทำให้มีกลุ่มที่ไม่ต้องการจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ เช่น นักกวี นักเขียน เป็นต้น

นอกจากนี้ ทิศทางการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นก็เริ่มเปลี่ยนแปลง หันไปใช้เวทีระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อแสดงให้นานาชาติมองเห็นถึงการ “ถูกกระทำ”

ยิ่งเมื่อการพูดคุยสันติสุขยังมี “เงื่อนไข” ที่รัฐไทยไม่สามารถยินยอมได้ รัฐไทยก็จำเป็นต้อง “ใจกว้าง” ขึ้น เพื่อที่จะรับฟังปัญหาของอีกฝ่าย แล้วนำไปปรับหาจุด “สมดุล” ให้ได้ในท้ายที่สุด

ขบวนการบีอาร์เอ็นมีการบ่มเพาะการต่อสู้มายาวนานกว่า 50 ปี ผ่านการใช้ประวัติศาสตร์บาดแผลของชาวมลายูเป็นเครื่องมือปลุกระดม ก่อนปัญหาจะปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547

ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงมองว่าการเปิดเวทีสาธารณะ จะช่วยให้การพูดคุยลงไปถึงระดับฐานราก ไปถึงผู้มีอิทธิพลทางความคิดในชุมชน ทำให้ทิศทางการแก้ปัญหาเข้าสู่กรอบ “การเมืองนำการทหาร” มากขึ้น และต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา รัฐไทยก็พลาดเอง ในการใช้มาตรการเชิงรุกทางทหารเข้าไปต่อสู้

ส่วนที่บางฝ่ายมองว่า “พรรคปาส” ที่คุมฐานเสียงทางตอนเหนือของมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐกลันตัน ในช่วงที่การเมืองมาเลเซียเปลี่ยนขั้วนั้น อาจมีศักยภาพช่วยทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ของไทยดีขึ้น

ฝ่ายความมั่นคงแสดงความเห็นว่าการเมืองภายในของมาเลเซียไม่มีผลต่อการพูดคุยสันติสุข ส่วนที่มีการระบุว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นฐานสียงของพรรคปาสก็เป็นข้อมูลเก่า

ที่สำคัญ ไม่มี “กลุ่มไอเอส” แทรกซึมเข้ามาในขบวนการบีอาร์เอ็นตามที่มีความกังวลกัน

อย่างไรก็ดี กระบวนการพูดคุยสันติสุขคือ “บรรทัดฐาน” แบบตะวันตกที่นำมาปรับใช้ในบ้านเรา จึงเป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถเห็นผลชัดๆ ได้ภายใน 1-2 ปี

แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็น “สัญญาณบวก” ท่ามกลางสถานการณ์คุกรุ่นในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ต่างฝ่ายต่างมี “บทเรียน” ตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา