ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ชื่อเดือนในภาษาอังกฤษ มีที่มาจากวัฒนธรรมการเกษตรของโรมัน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ชื่อเรียกเดือนในภาษาอังกฤษ เป็นมรดกตกทอดที่ได้มาจากชื่อของเดือน ที่พวกโรมันเรียกมาก่อนอีกทอดหนึ่ง และนั่นก็แสดงให้เห็นร่องรอยที่ว่า แต่เดิมช่วงเวลาหนึ่งปีของพวกโรมันนั้น ประกอบไปด้วยจำนวนเดือนเพียง 10 เดือนเท่านั้นนะครับ

หลักฐานก็คือชื่อเดือนที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันอย่าง September (กันยายน), October (ตุลาคม), November (พฤศจิกายน) และก็ December (ธันวาคม) นั่นเอง

พวกโรมันเรียกชื่อเดือนกันยายนเรื่อยไปจนถึงธันวาคมด้วยภาษาละตินว่า septem, octo, novem และ decem ที่แปลว่า 7, 8, 9 และ 10 ตามลำดับ

ส่วนคำว่า “-ber” ที่ต่อท้ายชื่อทั้ง 4 เดือนในภาษาอังกฤษ มีผู้รู้สันนิษฐานเอาไว้ว่า เพี้ยนมาจาก “-bris” (จะสังเกตได้ว่าในภาษาฝรั่งเศสเดือนเหล่านี้จะลงท้ายด้วยคำว่า “-bre” นั้นก็เพราะกลายมาจากคำนี้มาก่อนที่จะส่งทอดให้ภาษาอังกฤษในยุคกลางนี่เอง) ที่กลายมาจากคำว่า “mens” หรือ “mensis” ในภาษาละติน ที่แปลว่า “เดือน” อีกทอดหนึ่ง

ชื่อเดือนที่เรียกด้วยตัวเลข หรือจำนวนนับของโรมันมีเพียงเท่านี้ ไม่มีเดือนที่ 11 หรือเดือนที่ 12 ดังนั้น จึงใช้เป็นหลักฐานที่ใช้ยืนยันได้ว่า แต่เดิมปีหนึ่งๆ ของพวกโรมันมีเพียงแค่ 10 เดือนเท่านั้น วิธีการนับเดือนด้วยจำนวนนับอย่างนี้ ก็ไม่ได้ต่างไปจากวิธีการนับเดือนอย่างพื้นเมืองของไทย และอุษาคเนย์ทั้งภูมิภาคของเรา ที่เริ่มตั้งแต่เดือนอ้าย คือเดือนที่ 1 แล้วนับเรื่อยไปจนถึงเดือนสิบสอง

แต่ทำไมชาวโรมันจึงเริ่มนับเดือนด้วยจำนวนนับที่เดือนเจ็ด แล้วเดือนอ้าย หรือเดือนแรก จนถึงเดือนที่หกนั้น หายไปไหนกัน?

 

ถ้านับย้อนจากเดือนกันยายน ที่ชาวโรมันเรียกว่าเดือนเจ็ดขึ้นไปนั้น เดือนอ้ายของพวกเขาก็จะตรงกับเดือนมีนาคม ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลเริ่มต้นปีใหม่ของวัฒนธรรมโรมันแต่ดั้งเดิมจริงๆ

ผู้คนในโรมครั้งกระโน้นเรียกเดือนอ้ายของพวกเขาว่า “Martius” เพราะถือว่าเป็นเดือนของเทพเจ้ามาร์ส (Mars, อันเป็นที่มาของชื่อเดือน March คือมีนาคม) ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้คนมักจะนึกถึงเทพองค์นี้ในฐานะเทพเจ้าแห่งสงคราม และดาวอังคาร

แต่เหตุผลที่มาร์สกลายเป็นที่รู้จักในฐานะเทพเจ้าแห่งสงครามนั้น ปัจจัยสำคัญเกิดจากการที่พวกโรมันได้รับอิทธิพลมาจากกรีก และก็เป็นเช่นเดียวกับเทพเจ้าอีกหลายๆ องค์ที่พวกโรมันหยิบจับเอาคุณสมบัติของเทพเจ้ากรีกบางองค์ มาขยำรวมเข้าเป็นคุณลักษณะเด่นของเทพเจ้าของตนเอง

และในกรณีของเทพมาร์สนั้น พวกเขาได้จับเอาแอรีส (Ares) ซึ่งก็คือเทพเจ้าแห่งสงคราม ที่ชาวกรีกเกรงกลัวเข้ามาผสม

 

พวกกรีกถือว่า อาเรสเป็นหนึ่งใน 12 เทพเจ้าแห่งเขาโอลิมปุส (Olympus, เทียบได้ว่าคือ เขาพระสุเมรุ หรือศูนย์กลางจักรวาลในจักรวาลปรัมปราของชาวกรีก) ตามตำนานว่าเป็นบุตรของมหาเทพซุส (Zeus) ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพ กับเฮรา (Hera) ชายาของซุส

แต่ความเป็นเทพเจ้าสงครามของอาเรสที่พวกกรีกหมายถึงนั้น ไม่ใช่ผู้พิชิต มากเท่ากับความน่าหวาดเกรงในมหากาพย์ของพวกกรีกอย่าง อีเลียด (Iliad, คือเรื่องที่ว่าด้วยสงครามกรุงทรอย) ผู้ประพันธ์คือ โฮเมอร์ (Homer, เชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่เมื่อ 2,800 ปีที่แล้ว) ได้เอาความรู้สึกของท่านที่มีต่ออาเรสยัดเข้าไปผ่านปากของมหาเทพซุสว่า อาเรสเป็นเทพที่พระองค์ทรงเกลียดชังมากที่สุด

พวกกรีกมักจะบรรยายภาพของอาเรสเอาไว้ในฐานะของความรุนแรง และความไม่สงบสุขจากสงคราม มากกว่าอย่างอื่น

เห็นชัดๆ ได้จากการที่พวกเขาระบุว่า อาเรสมีพระโอรสอยู่สองคนคือ โฟบอส (Phobos, หมายถึง ความกลัว) กับไดมอส (Deimos, คือ ความน่าสะพรึงขวัญ) และมีพระขนิษฐา คือน้องสาว (บางสำนวนว่าเป็นคนรัก)

ชื่ออีนีโอ (Enyo, ความบาดหมาง ไม่ลงรอย) เดินทางไปกับพระองค์อยู่เสมอบนรถม้าศึก

 

สําหรับชาวกรีกแล้ว เทพเจ้าผู้เป็นสัญลักษณ์ของผู้พิชิตในสงคราม ควรจะเป็นพระธิดาของมหาเทพซุสอีกองค์หนึ่งคือ อาเธน่า (Athena) เทพีแห่งปัญญา (ซึ่งชาวกรีกพ่วงเอากลยุทธ์ในการสงคราม และอำนาจความเป็นผู้นำของจอมทัพ เอาไว้ในความหมายของปัญญาในที่นี้ด้วย) เสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม ชาวโรมันก็ไม่ได้นำเอาคุณสมบัติของเทพีองค์นี้มาปรุงรสให้เข้ากันกับเทพมาร์สของพวกเขาเลยสักนิด

ควรจะสังเกตด้วยว่า นอกเหนือจากฐานะเทพเจ้าแห่งสงครามแล้ว พวกโรมันยังนับถือเทพมาร์สในฐานะพระบิดาของพวกเขา จึงเป็นที่แน่นอนด้วยฐานะนี้ มาร์สแห่งโรมจึงแตกต่างออกไปจากอาเรสของชาวกรีกอย่างสุดขั้ว ชาวโรมันนับถือมาร์สในฐานะเทพเจ้าผู้ปกป้องพวกเขา (ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มาร์สจะถูกนับถือเป็นเทพแห่งสงครามด้วย)

แต่เทพมาร์สไม่ได้ปกป้องเพียงแค่ชีวิต ทรัพย์สิน สวัสดิภาพ หรืออะไรอื่นๆ ของชาวโรมเท่านั้น เพราะไท้เธอยังทำการปกปักรักษาการเกษตรกรรม (แน่นอนว่า หมายถึงเฉพาะของโรมัน) เป็นการเฉพาะอีกด้วยต่างหาก และก็เป็นเพราะคุณสมบัติข้อนี้แหละครับ ที่ทำให้พวกโรมันได้นำเอาชื่อของพระองค์ไปตั้งเป็นชื่อเดือนอ้าย

 

ดูเหมือนว่าระบบปฏิทิน โดยเฉพาะการนับเดือนแรกของปี ในหลากหลายวัฒนธรรมทั่วทั้งโลกนั้น จะเกี่ยวข้องอยู่กับฤดูกาลเพาะปลูกอยู่มากเลยทีเดียว ในกรณีปฏิทิน หรือวิธีการนับเดือนแบบเก่าของไทยเองก็เป็นเช่นนั้นด้วย

ในกรณีของโรมัน เดือนที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก ดูจะเกี่ยวข้องอยู่กับช่วงสี่เดือนแรกของปีเป็นสำคัญ ดังจะสังเกตได้จากชื่อสี่เดือนแรก ไล่ตั้งแต่ Martius, Aprilis (ที่จะกลายมาเป็น April หรือเมษายน ในภาษาอังกฤษ), Maia (เพี้ยนเป็น May หรือพฤษภาคม) และ Juno (กลายเป็น June หรือมิถุนายน)

ตามความเชื่อในจักรวาลปรัมปราคติของพวกโรมันนั้น “เมอา” (Maia) ถูกนับถือในแง่ที่เป็นพระแม่แห่งความอุดมสมบูรณ์ และบางทีก็ถือว่าเป็นภาคหนึ่งของพระแม่ธรณี (ในขณะที่เทพีเมอาของกรีกมีฐานะกระจ้อยร่อยกว่านี้มาก) ส่วน “ยูโน” (Juno) คือเทพีแห่งการวิวาห์ และความเป็นแม่ เทียบได้กับเทพีเฮร่า ชายาของมหาเทพซุสของพวกกรีก

ดังนั้นจึงล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับคติเรื่องการเกษตร และความอุดสมบูรณ์

 

ปัญหาจะมีก็แต่เดือน Aprilis ที่ปราชญ์และนักวิชาการตะวันตกหลายท่านสันนิษฐานแตกต่างกันออกเป็น 2 ความเห็นใหญ่ๆ หนึ่งคือ เพี้ยนมาจากคำว่า “aperilis” ซึ่งหมายถึง ที่ตามมา หรือที่ถัดมา ในกรณีนี้คือ เดือนถัดมา หรือเดือนยี่

แต่ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจกว่าก็คือ คำอธิบายที่ว่า คำว่า “Aprilis” มาจากคำว่า “Apru” อันเป็นชื่อที่ชาวอทรุสกัน (Etruscan) คือพวกชนพื้นเมืองในอิตาลี ที่อยู่มาก่อนชาวโรมัน ใช้เรียกอโฟรไดต์ (Aphrodite) เทพีแห่งความงาม และกามารมณ์ ซึ่งพวกโรมันรู้จักกันในชื่อของวีนัส (Venus)

ถึงแม้ว่า ในเทพปกรณ์ของกรีก เทพีอโฟรไดต์จะเป็นชายาของฮีฟีสตุส (Hephaestus) เทพแห่งการช่าง และไฟ ผู้ทั้งอัปลักษณ์และพิการ แต่พระนางก็ลักลอบได้เสียกับเทพสงครามอาเรส จนมีโอรสด้วยถึง 3 องค์ โดยหนึ่งในนั้นยังเป็นเทพที่รู้จักกันดีอย่างอีรอส (Eros) หรือพระกามเทพ ที่โรมันเรียกว่า คิวปิด (Cupid)

แน่นอนว่า ในโลกปรัมปราคติของโรมันก็มีเรื่องราวถึงความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ระหว่างเทพมาร์สกับวีนัส ดังนั้น ถ้าเดือนที่อยู่ถัดจากเดือนของเทพมาร์สจะเป็นเดือนของเทพีแห่งกามารมณ์องค์ก็นี้ก็ไม่แปลก เพราะก็เข้ากันได้ดีกับคติความอุดมสมบูรณ์ ที่มักจะถูกเปรียบเทียบกับสัมพันธ์สวาทของชายหญิง ซึ่งก็เหมาะกันดีกับฤดูกาลเพาะปลูก ที่มีชื่อเทพเทพีต่างๆ ที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์เป็นชื่อเดือน

 

พวกโรมันดูจะให้ความสำคัญกับฤดูกาลเพาะปลูกเอามากๆ เลยนะครับ เพราะในระบบปฏิทินปีละสิบเดือนที่พวกโรมันใช้กันมาตั้งแต่ดั้งเดิมนี้ ปีหนึ่งมีเพียง 304 วันเท่านั้น ส่วนอีก 61 วันเศษที่เหลือหลังเดือนสิบของพวกเขา คือเดือนธันวาคมนั้น พวกเขาถึงกับทิ้งมันไปง่ายๆ พร้อมกับลมหนาวและเกล็ดหิมะ ที่ทำให้ไม่มีการเพาะปลูก โดยไม่นับว่าเป็นวันในรอบปีเลย

แต่สุดท้าย พวกโรมันก็ต้องเอาช่วงเวลาที่ว่านี้มานับรวม แล้วแยกออกเป็นสองเดือนอยู่ดี

โดยมีตำนานเล่าว่า นูมา ปอมปิลิอุส (Numa Pompilius) กษัตริย์เมื่อ 2,700 ปีที่แล้ว ที่ตามตำนานเล่าว่าคือกษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งโรม (ผู้ไม่รู้ว่าจะมีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า?) ที่ได้สถาปนาเดือนขึ้นใหม่อีกสองเดือน ในช่วงฤดูหนาวท้ายปีที่ว่านี้ ได้แก่ เดือน Januarius (ต่อมาคือ January หรือมกราคม) ตามชื่อเทพสองเศียรจานุส (Janus) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของจุดจบ และการเริ่มต้นของปี และเดือน Februarius (ซึ่งก็คือ February หรือกุมภาพันธ์ ในภาษาอังกฤษ) ตามชื่อเทศกาลโบราณที่ชื่อ Februa ซึ่งจัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย และนำความอุดมสมบูรณ์เข้าสู่เมืองในช่วงก่อนขึ้นปีใหม่

ไม่มีหลักฐานว่า ที่จริงแล้วทำไมพวกโรมันจึงต้องประดิษฐ์เดือนเพิ่มขึ้นหรอกนะครับ แต่อย่างน้อยในประวัติศาสตร์ของโรมก็มีการปรับปรุงระบบปฏิทินของตนเองมาอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่ออารยธรรมใหญ่แหล่งอื่นๆ ของโลกที่เจริญมาก่อนโรม ไม่ว่าจะเป็นในอียิปต์ หรืออาณาจักรต่างๆ ในเมโสโปเตเมียนั้น ต่างก็มีระบบปฏิทินแบบ 12 เดือน ซึ่งคำนวณระยะเวลาต่อหนึ่งปีได้อย่างแม่นยำกว่ามากอยู่ก่อนแล้ว

 

การปฏิรูปปฏิทินครั้งที่สำคัญที่สุดของโรมันก็คือเมื่อ พ.ศ.496 ซึ่งทำให้ระบบการนับวันในแต่ละปีมีจำนวนเท่ากับ 365.25 วัน จนต้องมีปีอธิกสุรทิน โดยการผลักดันของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ผู้ปกครองกรุงโรมเมื่อครั้งยังเป็นสาธารณรัฐ และสิ่งที่ซีซาร์ให้รางวัลกับตนเองหลังจากการปฏิรูปปฏิทินให้ทันสมัยในครั้งนั้นก็คือ การเปลี่ยนชื่อเดือนในปฏิทินโรมันอย่างเก่าที่ชื่อ Quintilis ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า เดือนห้า มาเป็น Julius (ต่อมาคือ July หรือกรกฎาคม) ซึ่งหมายถึงเดือนของจูเลียส ซีซาร์

แนวความคิดดังกล่าวถูกนำมาปฏิบัติซ้ำอีกครั้งหนึ่งในเวลาต่อมาไม่นานนัก คือในสมัยของพระจักรพรรดิออกุสตุส ซีซาร์ (Augustus Caesar) เครือญาติของจูเลียส ซีซาร์ ผู้ปฏิรูปกรุงโรมเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบจักรวรรดิ แล้วครองราชย์เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งโรมเมื่อระหว่าง พ.ศ.516-529 ได้เปลี่ยนชื่อเดือน Sextilis หรือเดือนหก มาเป็น Augustus (ต่อมาคือ August หรือสิงหาคม) ตามพระนามของพระองค์

คำเรียกชื่อเดือนในภาษาอังกฤษนั้น จึงเป็นมรดกตกทอดมาจากโรมัน โดยมีที่มาจากพัฒนาการของระบบปฏิทินในโรม ซึ่งมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมทางการเกษตร แล้วค่อยพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้น ผ่านอำนาจตั้งแต่ระบอบสาธารณรัฐมาสู่การเป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่โลกเคยรู้จักมานั่นเอง