จับตา กม.ลูกฉบับ “กรธ.” จัดสูตร “ยาแรง-ประหารชีวิต”

ภารกิจหลักของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการปรับแก้ไขคำถามพ่วงประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น

ตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญปี 2559 กำหนดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติแล้ว กรธ. จะต้องจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาอีก 10 ฉบับให้เสร็จสิ้นภายใน 240 วัน

หรือระยะเวลา 8 เดือนโดยประมาณ ภายหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

กฎหมายทั้ง 10 ฉบับนั้น ได้แก่

1. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

2. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

3. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

4. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

5. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

6. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

7. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

8. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

9. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

และ 10. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

แต่ด้วยภารกิจที่จะต้องทำงานตามโรดแม็ปของแม่น้ำ 5 สาย โดยเฉพาะรัฐบาลที่นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยืนยันว่าจะมีการเดินหน้าประเทศไทยตามโรดแม็ป จะมีการเลือกตั้งในปี 2560

ทำให้ “ซือแป๋” มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. จำเป็นต้องร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนกฎหมายฉบับอื่นๆ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็ป ตามสัญญาของ “บิ๊กตู่”

ดังนั้น การร่างกฎหมายลูกจึงจำเป็นต้องเร่งทำกฎหมาย 4 ฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อน คือ 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. และ 4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

หากกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเสร็จสิ้นแล้ว กรธ. ก็จะต้องส่งไม้ต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับให้เสร็จสิ้นภาย 60 วัน และประกาศใช้ ตามรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนด

และเมื่อกฎหมายทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ย่อมจะได้เห็นกรอบ กติกาและคุณ
สมบัติที่ชัดเจนของ ส.ส., ส.ว., กกต. และพรรคการเมือง

 

ในระหว่างนี้ กรธ. ก็ได้ประชุมกันไปพลางก่อนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยเนื้อหาสาระสำคัญ และรายละเอียดที่ชัดเจนได้

จะมีก็แต่คำให้สัมภาษณ์รายวันจาก “ซือแป๋มีชัย” และการให้ข่าวความเคลื่อนไหวการยกร่างกฎหมายจากโฆษก กรธ.

โดยประเด็นแรกของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เพราะ กรธ. ยังไม่เริ่มพิจารณา

แต่ก็ได้มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ และพรรคการเมือง เป็นต้น

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น “ซือแป๋มีชัย” แย้มๆ ออกมาว่า เสร็จสิ้นครบถ้วนกระบวนความแล้ว โดยเฉพาะในส่วนสำคัญ และเนื้อหาสาระสำคัญ

ซึ่ง กรธ. แทบทุกคน ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “เราไม่มีแนวคิดเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” เพราะอยากให้แต่ละพรรคมีความเป็นอิสระในการจัดการผู้บริหารพรรคกันเอง ตามข้อกำหนดคุณสมบัติในร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี อาจจะมีบางพรรคที่อาจจะถูกยุบ เช่น พรรคการเมืองเล็กที่ไม่ได้กระทำตามกฎหมาย

ทั้งนี้ หลักของการร่างกฎหมายพรรคการเมืองนั้น กรธ. จะทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

โดยพรรคการเมืองต้องตรงไปตรงมา เป็นที่พึ่งของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ปลอดจากนอมินีครอบงำพรรค

ทำให้คนทุจริตการเลือกตั้งไม่เข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง

ไฮไลต์สำคัญที่จัดเป็น “ยาแรง” ในกฎหมายพรรคการเมืองนี้ คือเรื่องของการ “ประหารชีวิต” กรณีที่มีการจ่ายเงินให้หัวหน้าพรรคเพื่อแลกกับตำแหน่งรัฐมนตรี

กรธ. ได้กำหนดโทษให้แรงถึงขั้นประหารผู้ที่มีความผิดในกรณีจ่ายเงินให้กับหัวหน้าพรรคการเมืองเพื่อแลกกับตำแหน่งหน้าที่ เพราะถือเป็นการซื้อขายตำแหน่ง

โดยจะมีการวางโทษประหารสำหรับคนเรียกเงิน ส่วนคนจ่ายเงินก็ให้ได้รับโทษแรงไม่แพ้กัน

รวมทั้งเปิดช่องให้ประชาชนสามารถฟ้อง กกต. ได้

นอกจากนี้ เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ของพรรคการเมือง จะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนได้ทราบและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใสในการบริหารงานด้วย

 

ทั้งนี้ การเขียนบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ยังคงเป็นส่วนสุดท้ายของกฎหมายนี้ที่ กรธ. ยังร่างไม่เสร็จ เพราะต้องรอให้เขียนตัวบทกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน เพื่อเขียนบทเฉพาะกาลให้รองรับกับกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเพื่อที่จะให้พรรคการเมืองได้มีเวลา รวมทั้งไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่เขียนขึ้นมาใหม่

ถ้าคุณสมบัติของสมาชิกผิดแปลกไปจากกฎหมายเดิม ก็ต้องเขียนในบทเฉพาะกาลว่า พรรคการเมืองต้องทำอย่างไรกับสมาชิก ภายในระยะเวลาเท่าไหร่

รวมถึงคุณสมบัติของกรรมการบริหารพรรคด้วย

 

ในส่วนของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. นั้น จะต้องมีการเพิ่มจำนวน กกต. อีก 2 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เพิ่มจำนวน กกต. จากเดิม 5 คน เป็น 7 คน

หาก กกต.ชุดเก่าไม่ขาดคุณสมบัติตามที่กำหนดก็สามารถทำหน้าที่ต่อได้ แม้ไม่ถือว่าเป็นการเซ็ตซีโร่ กกต. ทั้งหมด

แต่ถ้า กกต. บางคนจะมีคุณสมบัติไม่ครบนั้น “ซือแป๋มีชัย” ให้เหตุผลแบบยึดหลักการว่า “เพราะเป็นสิทธิของเขา แต่คนที่คุณสมบัติไม่ครบก็ต้องรับสภาพ เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีทางแก้ไขในประเด็นนี้แล้ว อีกทั้งทุกองค์กรก็อยู่ในสภาพเดียวกันตามรัฐธรรมนูญกำหนด”

ประเด็นสำคัญที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. นั่นคือการยุบ “กกต.จังหวัด” แล้วกำหนดให้มี “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” มาทำหน้าที่แทน โดย “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” จะมีที่มาจากการให้ กกต. ขึ้นบัญชีไว้ เวลาจะทำงานก็จับสลากเพื่อลงพื้นที่ ป้องกันการล็อบบี้

แต่แนวคิดดังกล่าวยังสามารถปรับแก้ได้ ซึ่งนายมีชัย ให้เหตุผลว่า เนื่องจากที่ผ่านมา มีการกำหนดให้ กกต. จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย แต่กลายเป็นเหมือนว่า กกต. มีงานทำทั้งปี

ตรงนี้เป็นเหตุเป็นผลทำให้ กกต. ต้องส่งคนไปฝังตัวในท้องถิ่น จนเกิดความคุ้นชิน สนิทสนมกับคนในพื้นที่ กรธ. จึงกำหนดให้ กกต. จัดการเลือกตั้งเฉพาะระดับประเทศ

ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็ให้คนท้องถิ่นทำ และให้ กกต. เป็นผู้ควบคุมเฉพาะเวลามีการเลือกตั้งเท่านั้น

 

กระบวนการจัดทำกฎหมายลูกของ กรธ. แม้จะยังเดินหน้าได้ไม่เต็มที่

เนื่องจากต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญมีการลงพระปรมาภิไธยและโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์

และเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อใด กรธ. ก็พร้อมที่จะส่ง สนช. ให้ดำเนินการต่อทันที

เหตุผลที่ กรธ. ยังไม่ส่งร่างกฎหมายลูกต่างๆ ไปก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้นั้น

เพราะเกรงว่าหากส่งไปก่อนจะเกิดปัญหาได้ เพราะในเมื่อกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ จะเสนอกฎหมายลูกออกมาก่อนย่อมไม่เหมาะสม