วิวาทะ “น้ำตาพระ” นักบวชก็แสดงความรู้สึกเป็น?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หลังข่าวเรื่องการห้ามฉายภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีย์ 2.2 กรณีมีฉากตัวละครพระเซียงร้องไห้ฟูมฟายเกาะโลงแฟนสาว ถ้วนทุกสารทิศก็ลุกขึ้นมาโวยกองเซ็นเซอร์ล่ะครับ ไม่ต้องเดาก็รู้

ยิ่งทราบการให้เหตุผลว่าเป็นฉากที่เสื่อมเสีย ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า “อยู่ในผ้าเหลือง มันมีความไม่สำรวม” (ข้อมูลจากเว็บข่าวบีบีซี)

ล่าสุดทราบว่าผู้กำกับฯ ยอมเปลี่ยนแปลงฉากนั้น เป็นเพียงแต่พระร้องไห้เฉยๆ และถูกจัดเรตให้เป็น 15+

น่าเสียดายเพราะคงเสียอรรถรสของภาพยนตร์ไปมาก

 

น่าสนใจนะครับว่าผู้คนแสดงความเห็นกันซึ่งส่วนใหญ่ก็ไปในแนวทางว่า เป็นเรื่องปกติ พระก็คนนี่แหละ ทีหนังเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะหนังตลกยังให้พระไปทำอะไรบ้าๆ ยังได้ฉายออกถมถืดไป

ผมอยากลองคิดดูว่า เหตุใดจึงมีคนคิดว่า พระไม่ควรแสดงอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะการร้องไห้แสดงความอาลัยต่อการจากไปของคนรัก ซึ่งถูกนิยามว่าไม่เหมาะสม

สมัยเด็กๆ เมื่อผมไปเรียนธรรมศึกษา ได้อ่านประวัติพระอรหันต์สาวกหรือผู้บรรลุพระนิพพานทั้งหลายในวิชา “อนุพุทธประวัติ” ก็เกิดจินตนาการว่า ท่านเหล่านี้เมื่อบรรลุธรรมแล้ว ก็ไม่มีรักโลภโกรธหลงอีกต่อไป

เมื่อไร้รักโลภโกรธหลง ท่านเหล่านี้ก็น่าจะมีแต่ความสงบ ไม่ค่อยมีอารมณ์ความรู้สึกสักเท่าไร เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเราส่วนมากมันก็มาจากรักโลภโกรธหลงนี่แหละ

พระสาวกยังขนาดนี้ พระพุทธเจ้าสำหรับผมในตอนนั้นจึงน่าจะ “นิ่ง” ยิ่งไปกว่าอีกมาก คงคล้ายกับพระพุทธรูปที่เห็นในโบสถ์วิหาร

แต่เมื่อโตขึ้น ได้อ่านหนังสือประทีปแห่งเอเชีย (Light of Asia) ของ Sir Edwin Arnold แล้วก็เริ่มเปลี่ยนความคิด จนมาเจอพุทธประวัติฉบับของท่านติช นัท ฮันท์ ผมก็มองผู้บรรลุธรรมเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

 

มีงานของท่านอาจารย์เขมานันทะที่อ้างถึง “มหาปรินิพพานสูตร” จากพระบาลี ท่านเล่าไว้อย่างงดงามว่า พระพุทธะเป็นผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนเพียงใด เมื่อจะปรินิพพาน ท่านไปอยู่บนเขาคิชฌกูฏและกระทำ “นาคาวโลก” คือมองโลกด้วยท่าเฉพาะดุจช้าง ที่จริงคือการมองโลกจากมุมสูงจากคนที่ใช้ชีวิตมายาวนานและรู้ตัวว่าใกล้จะจากไป และที่สำคัญท่านกล่าวว่า “โลกนี้งดงาม ชีวิตเยี่ยงมนุษย์น่ารื่นรมย์”

ไม่นานนัก พระอานนท์พุทธเลขานุการและญาติสนิท แม้จะเป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังไปเหนี่ยวประตูวิหารร้องไห้เมื่อทราบว่าพระพุทธะจะปรินิพพาน

ในที่สุดพระพุทธะปลอบโยนด้วยถ้อยคำอ่อนหวานกินใจจนพระอานนท์คลายเศร้า

 

ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงพระพุทธะ โดยเฉพาะในแบบเรียน เรามิได้ขับเน้นมิติทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งที่จริงเป็นส่วนสำคัญของศาสนา และอาจช่วยให้เข้าถึงความละเอียดอ่อนบางอย่าง แต่พยายามไปพูดถึงพุทธจริยาซึ่งเป็นเหตุการณ์เฉพาะต่างๆ เพื่อเน้นมิติทางศีลธรรมมากไป

จนทำให้ลืมไปว่าพระพุทธะก็เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้ออย่างเรา รู้สึกอย่างเรา เคยเผชิญความทุกข์และความสับสนเหมือนเรา

เรามักพูดถึง “พระกรุณาธิคุณ” ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของความเป็นพุทธะในทางการกระทำมากกว่าในแง่ที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก

ทั้งๆ ที่ “กรุณา” คือมิติทางอารมณ์ความรู้สึก

 

ในฝ่ายมหายานและวัชรยาน มีตำนานธรรมที่น่าสนใจว่า เมื่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ได้สดับฟังเสียงความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ก็เต็มตื้นไปด้วยความเมตตาสงสารจนน้ำตาไหลออกมา น้ำตานั้นได้กลายเป็นพระโพธิสัตว์อีกองค์คือพระโพธิสัตว์ตาราผู้ประกอบกรณียกิจฉุดช่วยสรรพสัตว์อย่างทันท่วงที

ผมจึงคิดว่าการมีอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่เรื่องแปลก และที่จริงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ด้วย ขนาดพระพุทธะและพระอริยบุคคลทั้งหลายยังมีความรู้สึกต่างๆ มิไยต้องกล่าวถึงพระที่เป็นปุถุชน

มีผู้เคยไปถามหลวงปู่ดุล อตุโล ซึ่งศิษย์เชื่อว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลแล้วว่าท่านยังโกรธไหม หลวงปู่ก็รับว่ายังโกรธ “มี แต่ไม่เอา”

ผมเข้าใจว่า หลังการปฏิรูปศาสนาที่มุ่งเน้นให้พระรักษาวินัยเคร่งครัด หรือการสร้าง “พระนักปฏิบัติธรรม” การแสดงอารมณ์ความรู้สึกค่อยๆ ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน ไม่ว่าจะขบขัน หรือเศร้าโศก ราวกับว่า ทุกอารมณ์ความรู้สึกได้ทำลาย “สมณสารูป” หรือสารรูปของความเป็นพระไปจนหมดสิ้น

ในแง่นี้จึงเท่ากับพยายามถอด “ความเป็นคน” ออกจากพระ แล้วทำให้พระเองก็อยู่ในภาวะประดักประเดิก จะแสดงความเป็นคนมากไปก็ถูกหาว่าเอาอย่างฆราวาส แต่จะให้ไม่แสดงความรู้สึกอะไรเลยก็ไม่เป็นธรรมชาติที่ตนเป็น หาความสมดุลพอดีๆ ของสองอย่างนี้ไม่ได้

การถอดมิติอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนโดยเฉพาะความเมตตาเห็นใจออกจากศาสนา ในแง่หนึ่งก็อาจมีอันตราย หากศาสนาเป็นเพียงแต่หลักการแห้งแล้งไร้ชีวิต ก็อาจนำหลักการอันแข็งตัวนั้นไปห้ำหั่นผู้เห็นต่าง โดยปราศจากความรู้สึกใดๆ

 

ผมเข้าใจอย่างนี้ครับ ไม่ว่าศาสนาไหนๆ ปัญหาไม่ใช่การตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป แต่ทำอย่างไรที่จะฝึกฝนอบรมจนอารมณ์ความรู้สึกมีความละเอียดอ่อนและเป็นคุณต่อการปฏิบัติทั้งต่อตนเองและคนอื่น

ในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน ทุกอารมณ์ความรู้สึกล้วนเป็นการสำแดงออกของจิตในแง่มุมต่างๆ ผู้ปฏิบัติจึงนำเอาทุกอารมณ์และทุกประสบการณ์มาแปรเปลี่ยนให้เป็นหนทางสู่การหลุดพ้นได้

ราคะจึงอาจแปรเปลี่ยนเป็นกรุณา โทสะถูกแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่จะเผาผลาญอัตตา ในทางกลับกัน หากไม่ฝึกฝนเรียนรู้เรื่องอารมณ์แล้ว การกดข่มไว้จึงอาจทำให้เกิดโทสจริตที่รุนแรงหรือความเคร่งเครียดต่างๆ

หากประกอบด้วย “อุบาย” อันประเสริฐแล้ว การเผชิญหน้าต่ออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ก็สามารถช่วยให้รุดหน้าในทางธรรมได้

อย่างพระเซียงในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความโศกเศร้าต่อการจากไปของคนรัก ถ้าเรายึดคัมภีร์ไว้มั่น เราคงมองพระเซียงด้วยอาการดูถูกดูแคลนว่าเป็นพระแต่ยังไม่ละวาง แต่หากเราเอาใจเข้าไปสัมผัสกับความโศกเศร้านั้น เราก็อาจตระหนักได้ว่าความทุกข์ของพระก็ไม่ต่างกับทุกข์ของฆราวาส และคงเกิดเมตตาหรือความเห็นอกเห็นใจต่อพระเซียงมากขึ้น

ส่วนพระเซียงเอง หากในเวลาต่อมามีแวบหนึ่งที่เข้าใจได้ว่า ความเศร้าที่เขากำลังเผชิญอยู่นี้ มิใช่สิ่งที่เขาเผชิญเพียงลำพัง เพราะทุกคนก็จะเผชิญความพลัดพรากเช่นเดียวกันนี้ ผมมั่นใจว่าพระเซียงจะเกิดความเมตตาต่อเพื่อนร่วมทุกข์ อันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดได้ด้วยเหตุผลแต่เพียงอย่างเดียว

แต่เกิดด้วยประสบการณ์ของชีวิต

สมัยที่คุณแม่ผมเสียชีวิตใหม่ๆ นั้น ผมมีความโศกเศร้าจนไม่รู้จะเปรียบกับอะไรได้ แต่ในแวบหนึ่งของความเศร้านั้น ผมตระหนักว่า “ทุกคน” ก็จะประสบความทุกข์อย่างผมนี้ เพราะความพลัดพรากจากพ่อแม่หรือคนรักเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน หนีกันไม่ได้

เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้ก็เกิดความเต็มตื้นขึ้นมาในใจว่า เรามีเพื่อนทุกข์ในโลกนี้อีกมากที่ร่วมทุกข์กับเรา ความรู้สึกเมตตาก็เกิดเองโดยธรรมชาติ

ความเศร้าสำหรับนักบวชจึงไม่ใช่สิ่งเลวร้าย อารมณ์ความรู้สึกจึงมิใช่สิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง แต่อยู่ที่เราจะเข้าสัมพันธ์กับมันอย่างไร

น้ำตาของพระจึงเป็นเครื่องแสดงถึง “ความเป็นมนุษย์” ที่มีหัวใจ

ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ความเป็นพระ” เลยทีเดียว