ยุคที่นายทุนใหญ่แสวงหารายได้ จากนโยบายรัฐบาลกันจุใจ ?

ลอกเปลือกเลือกแก่น คนไทยทุก GEN เครียดเรื่องปากท้อง

“สิ่งดีๆ มันเกิดขึ้นเยอะ ถ้าทุกคนไปสนใจเรื่องไม่เป็นเรื่องมันก็ไม่ได้รู้เรื่องว่าเขาทำอะไรกัน สนใจแต่เรื่องกระพี้อยู่นั่นแหละ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวาระที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะเข้าเสนอผลการจัดตั้งศูนย์ที่นี่มีงานทำ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

เป็นคำที่เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นในผลงานของรัฐบาล ทำนองว่ามีแก่นแกนที่หวังได้ในความรุ่งเรืองของการพัฒนาประเทศ หากไม่สนใจแต่ในเรื่องปลีกย่อย ไม่เป็นแก่นสาระจะรับรู้ในเรื่องเหล่านี้

เป็นความเชื่อมั่นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ว่า ผลงานรัฐบาลนั้นก่อสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” อันหมายถึงถูกมองเป็นยุคสมัยที่นายทุนใหญ่แสวงหารายได้จากนโยบายรัฐบาลกันจุใจ ส่วนประชาชนคนเดินดินหาเช้ากินค่ำนั้น มีแต่จะถูกจำกัดหนทางทำมาหากิน ทั้งด้วยการจัดระเบียบเมือง และการยุติแทรกแซงราคาพืชผลการเกษตร

ท่ามกลางเสียงบ่นถึงความฝืดเคืองของเศรษฐกิจระดับรากหญ้าที่เริ่มขยายมาถึงคนชั้นกลาง ดูเหมือนว่า “ความมั่นใจ” ของทีมแก้ปัญหาปากท้องประชาชนของรัฐบาลยังประโคมโหมความสำเร็จเต็มที่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ “คนในรัฐบาล” คิดอย่างที่นายกรัฐมนตรีบอกคือ สนใจแต่เรื่องกระพี้ ก็ไม่เห็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น

นั่นเป็นอารมณ์ของคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการบริหารประเทศ

ส่วนอารมณ์ของประชาชนทั่วไปเป็นเรื่องไร

เมื่อเร็วๆ นี้ “สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ” หรือที่เรียกว่า “เอยูโพล” ได้สำรวจความเครียดของประชาชนว่าเกิดจากเรื่องอะไรบ้างอีกครั้ง

ผลคือ คนไทยเครียดกันเรื่องปากท้องมากกว่าเรื่องอื่น และความเครียดเรื่องนี้เกิดขึ้นในทุกช่วงวัน โดยเป็นเปอร์เซ็นต์ดังนี้

GEN Z อันหมายถึงอายุ 15-18 ปี เครียดกับเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน ร้อยละ 58.11, GEN M อายุ 19-24 ปี ร้อยละ 67.08, GEN Y อายุ 25-30 ปี ร้อยละ 73.47, GEN X อายุ 36-50 ปี ร้อยละ 71.59, GEN B อายุ 51-69 ปี ร้อยละ 61.30

ในภาพรวมคนไทยร้อยละ 67.45 เครียดกับปัญหาเศรษฐกิจและการเงิน

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้เตรียมการที่จะครองอำนาจการบริหารประเทศต่อไปด้วยการตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” ขึ้นมา เป็นพรรคที่มีชื่อเดียวกับนโยบายและโครงการของรัฐบาลที่ชื่อว่า “ประชารัฐ”

เป็น “ประชารัฐ” อันคือโครงการที่เทเงินลงสู่ประชาชาชน ในนาม “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือที่เรียกว่า “บัตรคนจน” เพราะแจกให้กับผู้มาลงทะเบียนว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือรายได้น้อย ซึ่งแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก “คนจน” แม้รัฐบาลไม่พอใจจะให้เรียกว่า “บัตรคนจน” แต่คำนี้เป็นคำเรียกที่สื่อสารให้เกิดความเข้าใจคุณลักษณะของบัตรมากที่สุด

โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงว่า ที่สุดแล้วเงินที่เอาภาษีประชาชนไป ไหลกลับสู่กระเป๋าทุนใหญ่ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของโครงการ

ทีมเศรษฐกิจที่ถูกครหาเรื่องการดำเนินนโยบาย จนผลสำรวจออกมาว่าประชาชนทุกวัยพากันเครียดกับปัญหาปากท้องกันทั่วหน้านี้ มีความเชื่ออย่างที่นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ที่ไม่เห็นว่าโครงการของรัฐบาลก่อให้เกิดผลดีนั้นเพราะมองกันแต่เรื่องกระพี้ เป็นทีมที่กำลังเคลื่อนแรง ด้วยใช้ทุกวิธีการทำให้ผู้มีบารมีในท้องถิ่นเข้าสังกัด “พรรคพลังประชารัฐ” เพื่อส่งให้พวกเขาไปอยู่ในอำนาจต่อไป

และการเลือกตั้งหากไม่เลื่อนออกไปอีกครั้ง จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

และนั่นจะเป็นคำตอบว่า ประชาชนเห็นความเครียดปัญหาปากท้องเป็นเรื่อง “กระพี้” หรือเรื่อง “แก่น” ของชีวิต