แพทย์ พิจิตร : จากศรีปราชญ์-ศรีธนญไชย ถึงข้อถกเถียง “Nomos-Physis”

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520 และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์อ่าน และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา”

ซึ่งในตอนก่อน ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองในแบบรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ

แน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึงศรีธนญไชย คนไทยส่วนใหญ่ย่อมรู้จักดี แต่ที่ว่าส่วนใหญ่นี้ ปัจจุบันก็ชักไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่จะรู้จักไหม?

ว่าแล้ว วันไหนเจอคนรุ่นใหม่วัยยังไม่ได้เคยเลือกตั้งมาเลยตั้งแต่ พ.ศ.2554 จะลองถามดู!

แต่คนมีอายุหน่อยก็น่าจะเคยได้ยินกิตติศัพท์สติปัญญาความฉลาดแบบเจ้าเล่ห์แสนกลของศรีธนญไชย และก็มีการพูดๆ กันว่า ความเจ้าเล่ห์แสนกลของศรีธนญไชยเป็นที่ประทับใจหรือเป็นที่วีรบุรุษในดวงใจของคนไทย

และก็น่าจะเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของความคิดทางการเมืองไทยได้

และด้วยเหตุนี้ ในหนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย” ซึ่งเป็นหนังสือบุกเบิกในด้านนี้ของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติจึงมีการศึกษาวิเคราะห์ตีความ “ศรีธนญไชย” ไว้ด้วย และไม่น่าจะเป็นอะไรที่ขาดได้

 

และในการศึกษาเรื่อง “ศรีธนญไชย” ของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ อาจารย์นิธิมีความเห็นว่าเป็นการวิเคราะห์ตีความที่เอากรอบฝรั่งมามองไทย ซึ่งอาจทำให้ “ความเป็นประวัติศาสตร์” ของสาระความคิดของศรีธนญไชยเพี้ยนไป (คำว่าความเป็นประวัติศาสตร์นี้เป็นของผมเอง!)

โดยเฉพาะการใช้กรอบความขัดแย้งระหว่างขนบประเพณีและธรรมชาติ หรือที่ผมได้กล่าวไปตอนที่แล้วว่ามันคือกรอบ “Nomos-Physis” ที่นักวิชาการฝรั่งมองเห็นว่าเป็นประเด็นที่โดดเด่นในความคิดกรีกโบราณในช่วงศตวรรษที่ห้า

และก่อนที่จะมาประเมินว่า ตกลงแล้ว การใช้กรอบดังกล่าวนี้ในการตีความศรีธนญไชยเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามที่อาจารย์นิธิได้แสดงความเห็นไว้ (คำว่าไม่ถูกต้อง เป็นของผมเอง!) คงต้องให้พื้นความรู้เกี่ยวกับ “Nomos-Physis” ในความคิดกรีกโบราณเสียก่อน

 

ในความเข้าใจของผม ความเป็นมาของประเด็น “Nomos-Physis” หรือ “ขนบประเพณี-ธรรมชาติ” ในบริบทความคิดกรีกโบราณนั้นเริ่มต้นจากเกิดการแยกความรู้จากการอ้างอิงกับเทพเจ้า หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความพยายามของมนุษย์ที่จะแยก “myth” ออกจาก “logos” โดยการอธิบายในแบบ logos นั้น เป็นการใช้คำอธิบายหรือการเล่าเรื่องของมนุษย์โดยอิงกับอำนาจของเทพเจ้าให้น้อยที่สุด

งานชิ้นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นความพยายามดังกล่าวนี้คืองานบันทึกของ Herodotus (The Histories) และ Thucydides (The History of Peloponnesian War)

ลักษณะเด่นในงานของ Herodotus คือ การบันทึกการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตกาลและการบันทึกเหตุการณ์ปัจจุบัน

Herodotus ได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ และบันทึกเหตุการณ์ที่ตนพบเห็น พร้อมกับได้วิพากษ์วิจารณ์สอดใส่ความเห็นของตนลงไป

และด้วยเหตุนี้ ทำให้นักวิชาการสมัยใหม่ยกย่องให้เขาเป็นผู้ริเริ่มการบันทึกในแนวประวัติศาสตร์คนแรก ซึ่งมีความแตกต่างจากบันทึกอื่นๆ ก่อนหน้าเขา Herodotus ได้บันทึกเรื่องราวของชนชาติต่างๆ ที่เขาพบ

ตัวอย่างเช่น ตอนหนึ่งเขาได้บันทึกความเป็นอยู่ของชาวอินเดียหลายเผ่าในบริเวณตะวันตกของอินเดียต่อกับเปอร์เซียว่า

“ชนเผ่าหนึ่งของอินเดียนั้นจะกินซากศพบรรพบุรุษของตน อันเป็นสิ่งที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของชนเผ่านี้ ซึ่งมักจะได้รับการรังเกียจจากชนชาติอื่นๆ ที่พบเห็นซึ่งไม่มีประเพณีปฏิบัติอย่างนั้น โดยเฉพาะชนชาวกรีกจะยอมทำทุกสิ่งยกเว้นการกินซากศพบรรพบุรุษของตน ในขณะที่ชาวอินเดียเผ่านั้นจะยอมทำทุกสิ่ง ยกเว้นการไม่กินศพบรรพบุรุษของตนเพื่อทำพิธี”

Herodotus ชี้ให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความแตกต่างทางประเพณีหรือกฎสังคม (nomos, convention) ที่มนุษย์ในแต่ละสังคมสร้างขึ้นมา ไม่มีของใครถูกหรือผิดโดยธรรมชาติ

Herodotus กล่าวว่า คนบ้าเท่านั้น (คนที่ไม่มีเหตุผล!) ที่จะคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะแบ่งหรือกำหนดความเป็นมนุษย์หรือไม่เป็นมนุษย์ หรือลำดับขั้นความสูงต่ำของความเป็นมนุษย์ของคนกรีกหรือคนอินเดีย

แม้ว่าตัว Herodotus จะคิดว่าคนอินเดียนั้นมีอสุจิสีดำเหมือนอย่างสีผิว ซึ่งแปลกประหลาดกว่าชาวกรีกก็ตาม

 

ส่วน Thucydides ซึ่งอยู่ในช่วงคาบสมัยเดียวกับ Herodotus ได้ผลิตผลงานบันทึกเรื่องราวสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาขึ้น

เขาได้แสดงจุดมุ่งหมายในการเขียนอย่างชัดเจนและมุ่งมั่นใน Book I, 21-22 ไว้ว่า การบันทึกเหตุการณ์ของคนรุ่นก่อนๆ เขานั้นมีข้อบกพร่องในประเด็นของความถูกต้องแม่นยำของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ซึ่งหมายถึง อคติและการขาดความเป็นกลางของผู้บันทึก หรือในศัพท์สมัยใหม่คือ “สภาวะวิสัย” (objectivity) นั่นเอง Thucydides วิจารณ์งานเขียนของ Homer ว่าเชื่อถือไม่ได้ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า Homer เป็นกวี และธรรมชาติของกวีคือเขียนเพื่อเร้าอารมณ์คนอ่าน/คนฟัง

Thucydides พยายามชี้แจงให้คนอ่านของเขาเห็นถึงความมุ่งมั่นในความพยายามที่จะบันทึกเหตุการณ์อย่างถูกต้องแม่นยำเพื่อคนรุ่นหลังจะได้ทราบความจริงที่เกิดขึ้น

และนี่ก็เป็นที่มาของการพูดถึงวิธีการหาข้อมูลในการเขียนของเขา

เขาย้ำถึงความจำเป็นของผู้บันทึกว่าจะต้องมีความเป็นกลาง

แม้ว่าตัวเขาเองจะเป็นทหารฝ่ายเอเธนส์ก็ตาม แต่เขาก็พยายามที่จะไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายของเขาในการบันทึก ประเด็นต่อมาก็คือ แหล่งข้อมูล เขาย้ำว่า ข้อมูลบอกเล่าที่เขาได้รับฟังจากบุคคลต่างๆ เขาจำต้องมาพิจารณาอย่างระมัดระวัง และตรวจสอบ

จากทั้งหมดนี้ กล่าวได้ว่า งานและระเบียบวิธีคิดของ Thucydides เป็นจุดเริ่มต้นของระเบียบวิธีการทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ก็ว่าได้

 

สิ่งสำคัญที่ควรแก่การพิจารณาอันเกี่ยวกับความพยายามแยก “ปกรณัม” ออกจาก “เหตุผล” คือ การเขียนบทนำของ Thucydides ในประเด็นของสิ่งที่เรียกว่า “การซ้ำรอยของประวัติศาสตร์” ซึ่งทำให้งานของเขามีความหมายขึ้นมาในประเด็นที่ว่า

งานของเขาทั้งหมดนั้นได้พยายามจะสื่อถึงแบบแผนหรือกฎทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยเน้นที่ธรรมชาติของมนุษย์ในฐานะพลังขับทางประวัติศาสตร์ให้เกิดการซ้ำรอยเดิม

กล่าวได้ว่า ความพยายามในการอธิบายและคาดคะเนเหตุการณ์และปรากฏการณ์ของมนุษย์นั้น โดยแรกเริ่มนั้นคำอธิบายอิงอยู่กับอำนาจของเทพเจ้าและคำอธิบายเชิงปกรณัม อันเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลในทัศนะของคนรุ่นต่อมา และได้ผันแปรมาเป็นการอธิบายโดยตัดเรื่องปกรณัมออกไป

และพยายามอิงอยู่กับวิธีคิดแบบเหตุผล ซึ่งในช่วงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงการเริ่มต้นวิธีคิดแบบมนุษยนิยม (humanism) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตกก็ว่าได้

และปรากฏการณ์ของโซฟิสต์ (sophists) ในฐานะที่เป็นปรากฏทางสังคมในเอเธนส์ก็กล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการมนุษยนิยม (the humanistic movement) ที่แสดงถึงความเชื่อมั่นในพลังความสามารถของมนุษย์ที่จะรู้และเข้าใจถึงศิลปวิทยาการต่างๆ ได้ด้วยการเรียนรู้ของมนุษย์เอง และใช้ความรู้ดังกล่าวนั้นสนองตอบความต้องการของชีวิตมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องรอความกรุณาจากสวรรค์เบื้องบนโชคชะตาหรือเทพเจ้า หรือผู้ปกครองเหนือหัว

และจากบริบทดังกล่าวนี้เองที่นำไปสู่การถกเถียงในประเด็น “Nomos-Physis” ในเวลาต่อมา

ซึ่งจักได้กล่าวในตอนต่อไป