สุรชาติ บำรุงสุข l หกตุลารำลึก : ไทยต้องไม่เป็นเวียดนาม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (9) ไทยต้องไม่เป็นเวียดนาม

“ห้ามที่ปรึกษา [ทางทหาร] ลงไป [เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ] ในระดับที่ต่ำกว่ากองพัน ห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามเข้าไปในพื้นที่ที่มีการสู้รบหรือพื้นที่อันตราย ที่ปรึกษา [ทางทหาร] จะไม่วางแผนหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหารทั้งหลาย”

ถ้อยแถลงของทูต Graham Martin ต่อรัฐสภาอเมริกัน

ในช่วงที่ทำการเคลื่อนไหวเรื่องฐานทัพอเมริกันของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผมมีคำถามค้างใจว่า ทำไมสหรัฐไม่ขยายสงครามเวียดนามเข้ามาในไทย

ทำไมสงครามในอินโดจีนจึงมีลักษณะของ “สงครามจำกัด” ที่การรบไม่ขยายออกสู่พื้นที่ใกล้เคียงเช่นในไทย

แน่นอนว่าถ้าสงครามขยายตัวเหมือนเช่นปฏิบัติการ “ข้ามรั้ว” ของกองทัพสหรัฐเข้าไปในกัมพูชา และข้ามต่อเข้ามาในไทยแล้ว สถานการณ์สงครามและปัญหาความมั่นคงไทยจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น เราอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า ถ้าสหรัฐตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางทหารในไทยดังเช่นในเวียดนามแล้ว สงครามปฏิวัติไทยจะพลิกโฉมหน้าอย่างแน่นอน

ประเด็นจึงน่าสนใจว่าสหรัฐคิดและดำเนินการอย่างไรจึงทำให้สงครามปฏิวัติไทยไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามปฏิวัติเวียดนาม

มิฉะนั้นแล้วโดมิโนทั้งสี่ตัวอาจจะผูกกันมากกว่าที่เราคิด

จนบางทีอาจจะดูเหมือนเกินเลยที่จะกล่าวว่า สหรัฐทำความล้มเหลวครั้งใหญ่ในเวียดนาม แต่สร้างความสำเร็จในไทยที่ทำให้สงครามไม่ขยายตัว

ฉะนั้น บทบาทของสหรัฐกับสงครามปฏิวัติไทยจึงมีนัยกับชีวิตคนเดือนตุลาเป็นอย่างยิ่ง

แม้ยุคสงครามเวียดนามจึงเป็นดังช่วงเวลาดื่ม “น้ำผึ้งพระจันทร์” ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ และผู้นำทหารไทยเชื่อมั่นว่าการยอม “แลกเปลี่ยน” ให้สหรัฐใช้ไทยเป็นฐานทัพจะเป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐจะช่วยปกป้องประเทศจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์

แต่ก็ไม่เคยเผื่อใจว่าสหรัฐอาจจะแพ้สงครามเวียดนามได้

และสำหรับนักเคลื่อนไหวอย่างพวกเราก็ไม่เคยเผื่อใจว่า ความพ่ายแพ้ของสหรัฐและโดมิโนที่ล้มลงในปี 2518 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รัฐไทยเกิดความกลัว

และกลัวมากจนต้องตัดสินใจเปิดปฏิบัติการล้อมปราบใหญ่ในปี 2519

จุดเริ่มต้นของอเมริกัน

ความสนใจปัญหาคอมมิวนิสต์ในไทยของสหรัฐในช่วงต้นนั้นอยู่ในกรอบของนโยบายสหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความสนใจนี้ดูจะมีมากขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2492 และผลจากสงครามเกาหลีในปี 2493

และความสนใจเช่นนี้ทวีมากขึ้นจากการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูในปี 2497

แต่ในช่วงสมัยใหม่แล้ว ความสนใจดังกล่าวเป็นผลมาจากการตัดสินใจของทำเนียบขาวที่จะเข้าไปมีบทบาทในเวียดนามหลังวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ยในปี 2507 และปี 2508 เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายกำลังรบของสหรัฐทั้งในเวียดนามและในไทย

ปี 2508 เป็นช่วงระยะเวลาที่มีนัยสำคัญอย่างมาก ได้แก่ การประกาศของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน จอมพลเฉิน ยี่ ในช่วงต้นปีถึงการเกิดของสงครามประชาชนในไทย และตามมาด้วยการเปิดการโจมตีครั้งแรกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในตอนกลางปี

อันเป็นดัง “ปฐมฤกษ์” ของสงครามปฏิวัติไทยที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์

และในตอนปลายปีมีการประกาศจัดตั้งแนวร่วมเพื่อเตรียมทำ “สงครามประชาชน” ในไทย

พร้อมกันนี้ผู้นำของคณะกรรมการจีนโพ้นทะเลประกาศ “สนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนในประเทศไทย”

สำหรับผู้นำไทย นี่คือคำประกาศสงครามของจีน

สัญญาณทางการเมืองเช่นนี้ทำให้สหรัฐต้องให้ความสนใจกับสถานการณ์ในไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีการตีความว่าการเปิดการโจมตีในปี 2508 เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ไทยขยายความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ และเป็นสัญญาณอีกด้วยว่าการอนุญาตให้สหรัฐขยายบทบาทในไทยจะได้รับการตอบโต้ด้วยการทำสงครามก่อความไม่สงบที่เข้มข้นในอนาคต และสงครามนี้ได้รับการสนับสนุนจากจีน

สมมุติฐานเช่นนี้ทำให้ทูตอเมริกันขณะนั้นเชื่อว่า มีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างการพัฒนาฐานทัพอากาศของสหรัฐในไทยกับการก่อความไม่สงบในภาคอีสาน

ดังนั้น ถ้าสหรัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในไทย สหรัฐจะมีบทบาทอย่างไร ในขณะเดียวกันสงครามชุดนี้ของสหรัฐในเวียดนามขยายตัวไปสู่ “สงครามการทหาร” เต็มรูป และหลังจากการรบในเทศกาลตรุษญวนในปี 2511 แล้ว สัญญาณของชัยชนะสำหรับสหรัฐดูจะไม่สดใสเท่าใดนัก

ถ้าเช่นนั้นแล้ว สหรัฐจะดำเนินการสงครามชุดนี้ในไทยอย่างไรเพื่อที่จะไม่ให้สนามรบในไทยกลายเป็นสงครามเวียดนาม

บทเรียนจากเวียดนาม

ทูตอเมริกันประจำไทยที่มีบทบาทอย่างสำคัญในกรณีนี้คือทูตมาร์ติน (Graham Martin รับตำแหน่งจากปี 2506-2510) ที่เห็นปัญหาในเวียดนามและมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า สงครามเช่นที่สหรัฐทำในเวียดนามจะต้องไม่เกิดในไทย

และเชื่อว่าภารกิจของสหรัฐในไทยจะต้องอยู่ภายใต้การบริหารและควบคุมของเอกอัครราชทูตอเมริกันเท่านั้น ไม่ใช่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายทหาร (เพนตากอน) อันจะนำไปสู่นโยบายแบบ “การทหารนำ” และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในเวียดนาม

ในปี 2509 ทูตมาร์ตินได้จัดตั้งสำนักงาน “ผู้ช่วยทูตพิเศษฝ่ายต่อต้านการก่อความไม่สงบ” (The Special Assistant for Counterinsurgency หรือ SA/CI) ต้องถือว่าการจัดองค์กรดังกล่าวเป็นความก้าวหน้าในการบริหารอย่างมาก และมีการมอบอำนาจให้แก่ผู้ช่วยพิเศษนี้อย่างเต็มที่

อีกทั้งยังเป็นหลักประกันว่า เจ้าหน้าที่อเมริกันในกรุงเทพฯ จะพูดกับรัฐบาลไทยเป็น “เสียงเดียวกัน”

และเขาจะทำงานอยู่ภายใต้การกำกับโดยตรงของทูต

และมีหน้าที่หลักได้แก่ การสร้างหลักนิยมของสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบให้แก่รัฐบาลไทย การพัฒนาโครงการใหม่ การประสานงานโครงการสนาม การประเมินและรายงานผลของการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้น และการควบคุมให้กิจกรรมและโครงการต่างๆ ของสหรัฐในไทยดำเนินไปตามหลักนิยมที่กำหนดไว้

การเปิดตำแหน่งใหม่ที่กรุงเทพฯ เช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำกับบทบาททางทหารของสหรัฐในไทย เพื่อไม่นำไปสู่ตัวแบบในเวียดนามใต้

แม้การจัดสายการบังคับบัญชาในสายงานของสหรัฐในไทยที่มีลักษณะรวมศูนย์ไว้กับตัวทูตเช่นนี้อาจจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเพียงใดก็ตาม เพราะเท่ากับทูตที่มาจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ควบคุมทิศทางของภารกิจและการใช้ทรัพยากรของหน่วยและองค์กรอเมริกันในไทย

ในขณะที่องค์กรเหล่านั้นอาจจะมีสายการบังคับบัญชาที่แตกต่างกันออกไปในวอชิงตัน

การจัดการเช่นนี้ทำให้ระบบงานของสหรัฐในไทยไม่แตกแยกเป็นสายงานอิสระที่ขึ้นตรงต่อองค์กรแม่ของตนที่วอชิงตัน

และทำให้ระบบงานมีลักษณะเป็นสายการบังคับบัญชาเดียว อันส่งผลให้นโยบายของสหรัฐในไทยมีความเป็นเอกภาพ และอยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้

การดำเนินการตั้งอยู่บนเข็มมุ่งที่สำคัญว่า “หลีกเลี่ยงการมีบทบาทโดยตรง [ของสหรัฐ] ในปฏิบัติการทางทหาร [ในไทย]”

เข็มมุ่งนี้กำหนดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้สหรัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในไทยดังเช่นที่เกิดแล้วในเวียดนามใต้

และทูตมาร์ตินได้กล่าวกับรัฐสภาอเมริกันในกรณีของไทยว่า “ข้าพเจ้าไม่คิดว่า… สหรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาทำเอง [หมายถึงทำสงครามเอง]”

เข็มมุ่งนี้ยังกำหนดหลักการสำคัญว่า “ที่ปรึกษา [ทางทหารของสหรัฐ] จะให้คำแนะนำโดยทั่วไป แต่จะไม่เข้าไปเป็นผู้ร่วมวางแผน [กับฝ่ายไทย]”

เข็มมุ่งดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการควบคุมทิศทางนโยบายของสหรัฐไม่ให้มีลักษณะที่เน้นการใช้พลังอำนาจทางทหารจนเกินความจำเป็น

แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของสหรัฐจะไม่เห็นด้วยกับการกำหนดทิศทางเช่นนี้ แต่พวกเขาก็ยอมรับ จนอาจกล่าวได้ว่า นโยบายของสหรัฐในไทยอยู่ภายใต้หลักการของ “การควบคุมโดยพลเรือน”

การริเริ่มของทูตมาร์ตินมาจากบทเรียนประการสำคัญของสหรัฐว่า การใช้หลัก “การทหารนำการเมือง” ในเวียดนามใต้ทำให้นโยบายของสหรัฐเน้นอยู่กับการใช้พลังอำนาจทางทหารเป็นด้านหลัก

และผลอีกประการก็คือ ทำให้สหรัฐต้องเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการเองมากกว่าจะปล่อยให้เป็นภารกิจของรัฐบาลท้องถิ่น

ตำแหน่งผู้ช่วยทูตพิเศษจึงถูกออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงการครอบงำของฝ่ายทหาร

ผลที่เกิดขึ้นในเวียดนามใต้ก็คือ การขยายบทบาททางทหารของสหรัฐจนทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งของสหรัฐและของรัฐบาลเวียดนามใต้เองถูกครอบด้วยนโยบายของฝ่ายทหาร และทหารสหรัฐมีบทบาทอย่างกว้างขวาง

แต่ในไทยกลับมีทิศทางที่แตกต่างออกไป

สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบของสหรัฐในไทยจึงดำเนินการโดยพลเรือนเป็นด้านหลัก และทหารอเมริกันมีบทบาทอย่างจำกัด

ช่วยปรึกษา-ไม่ช่วยรบ

นอกจากนี้ การสนับสนุนของสหรัฐในไทยไม่เน้นเรื่องการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ทางทหาร แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ทรัพยากรมนุษย์” มากกว่า

เช่น การสร้าง “ครูฝึกท้องถิ่น” แทนการใช้ชาวอเมริกันเป็นครูฝึกตลอดไป โดยมีหลักการว่า “สร้างครูฝึกชาวไทยเพื่อฝึกคนไทย” อันจะเป็นการลดพันธะสงครามของอเมริกันในไทยลง

ด้วยหลักการเช่นนี้สหรัฐจึงไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงในปฏิบัติการทางทหารของไทย

แม้ในหลายโครงการของการต่อต้านการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นจะเป็นการริเริ่มจากฝ่ายสหรัฐ แต่ผู้ปฏิบัติจะมาจากฝ่ายไทย หรือในบางกรณีเป็นโครงการร่วม โดยสหรัฐเป็นผู้ให้คำปรึกษา อุปกรณ์ และการฝึก และฝ่ายไทยจะเป็นผู้จัดหาบุคลากรในการทำงาน

ลักษณะเช่นนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้สงครามของสหรัฐในไทยไม่ยกระดับเช่นในเวียดนาม

และเป็นไปดังหลักการที่กำหนดไว้ในเบื้องต้นว่า สหรัฐจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับปฏิบัติการทางทหารของไทย

ดังนั้น ที่ปรึกษาทางทหาร (MAAG) ของสหรัฐให้คำปรึกษาแก่หน่วยทหารไทยในระดับกองพันหรือในระดับที่สูงกว่านั้น แต่ไม่เข้าทำการรบเช่นในเวียดนาม

ดังนั้น แม้สหรัฐจะมีกำลังรบขนาดใหญ่ในไทย แต่กำลังดังกล่าวก็ใช้ในภารกิจของสงครามเวียดนาม

กำลังเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบในไทยแต่อย่างใด

และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป สถานทูตสหรัฐได้ยกเลิกตำแหน่ง “ผู้ช่วยทูตพิเศษด้านต่อต้านการก่อความไม่สงบ”

ซึ่งเหตุผลของการยกเลิกไม่ได้มาจากปัจจัยการเมืองไทย แต่มาจากปัจจัยความพ่ายแพ้ของสหรัฐในเวียดนาม

อันเท่ากับความคิดริเริ่มที่สำคัญของสหรัฐในไทยในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ถึงจุดสิ้นสุดลง ทิ้งไว้แต่ประวัติศาสตร์เป็นข้อเปรียบเทียบระหว่างบทบาทของสหรัฐในไทยและในเวียดนาม

Yankee Go Home!

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพสหรัฐของขบวนนักศึกษาไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดในช่วงที่สหรัฐกำลังอ่อนแรงจากปัญหาสงครามเวียดนาม

จนแม้รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็มีท่าทีสนับสนุนการเรียกร้องให้สหรัฐถอนฐานทัพออกจากไทย

และการเคลื่อนไหวใหญ่ของนักศึกษาในเรื่องนี้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2519 ซึ่งความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของฐานทัพอากาศได้สิ้นสุดลงแล้ว และรัฐบาลวอชิงตันตัดสินใจปิดฐานทัพเหล่านี้

แต่ผลสะเทือนทางจิตวิทยากับบรรดาปีกขวาไทยมีสูงมาก เพราะความกลัวคอมมิวนิสต์ผสมเข้ากับความเชื่อว่าถ้าสหรัฐถอนจากไทย โดมิโนจะล้มลงที่กรุงเทพฯ…

ความกลัวเช่นนี้เพิ่มทวีขึ้นไม่หยุด และเป็นปัจจัยสำคัญในเวลาต่อมาที่ตัดสินชีวิตของขบวนนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519…ฆ่าเพื่อให้หมดกลัว!

ในอีกด้านผลจากการที่สหรัฐจำกัดบทบาททางทหารในไทย ทำให้เข็มมุ่งนี้เป็นปัจจัยของความสำเร็จ แต่ก็ทำให้ผม (ในฐานะอดีตนักเคลื่อนไหว)

มีคำถามเสมอว่า หากสหรัฐขยายสงครามเข้ามาในไทยแล้ว การต่อต้านฐานทัพสหรัฐของขบวนนักศึกษาไทยอาจจะขยายตัวมากกว่าที่คนในยุคเดือนตุลาเปิดการเคลื่อนไหวในปี 2517-2519

และหากสหรัฐตัดสินใจ “ไต่บันไดสงคราม” ในไทยต่อจากเวียดนามแล้ว สงครามปฏิวัติไทยจะกลายเป็นส่วนเชื่อมต่อของสงครามปฏิวัติเวียดนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และถ้าเป็นเช่นนั้น สงครามปฏิวัติของคนเดือนตุลาอาจจะปรากฏในอีกรูปโฉมหนึ่ง และชีวิตของคนเดือนตุลาก็คงดำเนินไปและจบลงในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้คือความ “โชคดี” ที่การรบในไทยไม่ยกระดับเป็นสงครามแบบเวียดนาม…ไม่มีใครอยากเห็นไทยเป็นเวียดนามที่ 2

แต่ถ้าไทยต้องเป็นเวียดนามแล้ว ชีวิตคนเดือนตุลาก็จะพลิกผันไปอีกแบบอย่างแน่นอน!