คิดเป็นทำเป็นตามแนวพุทธธรรม l เสฐียรพงษ์ วรรณปก

เวลาผมเขียนอะไร ก็มักจะทำในใจเสมอว่า เขียนให้ใครอ่าน เมื่อผู้อ่านคือคนนอกวัดเป็นส่วนมาก ก็พยายามเขียนด้วยสำนวนโวหารที่ (คิดเอาเอง) ว่าง่าย อ่านแล้วเข้าใจทันที

แต่ที่ว่าง่ายๆ ก็ทำเอาบางท่านงงก็มี

เพราะฉะนั้น ถ้าอ่านข้อเขียนของผมไม่ค่อยจะรู้เรื่องก็โปรดแจ้งให้ทราบด้วย จะได้ปรับปรุงตัวเอง คิดหาทางอย่างไรจึงจะ “เทศน์” ให้ญาติโยมเข้าใจได้

คราวก่อนโน้นเอ่ยถึง “โยนิโสมนสิการ” (การคิดเป็นหรือรู้จักคิด) ว่าจะเขียนถึงโดยพิสดารก็มีเรื่องอื่นมาขัดจังหวะ วันนี้ขอว่าเรื่องนี้ต่อไปจนจบ (ไม่จบวันนี้ก็จบวันอังคารต่อๆ ไปจนได้แหละน่า อย่าซีเรียส)

ความคิดสำคัญอย่างยิ่ง ทางพระพุทธศาสนาบัญญัติว่า ความคิดเป็นจุดเริ่มที่จะนำพาให้ชีวิตไปดีหรือไม่ดี เจริญหรือเสื่อม เพราะความคิดก่อให้เกิดการกระทำ ถ้าคิดในเรื่องอะไรบ่อยๆ ปักใจจนกลายเป็นเจตคติแล้ว ไม่แคล้วจะต้องมีพฤติกรรมไปในทำนองนั้น

สมัยเป็นเด็กครูสอนให้บวกเลขหลายๆ หลัก บวกต่อไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ได้ผลลัพธ์ออกมาถูกต้อง บางครั้งก็ผิด

เมื่อครูให้ทำใหม่ผลลัพธ์ออกมาถูก แล้วครูให้หาดูว่าขั้นตอนไหนผิดพลาด ให้ดูย้อนไปตั้งแต่ตอนท้ายๆ สาวไปเรื่อยๆ เมื่อดูไปๆ ก็ปรากฏว่าบวกถูกทุกขั้นตอน ยกเว้นขั้นตอนหนึ่งในตอนต้นๆ ผิด

เมื่อผิดขั้นหนึ่ง ขั้นต่อไปก็พลอยผิดพลาดด้วย

เมื่อตรวจเช็กว่าผิดตรงจุดไหน ก็แก้ตรงจุดนั้นแล้วก็แก้จุดอื่นๆ ต่อมา ผลลัพธ์ก็ออกมาถูกต้อง

เรื่องของคนก็ไม่ต่างจากนี้ ถ้าจุดแรกหรือตอนต้นๆ คิดผิด คิดไขว้เขวเสียแล้ว แนวโน้มที่พฤติกรรมของคนนั้นจะไปในทางผิดย่อมมีมาก ยกเว้นจะรีบแก้ไขให้คิดถูกเสียแต่ต้นมือ

ขอสาธกเรื่องจริงในประวัติศาสตร์มาให้อ่านสักสองเรื่องเพื่อเปรียบเทียบกระบวนการคิดที่แตกต่างกัน ทั้งสองเรื่องนี้ล้วนเป็นที่รับรู้กันดีในหมู่ชาวพุทธที่ใกล้วัด (ท่านที่ห่างวัด อาจเพียงได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่ทราบเรื่องราว)

เพราะคิดดังนี้แล ผมจึงนำมา “ฉายซ้ำ” อีก

เรื่องแรก เด็กจ้อยคนหนึ่งเป็นลูกโสเภณีที่ถูกนำมาทิ้งไว้ข้างทาง เจ้าชายแห่งแคว้นมคธมาพบเข้า นำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เด็กน้อยนามว่าชีวกโกมารภัจจ์ เป็นเด็กฉลาด ช่างคิด ช่างจำ ช่างเจรจา

วันหนึ่งเล่นเกม (สมัยนั้นยังไม่มีเกมคอมพิวเตอร์ อย่างมากก็หมากเก็บ ทอยกอง อะไรทำนองนั้น) เล่นชนะเพื่อนแทบทุกครั้ง เพื่อนๆ ขัดใจจึงพูดว่า “ไอ้เด็กไม่มีพ่อไม่มีแม่นี้เก่งจริงเว้ย”

คำพูดของเพื่อนๆ สะกิดใจ เด็กน้อยจึงไปถามท่านพ่อว่าใครคือพ่อ-แม่ของตน คาดคั้นจนได้ความจริงว่าตนเองเป็นลูกกำพร้า

เธอเริ่มคิด

ความคิดของชีวกโกมารภัจจ์น่าสนใจยิ่ง เธอคิดว่า “เพื่อนๆ ดูถูกเราว่าเป็นลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่ เจ็บใจนัก ถึงเราไม่มีพ่อไม่มีแม่ เราก็จะต้องหาวิชาใส่ตัวให้มาก ให้ชนะพวกที่มีพ่อมีแม่ให้จงได้”

เมื่อคิดดังนี้จึงหาทางจะไปศึกษาเล่าเรียน เพราะคิดว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะทำคนให้เจริญก้าวหน้า

เมื่อเห็นพวกพ่อค้าต่างเมืองมาค้าขายจึงไปตีสนิท ขออาศัยเดินทางไปยังเมืองตักศิลาด้วย

ไปถึงเมืองตักศิลา ไปฝากตนเป็นศิษย์อาจารย์ทิศาปาโมกข์ เรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ (สมัยนั้นคงมีแผนเดียว แผนปัจจุบันคงยังไม่มี) เรียนอย่างขยันหมั่นเพียรถึง 7 ปีจึงจบการศึกษากลับบ้านเกิดเมืองนอน

เล่าว่าระหว่างเดินทางกลับบ้าน เงินหมด จึงคิดหาทางใช้วิชาความรู้ที่เรียนมารักษาคนไข้

บังเอิญได้รักษาเศรษฐีคนหนึ่งหาย จึงได้เงินกลับบ้านมากมาย

นำเงินนั้นไปให้ท่านพ่อ พร้อมขอขมาที่หลบหนีไป แต่เพื่อต้องการเรียนวิชา จึงต้องทำอย่างนั้น

ท่านพ่อก็อภัยให้

บังเอิญขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงประชวร เป็นโรคริดสีดวงทวาร ชีวกโกมารภัจจ์ใช้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนมารักษาจนหายขาด ได้รับพระราชทานสวนมะม่วงเป็นบำเหน็จรางวัล และได้รับแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง

และด้วยความเป็นคนรู้จักคิด จึงไปถวายตนเป็นนายแพทย์ประจำพระพุทธเจ้า และถวายการรักษาพระภิกษุ-สามเณรทั้งหลายอีกด้วย

อ่านประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์โดยละเอียดแล้ว คงไม่แปลกที่หมอชีวกคิดแต่ในทางที่ดี เช่น คิดถวายตนเป็นนายแพทย์ประจำพระพุทธเจ้าเพื่อถวายการรักษา แก่พระผู้เป็นศาสดาของโลก เป็นการช่วยให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ เมื่อมีพระพลานามัยสมบูรณ์ พระองค์ก็จะได้ทำหน้าที่เยียวยาอาการป่วยทางจิต (โรคกิเลส) ของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์

พูดอีกนัยหนึ่ง หมอรักษากายคิดถูก คิดเป็น รู้ว่าโรคที่คุกคามมนุษย์ที่หนักหนาสาหัสคือโรคใจ ตนเป็นเพียงหมอรักษาโรคกาย เมื่อเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นหมอรักษาโรคใจ จึงคิดจะช่วยให้งานรักษาโรคใจของพระพุทธเจ้าเป็นไปอย่างสมบูรณ์ จึงตัดสินใจไปดูแลพระพลานามัยของ “หมอโรคใจ”

ที่ว่าไม่แปลก ที่หมอชีวกคิดได้อย่างนี้ ก็เพราะหมอชีวกได้รับการศึกษาอบรมอย่างดี จากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ จบการศึกษาระดับสูง การศึกษาอบรมมาอย่างดี ช่วยให้หมอชีวกคิดไปในแนวทางสร้างสรรค์อย่างนี้

คนอื่นๆ ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาอย่างนี้ก็คงคิดไม่แตกต่างจากนี้นัก

ที่แปลกก็คือ ครั้งแรกที่สุด เมื่อครั้งหมอชีวกยังเป็นเด็กนั่นต่างหาก ทำไมเด็กน้อยชีวกไม่คิดไปอีกมุมหนึ่ง เมื่อถูกเด็กอื่นๆ ด่าว่าเสียดสีว่าลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่ เช่น คิดว่า “พวกนี้มันดูถูกกู ฝากไว้ก่อนเถอะ กูเป็นใหญ่มาเมื่อไรจะทำให้พวกมันสำนึก”

ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว อาจหาทางเอาชนะด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ถ้าสบเหมาะได้เป็นเจ้านายจริงๆ อาจจับพวกเขาไปทำโทษ หรือไม่ก็กลั่นแกล้งต่างๆ นานา ฐานเหยียดหยามคนเช่นเขา

นี่แหละครับ จุดเริ่มแรกนี้สำคัญที่สุด ถ้าเริ่มคิดถูกแต่ต้นมือและประคับประคองให้ความคิดนั้นคงเส้นคงวาต่อไป ความคิดถูกคิดเป็นนั้นจะช่วยนำพาชีวิตของเขาคนนั้นไม่ว่าใครก็ตามดำเนินไปสู่ความสำเร็จความเจริญก้าวหน้าได้

ทั้งในทางโลกและทางธรรม

ทีนี้หันมาดูตัวละครอีกตัวหนึ่ง เด็กเหมือนกัน เป็นโอรสพระเจ้าปเสนทิโกศล เกิดจากลูกนางทาสีศากยะ ที่กษัตริย์ศากยะ “ย้อมแมว” ส่งไปให้พระเจ้าปเสนทิโกศล (เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลส่งทูตมาขอขัตติยนารีจากพวกศากยะเพื่อไปเป็นมเหสี แต่พวกศากยะไม่เต็มใจให้ จึงส่งธิดานางทาสีไปแทน)

มเหสีธิดานางทาสีมีโอรสนามว่าวิฑูฑภะ คือเด็กน้อยคนที่พูดถึงวันนี้ วันดีคืนดีวิฑูฑภะเดินทางไปเยี่ยมพระเจ้าตา แต่กลับถูกพวกกษัตริย์ศากยะดูถูกดูหมิ่นต่างๆ นานา เช่น เอาน้ำนมมาขัดพระแท่นที่วิฑูฑภะประทับล้างเสนียดจัญไร

เด็กน้อยวิฑูฑภะรู้สึกโกรธที่ถูกพวกศากยะซึ่งล้วนเป็นพระญาติทั้งนั้นดูถูกเหยียดหยาม จึงเริ่มคิดในทางที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

วันนี้พวกมันเอาน้ำนมล้างที่กูนั่ง ต่อไปเมื่อกูเป็นใหญ่ขึ้นมา กูจะเอาเลือดในลำคอของมันมาล้างตีนกูให้ได้

ถ้าเด็กพูดเพียงครั้งเดียว พ่อ-แม่หรือผู้ใหญ่ห้ามไว้ สอนไม่ให้คิดเหลวไหล อย่างนั้นก็คงไม่เป็นไร แต่ระวังอย่าปล่อยให้ความคิดเช่นนั้นฝังจิตใจเด็กนานๆ มันอาจจะก่อตัวรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นพฤติกรรมได้

วิฑูฑภะนี้ก็เหมือนกัน คงไม่มีใครรู้ หรือรู้แต่ไม่ระวังในจุดนี้ ปล่อยให้เด็กน้อยคนนี้ฝังใจในพฤติกรรมของพวกศากยะ และครุ่นคิดหาทางแก้แค้นให้ได้

เติบโตมาเป็นหนุ่มใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารแล้วก็ยังไม่เลิกคิดเช่นนั้น รอให้เสด็จพ่อพระราชทานตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินให้ก็ไม่ให้สักที จนรอไม่ไหว

ทำการปฏิวัติยึดพระราชบัลลังก์จากเสด็จพ่อ ตั้งตนเป็นกษัตริย์

เมื่อได้เป็นใหญ่เหนือเมืองสาวัตถีสืบแทนเสด็จพ่อแล้ว (ไม่คิดแม้แต่นิดว่าเสด็จพ่อของตนหนีไปตายที่หน้าประตูเมืองราชคฤห์ ไม่คิดที่จะนำพระบรมศพมาพระราชทานเพลิงตามพระราชประเพณี และตามหน้าที่บุตรที่ดีพึงกระทำ ปล่อยให้พระเจ้าอชาตศัตรูต้องรับภาระถวายพระเพลิงให้) ความแค้นก็ปะทุขึ้น สุดจะนิ่งเฉยอยู่ได้

จึงยกทัพไปหมายจะฆ่าล้างแค้น เอาเลือดศากยะล้างพระบาทของตนตามที่ลั่นวาจาไว้ พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ เสด็จมาตัดหน้า วิฑูฑภะเข้าไปถวายบังคมพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่ พระองค์ตรัสเป็นนัยให้เข้าใจเอาเองว่า ให้เลิกคิดอกุศลเช่นนั้นเสีย

แต่ก็ไม่ได้คิด ด้วยความเกรงพระทัย จึงแค่ยกทัพกลับไป แต่ความคิดจะแก้แค้นก็ยังไม่สงบ วันดีคืนดี (เรียกวันร้ายคืนร้ายจึงจะถูก) ก็ยกทัพไปใหม่ พบพระพุทธองค์อีก กลับมาดังเดิม อีกไม่ช้าก็ฮึดยกทัพไปใหม่

ครั้งหลังนี้เมื่อไม่พบพระพุทธเจ้า จึงยกทัพข้ามพรมแดนเข้าไปลุยเมืองกบิลพัสดุ์ สั่งประหารพวกศากยะตายเป็นเบือ ที่หนีรอดไปได้ก็คงมีจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากสงคราม “ล้างโคตร” คราวนั้นพวกศากยะก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

เรื่องนี้ต้องการชี้ว่า จุดเริ่มนี้แหละสำคัญ จุดเริ่มคือความคิด ถ้าคิดผิดแล้วปล่อยให้ผิดไปเรื่อยๆ จะนำความวิบัติมาให้เจ้าตัวและสังคม ดังในเรื่องนี้ ทางพระจึงย้ำเน้นว่า การศึกษาทำให้ชีวิตพัฒนา แต่ถ้าไม่รู้จักคิดหรือคิดไม่เป็น กระบวนการศึกษาก็จะไม่เกิด

การให้การศึกษาที่ถูกทาง เริ่มต้นที่กระตุ้นให้คนรู้จักคิดให้ถูกตั้งแต่ยังเด็กๆ นั่นแหละครับ