คำ ผกา l ใจร่มๆ

คำ ผกา

ก่อนหมดเขตรับสมัครสมาชิกพรรคเพียงไม่กี่วัน การย้ายพรรคอย่างโอฬารก็เกิดขึ้น หากเป็นภาวะปกติ อย่างมากเราก็ยักไหล่ วิถีการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตั้งไข่อย่างบ้านเรา การสังกัดพรรคไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่อง “ผลประโยชน์”

เมื่อพูดว่าผลประโยชน์ ขอร้องว่าอย่าเพิ่งยี้ๆ แหวะๆ ผลประโยชน์ในที่นี้มีตั้งแต่เงินทุนในการหาเสียง โอกาสชนะในการเลือกตั้ง หรืออดีต ส.ส.คนไหนที่ขยันทำงานในพื้นที่ มีคะแนนเสียงอยู่ในมือมากก็ย่อมสร้างอำนาจต่อรองกับพรรค หรืออัพค่าตัวในการย้ายพรรคได้อีก ส.ส.กลุ่มไหน มุ้งไหน มี “ศักยภาพ” ที่จะชนะการเลือกตั้งมากก็สามารถสร้างอำนาจในการต่อรองได้มากตามไปด้วยเช่นกัน เมื่อต่อรองในพรรคไม่ได้ตามแผน ก็ย่อมผละไปสังกัดพรรคอื่นได้

แล้วก็อีกนั่นแหละ พรรคการเมืองใหญ่ก็ย่อมต่อรองกับ ส.ส.ในพรรคได้มากเช่นกัน – ราคาของการต่อรอง จึงเกิดจากดีมานด์ ซัพพลาย แบบกลไกตลาดอยู่ด้วย

พรรคการเมืองจะต่อรองกับ ส.ส. และกลุ่มมุ้งต่างๆ ค่อนข้างมีอิทธิพลได้อย่างไร?

ที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทยที่กลายมาเป็นเพื่อไทยในที่สุด สามารถสร้างคะแนนนิยมจากนโนบายพรรค จากจุดนี้ทำให้ตัว “แบรนด์” แข็งแรงกว่าตัวบุคคล หรือกลุ่ม หรือมุ้ง ดังนั้น ส.ส.ที่คิดจะขอต่อรองกับพรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ เรื่องตำแหน่งต่างๆ ก็ต่อรองได้น้อยลง เพราะหากย้ายพรรค โอกาสสอบตกมีมากกว่า

ในพัฒนานี้ สิ่งที่เราเห็นคือพัฒนาการเมือง จากจุดที่เป็นผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก จากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทนแบบเรียบง่าย เช่น ถ้าเลือกเราเป็น ส.ส. จะมีงบฯ อะไรมาลงพื้นที่นี้บ้าง

ตัว ส.ส.เมื่อได้เป็น ส.ส. แล้วจะใช้ความเป็น ส.ส. ไปแสวงหาผลประโยชน์อะไรบ้าง เมื่อเป็นรัฐมนตรีแล้ว จะแสวงหาผลประโยชน์อะไรบ้าง

แต่ในกระบวนการเลือกตั้งในแนวทางประชาธิปไตยนี้ ไม่มีใครที่จะ “ได้” โดยไม่ “เสีย”

ส.ส. รัฐมนตรี และพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต่อให้ระยำตำบอนอย่างไรก็ต้อง “บริหาร” ประเทศ และทำให้การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในระดับที่วิน-วินด้วยกันทุกฝ่าย หรือต่อรองกันไม่ให้ใครต้องบอบช้ำมากเกินไป

และท้ายที่สุด ต้องให้ประชาชนได้ผลประโยชน์ในจุดที่ต้องกลับมาเลือกพรรคของตน

พลวัตที่เกิดขึ้นกับประชาชนคือ เมื่อได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐ พวกเขาจะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเรียนรู้ที่จะต่อรองในเกมของประชาธิปไตย

ประชาชนต่อรองได้เก่งขึ้นเท่าไหร่ นักการเมือง ส.ส. พรรคการเมือง ก็ยิ่งต้องถีบตัวเองแข่งกับการต่อรองของผลประโยชน์ของประชาชนที่นับวันจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

เช่น จากเดิมที่พอใจแค่งบฯ ทำถนน ก็ไม่พอใจแล้ว แต่พอใจที่เงินมาลงเป็นกองทุนให้บริหารจัดการเองมากกว่า

หรือไม่เอาเงินซื้อเสียงระยะสั้นแล้ว แต่จะเอานโยบายกึ่งๆ สวัสดิการรัฐที่มีผลแก้ปัญหาความยากจนระยะยาวมากกว่า – การต่อรองที่ซับซ้อนนี้เรายังได้เห็นในรัฐบาลของ คสช.ด้วย

ในกรณีที่หมู่บ้านหนึ่งคืนเงินงบประมาณรัฐที่เจาะจงให้เอาไปดูงาน แต่ชาวบ้านบอกว่า อยากได้เงินไปทำอย่างอื่นมากกว่า ถ้าให้มาพร้อมข้อบังคับอีกร้อยอย่าง ห้ามนู่น ห้ามนี่ ขอไม่เอาเงิน เป็นต้น

และหากพลวัตนี้เกิดขึ้นโดยไม่สะดุดจากการทำรัฐประหาร (ของไทยเจอไปสองครั้งในรอบสิบปีล่าสุด) สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพัฒนาการการเมืองคือ พรรคการเมืองและนักการเมือง ไม่มีทางเลือก นอกจากพัฒนาจากจุดที่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางวัตถุกับประชาชนอย่างเดียวไปสู่การเป็นพรรคที่มี “อุดมการณ์” ที่ชัดเจน

เช่น นโยบายเศรษฐกิจที่พรรคใช้ยืนอยู่บนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน, ขวา, ซ้าย หรือกลาง นโยบายทางสังคม วัฒนธรรม ยืนอยู่บนอุดมการณ์แบบไหน เป็นอนุรักษนิยม หรือเสรีนิยม

และทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่านักการเมืองเป็นคนดีขึ้นทันตา (เผลอๆ มันอาจใช้เวลานานจนนักการเมืองที่เล่นการเมืองแบบเก่า พากันตายเข้าป่าช้าไปกันหมดแล้ว)

หรือพรรคการเมืองกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ซื่อตรงต่ออุดมการณ์ ซื่อสัตย์ ใสสะอาดไปกันหมด

แต่การปรับตัวนี้มันคือการตอบสนองต่อความเข้มแข็งของประชาชนที่เพิ่มขึ้น

ถามว่าเพิ่มขึ้นจากไหน?

เพิ่มขึ้นจากผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากยุคการเมืองน้ำเน่านั่นแหละ

เหมือนที่บอกว่า ประชาชนไม่ได้กินหญ้า กินข้าวทุกวัน ปากท้องอิ่มก็มีเวลาหาอาหารสมอง

มีเงินตุนในกระเป๋ามากขึ้น ก็มี “ต้นทุน” สะสมเพื่อจะต่อรองกับนักการเมืองและพรรคการเมืองเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวได้ดี เมื่อปากท้องอิ่มมากแล้ว สิ่งที่อยากได้ อาจจะไม่ใช่โรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม แต่อาจจะอยากได้เมืองที่เป็นฮับของการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อใจ สามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน รักษาฐานทรัพยากรท้องถิ่นได้มากกว่า ฯลฯ

และทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการที่เรามี “นักการเมืองดีๆ” เพิ่มขึ้น หรือไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนักการเมืองเลวๆ แม่มติดคุกหมดแล้ว หรือเราปราบคอร์รัปชั่นได้หมดประเทศจนเหลือศูนย์ ปฏิรูปประเทศ เซ็ตซีโร่ เหลือแต่คนเสียสละความสุขส่วนตัวมาทำงานหนักเพื่อบ้านเพื่อเมือง

เปล่าเลย

มันแค่เกิดจากการที่ประชาชนเข้มแข็งขึ้น

นักการเมืองยังต้องการผลประโยชน์อะไรต่อมิอะไรเหมือนเดิม แต่ต้องหาวิธีที่ได้ผลประโยชน์โดยเบียดเบียนประชาชนน้อยที่สุด

หรืออาจต้องไปทำอาชีพอื่นแทน

แต่ถามว่าการเมืองมันผุดผ่องไหม?

คำตอบก็คือ ไม่อยู่นั่นเอง เพราะถ้ามันผุดผ่องไปหมด มันก็ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “สังคมการเมือง” นักรัฐศาสตร์คงตกงานกันหมด เพราะไม่มีอะไรให้ศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์ และเราคงอยู่ในโลกอิ่มทิพย์ ไม่มีการค้าการขาย ไม่มีใครอยากได้อยากมี ไม่มีผลประโยชน์อะไรมาให้ปะทะขัดแย้งกัน

ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่อะไรนอกจากกติกาที่พอจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

แต่การคอร์รัปชั่นยังอยู่ นักการเมือง พรรคการเมือง และสนามการเมืองคือสนามต่อรองทางผลประโยชน์ ในทุกระดับ ความโลภ ความไม่อยากเสียเปรียบใครโดยยึดเอาจุดที่ตัวยืนเป็นที่ตั้งก็ยังอยู่ตรงนั้นครบถ้วน

ประเด็นคลาสสิคอย่างนายจ้างอยากลดต้นทุน แรงงานอยากได้ค่าแรงแพงที่สุด อะไรทำนองนี้ก็ยังจะมีอยู่ตราบโลกแตก

ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของ “ความดี” แค่ “กติกา” ที่พอจะเป็นธรรมที่สุดโดยเปรียบเทียบเท่านั้น

หนักข้อกว่าประชาธิปไตยยังมีหลายระดับ

ตั้งแต่ประชาธิปไตยที่มีแค่การเลือกตั้ง แต่ที่เหลือนอกจากนั้นไม่มีอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ หรือใดๆ

ไปจนถึงประชาธิปไตยที่เห็นและตระหนักในคุณค่าของความมนุษย์สุดเสียงสังข์

สังคมไหนจะกลายเป็นประชาธิปไตยแบบไหน ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง

แต่ที่แน่ๆ การทำรัฐประหารบ่อยๆ ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มี “คุณภาพ” ได้อย่างแน่นอน

และไม่น่าเชื่อเลยว่า ในประเทศไทยยังจะมีคนที่เชื่ออีกอยู่ได้ว่าประชาธิปไตยที่แท้ทรูนั้นสามารถสร้างได้โดยให้กองทัพมาเซ็ตซีโร่นักการเมืองให้ก่อน

เทศนาเรื่องประชาธิปไตย 101 อีกแล้ว – หลายคนก็บ่นแบบนี้ เวลาที่ฉันเขียนอะไรแบบนี้

เหตุที่ต้องมานั่งนับหนึ่ง เขียน กอ ไก่ กันอีกรอบ เพราะหลังจากกระแสย้ายพรรคกันมโหระทึกที่ผ่านมา ทำให้เริ่มมีเสียงบอกว่า “เห็นไหม นักการเมืองสันดานชั่ว สุดท้ายก็เห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเอง พวกพ้อง ครอบครัว”

ฉันไม่ได้บอกว่า เราไม่ควรด่านักการเมือง แต่การถอดใจกับนักการเมือง สุดท้ายจะทำให้เราถลำไปอยู่ในวาทกรรมของกลุ่มล้มประชาธิปไตยที่อยากให้เราหมดศรัทธากับระบบการเลือกตั้ง ถอดใจแล้วกลับไปศิโรราบกับเผด็จการดังเดิม

อันดับแรกที่เราต้องทำคือเลิกมองการเมืองและนักการเมืองแบบโรแมนติก เราไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองแบบจาตุรนต์ ชัชชาติ ธนาธรเท่านั้น

เพราะการเมืองเป็นสนามของ “ทุกคน” ย้ำว่า “ทุกคน”

แต่ในความเป็น “ทุกคน” นี้ เราไม่ต้องการ “คนดี”

เราต้องการทุกพลังที่จะเปล่งเสียงร่วมกันว่า ในทุกความระยำของนักการเมืองเราจะไม่ยอมสูญเสียจุดที่น้อยที่สุดของประชาธิปไตยคือ “การเลือกตั้ง”

จากนั้น เรา – ประชาชน – ต้องช่วยกันขยับให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่แฟร์ที่สุดเท่าที่จะแฟร์ได้

ในเงื่อนไขที่เขาหลุดปากบอกว่า รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา! ฉันอยากจะร้องบราโว่มาดังๆ ว่า เห็นไหม นี่ขนาดยังไม่เลือกตั้ง แค่จะมีการเลือกตั้ง เกมของประชาธิปไตยมันก็ทำงานด้วยตัวของมันเอง

สิ่งที่ควรซ่อนเร้นก็ไม่อาจซ่อนเร้น

และทุกอย่างกำลังจะถูกผลักออกมาหน้าม่าน

ทั้งนี้ เป็นการดีมากที่พรรคพลังประชารัฐเปิดตัวอดีต ส.ส. ที่ “ย้าย” มาจากพรรคอื่นทั้งหมด

ถามว่า เงื่อนไขอะไรที่ทำให้พรรคอัน supposed ที่จะเป็นพรรค “คนดี” ที่เข้ามาล้างบางนักการเมืองชั่ว ต้องเป็นฝ่ายอ้าแขน โอบรัด โอบกอด ขยับอ้อมแขนแนบแน่นต่อ so called ที่พรรคพวกตัวเองเรียกว่า “นักการเมืองชั่ว” ไว้ในอ้อมแขนขนาดนี้?

เงื่อนไขเดียวคือการเลือกตั้ง!!!!!!!

แค่ลำพังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ต้องมีต้นธารมาจากการอยากล้างบางนักการเมือง “น้ำเน่า” ต้องเปิดรับความ “น้ำเน่า” นั้นมาไว้ในพรรคตัวเองเต็มไปหมด

แค่นี้ประชาชนอย่างฉันก็ happy กับการเลือกตั้งแล้ว และปล่อยให้กลไกการเลือกตั้งทำงานของมันไป

ราวกับการคัดสรรจากธรรมชาติ คนที่จำใจไปเหมือนโดนคลุมถุงชน ถึงวันที่ลืมตาอ้าปากได้ หรือเงื่อนไขบางประการเอื้ออำนวย พวกเขาก็ต้องกลับมายืนที่เดิม

ส่วนที่ไปเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ วันหนึ่งเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ก็ต้องแตกกันออกมากลายเป็นปรากฏการณ์งูเห่า 4.0

ส่วนพรรคอื่นๆ ที่เสียเปรียบพรรคพลังประชารัฐทุกช่องทาง ก็ยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้นอีกเป็นห้าเท่า สิบเท่า เพื่อจะกุมหัวใจประชาชนให้ได้

และยิ่งต้องเปิดโปงฝ่ายตรงกันข้ามว่าใช้กลเม็ดนอกกลเม็ดในอะไร ต้องทำให้ประชาชนเห็นให้จงได้

การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญแค่ไหนกับอนาคต

ผลดีทางอ้อมสำหรับพรรคการเมืองอย่างเพื่อไทยคือ เมื่อไม่มีเสือสิงห์กระทิงแรดในพรรคแล้ว (เว้นแต่จะไปรับมาใหม่) เพื่อไทยต้องหันมาทำงานเชิงอุดมการณ์มากขึ้น เพราะตอนนี้พรรคอย่างเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ มีแค่สองทางให้เลือกเดินคือ จะแพ้ หรือจะหันหัวมาเป็นพรรคการเมืองที่ชูเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นหลัก อันจะทำให้กลายเป็นพรรค “หัวก้าวหน้า” พรรคแรกๆ ของไทยทะลุเพดานกะลาออกมา และได้เปรียบพรรคการเมืองที่ชูอุดมการณ์เป็นหลักอย่างอนาคตใหม่ แต่ขาดความเชี่ยวชาญทาง “สนาม” การเมือง

หากเลือกแนวนี้ พรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติจะเป็นพรรคที่ยืนระยะทางการเมืองได้อย่างมีสง่าราศีในท่ามกลางวิกฤตทั้งปวง

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ หากปรับกระบวนให้ทำงานการเมือง “เป็น” มากกว่านี้ก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองที่เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ได้อย่างแท้จริง

ส่วนประชาชนอย่างเรา มีแค่สองอย่างที่เราต้อง “ยืน” ให้ได้

คือ ใจเย็นกับพลวัตของประชาธิปไตยที่จะไม่มีดีได้ชั่วข้ามคืน และต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับนักการเมืองสุกๆ ดิบๆ ไปอีกหลายทศวรรษ

สอง ยืนหยัดรักษาการเลือกตั้งเอาไว้ในทุกเงื่อนไข

ใจเย็นและใจเย็น เท่านั้น