วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การเมืองราชวงศ์หลิวซ่ง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุจากราชวงศ์ใต้ (ต่อ)

ลําดับจากนี้ไปจะได้กล่าวถึงราชวงศ์ใต้ผ่านราชวงศ์ทั้งสี่ดังที่กล่าวมา

โดยเริ่มจากราชวงศ์หลิวซ่งเป็นปฐมในฐานะที่เป็นผู้โค่นล้มราชวงศ์จิ้นจนล่มสลาย

และเริ่มประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่จักรวรรดิที่แตกแยกอีกครั้งหนึ่ง

 

ราชวงศ์หลิวซ่ง

ช่วงที่หลิวอี้ว์ตั้งตนเป็นจักรพรรดิและสถาปนาราชวงศ์หลิวซ่ง (Liu Song Dynasty, ค.ศ.420-479) นั้น อายุของเขาล่วงเข้าสู่วัย 60 แล้ว และจากชีวิตที่กรำศึกมาช้านาน เขาจึงปกครองราชวงศ์ที่เขาตั้งขึ้นได้เพียง 2 ปีก็เสียชีวิต

ตลอดสองปีนี้แม้จะเป็นเวลาอันสั้นในทางอำนาจ แต่ก็เป็นสองปีที่หลิวอี้ว์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเอาไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเขาได้ประสบการณ์ในการปกครองส่วนหนึ่งมาจากบุคคลในสกุลซือหม่าแห่งราชวงศ์จิ้น

ในฐานะผู้นำเขาได้บริหารจัดการงบประมาณที่แน่นอนให้แก่เสนามาตย์ในท้องถิ่น ห้ามการเก็บภาษีมากกว่าที่ส่วนกลางกำหนด ลดอัตราภาษีในภาคเกษตรหลายครั้ง ลดอัตรากำลังพลในการเกณฑ์ทหารเพื่อให้ภาคเกษตรมีแรงงานเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการศึกษาด้วยการสร้างสำนักวิชาขึ้นหลายแห่ง และฟื้นฟูการสอบคัดเลือกขุนนางดังที่ราชวงศ์ฮั่นได้ริเริ่มเอาไว้ เป็นต้น

นอกจากนี้ หลิวอี้ว์ยังปฏิเสธการใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยในราชสำนักดังที่จิ้นตะวันออกเคยทำให้เห็น ยิ่งมีภูมิหลังมาจากครอบครัวเกษตรกรที่ยากจนด้วยแล้ว ก็ยิ่งผลักดันให้หลิวอี้ว์ใช้นโยบายที่สร้างสรรค์อีกด้วย

กล่าวคือ หลิวอี้ว์ไม่เพียงกำหนดค่าใช้จ่ายในราชสำนักเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากยังรวบรวมเอาเครื่องมือทางการเกษตรและเสื้อผ้ากับเสื้อหนาวที่เต็มไปด้วยรอยปะชุน ที่เขาเคยใช้เมื่อครั้งเป็นเกษตรกรในวัยหนุ่มมาไว้ในวังหลวง

เพื่อให้บุตร-หลานได้ระลึกถึงชีวิตที่ลำเค็ญของบรรพชนก่อนที่จะก้าวขึ้นมามีอำนาจอยู่เสมอ

 

ภายใต้นโยบายและระบบการปกครองดังกล่าว ต่อมาได้กลายเป็นรากฐานทางการเมืองที่สร้างความสงบสุขให้แก่จีนยาวนานเกือบ 30 ปี ด้วยหลังจากสิ้นหลิวอี้ว์ไปแล้ว ผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิองค์ต่อมาคือหลิวอี้ฝู (ค.ศ.406-424)

แต่หลิวอี้ฝูไม่เป็นที่เคารพยกย่องของเหล่าเสนามาตย์ ด้วยเห็นว่าหลิวอี้ฝูไร้ความสามารถและคุณธรรม ดังนั้น เมื่อหลิวอี้ฝูเป็นจักรพรรดิได้ไม่นานก็ถูกสำเร็จโทษโดยเสนามาตย์เหล่านั้น จากนั้นเหล่าเสนามาตย์ก็อัญเชิญบุตรอีกคนหนึ่งของหลิวอี้ว์คือ หลิวอี้หลง (ค.ศ.407-453) ขึ้นเป็นจักรพรรดิ

นับแต่นั้นมาหลิวอี้หลงก็ได้สืบสานการเมืองการปกครองที่บิดาของตนวางรากฐานเอาไว้ จนสร้างความเจริญแก่รัฐหลิวซ่งต่อเนื่องยาวนานร่วม 29 ปี ยุคแห่งความรุ่งเรืองนี้ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่าการเมืองสมัยหยวนเจีย (หยวนเจียจือจื้อ, Reign of Yuanjia)

อนึ่ง คำว่าหยวนเจียนี้คือชื่อรัชศกหรือรัชสมัยที่หลิวอี้หลงใช้ตลอดขณะเป็นจักรพรรดิ

 

แม้การเมืองสมัยหยวนเจียจะสร้างความรุ่งเรืองสักปานใดก็ตาม แต่ก็มิอาจขวางกั้นแรงปรารถนาในอำนาจของผู้เป็นบุตรคือหลิวเส้า (ค.ศ.430-464) ด้วยเขาได้วางแผนฆ่าหลิวอี้หลงผู้เป็นบิดาของตนแล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิ

แต่ไม่นานหลังจากนั้นหลิวเส้าก็ถูกฆ่าโดยน้องชายคนหนึ่งของตนคือหลิวจวิ้น (ค.ศ.430-464) แล้วหลิวจวิ้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิสืบต่อ

หลิวจวิ้นเป็นบุคคลที่เกิดในชั้นหลัง หาได้ผ่านความยากลำบากเยี่ยงบรรพชนมาก่อน ชีวิตจึงอยู่สุขสบายมาแต่วัยเยาว์ ดังนั้น เมื่อขึ้นเป็นจักรพรรดิแล้วจึงรังเกียจและดูหมิ่นถิ่นแคลนเครื่องมือทางการเกษตร และเสื้อผ้ากับเสื้อหนาวที่เต็มไปด้วยรอยปะชุนที่บิดาของเขาตั้งแสดงไว้ในวังหลวง

หลิวจวิ้นกล่าวถึงสิ่งที่ตั้งแสดงเหล่านี้อย่างเสียดเย้ยว่า “มนุษย์บ้านนอกคอกนาก้าวขึ้นสูงเยี่ยงนี้นับเป็นบุญเพียงใดแล้ว” การปกครองของเขาจึงตั้งอยู่บนฐานทัศนคติเช่นนี้

ควรกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ปิตุฆาตและภารดาฆาตที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ต่อมามีบุคคลนิรนามนำมาแต่งเป็นเพลงพื้นบ้านมีคำร้องว่า “เจี้ยนคังนคราพิศดู เห็นคูคลองทวนกระแส เบื้องหน้าแลดูบุตรฆ่าบิดา เบื้องหลังคาตาน้องฆ่าพี่”

แต่บทเพลงนี้หาได้รั้งเหตุการณ์เช่นว่าให้ยุติลงไม่ เพราะภายหลังที่สิ้นหลิวจวิ้นไปแล้วบุตรของเขาคือหลิวจื่อเย่ (ค.ศ.449-466) ก็ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ

หลิวจื่อเย่ไม่เพียงมีพฤติกรรมฆ่าล้างเครือญาติดังบิดาของตนเท่านั้น หากเขายังได้สร้างเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาอีกด้วย

 

เรื่องที่ว่าคือ หลิวจื่อเย่เป็นผู้นิยมเสพกามรสเป็นที่ยิ่ง จนทำให้เขาต้องมีนางในคอยปรนเปรอกามนับหมื่นคน เรื่องนี้ทำให้น้องสาวของเขาเห็นว่าไม่ยุติธรรมและต้องการเช่นนั้นบ้าง

หลิวจื่อเย่จึงสรรหาเด็กหนุ่มมา 30 คนให้น้องสาวของตนเพื่อปรนเปรอกามตามคำเรียกร้อง

จะเห็นได้ว่าเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวมิสู้จะได้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จีนหรือของชาติอื่นมากนัก แต่หากตัดประเด็นในทางศีลธรรมแล้ว บางทีกรณีนี้สำหรับในหมู่ผู้ศึกษาเรื่องเพศสภาพ (gender) คงเข้าใจได้ว่า การที่เพศชายผูกขาดการเสพกามรสได้โดยเสรีมากกว่าเพศหญิงนั้น เป็นเพราะเพศชายเป็นผู้ผูกขาดอำนาจ

ดังนั้น กรณีหลิวจื่อเย่สรรหาชายหนุ่ม 30 คนให้แก่น้องสาวของตนเพื่อปรนเปรอกามดังกล่าวจึงน่าที่จะเกี่ยวกับประเด็นทางอำนาจ แต่น่าจะมาจากผู้ที่เรียกร้อง “ความยุติธรรม” เป็นน้องสาวของตนต่างหาก กล่าวอีกอย่างคือ หากเป็นผู้อื่นที่มิใช่วงศาคณาญาติแล้ว การเรียกร้องเช่นนั้นอาจนำภัยมาสู่ผู้เรียกร้องได้ไม่ยาก

ตรงประเด็นหลังนี้เองจึงเป็นประเด็นอำนาจ นั่นคือ การผูกขาดอำนาจนำมาซึ่งการผูกขาดการเสพกามรส

จากเหตุดังกล่าว กรณีหลิวจื่อเย่สรรหาชายหนุ่มให้แก่น้องสาวของตนจึงถูกนำมาโยงกับประเด็นทางศีลธรรม แต่ไม่ได้โยงกับประเด็นเรื่องอำนาจ ด้วยเวลานั้นเกณฑ์คุณค่าทางจริยธรรมของลัทธิขงจื่อได้ฝังรากอยู่ในสังคมจีนแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องอื้อฉาวอันบัดสีบัดเถลิงดังกล่าวอยู่ในความรับรู้ของผู้เป็นลุงของหลิวจื่อเย่คือ หลิวยี่ว์ (ค.ศ.439-472)1 โดยตลอด อนึ่ง อันตัวหลิวยี่ว์นี้ถูกตั้งฉายาว่า “องค์ชายสุกร” เหตุเพราะเขามีเรือนร่างที่อ้วนท้วนเทอะทะ

ด้วยเหตุที่หลิวยี่ว์รับรู้เรื่องอื้อฉาวดังกล่าว เขาจึงวางแผนสังหารหลิวจื่อเย่แล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิแทน พลันที่ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ หลิวยี่ว์ก็เข่นฆ่าเครือญาติในสายของหลิวจวิ้นจนสิ้นเพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนามต่อไป

สถานการณ์ของราชวงศ์หลิวซ่งหลังจากสิ้นหลิวยี่ว์ไปแล้ว ยังคงเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจในหมู่พี่น้องและเครือญาติ

จากเหตุดังกล่าว พอราชวงศ์นี้มีจักรพรรดิไปอีกสององค์ ขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลในขณะนั้นคือเซียวเต้าเฉิง (ค.ศ.427-482) ก็สังหารจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้แล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิในนามราชวงศ์ใหม่ นั่นคือ ราชวงศ์หนันฉี

ราชวงศ์หลิวซ่งจึงล่มสลายลงโดยมีจักรพรรดิรวม 8 องค์ และมีอายุราชวงศ์ราว 59 ปี

 

ราชวงศ์หนันฉี

เซียวเต้าเฉิงก็เหมือนกับผู้นำอีกหลายคนในประวัติศาสตร์จีน ที่แม้จะแย่งชิงอำนาจมาจากผู้อื่น แต่เมื่อได้อำนาจมาแล้วก็มิได้ใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ

ตรงกันข้าม นับแต่ ค.ศ.479 ที่ได้สถาปนาราชวงศ์หนันฉี (ฉีใต้, Southern Qi Dynasty, ค.ศ.479-502) หรือที่บางที่เรียกว่าเซียวฉีขึ้นมานั้น การปกครองของเขาก็ไม่ต่างกับยุคต้นของราชวงศ์หลิวซ่ง นั่นคือ เขาได้ใช้นโยบายที่สร้างสรรค์ในการพัฒนา เช่น การสำรวจสำมะโนประชากร หรือการลดภาษีที่ดิน เป็นต้น

กล่าวเฉพาะการสำรวจสำมะโนประชากรแล้วถือเป็นนโยบายที่สำคัญยิ่ง เพราะนับจากราชวงศ์จิ้นเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์หลิวซ่งนั้น การศึกและความขัดแย้งระหว่างชนชาติได้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายทางด้านประชากรขึ้น

การสำรวจในยุคนี้ทำให้แยกแยะจำนวนประชากรได้ชัดเจนขึ้น

———————————————————————————————————-
(1) คำทับศัพท์ชื่อหลิวยี่ว์ ในที่นี้มีเสียงเดียวกับคำว่าหลิวอี้ว์ ที่เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์หลิวซ่ง แต่มีตัวเขียนที่ต่างกัน ในที่นี้จึงทับศัพท์โดยใช้อักขระที่ต่างกันเพื่อมิให้เข้าใจผิดว่าเป็นคนเดียวกัน ทั้งที่จริงแล้วเป็นคนละคนกัน