เปิดทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ : ชวนคุย เรื่องประชาธิปไตย การจัดการน้ำ หนังกลางแจ้ง และการค้า

คุยกับทูต เคส ราเดอ สัมพันธไมตรีกว่าสี่ร้อยปีสยาม-เนเธอร์แลนด์ (จบ)

เนเธอร์แลนด์มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร การค้าระหว่างประเทศจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์

มีบริษัทต่างชาติมากกว่า 5,000 บริษัท เปิดสาขาในเนเธอร์แลนด์ และมากกว่า 300 บริษัทจากเอเชียใช้เนเธอร์แลนด์เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคยุโรปอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจ สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ และเครือข่ายสนธิสัญญาทางภาษีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งความสามารถด้านภาษาของชาวดัตช์ และการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อม ประการสำคัญคือ มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี

บริษัทข้ามชาติของเนเธอร์แลนด์ที่รู้จักกันโดยทั่วไป อาทิ พลังงาน (Royal Dutch Shell), การเงิน (ING Group), สินค้าอุปโภคบริโภค (Unilever), เครื่องดื่ม (Heineken Holding) และเทคโนโลยีหลากหลาย (Philips)

นายเคส พิเทอร์ ราเดอ (His Excellency Mr. Kees Pieter Rade) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เล่าถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์

“เรามีการค้ารวม 4 พันล้านยูโรต่อปี เติบโตขึ้น 17% เมื่อปีที่แล้ว ในความเป็นจริงเรานำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากมายและมากกว่าสินค้าที่เราส่งออกไปยังประเทศไทยซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องจักร และภาคเกษตรกรรม สินค้าที่เรานำเข้าจากประเทศไทย เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เรานำไปประกอบเป็นรถยนต์ส่งออกไปทั่วโลกและสามารถทำกำไร”

“ดังนั้น เราจึงไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องความสมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ ดังเช่นไทยส่งออก 3 พันล้านยูโรไปยังเนเธอร์แลนด์ และเราส่งออก 1 พันล้านยูโรไปยังประเทศไทย ทั้งนี้เพราะเราคิดว่าเรากำลังทำงานในเศรษฐกิจโลก จึงไม่ควรวิเคราะห์แค่เพียงในกรอบทวิภาคี แต่ต้องมองในภาพรวมขนาดใหญ่ของโลก เพราะการค้าเป็นเรื่องสำคัญ”

เนเธอร์แลนด์ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบประเทศป้องกันภัยพิบัติทางน้ำ เพราะมีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

“ผมคิดว่าเป็นการถูกต้องเมื่อถามเรื่องการจัดการน้ำ เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายงานพิเศษคือการบริหารจัดการน้ำ ได้ไปเยือนเนเธอร์แลนด์ในภารกิจการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศเนเธอร์แลนด์”

ระหว่างวันที่ 17-21 กันยายนที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเยือนเนเธอร์แลนด์ตามคำเชิญของนายเคส พิเทอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกระทรวงโครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ ทางน้ำ และอากาศ ดูแลการบริหารจัดการน้ำในระดับนโยบาย การบูรณาการแผนงานและข้อมูล จนถึงคณะกรรมการลุ่มน้ำ

“เรามีการประชุมร่วมกันที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. (ONWR) เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความสนใจในการทำงานร่วมกันในภาคน้ำ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ในประวัติศาสตร์ของเรา”

“น้ำเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 เพราะ 26% ของพื้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ดังนั้น หากเราไม่ดูแลรักษาทะเลไว้เราก็จะมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป เราจึงกลัวว่า ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมาก ปัญหาที่ร้ายแรงมากก็จะตามมา”

“แต่เราชาวดัตช์สามารถปรับตัวให้เข้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีความต้องการที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของเรากับประเทศอื่นๆ”

“นอกจากนี้ เราทราบว่า นที่กรุงเทพฯ ทรุดตัวลงเกือบจะอยู่เท่ากับระดับน้ำทะเล อันเกิดจากน้ำหนักกดทับของอาคาร การสูบน้ำบาดาล และการทรุดตัวตามธรรมชาติ วันนี้ กรุงเทพฯ กำลังค่อยๆ จมลง ประกอบกับน้ำทะเลหนุนอย่างต่อเนื่อง มันจึงน่ากลัวมาก เราจะไม่เห็นในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่จะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย”

ท่านทูตเคส ราเดอ ให้ความคิดเห็น

เรื่องการจัดการน้ำ นำไปสู่ความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Challenge)

“ประเด็นที่สำคัญในประเทศไทยสำหรับเราคือความยั่งยืน ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เรามีการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับสภาพอากาศในเนเธอร์แลนด์เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีความเสี่ยง ด้วยเหตุที่เราเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากอุตสาหกรรมหนักของเรา ดังนั้น เราจึงต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในเวลาเดียวกันก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงว่า อากาศจะร้อนขึ้นและระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น”

“ประมาณปี ค.ศ.2100 ซึ่งอีกไม่นานมากนัก ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้นถึง 2-3 เมตร คุณลองจินตนาการถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 2 เมตรใน 80 ปีข้างหน้า ซึ่งน่าหวาดหวั่นมาก”

“เราเป็นเหตุผลที่สหประชาชาติมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะผู้คนเริ่มตระหนักว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างแท้จริง ด้วยเหตุที่เนเธอร์แลนด์มีประสบการณ์มากมายในภาคธุรกิจนี้ จึงอยากแบ่งปันกับภาคเอกชนของไทย ซึ่งสถานทูตถือเป็นเรื่องสำคัญแรกๆ เราได้ทำงานร่วมกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) บริษัท Indorama เกี่ยวกับพลาสติก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)”

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (re-material) และสนับสนุนการใช้ซ้ำ (reuse) ด้วยเหตุนี้สหภาพยุโรปจึงนำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Package) มาใช้ เพื่อเป็นแนวทางให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิกในการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขัน

และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

เนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญในแนวคิดธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR)

“ทางด้าน CSR เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทข้ามชาติชาวดัตช์มีส่วนในดัชนีความยั่งยืนของเนเธอร์แลนด์อย่างมาก เราให้ความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การศึกษา การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่ผ่านเส้นทางการต่อสู้อันยาวนานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศของ LGBT แน่นอนว่าปัญหาสิทธิในการทำงานของ LGBT นั้นสำคัญสำหรับเราโดยจะจัดกิจกรรมเรื่องที่เกี่ยวกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมในปีหน้า และเราสังเกตว่า บริษัทของไทยหลายบริษัทได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมากเช่นกัน ดังนั้น เราจึงสามารถแบ่งปันประสบการณ์กันได้” ท่านทูตชี้แจง

CSR หมายถึง การมีนโยบายพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน ควบคู่ไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดที่ว่าองค์กรควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ พัฒนา

และมุ่งไปที่การสร้างให้องค์กรมีความ “ดี” ที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนของกิจการและคืนกำไรให้แก่สังคม

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม

“ประเทศไทยเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยว ปีที่แล้วมีชาวดัตช์กว่า 235,000 คนมาเที่ยวที่นี่ ถือว่าเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรดัตช์ทั้งประเทศ เพราะชาวดัตช์เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่สวยงาม คนไทยเป็นมิตร และที่สำคัญมีความปลอดภัย ไม่ค่อยมีอาชญากรรมร้ายแรงใดๆ”

“ในประเทศไทย เรามีนักการทูตที่เป็นชาวดัตช์ 10 คนซึ่งรวมถึงผมด้วย หากรวมเจ้าหน้าที่และหน่วยงานตำรวจ ก็จะมีจำนวนทั้งหมด 40 คนที่ประจำสถานทูตนี้”

ณ บริเวณสวนสวยของทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ จะกลายเป็นโรงภาพยนตร์กลางแจ้ง เพราะจะมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “Tulipani : Love Honor and a Bicycle” ของดัตช์ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม https://www.eventbrite.com/o/euinthailand-18091064149 ซึ่งผู้สนใจจำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางลิงก์นี้

นับเป็นครั้งแรกที่สหภาพยุโรปในประเทศไทยร่วมกับ 19 สถานทูตจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจัดงานเทศกาลภาพยนตร์สหภาพยุโรป “กลางแจ้ง” ประจำปี 2018 (Open-Air European Union Film Festival 2018) เพื่อฉลองปีแห่งมรดกทางวัฒนธรรมยุโรป มีหนังสัญชาติยุโรปถึง 19 เรื่องให้ชมกันอย่างจุใจ 19 คืน พิเศษยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นการฉายหนังกลางแปลงที่จัดขึ้นที่ทำเนียบทูต สถาบันทางวัฒนธรรมยุโรป และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ทั้งหมด 10 แห่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

รายละเอียดหนัง : https://bit.ly/2PZm67M ลงทะเบียนได้ที่ https://euinthailand.eventbrite.com

นอกเหนือจากความร่วมมือด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและการเกษตรที่เนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญแล้ว ยังมีความร่วมมือด้านอื่นที่สำคัญ ในประเด็นที่ท่านทูตเคส ราเดอ เล่าดังต่อไปนี้

“เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางการเงิน เงินกองทุนที่ผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย กลุ่มอาชญากรเหล่านี้มักโอนย้ายเงินไปต่างประเทศโดยใช้ประเทศ เช่น ไทย และสิงคโปร์ ซึ่งมีระบบการเงินแบบเปิด และเรากำลังดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้”

“ต่อไป ยังมีกรณีของเว็บมืด อันเป็นส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงได้ยาก อาชญากรใช้ทำธุรกรรมทุกชนิดรวมทั้งการขนย้ายยาเสพติดไปทั่วโลก เรามีความร่วมมือที่ดีระหว่างคนไทยกับคนดัตช์และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองฝ่าย เพราะเราต้องการจับกุมบุคคลเหล่านี้ซึ่งแฝงตัวอยู่ในประเทศไทย”

“ถ้าจะบอกว่าเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีปัญหา ก็คงไม่ใช่ เพราะเรามีปัญหาหลักๆ สองเรื่อง หรืออาจจะมากกว่า แต่สองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือ ยาเสพติดสังเคราะห์ (Synthetic Drugs) ที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมี เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน ยาอี และเราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหลักในโลกของยาเสพติดเหล่านี้”

“อีกเรื่องหนึ่งคือ การค้าประเวณีเด็ก เพราะชาวดัตช์บางคนมาที่นี่เพื่อการค้าประเวณีเด็ก และตอนนี้เป็นที่รู้กันว่ามีการล่วงละเมิดเด็กผ่านทางอินเตอร์เน็ต เมื่อคุณได้อ่านเรื่องราวแล้วจะรู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก และเรามีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานทูตซึ่งมีความเชี่ยวชาญกรณีนี้”

“เนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วโดยเฉลี่ยสูงสุด เรามีเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่จาก Google และ Amazon ซึ่งมีฐานที่ตั้งในเนเธอร์แลนด์ เรามีภาคไอทีที่มีความหนาแน่นสูงมาก อาชญากรรมด้านไอทีจำนวนมากจึงเกิดขึ้นที่เนเธอร์แลนด์ เป็นเรื่องที่โชคไม่ค่อยดีนักสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะต้องทำงานกันอย่างหนัก ผมจึงขอบอกอีกครั้งว่า เรามีความสุขมากที่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเป็นอย่างดี”

ความท้าทายในการเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

“สิ่งที่ผมต้องการทำก็คือ การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเนเธอร์แลนด์ ถ้าคุณถามชาวดัตช์เกี่ยวกับประเทศไทย พวกเขาจะพูดคุยเกี่ยวกับสภาพอากาศและชายหาดที่สวยงาม และอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกัน หลายคนก็ยังคงมีภาพลักษณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศหรือโสเภณี”

“ตรงนี้คือเป้าหมายของผมที่ต้องการให้ชาวดัตช์ในเนเธอร์แลนด์มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยให้มากขึ้น รวมทั้งการมีโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ได้เคยทำไปแล้ว เพื่อที่เราจะสามารถก้าวเดินไปสู่อนาคตได้”

“นอกจากนี้แล้ว เรายังสามารถให้ข้อมูลข่าวสารแก่สื่อมวลชนและแขกผู้มาเยือนจากเนเธอร์แลนด์ ด้วยการให้เขาได้เห็นถึงเรื่องราวอีกด้านหนึ่งที่แตกต่างจากที่เขาได้ยินมาในทางลบ”

ประเทศไทยสามารถก้าวไปข้างหน้าและกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ในอีกไม่นานนี้ ต่อไปจึงเป็นทัศนะเกี่ยวกับการเมืองไทยของท่านทูตเคส ราเดอ แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

“เรามีความยินดีมากที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะทำให้สหภาพยุโรปกลับมาติดต่อสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศไทยอีกครั้ง เราหวังว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีความน่าเชื่อถือและสะท้อนความต้องการของประชาชน ไม่เหมือนกัมพูชา ซึ่งเรามีข้อสงสัยมากต่อการเลือกตั้งที่ไร้การแข่งขัน และไร้ซึ่งกระบวนการการเลือกตั้งที่ครอบคลุมทุกฝ่าย”

“เราคาดหวังว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยจะมีกระบวนการที่แตกต่างออกไป และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ผมคิดว่าคราวนี้น่าจะมีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรก 7 ล้านคน ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาจะโหวตอย่างไรเนื่องจากยังไม่เคยโหวตมาก่อน”

มีนักวิชาการกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า คนที่อายุเกิน 18 ปีและมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกรวมแล้วจะมีจำนวนถึง 7-8 ล้านคน ประกอบด้วยคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2011 และคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ.2019 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย

“น่าจะมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่าการเลือกตั้งในอดีต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เราไม่ได้มีความชอบพรรคหรือผู้สมัครคนไหนเป็นพิเศษที่ต้องการจะให้เป็นผู้ชนะ แต่เราจะยินดีมากหากได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง”

“เรื่องสำคัญสำหรับเราคือ ต้องมีรัฐบาลพลเรือนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ที่แน่นอนคือเป็นรัฐบาลของประชาชนชาวไทย อันสะท้อนถึงการเลือกวิถีทางการเมืองของคนไทย ซึ่งจะสามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับไทย”

“เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนของไทยและภาคเอกชนของยุโรป เนื่องจากอัตราภาษีศุลกากรจะลดลง สินค้าไทยจะเข้าสู่ตลาดยุโรปได้ง่ายขึ้น และอีกแง่หนึ่ง จะทำให้สินค้าของเราสามารถเข้าสู่ตลาดไทยได้ง่ายขึ้นเช่นกัน”

“การพัฒนาในเชิงบวกดังกล่าว ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับเรา ขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือราวๆ นั้น เรามีความหวังมากทีเดียว เพราะเรา ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ได้ประชุมร่วมกับบรรดาผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อความเข้าใจในมุมมองต่อการเลือกตั้งและความต้องการของแต่ละฝ่ายได้ดีขึ้น”

“อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและกันในประเด็นอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญสำหรับเรา ตัวอย่าง เรื่องที่เกี่ยวกับความยั่งยืนและการยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้น จึงพูดได้ว่า เราเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว”