บทวิเคราะห์ : เด็กบนสังเวียนมวยไทย วิถีแห่งเลือดและน้ำตา

ระยะหลังมานี้ มวยไทย กีฬาประจำชาติ และเป็นกีฬาที่คนไทยภาคภูมิใจ มีชื่อเสียงกระฉ่อนออกไปทั่วโลก เพราะมีโปรโมเตอร์ในระดับอินเตอร์จัดการแข่งขันกันบ่อยครั้ง และในหลากหลายประเทศ

ภาพสะท้อนความนิยมกีฬาชนิดที่ฝรั่งเรียกว่า “บลัด สปอร์ต” อย่างเช่นมวยไทยนี้เห็นได้ชัดจากกรณีที่เกิดเหตุการณ์นักมวยเด็กอย่างอนุชา ทาสะโก อายุ 13 ปี เสียชีวิตจากการชกมวยไทย ในชื่อ “เพชรมงคล ส.วิไลทอง” ในรายการมวยการกุศลรายการหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ จากอาการเลือดออกในสมองเพราะถูกชกศีรษะซ้ำๆ ส่งผลให้เกิดกระแส พูดถึงกันกระหึ่มเมือง ต่อด้วยความพยายามออกกฎหมายใหม่ กำหนดอายุนักมวยเด็กที่จะขึ้นชกได้ต้องเกินกว่า 12 ปีแล้วเท่านั้นขึ้นมา

ประเด็นถกเถียงในเรื่องนี้แพร่ออกไปไกลในหลายประเทศ

สื่อในสหรัฐอเมริกาก็ดี ฝรั่งเศสก็ดี เรื่อยไปจนถึงแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาก็หยิบยกเรื่องนี้มานำเสนอ

หลังจากสำนักข่าวหลักๆ ในไทย ทั้งเอเอฟพี รอยเตอร์ส และเอพี รายงานเรื่องนี้ออกไปกันถ้วนหน้า

เนื้อหาคล้ายกัน นำเสนอทั้งในด้านของผู้ที่สนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายและผู้คนในแวดวงมวยไทยที่กึ่งๆ จะต่อต้านอยู่ในที

แต่มีการนำเสนอรายละเอียดไว้ต่างกันอย่างน่าสนใจ

 

ในรอยเตอร์สและเอเอฟพีนำเสนอมุมมองของจิราภรณ์ เหล่าธรรมทัศน์ ผู้อำนวยการศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ใช้เวลา 5 ปีศึกษารูปแบบอาการบาดเจ็บสะสมและการสูญเสียความทรงจำในนักมวยเด็กอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการของศูนย์เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัยในเด็กของโรงพยาบาลเดียวกัน โดยอาศัยเอ็มอาร์ไอสแกนสมองของนักมวยเด็ก 335 คน เปรียบเทียบกับผลการสแกนสมองของเด็กวัยเดียวกันแต่ไม่ได้เป็นนักมวย 252 คน

อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า ผลการศึกษานั้น “แสดงชัดเจน” ว่า นักมวยเด็กนั้น เซลล์สมองเสียหายและฉีกขาด ทั้งยังมีระดับไอคิว “ต่ำ” อีกด้วย

เมื่อเด็กอายุยังน้อย กล้ามเนื้อและกะโหลกยังพัฒนาไม่เต็มที่ อาการเสียหายยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว นี่ยังไม่นับอาการบาดเจ็บสะสม ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นอาการอัลไซเมอร์เมื่อเด็กเหล่านี้สูงวัยเป็นผู้ใหญ่อีกด้วย

จิราภรณ์บอกกับรอยเตอร์สว่า ความตายของอนุชานั้นเป็นเรื่อง “ไม่ควรเกิดขึ้นเลย” ถ้าหากมีแพทย์เฝ้าระวังเหตุอยู่ระหว่างการชกครั้งนั้น

“เด็กๆ พวกนี้มาจากครอบครัวยากจน การชกมวยเป็นวิธีหาเลี้ยงชีวิตของพวกเขา แต่ถ้ามีทางทำได้ ฉันจะกำหนดให้อายุน้อยที่สุดที่จะขึ้นชกมวยไทยได้คือ 18 ปี”

จิราภรณ์บอกอย่างนั้น

 

แต่บรรดาผู้ฝึกสอน ครูมวยและเจ้าของยิม รวมไปถึงบรรดานักมวยเก่าที่สร้างชื่อมาด้วยมวยไทย กลับบอกกับเอเอฟพีไปอีกอย่างหนึ่ง

นักชกอย่างวันเฮง มีนะโยธิน แชมป์โลกดับเบิลยูบีซี รุ่นมินิมัมเวต คนที่ทำลายสถิติสวยหรูของฟลอยด์ เมย์เวตเธอร์ 50-0 ลงได้ในปีนี้ รวมถึงทวี อัมพรมหา หรือ “ขาวผ่อง สิทธิชูชัย” นักชกสากลสมัครเล่นในตำนานเจ้าของเหรียญโอลิมปิกเหรียญแรกของประเทศไทย ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ก่อนมาถึงความสำเร็จในวันนี้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกหัดชกมวยไทยมาตั้งแต่อายุก่อน 12 ปีทั้งนั้น

ทนายความตัวแทนของค่ายมวยส่วนหนึ่งบอกกับเอพีว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับอนุชาเป็น “อุบัติเหตุ” ที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

และคงไม่เกิดขึ้นหาก “กรรมการฉับไวพอ” และ “มีแพทย์สนามพร้อม” ในการแข่งขันหนนั้น

 

บางคนอ้างว่า มวยไทยตกเป็นเป้าอย่างไม่ค่อยแฟร์เท่าใดนัก ชี้ให้เอเอฟพีเห็นว่า มวยเป็นกีฬาอย่างเดียวที่เด็กๆ ยากจนทั้งหลายในประเทศนี้เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ไม่ต้องใช้เงินใช้ทองฟุ่มเฟือยเหมือนกีฬาอย่างกอล์ฟ หรือเทนนิส นอกจากนั้นยังเป็นวิถีทางที่ดีอย่างหนึ่งในการก้าวข้ามความยากจน หาเงินเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูพ่อแม่พี่น้องได้

ในแง่นี้ มวยจึงไม่เพียงเป็นวิถีของคนสู้ชีวิต ปากกัดตีนถีบตั้งแต่อ้อนแต่ออก ยังเป็นหนทางในการสร้าง “กระดูกมวย” สั่งสมประสบการณ์สำหรับ “ไล่ตามความฝัน” ของอนาคตที่รุ่งโรจน์ หลุดพ้นจากเวทีของเลือดและน้ำตาอีกต่างหาก

จนถึงบัดนี้ เรื่องมวยเด็ก-มวยไทย ยังไม่ได้ข้อยุติ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ยังไม่ยักมีใครเสนอตัวศึกษาวิจัยอย่างถ่องแท้ว่า ถ้าหากจะยังรักษาวิถีเดิมของเด็กไทยส่วนหนึ่งเอาไว้

เด็กๆ ต้องป้องกันตัวเองอย่างไร กติกาต้องเปลี่ยนแปลงไหม จำเป็นต้องมีเครื่องป้องกันอะไรบ้าง?

หาทางสายกลางที่รับกันได้ทุกฝ่าย จะดีกว่าไหมครับ?