จิตต์สุภา ฉิน : เรา “พูดอย่าง ทำอย่าง” เรื่องความเป็นส่วนตัว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

แม้จะรู้ว่าการมีลำโพงอัจฉริยะวางนิ่งๆ อยู่ในบ้านจะเท่ากับการมีไมโครโฟนซึ่งกระทำการบันทึกเสียงอยู่ตลอดเวลา

แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังเลือกซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาประดับเอาไว้ตามห้องต่างๆ ภายในบ้าน

ไม่ว่าจะเป็นเอ็กโค่ของอเมซอน โฮมพอดของแอปเปิล หรือกูเกิลโฮมของกูเกิล

เราอาจจะเข้าใจไปว่าการใช้เสียงเรียกชื่อผู้ช่วยส่วนตัวที่ฝังอยู่ในลำโพงเหล่านี้จะเหมือนกันกับการเรียก “หวัดดี สิริ” ที่บางครั้งมันก็ได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง ทำหูทวนลมใส่เราบ้าง

แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว ไมโครโฟนของลำโพงเหล่านี้ไวกว่าเยอะมากค่ะ

ซู่ชิงสามารถอยู่ในห้องนอน แล้วเรียกชื่อ “อเล็กซ่า” ด้วยระดับเสียงที่เบากว่าการพูดคุยปกติเล็กน้อย ลำโพงอัจฉริยะที่อยู่ในห้องถัดไปก็จะสว่างวาบขึ้นมาทันที

ความเป็นส่วนตัวที่ถูกกัดกร่อนโดยอุปกรณ์ประจำบ้านต่างๆ เหล่านี้เป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงและถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง

ผู้ใช้ส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าการซื้อลำโพงอัจฉริยะมาติดตั้งไว้ในบ้านอาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียความเป็นส่วนตัวได้ แต่ก็ยักไหล่ ไม่แคร์ และซื้อมาใช้งานอยู่ดี

เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้นกันล่ะ

 

เรื่องนี้ร้อนถึงนักวิจัยที่ต้องลุกขึ้นมาหาคำตอบว่า ทำไมคนที่รู้อยู่เต็มอกว่าการใช้ลำโพงอัจฉริยะจะทำให้ความเป็นส่วนตัวลดน้อยลงถึงได้ไม่เกรงกลัวและยังใช้มันต่อไปอยู่ดี

ทั้งๆ ที่เคยเกิดเหตุการณ์น่าหวาดเสียวอย่างกรณีที่ลำโพงเอ็กโค่เคยบันทึกเสียงของสามีภรรยาที่กำลังคุยกันในบ้าน แล้วส่งไฟล์ออกไปให้เพื่อนของทั้งคู่ได้ฟัง ด้วยความที่ตัวลำโพงเข้าใจว่าได้รับคำสั่งให้ทำแบบนั้น

เราไม่มีทางรู้เลยว่าไฟล์เสียงที่อุปกรณ์เหล่านี้บันทึกเอาไว้ได้จะถูกส่งออกไปให้บุคคลที่สามคนไหน

หรือจะถูกแฮ็กเกอร์ล้วงเอาไปเมื่อไหร่

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนค้นพบว่าคนกลุ่มนี้มองว่าการต้องเสียความเป็นส่วนตัวไปบ้างได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

และบริษัทเทคโนโลยีอย่างกูเกิลหรืออเมซอนทั้งหลายก็รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเราจำนวนมากอยู่แล้ว

ให้รู้เพิ่มไปอีกสักหน่อยจะเป็นไรไป ซึ่งนักวิจัยบอกว่าการคิดแบบนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก

นี่นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกอย่าง ซึ่งก็คือการ “โนแคร์โนสน” เกี่ยวกับความปลอดภัย

แม้ปากอาจจะพร่ำพูดว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับต้นๆ

แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงกลับพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจขนาดนั้น

นักวิจัยได้สัมภาษณ์ผู้ใช้ลำโพงอัจฉริยะทั้งหมด 17 คน และอีก 17 คนที่ไม่เคยใช้งานอุปกรณ์ประเภทนี้เลย โดยให้คนกลุ่มแรกเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งานอุปกรณ์เป็นรายสัปดาห์

ทีมนักวิจัยได้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจว่าคนที่ใช้ลำโพงอัจฉริยะไม่เคยแบ่งเวลามาปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อความปลอดภัยเลย ตามปกติอุปกรณ์เหล่านี้จะมาพร้อมกับฟีเจอร์ป้องกันความเป็นส่วนตัวบางอย่าง อย่างเช่น ปุ่มที่สามารถเปิด-ปิดไมโครโฟน เพื่อไม่ให้มันคอยฟังเสียงเราตลอดเวลา ฟีเจอร์การเข้าไปตรวจสอบรายการกิจกรรมต่างๆ ที่ทำ เพื่อดูว่าลำโพงได้เผลออัดเสียงของเราไปเมื่อไหร่บ้าง ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกลบได้ แต่ก็กลับพบว่าผู้ใช้ไม่เคยย่างกรายเข้าไปตรวจสอบเลย และปุ่มที่ว่าก็ไม่เคยได้รับการกดแม้แต่ครั้งเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใช้ยังแอบใช้ฟีเจอร์ที่ตัวเองหวาดหวั่นเหล่านี้แหละมาแอบสอดส่องคนในบ้าน อย่างพี่เลี้ยงเด็กหรือแม่บ้านอีกที

 

ลําโพงอัจฉริยะส่วนใหญ่จะไม่เริ่มบันทึกเสียงถ้าหากไม่ได้ยินคำเรียกที่ปลุกให้ตื่น ซึ่งคำที่ว่าก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์

อย่างกรณีของลำโพงเอ็กโค่ของอเมซอนคือคำว่า “อเล็กซ่า” เมื่อไหร่ที่อุปกรณ์ได้ยินคำนี้ มันก็จะตื่นขึ้นและเริ่มบันทึกเสียงทันที

แต่นั่นก็แปลว่าไมโครโฟนจะต้องเริ่มทำงานตั้งแต่เราจะเรียกชื่อแล้วจริงไหมคะ

การที่ผู้ใช้จะมั่นใจว่าอุปกรณ์จะเริ่มอัดเสียงหลังจากที่เราเรียกชื่อมันแล้วเท่านั้นก็ถือเป็นการที่ผู้ใช้ให้ความไว้วางใจเต็มร้อยว่าบริษัทเทคโนโลยีผู้ผลิตจะทำตามที่แจ้งไว้และไม่ทำนอกเหนือจากนั้นจริงๆ

เพราะไม่มีใครรู้ได้เลยว่าอันที่จริงแล้วอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้กำลังบันทึกเสียงที่มันไม่สมควรบันทึกอยู่หรือเปล่า

เรื่องนี้ชวนให้คิดและย้อนกลับมามองตัวเองอยู่เหมือนกันนะคะ

เรามักจะพร่ำบอกอยู่เสมอ (รวมถึงตัวซู่ชิงเองด้วย) ว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรปล่อยปละละเลย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อต้องลงมือทำจริงๆ เรากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

เรารู้กันดีว่าพาสเวิร์ดควรตั้งให้มีความสลับซับซ้อน เปลี่ยนบ่อยๆ หรือควรตั้งพาสเวิร์ดที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละเว็บไซต์

แต่ความเป็นจริงคือเราทำเช่นนั้นกันน้อยมาก

นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราก็ยังคงใช้พาสเวิร์ดเดิมกับทุกเว็บไซต์ และพาสเวิร์ดยอดฮิตของทุกปียังคงเป็น 12345 อย่างสม่ำเสมอ

เคยมีผลวิจัยจากพิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ เมื่อหลายปีก่อนที่พบว่าคนอเมริกันรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะใช้ช่องทางการสื่อสารอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอีเมล โทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์บ้าน แต่ถ้าจะให้เลือกว่าอะไรปลอดภัยที่สุดที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันนั้น

โทรศัพท์บ้านก็จะเป็นตัวเลือกที่พวกเขารู้สึกอุ่นใจที่สุด

แต่ในความเป็นจริงคือคนใช้โทรศัพท์บ้านน้อยลง น้อยลงทุกที

 

กลับมาดูที่ตัวเรา เราก็เป็นแบบนี้เหมือนกันใช่ไหมคะ

ถึงจะมีข่าวออกมาหนาหูว่าเฟซบุ๊กและบริการอินเตอร์เน็ตต่างๆ ทำข้อมูลส่วนตัวของเรารั่วไหล หรือเข้ามามีบทบาทในการคัดเลือกว่าเราควรจะเห็นหรือไม่เห็นอะไรบ้าง

บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ใช้อัลกอริธึ่มในการประมวลผลข้อมูลจนรู้จักเราดียิ่งกว่าตัวเราเองเสียอีก

รู้แม้กระทั่งว่าลูกค้าคนไหนตั้งครรภ์ก่อนที่ลูกค้าคนนั้นจะรู้ตัวเสียด้วยซ้ำ

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่เคยทำให้เราเลิกใช้โซเชียลมีเดียหรือบริการต่างๆ เหล่านั้น

ซึ่งอาจจะเพราะเราไม่มีทางเลือก หรือเราเคยชินกับการมีสิ่งเหล่านี้เข้ามาอำนวยความสะดวกสบายจนอยู่โดยปราศจากมันไม่ได้เสียแล้ว

มีเสียงเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยผู้ใช้มากขึ้น

เช่น แทนที่จะติดตั้งเป็นปุ่มเปิดปิดไมโครโฟนที่ผู้ใช้ต้องเดินไปกดด้วยตัวเอง ก็เปลี่ยนให้เป็นฟีเจอร์ที่สามารถสั่งเปิดปิดได้ผ่านการใช้เสียง เพราะไหนๆ เราก็เคยชินกับการใช้งานลำโพงอัจฉริยะเหล่านี้ด้วยการใช้เสียงสั่งอยู่แล้ว

หรือยอมให้ผู้ใช้สั่งให้ลำโพงลืมและลบทุกอย่างที่บันทึกเอาไว้ในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา เป็นต้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ยากเกินกว่าที่บริษัทจะทำได้

และจะทำให้ผู้ใช้งานอย่างเรายอมให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมากขึ้นแบบที่ไม่ต้องมือถือสาก ปากถือศีล เหมือนที่ผ่านมา

แต่ใครจะไปรู้คะ อันที่จริงทุกวันนี้ก็เริ่มสายเกินไปแล้วนิดหนึ่งด้วยซ้ำที่เราจะสามารถพูดว่าเราใส่ใจความเป็นส่วนตัวได้อย่างเต็มปาก

เพราะหลายๆ อย่างเรายอมแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งความสะดวกสบาย

หากเรายอมให้ความเป็นส่วนตัวของเราถูกกัดกร่อนต่อไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งเราก็อาจจะพากันไปถึงจุดที่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป

และข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราทั้งหมดไม่ว่าจะตื้น ลึก หนา บาง แค่ไหน

ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นสาธารณะอย่างเท่าเทียมกันทุกคน