ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
โพล คือการสํารวจความคิดเห็น หรือท่าทีของสาธารณชน ซึ่งนับว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งในเชิงสถิติ โดยเฉพาะโพลทางการเมืองที่ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก และด้วยความเป็นศาสตร์ จึงถูกยึดให้มีความน่าเชื่อถือเนื่องจากมีแนวโน้มที่ถูกต้องเสมอมา และยิ่งเมื่อผลโพลถูกนำไปเผยแพร่ผ่านสำนักข่าว และส่งต่อไปในวงกว้างก็ยิ่งชี้นำคนในสังคมให้คิดตามได้ไม่ยาก
แต่แล้วโพลกลับมีข้อกังขาเมื่อผลที่ออกมาผิดพลาด มันคือความผิดพลาดของใคร นักทำโพล? หรือกลุ่มตัวอย่าง?
ก่อนหน้านี้ เคยมีกรณี “เบร็กซิท” การทำประชามติว่าสหราชอาณาจักรควรคงสภาพเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) หรือจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความผิดพลาดของโพลการเมือง
แม้ผู้ทำโพลจะยืนยันอย่างแน่วแน่ในกรณีดังกล่าวว่าผลโพลแสดงออกมาให้เห็นถึงความสูสีชนิดที่บอกไม่ได้ว่าฝ่ายไหนชนะ และแม้ฝ่ายที่บอกว่าอยู่ต่อจะนำหน้า ฝ่ายที่บอกว่าออกไปนิด แต่ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดอยู่ดี
หรืออย่างกรณีช็อกโลก หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เกิดปรากฏการณ์พลิกล็อก เมื่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ได้รับชัยชนะท่วมท้น เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของประเทศสหรัฐ คะแนนนำทิ้งห่าง นางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครต ชนิดแหกผลโพลเกือบทุกสำนักที่เคยฟันธงเอาไว้ว่านางฮิลลารี ซึ่งมีคะแนนการหยั่งเสียงนำโด่งมาตลอดในช่วงการหาเสียง 18 เดือน และจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ
ตอกย้ำความผิดพลาดกันไปอีกเมื่อสหรัฐถือเป็นประเทศต้นกำหนดโพล ที่บุกเบิกโดยสำนักโพลกัลลัพ ในปี 1963 จากการคาดการณ์แนวโน้มการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ก็เกิดความผิดพลาดในการรายงานผลการแข่งขันระหว่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช กับ อัลกอร์ ในปี 2000 ที่กัลลัพยืนยันว่าอัลกอร์จะได้ตำแหน่ง ผลปรากฏว่าเป็นบุชที่ได้
ทำให้กัลลัพต้องเลิกทำโพลการเมืองมาตั้งแต่นั้น
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า วิธีเก็บข้อมูลแบ่งออกเป็น การสอบถามผ่านทางโทรศัพท์ การสอบถามส่วนตัว การสอบถามผ่านไปรษณีย์ และการสอบถามทางออนไลน์ที่เหมาะกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งหากพบเป็นส่วนตัว มักจะไม่อยากพูดเพราะเสี่ยงต่อความปลอดภัย ทำให้อาจจะตอบไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือตอบตามกระแสได้ ซึ่งในสหรัฐ การสำรวจโพลยังคงใช้วิธีการถามผ่านทางโทรศัพท์ แต่ระยะหลัง คนอเมริกันยินดีที่จะตอบคำถามในการทำโพลผ่านโทรศัพท์น้อยลงเรื่อยๆ
ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า การลดลงดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการแพร่หลายของเทคโนโลยีใหม่ ที่เรียกกันว่า “คอลเลอร์ ไอดี” หรือในเมืองไทยเรียกกันว่า เทคโนโลยี “โชว์เบอร์” ให้รู้ว่าผู้ที่โทรศัพท์มาหาเราเป็นใคร
คอลเลอร์ ไอดี นี่เอง ที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างที่ถูกสุ่มถาม สามารถเลือกที่จะรับหรือไม่รับโทรศัพท์จากคนทำโพล หรือสามารถตกแต่งความคิดเห็นของตัวเอง ก่อนที่จะตอบคำถาม
แต่ถึงผลโพลของสหรัฐจะออกมาในทางนั้น ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ก็ยังเชื่อว่า ผลโพลที่เกิดขึ้นไม่ได้ผิดพลาดอะไร เนื่องจากโพลที่จัดทำขึ้นจะมีความต่างบวกลบกับค่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งผลโพลที่บอกว่า ฮิลลารีจะได้คะแนนร้อยละ 46 ขณะที่ทรัมป์จะได้คะแนนร้อยละ 45 ก็ไม่ต่างกับความเป็นจริงที่ฮิลลารีได้คะแนนร้อยละ 47.7 ขณะที่ทรัมป์ได้คะแนนร้อยละ 47.5
เพราะสุดท้ายแล้วไม่ใช่คะแนนของประชาชนที่เป็นตัวตัดสิน สิ่งที่จะเป็นตัวเลือกประธานาธิบดีจริงๆ ก็คือระบบ อิเล็กโทรัล คอลเลจ หรือ จำนวนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ ซึ่งในส่วนนี้เมื่อรวมกันในทุกรัฐแล้ว ทำให้ทรัมป์กลายเป็นผู้ที่กวาดอิเล็กโทรัล คอลเลจ ไปถึง 290 เสียง จากส่วนใหญ่ทั้งหมด 538 เสียง
ในไทยก็เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้อย่างการสำรวจความเห็นประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 หลายสำนักอย่าง “สวนดุสิตโพล” และสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ชี้ชัดว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย จะชนะการเลือกตั้ง แต่ผลปรากฏว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ กลับได้รับชัยชนะ
ผลโพลนี้ก็ชี้ให้เห็นได้ว่าคำกล่าวของนักทำโพลที่ว่า “ถือเป็นความมหัศจรรย์ของโพล เพราะกลุ่มตัวอย่างมีเป็นล้าน แต่สุ่มตัวอย่างมาแค่ 2,000 ราย แล้วได้ผลที่ตรงกับคนทั้งหมด” อาจจะไม่จริงเสมอไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนทำโพลอย่าง รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล ต้องออกมาขอโทษถึงกรณีผลโพลคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ ยังพบเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เช่น “คนหลอกโพล-โพลหลอกคน” หรือ โพลรับจ้าง ไร้ค่าสำหรับทั่วไป มีค่ากับคนจ่ายเงิน
ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้ความเห็นกับสื่อมวลชน หลังการเลือกตั้งในครั้งนั้น เกี่ยวกับผลโพลไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ผมลงสมัครรับเลือกตั้ง และเป็น ผอ.เลือกตั้งหลายครั้งแล้ว ยังไม่เห็นว่าเอ็กซิตโพลครั้งไหนแม่นยำเลยซักครั้ง” ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยว่า “อยากให้โพลแต่ละสำนัก กลับไปพิจารณาว่า ในเมื่อคนไทยรักใครชอบใครจะไม่พูด สมควรหรือไม่ที่จะทำเอ็กซิตโพลต่อไป และหากมีใครรู้ผลก่อน แม้จะไม่กี่คน จะเป็นการชี้นำหรือไม่”
ความผิดพลาดเหล่านี้แม้จะเกิดไม่บ่อยก็สั่นทอนความน่าเชื่อถือของโพลไปมาก และหากดูโพลการเมืองหลายๆ อัน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่
อย่างโพลล่าสุดที่ผู้อำนวยการสำนักซูเปอร์โพลจะออกมายืนยันว่า การสำรวจนั้นไม่ได้เข้าข้างรัฐบาล แต่ก็ดูเหมือนจะ “ยาก” และ “ท้าทาย” ที่จะทำให้คนเชื่อเนื่องจากเป็นความเห็น และผลโพลที่ผ่านมา ก็เป็นแง่บวกกับรัฐบาล
อย่างผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยที่ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 82.3 บอกว่าประเทศไทยควรเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
และหากดูคำตอบรับของบิ๊กคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บางคนก็ยังเป็นปลื้มและเชื่อมั่นผลโพล ว่าประชาชนยังเชื่อมั่นในรัฐบาล
ท้ายที่สุด คนจะเชื่ออย่างไรก็เป็นการพิจารณาส่วนบุคคล แต่สำนักโพลต่างๆ ในช่วงนี้ ย่อมต้องตอบคำถามจากสังคม เรื่อง “ความน่าเชื่อถือ” อย่างหนักเป็นธรรมดา