โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/แรงจูงใจของนักการเมืองคืออะไร

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

แรงจูงใจของนักการเมืองคืออะไร

เห็นหัวเรื่องนี้แล้วคุณนึกคำตอบอะไรได้บ้างคะ ผู้เขียนขอเริ่มก่อนก็แล้วกันนะคะ

เริ่มจากแรงจูงใจที่ดีก่อน

อยากเข้าไปบริหารบ้านเมือง แก้ไขสิ่งที่ไม่ดี และเสริมสร้างสิ่งที่ดีเพื่อประชาชน

อยากเห็นสิ่งใหม่ๆ แก้ปัญหาที่หมักหมม ที่ไม่เคยแก้ได้ อยากแก้ปัญหาที่ราก

อยากทลายขั้วอำนาจเดิมๆ ที่ผูกพันกันเป็นเครือข่าย จนขัดขวางประชาธิปไตยที่แท้จริง

อยากเห็นความเหลื่อมล้ำหมดไป อยากให้ประชาชนส่วนใหญ่มีอำนาจอย่างแท้จริง

เชื่อในการเปลี่ยนแปลง

ทีนี้แรงจูงใจที่ไม่ได้เกิดจากการทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดี หรือเพื่อประชาชน ซึ่งเราจะเรียกว่าแรงจูงใจแอบแฝงละ มีอะไรบ้าง

  1. ต้องการสืบทอดอำนาจ
  2. ต้องการใช้การเมืองสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง
  3. ต้องการสร้างเครือข่ายกับผู้ที่เล็งแล้วว่าจะชนะเลือกตั้งและเข้าไปอยู่ในศูนย์อำนาจ

สังเกตไหมคะว่า เมื่อถามถึงแรงจูงใจให้เข้ามาทำงานการเมือง ทุกคนจะตอบตามแรงจูงใจข้อที่ดี ไม่มีใครสักคนจะตอบตามแรงจูงใจแอบแฝงทั้ง 3 ข้อ

 

ทีนี้ถ้าหากมีเครื่องมือสักอย่างที่จับเท็จได้ เหมือนที่ตำรวจใช้จับเท็จคนร้าย เราอาจจะใช้เครื่องมือนั้นจับเท็จนักการเมืองได้ว่า เขาผู้นั้นเข้ามา เพียงเพื่อสืบทอดอำนาจ (ผู้ต้องหาในกรณีนี้คือบรรดาหน้าใหม่นามสกุลดังในวงการเมืองทั้งหลาย) หรือเพื่อ สร้างประโยชน์ให้ตัวเอง (บรรดาพ่อค้า นักการเมืองเขี้ยวลากดินหน้าเก่าๆ ที่ไปไหนก็มีแต่คนเกรงกลัว และใช้ความเป็นนักการเมืองให้ได้มาซึ่งสิ่งต่างๆ แบบไม่มียางอาย)

และข้อ 3 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่สดๆ ร้อนๆ กับการก่อตั้งพรรคที่รู้กันอยู่ว่าเกิดมาเพื่อรองรับคนที่เชื่อกันว่าจะได้เป็นรัฐบาลก็คือ การสร้างเครือข่ายกับผู้ที่เชื่อว่าจะชนะเลือกตั้ง

ปรากฏการณ์ที่ 3 นี้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ที่ประกาศตัวเข้ามาเล่นการเมือง โดยอาศัยช่องว่างจากการที่หัวเรือใหญ่ที่เป็นด๊อกเตอร์กลุ่มหนึ่งประกาศตัวตั้งพรรค โดยเป็นที่รู้กันอยู่ว่าจะสนับสนุนขาใหญ่หน้าเดิมที่เป็นขั้วอำนาจเดิมมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ก็เป็นที่รู้กันอยู่แหละว่าสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเขามาเต็งหนึ่ง เพราะคนไทยชั้นสูงและชั้นกลางที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงมีอยู่มาก เมื่อเห็นบ้านเมืองสงบก็เอาหนทางที่ง่าย เลือกคนที่รักษาความสงบนี่แหละมาสืบทอดอำนาจต่อไป

ด้วยความที่หัวเรือใหญ่ซึ่งประกอบด้วยด๊อกเตอร์ต่างๆ รู้ดีว่าภาพลักษณ์ของทีมนั้นดูทีท่าจะแข่งกับคนรุ่นใหม่แท้ๆ ที่ประกาศสู้ขั้วอำนาจเดิมไม่ได้ จึงต้องวางกลยุทธ์ชักชวนคนรุ่นใหม่เข้ามาบ้าง

ช่องว่างนี้จึงเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่เข้ามา

และแรงจูงใจของคนกลุ่มนี้ เราวัดไม่ได้ว่าคืออะไร

 

ในขณะที่ในทางธุรกิจ เรามีตัวเลขวัดมูลค่าการตลาด ส่วนแบ่งการตลาด หรือแม้แต่ในทางการเมืองและสังคม เรามีตัวเลขที่ทำโพลเพื่อวัดความนิยมที่มีต่อนักการเมืองหรือนโยบายของรัฐบาลได้ เช่น ความนิยมต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือแม้แต่คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

แต่เราไม่สามารถใช้อะไรมาวัดแรงจูงใจของผู้ที่โดดเข้ามาทำงานการเมืองได้

แรงจูงใจเป็นเรื่องสำคัญ

ไม่อย่างนั้นจะมีคำพูดว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าวละหรือ

แรงจูงใจคือตัวบอกว่าเมื่อนักการเมืองเข้ามาแล้วเขาจะทำอะไร พูดง่ายๆ ศัพท์เดิมๆ คือ เข้ามากอบโกย หรือเข้ามาทำเพื่อประชาชน

 

ขอตั้งโจทย์ไว้ให้อภิปรายกันเองว่าแรงจูงใจของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เข้ามาเพื่อสร้างเครือข่ายใช่หรือไม่ หรือมีส่วนหนึ่งที่ร้อนวิชา ต้องการใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง

หรือไม่ก็เป็นเพียงกลยุทธ์ที่จะดึงส่วนแบ่งคะแนนเสียงจากพรรคใหม่ที่ตั้งโดยคนรุ่นใหม่

ประสบการณ์ของการเป็นผู้สังเกตการณ์การเมืองมานานบอกว่า ไม่มีอะไรจะสู้กับเสียงบริสุทธิ์ที่เกิดจากมวลชนคนหมู่มากที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้

เรามีประสบการณ์จากการมีคนรุ่นใหม่นักเรียนนอกที่เคยเป็นความหวัง แต่เข้าไม่ถึงประชาชน ก็จึงไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่

พรรคใหม่ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ น่าคิดว่าได้รวบรวมคนรุ่นใหม่ที่เท้าไม่ติดดินหรือแค่คิดเป็น แต่ไม่ลุย เข้ามา ถ้าไม่ลุยประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำรอยคนรุ่นใหม่นักเรียนนอกอีกครั้งเช่นกัน