อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ปี 2019 ปีแห่งความหวังของใคร?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อาเซียน : ความหวังและความเป็นจริง

ระหว่างที่เขียนบทความนี้ การประชุมพหุพาคีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแต่แนวโน้มที่ดี

กล่าวคือ ชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและมหาอำนาจจากภายนอกต่างให้ความสำคัญโดยการเข้าร่วมในการประชุม เจรจาและปรึกษาหารือกัน มากกว่าที่จะทะเลาะและขัดแย้งกันในพื้นที่

แต่ปัญหาหลายเรื่องก็นำกันเข้ามาสู่โต๊ะประชุม รวมทั้งการประชุมนอกรอบระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ต้นพฤศจิกายน 2018 การประชุมอาเซียนที่สิงคโปร์มีสีสันมากด้วยเหตุที่ว่า “ประเด็นวาระ” (Agenda) ของอาเซียนมีหลากหลายและมีความสำคัญมากทั้งต่อประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศมหาอำนาจที่อยู่นอกภูมิภาคภูมิภาค

นอกจากผู้นำ 10 ประเทศของอาเชียนจะเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่สิงคโปร์อย่างพร้อมเพรียงกันแล้ว ผู้นำชาติมหาอำนาจยังเข้าร่วมประชุมกับอาเซียนด้วย

กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีหลี่ เคอ เฉียง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น แล้วตามติดด้วยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี

สำหรับผมที่เป็นพิเศษคือ นายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน (Valadimir Putin) แห่งรัสเซีย ซึ่งปกติไม่เคยเข้าร่วมประชุมอาเซียน เพียงแต่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมโดยตลอด

 

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกากลับไม่ได้เข้าร่วมประชุมอาเซียนครั้งนี้ แต่ได้ส่งรองประธานาธิบดีซึ่งไม่ใช่ผู้สันทัดกรณีด้านการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมแทน

ด้วยเหตุผลของการเลือกตั้งกลางเทอมประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผลออกมาไม่ดีต่อประธานาธิบดีทรัมป์ พรรครีพับลิกันโดยเฉพาะในสภาคองเกรสที่พรรคเดโมเครตได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น

ด้วยปัญหาข้อขัดแย้งภายในระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และคณะทำงานชุดต่างๆ อันเกิดขึ้นตลอดเวลา

แม้แต่ความยุ่งเหยิงของสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกากับผู้บริหารระดับสูงของทำเนียบขาว

รวมทั้งการทะเลาะระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับสื่อมวลชนและอื่นๆ อีกมากมาย

สหรัฐอเมริกาก็พลาดโอกาสการเข้าร่วมประชุมกับอาเซียน

 

ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2018 การประชุม APEC ที่จัดขึ้นที่ประเทศปาปัวนิวกินี ผู้นำทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมอาเซียนไม่พลาดโอกาสการประชุมพหุภาคีที่ใหญ่อย่าง APEC แล้วเราก็เห็นว่า ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าร่วมประชุมด้วยตัวเองเลยทีเดียว

การประชุม APEC นอกจากมีผู้นำของประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมครั้งนี้แล้ว ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศได้แก่ ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ก็ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

ดังนั้น การประชุม APEC ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่มากกว่า มีประเด็นวาระที่ยืนหยัดระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ พร้อมทั้งกำลังผลักดันระบบการเงินดิจิตอล อันเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การเคลื่อนย้ายเงินทำได้กว้างขวางและรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิมย่อมช่วยเสริมให้ทิศทางของ ASEAN ไปในทิศทางเดียวกับ APEC คือเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น แม้ความจริงของอาเซียนยังคงอยู่ กล่าวคือ เป็นองค์กรระดับภูมิภาค (Regional organization) ที่ยังคงมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม หรือแม้แต่ความแตกต่างระหว่างสมาชิกประเทศด้วยกันของอาเซียนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและระบอบการเมือง (Regime)

คือ มีทั้งระบบสังคมนิยม ระบอบประชาธิปไตย ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว ระบบหลายพรรคแต่มีการครอบงำโดยชนชั้นนำจำนวนน้อย ซึ่งมีทั้งอภิสิทธิ์ อำนาจนิยมและอำนาจนำ (Hegemonic) ถึงกระนั้นก็ตาม

อาเซียนจึงเป็นทั้งองค์กร พื้นที่ เวทีและโอกาสต่างๆ ของชาติต่างๆ ที่จะมีส่วนร่วมในความมั่งคั่งทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ตลาดขนาดใหญ่ กำลังซื้อที่เติบโตขึ้น

 

จากอาเซียนถึงไทย
: ความจริงและความหวังของใคร?

ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อาเซียนนับวันยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ความจริงแล้ว อาเซียนไม่ใช่มีความสำคัญเฉพาะปีหน้าคือปี 2019 แต่อาเซียนมีความสำคัญแน่นอนในอนาคต

แต่สำหรับไทย อาเซียนน่าจะมีความสำคัญและเป็นความหวังสำหรับไทยในหลายๆ ด้าน

การเป็นประธานอาเซียนน่าจะเป็นประเด็นที่พื้นๆ เกินไป แม้ว่าไทยกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่งหลังจาก 10 ปีที่แล้วหรือปี 2008 ในบทความนี้จะขอยกเพียง 2 ตัวอย่าง อย่างหนึ่งคือ เรื่องของบริบท (context) อีกเรื่องหนึ่งคือ ความหวัง (expectation)

ในแง่บริบท น่าสนใจมากว่า บริบทสังคมการเมืองไทยช่วงทศวรรษที่แล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองซับซ้อน แพร่กระจายและลงลึกกว่ายุคสมัยใด ค่ายการเมืองถูกแบ่งออกเป็นเพียง 2 ค่ายชัดเจน ทั้งสองค่ายการเมืองต่างมีเครือข่าย เป้าหมาย เครื่องมือ การเคลื่อนไหวและการรณรงค์เป็นของตัวเอง บริบทของสังคมการเมืองไทยได้บั่นทอนทั้งสังคมไทยและการเป็นผู้นำภูมิภาคในอาเซียนในช่วงนั้น

ปีหน้าหรือปี 2019 บริบทของสังคมการเมืองไทยที่แบ่งแยกยังคงพัฒนาอยู่ เพียงเปลี่ยนโฉมหน้าเล็กน้อยด้วยการหยุดพักยกเนื่องจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2014 ด้วยองค์อธิปัตย์อีกแบบหนึ่งที่สร้างความชอบธรรมด้วยคำสั่งและกฎหมายต่างๆ

หากทว่า สังคมที่แบ่งแยกชัดเจนยังคงดำรงอยู่และจะแสดงตัวตนออกมา ซึ่งจริงๆ ก็แสดงตัวอยู่แล้วในรูปแบบต่างๆ

 

ความคาดหวัง

ดังนั้น การหยิบยกประเด็นมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หรือประเด็น Disruptive, Connectivity อย่างไร้รอยต่อ ประเด็น Innovation, ASEAN Centrality และอื่นๆ อีกมากมายจึงไร้ความหมายต่ออาเซียนและต่อสังคมการเมืองไทยไม่ว่าไทยจะเป็นประธานอาเซียน ไม่ว่าไทยจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร ไม่ว่าคนใส่เครื่องแบบจะเปลี่ยนเป็นใส่สูทผู้เน็กไทหรือชุดออกแบบอื่นๆ ทั้งนี้เพราะบริบทสังคมการเมืองไทยที่แบ่งแยกยังคงดำรงอยู่ ยังไม่สิ้นสุด

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองไม่เห็นความคาดหวังใดๆ ที่เป็นทั้งส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนและสังคมการเมืองไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม แน่นอน ผมพอได้ยินและได้เห็นอยู่บ้างกับความคาดหวังของใครและคนบางกลุ่ม

แต่อยากบอกตรงๆ ว่าเป็นความคาดหวังที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เป็นความคาดหวังเก่าๆ ของคนเก่าๆ ที่ย่ำอยู่กับที่

บริบทเดิม ความคิดเก่า และคนหน้าเดิม