เศรษฐกิจ / ค่ายมือถือจัดทดสอบ ‘5G’ ปรับโหมดปี ’63…ทำได้จริงหรือแค่โชว์ วัดใจ กสทช.กล้าต่อลม…ยืดหนี้ก้อนโตให้

เศรษฐกิจ

ค่ายมือถือจัดทดสอบ ‘5G’

ปรับโหมดปี ’63…ทำได้จริงหรือแค่โชว์

วัดใจ กสทช.กล้าต่อลม…ยืดหนี้ก้อนโตให้

มติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ไฟเขียวให้ 2 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 28 กิกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ เพื่อสาธิตเครื่องวิทยุคมนาคม สำหรับแสดงเทคโนโลยี 5G เป็นการชั่วคราว ในระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2561

โดยที่ ‘เอไอเอส’ จัดการแสดงเทคโนโลยี 5G ภายในงาน “5G เดอะเฟิร์ส ไลฟ์ อิน ไทยแลนด์ บาย เอไอเอส” ณ เอไอเอส ดีซี ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม

ขณะที่ ‘ทรู’ คาดว่า จะจัดการแสดงเทคโนโลยี 5G ในอีก 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้ ณ ทรู แบรนดิ้ง ช้อป ไอคอนสยาม

โอเปอเรเตอร์ 2 ราย อย่างทรูและเอไอเอส เป็นที่พูดถึงมาก เมื่อครั้งยื่นขอผ่อนจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ในงวดสุดท้าย มูลค่ารายละประมาณ 60,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปลายปี 2560 และรัฐบาลได้ส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาพ่วงกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ที่ส่วนใหญ่ประสบภาวะขาดทุน

แต่ในครั้งนั้น มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะนักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ โดยนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เห็นด้วยกับ กสทช. และรัฐ เฉพาะการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เพราะผู้ประกอบการได้รับความเสียหายจริง

ซึ่งสาเหตุเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของหน่วยงานของรัฐเอง ที่ไม่สามารถทำตามแผนงานอย่างที่เคยประชาสัมพันธ์ไว้ได้

 

ส่วนกรณี กสทช.จะเสนอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง 2 ค่ายมือถือ นายสมเกียรติไม่เห็นด้วยเลย ที่ กสทช.จะยืดระยะเวลาการชำระค่างวดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ เพราะมองว่า ทั้งทรูและเอไอเอสที่เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ มีผลประกอบการที่ดีอยู่แล้ว มีกำไรเติบโตแบบก้าวกระโดด

ซึ่งแตกต่างจากกรณีของทีวีดิจิตอล อีกทั้งหากมีการอุ้มทั้ง 2 ค่ายมือถือดังกล่าวนี้ จะถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศไทยในภาพรวมด้วย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขตั้งแต่แรก อีกทั้งบริษัทผู้ประมูลย่อมรับรู้ถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอยู่ก่อนแล้วจึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมประมูล

จึงเป็นมูลเหตุทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2561 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคำสั่ง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรทัศน์ จากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจและสังคมจึงไม่อาจชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ทันภายในระยะเวลาที่กําหนด โดยระบุให้

  1. ได้รับการพักชำระหนี้ 3 ปี โดยยื่นความจำนงภายใน 30 วัน และเสียดอกเบี้ยตามกำหนด
  2. สนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล (มักซ์) ไม่เกิน 50% ของค่าเช่าที่ต้องชำระเป็นเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปี

และ 3. อนุญาตให้มีการเปลี่ยนมือใบอนุญาตได้ (ยกเว้นต่างชาติ) โดยปล่อยให้เรื่องการขอผ่อนจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ในงวดสุดท้าย ของ 2 โอเปอเรเตอร์ ค้างอยู่ในกระบวนการขั้นตอนของ กสทช. ซ้ำยังไม่มีท่าทีที่จะนำกลับมาพิจารณาแต่อย่างใด

 

ดูจะเป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับ “โอเปอเรเตอร์” ที่จะต้องยอมรับสภาพ และก้มหน้าหาเงินมาชำระให้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหากตรวจดูข้อมูลจะพบว่า ปัจจุบัน เอไอเอสถือครองคลื่นความถี่ เฉพาะที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิร์ตซ์, คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะครบกำหนดชำระค่าใบอนุญาต งวดที่ 3 จำนวน 10,246 ล้านบาท ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ จะครบกำหนดชำระค่าใบอนุญาต งวดที่ 3 จำนวน 4,020 ล้านบาท ในปี 2562 และงวดที่ 4 จำนวน 59,574 ล้านบาท ในปี 2563 โดยรวมแล้ว เอไอเอสจะต้องชำระค่าใบอนุญาต เป็นเงินทั้งสิ้น 73,840 ล้านบาท

ขณะที่ทรูถือครองคลื่นความถี่ เฉพาะที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิร์ตซ์, คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะครบกำหนดชำระค่าใบอนุญาต งวดที่ 3 จำนวน 9,948 ล้านบาท ในวันที่ 19 ธันวาคม 2561 และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ จะครบกำหนดชำระค่าใบอนุญาต งวดที่ 3 จำนวน 4,020 ล้านบาท ในปี 2562 และงวดที่ 4 อีกจำนวน 60,218 ล้านบาท ในปี 2563

ซึ่งรวมแล้ว ทรูจะต้องชำระค่าใบอนุญาต เป็นเงินทั้งสิ้น 74,186 ล้านบาท

 

ส่วนดีแทค ที่แม้จะไม่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มที่ยื่นขอผ่อนจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ แต่ก็ถือว่าตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แตกต่างกัน โดยปัจจุบัน ดีแทคถือครองคลื่นความถี่ เฉพาะที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิร์ตซ์, คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ เช่นกัน

โดยที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะครบกำหนดชำระค่าใบอนุญาต งวดที่ 2 จำนวน 3,127 ล้านบาท ในปี 2562 และงวดที่ 3 จำนวน 3,127 ล้านบาท ในปี 2563 และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ จะครบกำหนดชำระค่าใบอนุญาต งวดที่ 1 จำนวน 4,020 ล้านบาท ในปี 2562 งวดที่ 2 จำนวน 2,010 ล้านบาท ในปี 2563 งวดที่ 3 จำนวน 2,010 ล้านบาท ในปี 2564 และ งวดที่ 4 จำนวน 30,024 ล้านบาท ในปี 2565 โดยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 44,318 ล้านบาท ที่ดีแทคจะต้องชำระค่าใบอนุญาต

การเปิดสาธิตเทคโนโลยี 5G ถือเป็นการสอดรับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายในการให้ประเทศไทยใช้ 5G ในเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ซึ่งหากเป็นไปตามกรอบเวลาดังกล่าว ก็ถือได้ว่า มีความใกล้เคียงกับหลายประเทศทั่วโลก ที่ปัจจุบันเริ่มนำคลื่นความถี่ที่เหมาะสมออกมาประมูลเพื่อรองรับ 5G กันแล้ว

อาทิ ประเทศอังกฤษ, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์

แต่ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนการทดลองนำเทคโนโลยี 5G มาจัดแสดง…

 

ซํ้าร้าย คลื่นความถี่สำหรับรองรับ 5G ปัจจุบันยังตกอยู่ในมือของ “หน่วยงานรัฐ” เป็นเหตุให้ กสทช.ต้องเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คลื่นความถี่ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า และคลื่นความถี่ที่นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อนำกลับมาจัดสรรใหม่ ยิ่งทำให้กระบวนการต่างๆ ล่าช้าออกไป

และเมื่อถึงเวลาที่คลื่นความถี่พร้อม ก็ไม่รู้ว่า “โอเปอเรเตอร์” จะพร้อมด้วยหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันก็ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง อีกทั้งหนี้สินก้อนใหม่ก็จ่อเข้ามาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เอาแค่ตัวเลขหยาบๆ ที่เคยคาดการณ์ไว้ การลงทุนโครงข่าย 5G จะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 4G ถึง 6 เท่า ต้องใช้เสาสัญญาณมากกว่าเดิม 3-6 เท่า ใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมค่าใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ที่ประเทศไทยมีบรรทัดฐานแพงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

จึงต้องจับตาว่า ผลงานการแสดงเทคโนโลยี 5G ครั้งนี้ จะเข้าตากรรมการ กระทั่งตัดสินใจให้ 2 โอเปอเรเตอร์ได้ขยายระยะเวลาการชำระค่างวดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ในงวดสุดท้าย

เพื่อให้การเดินหน้า 5G เกิดขึ้นได้ตามแผนประเทศไทยหรือไม่