ในประเทศ / สามัคคี ประชารัฐ

ในประเทศ

สามัคคี

ประชารัฐ

 

นายวิเชียร ชวลิต ในฐานะนายทะเบียนพรรคพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ประกาศว่า

ตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐเปิดรับบุคคลเพื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรค ตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน

มีผู้สมัครสมาชิกมากกว่า 1,300 คน

เป็นตัวเลขของผู้สมัครถือว่าเกินคาดหมาย

“เชื่อว่าน่าจะเกิดจากแนวทางของพรรคในการสร้างความสงบสุขให้กับสังคมและประเทศ ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อขจัดความขัดแย้ง จึงทำให้มีอดีตรัฐมนตรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนักการเมืองท้องถิ่นรวมถึงผู้สนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.” นายวิเชียรกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้เหตุผลที่แตกต่างจากนายวิเชียร

โดยชี้ว่า นึกไม่ถึงว่าคณะบุคคลที่ยึดอำนาจจะมีส่วนทำให้ระดับการพัฒนาทางการเมืองของไทยตกต่ำลงมาก

ด้วยการ

1) การใช้เครื่องดูดที่มีพลังมหาศาล

2) มีสารพัดเงื่อนไขดูดไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งสินทรัพย์ เงินทอง

3) การเอื้อประโยชน์เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง

4) รวมถึงการช่วยเหลือในทางคดีในการย้ายไปอยู่ร่วมกัน

จริงหรือไม่ยังต้องใช้เวลาพิสูจน์

 

มีกระแสข่าวระบุว่า พรรค พท.ต้องเสียสมาชิกคนสำคัญไปอย่างน้อย 78 คน

ในจำนวนนี้มี 39 คนที่ “พลิกขั้ว” ไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

มี 5 คนไปสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ภายใต้การนำของกัญจนา ศิลปอาชา

อีก 5 คนย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ของอนุทิน ชาญวีรกูล

ส่วนที่เหลือกระจายไปอยู่ตามพรรคพันธมิตร ได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ภายใต้การนำของ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช 20 คน พรรคเพื่อชาติ (พช.) ที่มียงยุทธ ติยะไพรัช-จตุพร พรหมพันธุ์ เป็นผู้สนับสนุนหลัก 6 คน พรรคประชาชาติ (ปชช.) นำโดยวันมูหะมัดนอร์ มะทา 2 คน และพรรคเพื่อธรรม (พธ.) 1 คน

และเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น

เช่น พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสียอดีตสมาชิกไป 26 คน โดยย้ายไปอยู่ พปชร. 14 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ก่อตั้ง 9 คน ภท. 2 คน และ ทษช. 1 คน

ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เสียสมาชิกหน้าเดิมไป 14 คน

ส่วน ภท. เสียไป 13 คน

แต่ทว่า 2 พรรคนี้ก็สามารถ “ดูด” อดีต ส.ส.จากที่อื่นมาเติมเสียงที่หายไปได้บางส่วน

 

ทั้งนี้ หากขานชื่ออดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. ที่เข้าร่วม พปชร. จะมีดังนี้

กลุ่มอดีตรัฐมนตรี

เช่น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายสุพล ฟองงาม นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข นายวีระกร คำประกอบ นายฐานิสร์ เทียนทอง นายจำลอง ครุฑขุนทด นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล

นายภิญโญ นิโรจน์ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ นายสุชาติ ตันเจริญ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ นายมานิต นพอมรบดี นายสันต์ศักย์ จรูญงามพิเชษฐ์ นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล นายทวี ไกรคุปต์ นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์

นายวราเทพ รัตนากร (ไม่เป็นสมาชิก พปชร. แต่เป็นผู้สนับสนุน)

กลุ่ม ส.ส.

พรรคเพื่อไทย

นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส.เลย

นายวันชัย บุษบา อดีต ส.ส.เลย

นายสุทธิชัย จรูญเนตร อดีต ส.ส.อุบลราชธานี

นายสุชาติ ตันติวณิชชานนท์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี

นายเวียง วรเชษฐ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด

นายดนัยฤทธิ์ วัชราภรณ์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ

นายศุภสิธ เตชะตานนท์ อดีต ส.ส.ขอนแก่น

นายชูกัน กุลวงษา อดีต ส.ส.นครพนม

นายวิรัช รัตนเศรษฐ อดีต ส.ส.นครราชสีมา

นางทัศนียา รัตนเศรษฐ อดีต ส.ส.นครราชสีมา

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ อดีต ส.ส.นครราชสีมา

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีต ส.ส., แกนนำ นปช. นครราชสีมา

นายจักรวาล ชัยวิรัตน์กูล อดีต ส.ส.สุโขทัย

นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์

นายเอี่ยม ทองใจสด อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์

นายจักรัตน์ พั้วช่วย อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์

นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์

นายจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.ลำปาง

นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.ลำปาง

นายไผ่ ลิกค์ อดีต ส.ส.กำแพงเพชร

พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีต ส.ส.กำแพงเพชร

นายปริญญา ฤกษ์หร่าย อดีต ส.ส.กำแพงเพชร

นายอนันต์ ผลอำนวย อดีต ส.ส.กำแพงเพชร

นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์ อดีต ส.ส., ส.ว.กำแพงเพชร

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง อดีต ส.ส.สระแก้ว

พล.อ.สมชาย วิษณุวงษ์ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี

นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี

นายฉลอง เรี่ยวแรง อดีต ส.ส.นนทบุรี

นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก อดีต ส.ส.สมุทรปราการ

นายทวี สุระบาล อดีต ส.ส.ตรัง

 

พรรคภูมิใจไทย นายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท

นายรณฤทธิชัย คานเขต อดีต ส.ส.ยโสธร

นายพิกิฏ ศรีชนะ อดีต ส.ส.ยโสธร

ว่าที่ พ.ต.สรชาติ สุวรรณพรหม อดีต ส.ส.หนองบัวลำภู

นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีต ส.ส.ราชบุรี

น.ส.กุลวดี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี

น.ส.ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร อดีต ส.ส.ราชบุรี

พรรคชาติไทยพัฒนา

นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา

นพ.อลงกต มณีกาศ อดีต ส.ส.นครพนม

นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา อดีต ส.ส.สุรินทร์

นางกรรณิการ์ เจริญพันธ์ อดีต ส.ส.สุรินทร์

นางปารีณา ไกรคุปต์ ปาจรียางกูร อดีต ส.ส.ราชบุรี

นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท

นายวัชระ ยาวอหะซัน อดีต ส.ส.นราธิวาส

 

พรรคประชาธิปัตย์

พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา

นายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา

นายวิชัย ล้ำสุทธิ อดีต ส.ส.ระยอง

นายธวัชชัย อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี

นายแสนคม อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี

นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี

นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี

นางกัลยา รุ่งวิจิตรชัย อดีต ส.ส.สระบุรี

นายทศพล เพ็งส้ม อดีต ส.ส.นนทบุรี

นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.กทม.

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกฯ, อดีต ส.ส.กทม.

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการ กทม., อดีต ส.ส.กทม.

 

พรรคพลังชล

นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต ส.ส., อดีตนายกเมืองพัทยา ชลบุรี

นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ อดีต ส.ว., อดีตรองนายก อบจ.ชลบุรี

พรรคอื่นๆ

นายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีต ส.ส.ขอนแก่น

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีต ส.ส.สิงห์บุรี

นายสุชน อินทเสม อดีต ส.ว.ประจวบคีรีขันธ์

นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ

นายมงคล จงสุทธนามณี อดีต ส.ส.เชียงราย

นายกล่ำคาน ปาทาน อดีต ส.ส.นครพนม

 

ดูจากรายชื่อ จะเห็นว่า พท. และ ปชป. เลือดไหลออกจากพรรคมากกว่าเพื่อน

ซึ่งหากพิจารณาตามข้อมูลของนายภูมิธรรม สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการดูดมาก ก็เช่นเงิน

มีกระแสข่าวบางกระแสระบุอดีต ส.ส.เกรดเอบางคนมีเงินสนับสนุนถึงระดับตัวเลข 8 หลัก

ส่วนประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น มีการมองไปที่คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ กกต.เลื่อนการประกาศเขตเลือกตั้งและมีอำนาจในการกำหนดพื้นที่และอื่นๆ ได้เอง

เป็นการเปิดประตูให้มีการแทรกแซงการกำหนดเขตเลือกตั้ง ซึ่งก็มีผู้สมัครจำนวนมากเริ่มชี้เบาะแส “ไม่ปกติ” ในกรณีนี้

และคาดหมายว่าน่าจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบในกรณีไม่น้อย

ส่วนเรื่องคดีความนั้น มีเหตุบังเอิญหลายเหตุที่มาตรงกัน นั่นคือ ตระกูลนักการเมืองคนใดต้องโทษ หรือมีผู้ถูกดำเนินคดีอยู่ ต่างแห่มาซบพรรค พปชร.อย่างน่าสังเกต

เช่น กลุ่มพลังชล ของครอบครัวกำนันเป๊าะ

กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา อัศวเหม

กลุ่มสระแก้วในฟากของนายฐานิสร์ เทียนทอง และนางตรีนุช เทียนทอง

ครอบครัวของกำนันเซี้ยะ นำโดยนายอัฏฐพล โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี

นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แม้จะเว้นวรรคเพราะคดีหวยบนดินใต้ดิน พร้อมทั้งมีญาติที่กำลังเป็นคดีอยู่ตอนนี้ ได้เป็นแกนนำในการนำอดีต ส.ส.กำแพงเพชรเข้าร่วมพรรค พปชร. อย่างเซอร์ไพรส์

พอๆ กับความฮือฮากับการมาของนายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ บุตรชายนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องโทษคดีจำนำข้าว

เป็นต้น

การย้ายสังกัดจะเกี่ยวข้องกับ “คดีความ” หรือไม่ แม้จะไม่ชัดเจนขณะนี้ แต่เชื่อว่าเวลาข้างหน้าจะพิสูจน์

 

ความคึกคักของ พปชร. ที่มีการกล่าวกันว่า มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับการก่อตัวของพรรคสามัคคีธรรมที่ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534

เพื่อลุยสนามเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีนาคม พ.ศ.2535

โดยวิธีการที่ใช้คือ การรวบรวมนักการเมืองจากหลายพรรค ด้วยเงื่อนไขต่างๆ

และมีบุคคลในพรรคที่ใกล้ชิดกับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เข้าร่วม

ทำให้พรรคเติบโตอย่างพรวดพราด โดยมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตหัวหน้าพรรครวมไทย และพรรคเอกภาพ เป็นหัวหน้าพรรค และนาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ

ซึ่งก็ได้รับชัยชนะตามความคาดหวัง แต่ก็ไม่อาจบริหารประเทศได้ และนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในที่สุด

 

ขณะนี้ พปชร.ก้าวตามมาถึงครึ่งทาง คือ รวบรวมกลุ่มการเมืองต่างๆ จนเติบโตขึ้นมาในพริบตา

แต่แกนนำในการก่อตั้งอ้างว่าได้มีการสรุปบทเรียนในอดีต จึงไม่น่าจะมีอนาคตอย่างพรรคสามัคคีธรรม

หากแต่จะสามารถบริหารประเทศสืบเนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันได้อย่างราบรื่น ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป

นี่จึงทำให้พรรค พปชร.มากด้วยความคึกคัก และกำลังจับตามองถึงผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งตอนนี้ก็ดูเหมือนจะไม่มีใคร นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังรอขั้นตอนการทาบทาม

และอีกไม่นาน ใบเชิญจากพรรคพลังประชารัฐ ก็คงถูกส่งไปถึง พล.อ.ประยุทธ์

และมีการขานรับ

ตามแนวทาง “สามัคคีประชารัฐ” อย่างไม่มีการอิดออด ด้วยมีการ “ดีไซน์” ทุกอย่างเอาไว้แล้ว!