กรองกระแส / บทเรียนไทยรักไทย รัฐประหาร พลังประชารัฐ เลือกตั้ง ต้นปี 2562

กรองกระแส

บทเรียนไทยรักไทย

รัฐประหาร พลังประชารัฐ

เลือกตั้ง ต้นปี 2562

 

พลังดูดจากพรรคพลังประชารัฐที่เห็นผ่านวันที่ 26 พฤศจิกายน ไม่เพียงแต่ส่งผลสะเทือนโดยตรงไปยังพรรคเพื่อไทยอันเป็นเป้าหมายใหญ่ หากแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ก็หนีไม่พ้น

มีบทสรุป 1 ไม่ว่าจะมาจากภายใน “คสช.” ไม่ว่าจะมาจากภายในพรรคพลังประชารัฐ เห็นร่วมกันว่า พลังดูดอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาปกติในทางการเมือง

เพราะพรรคไทยรักไทยก็เคยทำเช่นนี้ก่อนการเลือกตั้งปี 2544 และก่อนการเลือกตั้งปี 2548

จึงนำไปสู่อีกบทสรุป 1 ที่ว่าชัยชนะของพรรคไทยรักไทยอันมีผลสะเทือนและความต่อเนื่องมายังพรรคพลังประชาชนในปี 2550 และพรรคเพื่อไทยในปี 2554 คือชัยชนะอันอยู่บนพื้นฐานแห่งการใช้พลังดูดจากพรรคการเมืองอื่น

เนื่องจากนับแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ในสนามการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย คือผู้กำชัยอย่างเป็นจริงต่อการเลือกตั้งทุกครั้งที่มี

ไม่ว่าต่อพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าต่อพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าต่อพรรคภูมิใจไทย

การศึกษาและทำความเข้าใจต่อชัยชนะและความสำเร็จในทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย จึงมีความจำเป็น

โดยเฉพาะต่อพรรคพลังประชารัฐที่พยายามจะต่อยอดและลอกเลียน

 

เลือกตั้ง ปี 2544

ชัยชนะไทยรักไทย

 

บทสรุปประการหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ต่อความพ่ายแพ้อย่างซ้ำซากโดยเฉพาะนับแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา คือบทสรุปที่ว่าพ่ายแพ้เพราะใช้เงินน้อยกว่าพรรคไทยรักไทย

แต่ความจริงจากการเลือกตั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยเสนอให้มีการปฏิรูปพรรคได้นำเสนอบทสรุปสำคัญว่า ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์ใช้เงินมากกว่าพรรคเพื่อไทยแต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทย

บทสรุปนี้สอดรับกับงานวิจัยระยะหลังไม่ว่าจะมาจากสถาบันพระปกเกล้า ไม่ว่าจะมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นชัยชนะซึ่งต่อยอดมาจากชัยชนะของพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนมกราคม 2544 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554

เท่ากับยืนยันว่ามิได้มีปัจจัยมาจาก “เงิน” อย่างที่ถูกกล่าวหา หากแต่น่าจะมาจากชัยชนะในเรื่อง “นโยบาย” และชัยชนะจากความสำเร็จในการแปรนโยบายเป็นการปฏิบัติที่เป็นจริง

สถานะของพรรคเพื่อไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงมาจากความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยเป็นสำคัญ

 

บทบาท ความหมาย

เลือกตั้ง มกราคม 2544

 

การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นจุดตัดอย่างสำคัญของการเมืองไทยเพราะการริเริ่มอย่างเป็นฝ่ายกระทำของพรรคไทยรักไทย

เป็นชัยชนะเพราะประชาชนศรัทธาและเชื่อมั่นต่อ “นโยบาย”

ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้านและกองทุนเมือง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพักหนี้เกษตรกร

ที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ นามธรรมแห่งนโยบายได้แปรเป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติ

นี่คือเส้นแบ่งอย่างมีนัยสำคัญระหว่างพรรคไทยรักไทยกับพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคกิจสังคม ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติพัฒนา

นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมาการต่อสู้ทางการเมืองคือ การต่อสู้ผ่าน “นโยบาย”

พรรคการเมืองที่ไม่สามารถผลิตนโยบายออกมาอย่างสอดรับกับความต้องการของประชาชนก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ จากพรรคระดับชาติกลายเป็นพรรคระดับภาค และตกต่ำเสื่อมทรุดลงกระทั่งกลายเป็นพรรคระดับจังหวัด

พร้อมกันนั้น ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยได้สร้างสมมวลชนที่มีความภักดีต่อแบรนด์พรรคไทยรักไทยอย่างต่อเนื่อง แม้จะเปลี่ยนมาเป็นพรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทยก็ตาม

ตรงนี้ต่างหากคือปัจจัยสำคัญยิ่งในทางการเมือง

 

บทเรียน ไทยรักไทย

บทบาท พลังประชารัฐ

 

พรรคพลังประชารัฐมีรากฐานแนบแน่นอยู่กับขบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ต้องการจะสืบทอดอำนาจของขบวนการรัฐประหารนี้ต่อไปอีกอย่างน้อยก็ 4 ปี และอย่างมากก็อยากจะอยู่อย่างยาวนานร่วม 20 ปี

แทนที่พรรคพลังประชารัฐจะมีความมั่นใจในผลงานและความสำเร็จนับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ของตน

ตรงกันข้าม กลับฝากความหวังและความมั่นใจให้กับ “พลังดูด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูดเอาบุคลากรจากพรรคการเมืองอื่นโดยพุ่งเป้าไปยังพรรคเพื่อไทยเป็นด้านหลัก เพราะคิดว่านี่คือความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะให้คำตอบว่าพรรคพลังประชารัฐคิดถูกหรือไม่