บทความพิเศษ / นงนุช สิงหเดชะ/ รัฐบาล ‘ครอบครัว’ ‘กระเป๋าเรา-กระเป๋ารัฐ’ อันเดียวกัน

บทความพิเศษ / นงนุช สิงหเดชะ

รัฐบาล ‘ครอบครัว’

‘กระเป๋าเรา-กระเป๋ารัฐ’ อันเดียวกัน

ข่าวคราวเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของครอบครัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีหลายกรณีจนนับไม่ถ้วน

แต่ดูเหมือนทรัมป์และลูกๆ ก็ไม่ได้นำพามากนัก แม้ว่าจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมจากหลายฝ่าย

ล่าสุดมีข่าวว่า อิวานก้า ทรัมป์ ลูกสาวคนโตของผู้นำสหรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของบิดาในทำเนียบขาว ได้รับการอนุมัติเครื่องหมายการค้าใหม่เพิ่มเติมอีก 16 รายการจากรัฐบาลจีน โดยครอบคลุมสินค้าหลายอย่าง ตั้งแต่รองเท้า เสื้อเชิ้ต แว่นกันแดด เครื่องลงคะแนนเสียง บ้านสำหรับคนชราและเซมิคอนดักเตอร์

ทำให้องค์กร Citizens for Responsibility and Ethics ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรและทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของรัฐบาลได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การได้รับอนุมัติเครื่องหมายการค้าครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่บิดาของเธอกำลังทำสงครามการค้ากับจีน

เมื่อเป็นเช่นนี้สาธารณะก็จะตั้งคำถามไม่หยุดว่าการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศของพ่อเธอเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ และครอบครัวใช่หรือไม่

 

ตัวแทนของอิวานก้าชี้แจงโดยอ้างว่า การยื่นขอเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขโมยชื่อของอิวานก้าไปใช้หาประโยชน์

เพราะจีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นอย่างกว้างขวาง

โดยทางบริษัทอิวานก้าได้ยื่นขอในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 และได้รับอนุมัติเบื้องต้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

แต่คำชี้แจงนี้ดูเหมือนจะไม่สามารถขจัดความเคลือบแคลงได้ เพราะก่อนหน้านี้ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จีนได้อนุมัติเครื่องหมายการค้าใหม่แก่อิวานก้าไป 7 รายการ มีทั้งสินค้าประเภทหนังสือ เครื่องใช้ในบ้าน เบาะ อันเป็นห้วงเดียวกับที่ประธานาธิบดีทรัมป์สัญญาว่าจะช่วยเหลือ ZTE บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ของจีนไม่ให้ล้มละลาย

ทั้งที่บริษัทดังกล่าวมีประวัติละเมิดเงื่อนไขการแซงก์ชั่นจากสหรัฐเนื่องจากมีการทำธุรกิจกับอิหร่านและเกาหลีเหนือ

การประกาศช่วยเหลือ ZTE ได้สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ เพราะขัดกับนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ที่อยู่ระหว่างการประกาศสงครามการค้ากับจีน โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศ ลดการขาดดุลการค้า เป็นต้น

ปัจจุบันอิวานก้ามีเครื่องหมายการค้าในจีนรวมประมาณ 34 รายการ

 

ส่วนตัวทรัมป์ผู้พ่อเองมีเครื่องหมายการค้าอยู่ในจีนแล้วมากกว่า 100 รายการ

และปีที่แล้วได้รับเพิ่มอีกหลายรายการ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับหลังจากทรัมป์บอกกับประธานาธิบดีจีนว่าจะคงไว้ซึ่งนโยบายระยะยาวของสหรัฐต่อไต้หวัน และอีกเช่นกันทรัมป์ถูกโจมตีว่าใช้ตำแหน่งประธานาธิบดีหาประโยชน์เข้าตัวเอง

สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐหลายคนก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ว่าอาจเข้าข่ายทำผิดรัฐธรรมนูญ และเตือนว่ารัฐบาลต่างประเทศอาจใช้เครื่องหมายการค้าของทรัมป์เพื่อสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศ แต่ทรัมป์อ้างว่าได้ส่งมอบอำนาจการดำเนินธุรกิจให้กับลูกชายแล้ว

การที่ทรัมป์และครอบครัวยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางธุรกิจในจีน ในห้วงที่ทรัมป์กำลังประกาศสงครามการค้ากับจีน ด้วยการเพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ และประกาศว่าจะเดินหน้าจัดเก็บเต็มตามมูลค่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนคือ 5 แสนล้านดอลลาร์ จนกระทั่งสร้างความชะงักงันให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก ที่จะส่งผลกระทบด้านลบชัดเจนในปีหน้านั้น

ก่อให้เกิดความสงสัยว่าทั้งหมดนี้ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบีบให้จีนมอบผลประโยชน์ทางธุรกิจให้กับทรัมป์และครอบครัว มากกว่าจะปกป้องประโยชน์ประเทศชาติหรือไม่

 

ทรัมป์อ้างมาโดยตลอดว่า เก็บภาษีสินค้าจีนเพราะต้องการลงโทษที่จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ และเพื่อสร้างงานให้กับคนอเมริกันด้วยการดึงให้บริษัทสหรัฐย้ายฐานการผลิตกลับมาในประเทศ ตลอดจนลดการขาดดุลการค้ากับจีน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับทรัมป์และลูกหลาน วงศ์วานว่านเครือ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ของชาติกับผลประโยชน์ของครอบครัวหรือส่วนตัว

นอกจากจะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ทั้งทรัมป์ ลูกๆ ตลอดจนภรรยา ยังมีปัญหาฉาวอื่นๆ อย่างล่าสุดใหม่หมาดก็มีข่าวแฉออกมาว่า ปีที่แล้วอิวานก้าใช้บัญชีอีเมลส่วนตัวส่งจดหมายหลายร้อยฉบับเพื่อติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับกิจการของรัฐบาล ซึ่งผู้ตรวจสอบพบการใช้อีเมลก็คือเจ้าหน้าที่สำนักงานจริยธรรมของรัฐบาล

ทำให้บรรดาที่ปรึกษาของทรัมป์เตือนว่า กรณีดังกล่าวเทียบได้กับกรณีของฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครตและผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับทรัมป์ในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2559 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าใช้เซิร์ฟเวอร์อีเมลส่วนตัวในการรับ-ส่งเอกสารราชการขณะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ อันถือว่าอาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย

อีเมลฉาวเป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้ฮิลลารีพ่ายแพ้การเลือกตั้งแก่ทรัมป์ เพราะการใช้อีเมลส่วนตัวรับ-ส่งข้อมูลราชการถูกมองว่าเธอต้องการปกปิดข้อมูลบางอย่างเพื่อไม่ให้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

เพราะหากไปใช้บัญชีอีเมลของรัฐบาล ข้อความทุกอย่างจะต้องถูกเปิดเผยต่อสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

เอฟบีไอขุดคุ้ยเรื่องนี้ขึ้นมาสอบสวนในช่วงใกล้เลือกตั้ง ซึ่งส่งผลเสียต่อคะแนนนิยมของฮิลลารีชนิดกู้สถานการณ์ไม่ทัน

ขณะที่ทรัมป์ก็ใช้เรื่องนี้โจมตีเธอขณะหาเสียง มีอยู่ช่วงหนึ่งทรัมป์พูดว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดีจะจับฮิลลารีเข้าคุก

 

กรณีของอิวานก้านั้น ที่ปรึกษาด้านจริยธรรมของอิวานก้าออกมาแก้ต่างแทนว่า เธอใช้ส่งแค่เรื่องพาหนะการเดินทางตลอดจนกำหนดการต่างๆ ของครอบครัวเท่านั้น และไม่เคยใช้ส่งเอกสารลับของราชการ

ข้างฝ่ายเมลาเนีย ทรัมป์ สตรีหมายเลข 1 ก็ไม่เบา ไม่ยอมให้เสียชื่อนางแบบเก่า โดยจากเอกสารการใช้งบประมาณรัฐที่สื่ออเมริกันเปิดเผยออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่าค่าใช้จ่ายเดินทางต่างประเทศของเมลาเนีย ทรัมป์ น่าตกใจและทำสถิติสูงสุดคือ 174,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.5 ล้านบาท (ค่าโรงแรมและจิปาถะ) กับการไปเยือนโตรอนโตของแคนาดาเมื่อปีที่แล้วเพียง 1 วัน โดยที่ไม่ได้ค้างคืนด้วยซ้ำ

อัตรานี้ลบสถิติที่เมลาเนียทำไว้เมื่อคราวที่เธอไปแวะพักที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลในกรุงไคโรของอียิปต์ หลังจากสิ้นสุดการทัวร์แอฟริกา ซึ่งเธออยู่ที่โรงแรมนี้ไม่ถึงครึ่งวัน แต่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 95,000 ดอลลาร์

ในประวัติศาสตร์อันใกล้ คงไม่มีประธานาธิบดีคนไหนของสหรัฐมีข่าวอื้อฉาวได้ทุกเรื่อง ทำผิดจริยธรรมได้ทุกอย่าง บริหารประเทศแบบผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเข้มข้น แบบไม่สน ไม่แคร์ ได้เท่าทรัมป์อีกแล้ว

ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะมีคุณภาพและมาตรฐานตกต่ำลงไปเรื่อยๆ