ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ l เลือกตั้ง เพื่อทวงประเทศ จากเสียงข้างน้อย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ข่าวการสร้างพรรคพลังประชารัฐด้วยวิธีดูดอดีต ส.ส.และนักการเมืองจากพรรคอื่นอย่างน้อย 84 ราย ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าประเทศมืดมน เพราะถึงแม้การย้ายพรรคจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่การย้ายที่เกิดจากการไล่ซื้อหรือข่มขู่แบบนี้ไม่ปกติ ซ้ำยังเป็นสัญญาณของการแย่งชิงอำนาจรัฐที่ใช้อิทธิพลและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ

เท่าที่รายงานข่าวปรากฎ อดีตนักการเมืองระดับรัฐมนตรีที่ย้ายไปพลังประชารัฐเกือบครึ่งเป็นผู้มีคดีทุจริตอยู่ในชั้น ป.ป.ช. ไม่อย่างนั้นก็มีเมียและพ่อแม่พี่น้องโดนคดีแบบนี้ ส่วนอดีต ส.ส.ที่ย้ายพรรคอีกกลุ่มก็มีคนใกล้ชิดที่ถูกพลเอกประยุทธ์ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 สั่งสอบสวนเรื่องการใช้เงินหลวงหลายสิบล้านตรงๆ

เฉพาะเบอร์ใหญ่ๆ ที่สังคมรับรู้ ป.ป.ช.ไต่สวนภรรยาคุณสมศักดิ์กรณีทุจริตก่อสร้างฝายนานแล้ว , คุณวราเทพ รัตนากร มีพี่ชายเป็นนายก อบจ.ที่คุณประยุทธ์พักงานโดยกล่าวหาว่าใช้เงินหลวงซื้อรถไว้ใช้ส่วนตัว, น้องชายคุณอนุชา นาคาศัย โดน ม.44 เล่นงานเรื่องใช้งบ อบจ.ช่วยทีมบอลตัวเอง 45 ล้าน ส่วนคุณวิรัช รัตนเศรษฐ โดน ป.ป.ช.แจ้งข้อหาทุจริตสนามฟุตซอล

ในกรณีแบบนี้ การเป็นลูกน้องของรัฐมนตรีที่ตั้งพรรคพลังประชารัฐเปิดโอกาสให้คิดเรื่องหลุดคดีได้แน่ๆ เพราะคนลงนามในคดีคือพลเอกประยุทธ์ผู้เป็นนายของรัฐมนตรีเหล่านั้น หรือไม่ก็คือองค์กรอิสระที่ประธานยอมรับว่าใกล้ชิดกับรองนายกผู้เป็นพี่ของพลเอกประยุทธ์อีกที
นอกจากอดีตรัฐมนตรีที่พัวพันคดีทุจริตทั้งทางตรงและทางอ้อมดังที่กล่าวไป อดีต ส.ส.ที่ย้ายพรรคหลายรายก็โดนดำเนินคดีจากการเรียกร้องเลือกตั้งปี 2553, ล้มเลือกตั้งปี 2557 หรือไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ซึ่งไม่ว่าคดีจะอยู่ในศาลแล้วหรือไม่ หลายคดีก็อยู่ในวิสัยที่อำนาจรัฐจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา
แม้ นปช.กับ กปปส.จะมีความคิดต่างกันสิ้นเชิง แต่ตอนนี้นักปราศรัยในเวทีคนเสื้อแดงอย่างคุณสุภรณ์ อัตถาวงศ์ และคุณไวพจน์ ก็เป็นพวกเดียวกับม๊อบล้มเลือกตั้งอย่างคุณพุทธิพงษ์, คุณสกลธี และคุณณัฎฐพลไปหมด และการร่วมพรรคที่รัฐมนตรีเป็นแกนนำนั้นให้ความอุ่นใจเรื่องคดีแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดองคดี, เป่าคดี หรือโดนโทษแค่รอลงอาญา

นักการเมืองกลุ่มลูกหลานผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่โดนคดีกรณีต่างๆ ก็เป็นอีกกลุ่มที่เข้าพลังประชารัฐด้วยเช่นกัน เพียงแต่โดยส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้โดนคดีอาญาระดับทุจริตหรือสั่งฆ่า ความช่วยเหลือทางคดีจึงไม่ง่าย และทำได้อย่างมากก็คือช่วยให้คนหนีคดีได้กลับมาโดยติดคุกเป็นพิธี

แน่นอนว่าอดีตนักการเมืองที่ย้ายพรรคไปอยู่กับลูกน้องพลเอกประยุทธ์นั้นไม่ได้โดนคดีทุกคน และการแบ่งเขตเลือกตั้งคือหนึ่งในเหตุผลที่พูดกันมากว่าทำให้เกิดการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.กลุ่มที่ปลอดคดี หากไม่รวมถึงโอกาสในการเป็นรัฐมนตรีจากยกพวกย้ายพรรคเป็นพวง

ตามที่อดีตผู้บริหารระดับสูงขององค์กรอิสระแห่งหนึ่งระบุ นักการเมืองกลุ่มใหญ่ตัดสินใจย้ายพรรคหลังคุณประยุทธ์ใช้ ม.44 เปิดทางให้ กกต. ล้มเขตเลือกตั้งที่ผ่านความเห็นประชาชน เพราะคำสั่งคือสัญญาณให้คิดต่อไปว่า กกต.ไม่ได้ทำงานโดยอิสระ และเขตเลือกตั้งใหม่น่าจะถูกจัดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคที่จัดตั้งโดยรัฐมนตรีที่เป็นลูกน้องคุณประยุทธ์เอง

ในข่าวลับที่หลายคนได้ยิน กกต.จัดเขตเลือกตั้งโดยรับฟังความเห็นประชาชนเสร็จตามระเบียบจนรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่กลางพฤศจิกายน จากนั้นบุคคลลึกลับก็ดองเรื่องจนกระบวนการเอกสารไม่อาจเดินหน้า และในที่สุดพลเอกประยุทธ์ก็มีคำสั่งในวันที่ 16 พฤศจิกายน เพื่อเปิดทางให้ กกต.แบ่งเขตใหม่โดยไม่ต้องคำนึงถึงคำทักท้วงของประชาชน

ไม่มีอะไรยืนยันว่าความล่าช้าในการเดินเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อรอคำสั่งคุณประยุทธ์หรือไม่ แต่ด้วยผลของเหตุการณ์ทั้งหมด พลังประชารัฐของลูกน้องพลเอกประยุทธ์ดูดอดีตรัฐมนตรีจากทุกพรรคได้ 19 ราย รวมทั้งอดีต ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2554 กับปีไหนไม่รู้อีก 64 ราย ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับเขตทุกคน
จากจุดตั้งต้นที่ใช้นโยบายจากภาษีประชาชนเป็นชื่อพรรคของลูกน้องนายกแบบไร้ยางอาย พลังประชารัฐกลายเป็นสัญลักษณ์ของพรรคที่อำนาจรัฐเอื้อเฟื้อด้วยกฎหมาย, เอาตำแหน่งเข้าล่อ, จัดเขตเลือกตั้ง ฯลฯ จนกลายเป็นพรรคที่มีอดีต ส.ส.เขตเกือบหนึ่งร้อยในเวลาไม่ถึงสามเดือน

แม้คุณประยุทธ์จะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคนี้ตรงๆ แต่ทุกคนก็รู้ว่าลูกน้องนายกต้องใช้พรรคนี้เสนอคุณประยุทธ์เป็นนายกตามกติกาที่ คสช.กำหนด เส้นทางของการสืบทอดอำนาจหลังรัฐประหารแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกตั้งแต่ปี 2557 จึงวางอยู่บนการไล่ดูดนักการเมืองเก่าจากพรรคต่างๆ โดยไม่เคยพูดถึงเรื่องนโยบาย

โดยปกติแล้วการเลือกตั้งทุกครั้งจะมี ส.ส.ใหม่ หลายสิบราย แต่ด้วยกฎหมายที่ คสช.สร้างขึ้นตั้งแต่คุมสื่อ, ห้ามพรรคการเมืองพูดเรื่องนโยบาย รวมทั้งไม่ให้นักการเมืองทำกิจกรรม ผู้สมัครหน้าใหม่จึงมีโอกาสหาเสียงน้อยจนแทบไม่มีเงื่อนไขให้ชนะเลือกตั้ง ส.ส. หน้าเก่า การไล่ดูดนักการเมืองเก่าๆ จึงแทบเป็นการล็อคเก้าอี้ ส.ส.ให้พรรคลูกน้องนายกทันที

ถ้าพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับการที่คสช.ห้ามพรรคอื่นทำกิจกรรมแทบทุกอย่าง นักการเมืองหน้าเก่าในพรรคของรัฐมนตรีย่อมได้เปรียบจากการหาเสียงล่วงหน้ายิ่งขึ้นไปอีก และแนวโน้มที่ประเทศไทยในปี 2562 จะมีรัฐบาลของนายกหน้าเก่าที่ร่วมมือกับนักการเมืองด้วยผลประโยชน์, อิทธิพล, การต่อรองอำนาจ ฯลฯ ยิ่งมากขึ้นโดยปริยาย

สื่อบางค่ายและนักการเมืองในพรรคที่ตั้งโดยลูกน้องคุณประยุทธ์พยายามสร้างเรื่องว่าการแย่งอำนาจแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ข้อเท็จจริงคือพลังประชารัฐเป็นพรรคแรกและพรรคเดียวในรอบหลายสิบปีที่ทำการเมืองแบบนี้ และในอดีตนั้นไม่เคยมีพรรคไหนใช้อำนจรัฐและการเอาเปรียบเพื่อชนะเลือกตั้ง อย่างพลังประชารัฐทำ

พูดก็พูดเถอะ ไทยรักไทยชนะเลือกตั้งปี 2544 ทั้งที่เป็นพรรคใหม่ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล , พลังประชาชนชนะเลือกตั้งปี 2550 ขณะที่ทหารยึดอำนาจแล้วตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ เป็นนายก ส่วนเพื่อไทยชนะเลือกตั้งปี 2554 ทั้งที่ประชาธิปัตย์มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ

ภายใต้การแสวงหาอำนาจที่น่าขยะแขยงจนประเทศอาจบังเกิดอำนาจรัฐที่น่าชิงชัง ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การเลือกว่าจะเชียร์ใครระหว่างทักษิณกับฝ่ายต้านทักษิณอย่างที่ถูกทำให้เข้าใจผิดๆ รวมทั้งไม่ใช่เรื่องการเลือกว่าจะอยู่ข้างใครระหว่างเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐด้วยซ้ำไป
ถึงที่สุดแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกว่าประเทศไทยหลังปี 2562 ควรสืบทอดเส้นทางแบบที่ทหารใช้กำลังยัดเยียดแก่คนทั้งประเทศตั้งแต่ปี 2557 และจะพันธนาการสังคมไทยต่อไปอีกยี่สิบปี หรือควรออกไปสู่เส้นทางใหม่ซึ่งประชาชนเลือกเองว่าจะไม่เป็นอย่างสี่ปีที่ผ่านมา

ตรงข้ามกับวาทกรรมว่าประเทศไทยหลังรัฐประหารดีขึ้นเพราะสงบสุขจนเศรษฐกิจรุ่งเรือง สี่ปีในระบอบ คสช.คือสี่ปีที่เสรีชนมีชีวิตภายใต้ทางเลือกที่รัฐบาลกำหนดอย่างสิ้นเชิง

“ไท” ที่หมายถึงอิสรภาพกลายเป็น“ไพร่” ซึ่งทำได้แค่ดิ้นรนให้มีความสุขในชีวิตที่รัฐบาลเลือกให้ และไม่มีตรงไหนในประเทศนี้ที่ประชาชนธำรงความเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง

นอกจากการคุมสื่อซึ่งเป็นการยัดเยียดให้ประชาชนฟังแต่รัฐบาลมาตลอดสี่ปี ประเทศไทยหลังปี 2557 เป็นประเทศที่อำนาจรัฐตรวจสอบไม่ได้, นโยบายสาธารณะเกิดจากรัฐมนตรีคิดเองเออเองกับพวกเดียวกัน ส่วนประชาชนมีหน้าที่แค่ทำตามกฎหมายและเสียภาษีให้รัฐบาลที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน
ประเทศไทยก่อนปี 2557 เป็นประเทศซึ่งรัฐขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี, เป็นประเทศซึ่งรัฐบาลแข่งกันสร้างนโยบายอย่างบัตรทอง, เบี้ยคนชรา, รถเมล์ฟรี, บ้านหลังแรก ฯลฯ เพราะถือว่าการดูแลประชาชนเป็นงานของรัฐบาลทั้งหมด รวมทั้งเป็นประเทศที่เห็นว่าการเปิดให้ประชาชนชุมนุมหรือต่อต้านรัฐบาลคือกลไกไม่ให้ผู้มีอำนาจทำตัวเหนือประชาชน

สี่ปีหลังรัฐประหาร 2557 เรากลายเป็นประเทศซึ่งค่าแรงขั้นต่ำแทบไม่เพิ่มขึ้น เงินเดือนคนจบปริญญาตรีไม่มีการปรับ เงินเดือนทหารและผู้พิพากษาเพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง งบบัตรทองถูกบริหารโดยผู้นำที่มองว่าเรื่องแบบนี้เป็นภาระ ส่วนการแสดงออกของประชาชนถูกไล่ล่าเพราะอำนาจรัฐเห็นว่าเป็นศัตรูของประเทศตลอดเวลา

การเลือกตั้งปี 2562 ไม่ใช่แค่การเลือกว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย แต่คือการเลือกเพื่อเปลี่ยนอนาคตประเทศไปสู่เส้นทางที่ประชาชนเป็นเจ้าของมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยคือการเลือกตั้งเพื่อทวงประเทศคืนจากทรราชของเสียงข้างน้อยที่ปกครองประเทศด้วยเครือข่ายพวกเดียวกันมาตลอดสี่ปี ซ้ำยังวางแผนยึดประเทศต่อไปอีกยี่สิบปี

ใครจะได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และกระทั่งนายกจะเป็นใครระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ก็อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุดด้วยซ้ำ เพราะวาระของประเทศในปี 2562 คือการปลดแอกประเทศจากสังคมปิดและเดินหน้าประเทศสู่สังคมเปิดที่คนเท่ากัน