ผ่าคดี! “ป้าทุบรถ” เปิดคำสั่งศาล-คุก 15 วัน สาวจอดขวาง ย้อนนาที-ปม “รำขวาน” ลามหนักปิดรูด 5 ตลาด

ได้ข้อสรุปกันแล้วในระดับหนึ่ง

สำหรับคดีอื้อฉาวอย่างกรณีป้าทุบรถ ที่จอดขวางทางเข้าบ้านเพื่อไปซื้อของในตลาดย่านสวนหลวง

เพราะทนไม่ไหวที่ถูกละเมิดสิทธิมานานหลายปี

และไม่ได้เกิดผลแค่เฉพาะรถที่จอดขวาง

แต่กลับส่งผลสะเทือนถึง 5 ตลาดที่อยู่รอบบ้านป้า ถูกรื้อถอนและปิดกันอุตลุด

เพราะไม่มีใบอนุญาต!??

พร้อมกับคำถามว่า กทม.ที่รับผิดชอบดูแลปล่อยให้เปิดกันมาได้อย่างไรเนิ่นนานหลายปี

มาครั้งนี้ก็ถึงคราวของคู่กรณี ในส่วนของสาวที่จอดรถขวางหน้าบ้าน โดยอ้างว่าจอดเพื่อไปซื้อของเพียง 15 นาที

เมื่อสืบสาวราวเรื่องก็พบว่าไม่ใช่เรื่องจริง

ศาลจึงพิพากษาจำคุก 15 วัน ปรับ 5 พันบาท

ถือเป็นบรรทัดฐานอีกเรื่อง สำหรับการคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิ์

คุก 15 วัน-จอดขวางบ้านป้า

หลังจากเป็นเรื่องเป็นราวกันมาร่วมปี ก็ถึงเวลาที่ศาลจะมีคำพิพากษา โดยวันที่ 26 พฤศจิกายน ศาลจังหวัดพระโขนง อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2561 ระหว่างพนักงานอัยการโจทก์ และ น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ อายุ 57 ปี น.ส.มณีรัตน์ แสงภัทรโชติ อายุ 61 ปี เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง น.ส.รชนิกร เลิศวาสนา อายุ 37 ปี

ในความผิดฐานจอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกอาคารฯ และก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ

ทั้งนี้ ศาลพิพากษาว่า น.ส.รชนิกรมีความผิดจริงตามฟ้อง โดยศาลวินิจฉัยในประเด็นสำคัญว่า ที่อ้างว่าใช้เวลาจอดรถซื้อของเพียง 15 นาทีนั้น โจทก์ซึ่งอ้างตัวเป็นพยาน เบิกความระบุว่าจำเลยจอดรถขวางหน้าบ้าน ไม่สามารถออกได้ จึงต้องใช้เวลาบีบแตรนานถึง 30 นาที

ศาลพิจารณาเห็นว่า หากจำเลยจอดรถใช้เวลาไม่นาน โจทก์คงไม่นำเสียมและขวานมาทุบกระจกรถของจำเลย จึงเชื่อว่าจำเลยจอดรถขวาง ใช้เวลาซื้อของตามประสงค์ของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของบุคคลอื่น

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเล็งเห็นผลต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง อันเป็นการทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเดือดร้อนรำคาญบนถนนสาธารณะ ซึ่งประชาชนชอบที่จะใช้สัญจรได้

ถือว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน ทั้งเป็นการจอดรถตรงปากทางเข้า-ออกอาคารในลักษณะกีดขวางการจราจร การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 57 (10) (15), 148 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญเป็นการกระทำในที่สาธารณสถาน หรือต่อหน้าธารกำนัล จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น

เป็นความเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักสุดลงโทษแก่จำเลย ตามมาตรา 90 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เพื่อให้คดีเลิกกัน

จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 397 วรรคสอง เป็นบทหนักที่สุด จำคุก 15 วัน และปรับ 5 พันบาท

แต่เห็นว่าจำเลยไม่ปรากฏเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอกำหนดการลงโทษ 1 ปี

ขณะที่ทนายของ 2 ป้าทุบรถระบุว่า ส่วนคดีที่ 2 ป้าตกเป็นจำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ กรณีใช้ขวานและเหล็กยาวทุบทำลายรถยนต์ของ น.ส.รชนิกรที่จอดขวางบ้านตัวเอง ที่ผ่านมาศาลนัดไกล่เกลี่ย แต่ไม่ลงตัว ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 7 มีนาคม 2562

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตาม

ย้อนนาทีขวานทุบรถ

สําหรับเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่มาของคดี เกิดขึ้นเมื่อช่วงสายของวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ ณ ตลาดนัดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม.

เป็นจังหวะต่อเนื่องจากที่ น.ส.รชนิกรขับปิกอัพนิสสัน นาวารา สีขาว ทะเบียน ฎค 9297 กทม. ไปจอดหน้าประตูบ้านเลขที่ 37/208 ซึ่งเป็นบ้านของ น.ส.รัตนฉัตร ก่อนลงจากรถไปซื้อของในตลาดนัด

ซึ่งประจวบเหมาะกับจังหวะที่คนในบ้านจะออกไปทำธุระ เมื่อเปิดประตูออกเจอรถขวางก็บีบแตรไล่เสียงดังสนั่น เรียกความสนใจจากคนที่ผ่านไปผ่านมา แต่น่าเสียดายที่เจ้าของรถไม่กลับมาดู

ทันใดนั้น น.ส.มณีรัตน์ก็คว้าขวานมาจามไปที่กระจกรถ ขณะที่ น.ส.รัตนฉัตรใช้เสียมทุบที่กระโปรงหน้ารถและกันชนจนพังเสียหาย

เวลาผ่านไปอีกหลายนาที จนกระทั่ง น.ส.รชนิกรที่ช้อปปิ้งเสร็จ กลับมาถึงรถ เห็นภาพความเสียหายก็ช็อกหนัก จนเกิดวิวาทะ ถูกตั้งคำถามถึงจิตสำนึกที่จอดรถขวางประตูบ้านคนอื่น

ขณะที่ น.ส.รชนิกรแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ สน.ประเวศ ในฐานะที่รถถูกทุบเสียหาย

พร้อมเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ก่อนเกิดเหตุขับรถมาจากมหาชัยมาหาเพื่อน แล้วก็ขับรถมาตั้งใจจะไปซื้อของที่ตลาด แต่ไม่มีที่จอดรถ พยายามหาที่จอดรถข้างถนน จนมาเจอที่จอดดังกล่าวอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่ง คิดว่าเป็นบ้านร้างที่ถูกบังคับคดี เพราะติดป้ายไว้เยอะแยะ มีลวดสะลิงล็อกกุญแจ แต่ไม่ได้อ่านว่าป้ายเขียนอะไรบ้างเพราะเยอะ

เมื่อจอดแล้วก็ล็อกเกียร์ เพราะเป็นความเคยชิน จะได้ไม่มีใครมาเข็นหรือเคลื่อนรถเราได้

ยอมรับว่าผิดที่จอดขวางทางเข้า-ออกบ้านคนอื่น แต่ก็ไม่ควรจะทำแบบนี้กับรถเรา ส่วนกระแสข่าวว่ามีคนเสียชีวิตเพราะไปหาหมอไม่ทันเนื่องจากถูกจอดขวางหน้าบ้านก็เป็นคนละเรื่องกัน หลังจากนี้ก็จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

เป็นคดีที่ยังรอการพิจารณา

ลามปิด 5 ตลาดสวนหลวง

โดย น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ เจ้าของบ้านแถลงเปิดใจหลังเกิดเหตุ ระบุว่าวันเกิดเหตุพยายามเลื่อนรถที่จอดขวาง บีบแตร โทร.แจ้งความแล้ว แต่ก็ไม่มีใครมา เราต้องการให้สิ่งกีดขวางนี้ออกไป คนจอดรถต้องมีจิตสำนึก ป้ายก็มีติดไว้ คุณมากล่าวหาว่าบ้านร้างถูกบังคับคดีได้อย่างไร

วันเกิดเหตุสอบถามคนขับรถกระบะ เขาบอกว่าได้ยินเสียงแตรแล้ว แต่ยังซื้อของไม่เสร็จ แต่คุณกลับใส่เบรกมือทิ้งไว้ ทำได้อย่างไร เมื่อมาถึงก็เอาของใส่รถ แล้วยังยืนอยู่เกือบครึ่งชั่วโมง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดเรา เราเป็นคนที่พักอาศัย กรุณาอย่าสนับสนุนคนที่เข้ามาทำผิดกฎหมาย

ทุกคนยืนดูเรากดแตรตั้งนาน ไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ เราต้องปกป้องสิทธิของตัวเอง ถ้าเป็นบ้านคุณ จะทำอย่างนี้เหรอ คนที่ยืนดูพวกตลาด ไม่มีใครสนใจเลย ก่อนที่จะทำ ได้ทำทุกอย่างแล้ว มันเป็นเรื่องสุดวิสัยที่ทำลงไป

ที่ผ่านมาตลอด 10 ปี เราต่อสู้กับอำนาจมืด เรามาอยู่ในพื้นที่จัดสรรเพื่ออยู่อาศัย เดิมซื้อที่ดินนี้ ไม่มีตลาด แต่ต่อมามีตลาดทั้งซ้ายขวา มีเต็นท์โครงเหล็กขนาดใหญ่ ฝนตกน้ำก็เทเข้าบ้าน โดยผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้นออกใบอนุญาตให้ ทั้งที่มีคำสั่งคุ้มครองจากศาล แล้วยังละเลยปล่อยให้มีตลาดขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้านหน้า ด้านข้างเป็นตลาด ด้านหลังเป็นที่จอดรถ เกิดมลพิษทางเสียง ควันรถ เดือดร้อนตลอดเวลา ไม่เคยคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อยู่อาศัย

ส่วนที่ต้องเอาสะลิงมาขวาง เพราะมีรถมาขนถ่ายสินค้าหน้าประตูบ้าน รถขนของหนักๆ ทำให้ประตูพัง

ความเดือดร้อนก็มีก่อนนี้ คุณแม่ไม่สบาย เป็นโรคปอด ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล แต่รถออกไม่ได้ ต้องไปนอนโรงพยาบาล จนเสียชีวิต เพื่อนบ้าน พ่อไม่สบาย ก็ออกจากบ้านไม่ได้ เพื่อนบ้านอีกคนตกบันไดขาหัก รถพยาบาลเข้าไม่ได้ ต้องลงไปกราบถนนเพื่อขอร้องก็เคยมาแล้ว

และแน่นอน เมื่อเรื่องที่ซุกไว้ถูกรื้อขึ้น ก็ส่งผลสะเทือนถึงขั้นตลาดที่อยู่ใกล้เคียง 5 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดสวนหลวง ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลือง ที่เปิดตามอำเภอใจเพราะไม่ได้ขออนุญาตจัดตั้งตลาดก็ถูกปิดแทบจะในทันที

แม้ความเดือดร้อนของป้าทุบรถจะถูกเยียวยาในระดับหนึ่ง

ก็ยังคงมีคำถามว่า เมื่อไม่ได้ขออนุญาตแล้วทำไมเปิดมาได้เกือบสิบปี แล้วไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับใดที่ต้องรับโทษจากความละเลยครั้งนี้เลย

หรือควรที่จะมีบทลงโทษ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

เป็นเรื่องที่สังคมยังจับตาดู