คนมองหนัง l “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2” : “ความผิด” และ “ความหวัง” ของคนอีสานร่วมสมัย

คนมองหนัง

ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2″ หนังยาวลำดับที่สามใน “จักรวาลไทบ้าน” ผลงานการกำกับภาพยนตร์โดย “สุรศักดิ์ ป้องศร” คล้ายจะปะทะกับอุปสรรคสำคัญ ณ เบื้องต้น

เมื่อหนังประสบปัญหาในขั้นตอนการพิจารณาเรตติ้งของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (กรรมการเซ็นเซอร์) จนต้องจำใจตัดภาพเหตุการณ์และเนื้อหาบางส่วนออกไป และต้องเลื่อนเปิดตัวจากวันที่ 22 เป็นวันที่ 24 พฤศจิกายน

แต่กระนั้น หลังการเข้าฉายเพียงสองวัน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2” ก็เก็บรายได้ไปอย่างงดงาม

ระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน หนังทำรายได้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่ 11.44 ล้านบาท (ข้อมูลจากชมรมวิจารณ์บันเทิง)

ทว่าหากนับรายได้รวมทั่วประเทศ หนังรายนี้ก็ทำเงินไปแล้ว 46.1 ล้านบาท (ข้อมูลจาก http://www.thailandboxoffice.com)

ขออนุญาตเขียนถึง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2” โดยเริ่มต้นจากจุดที่ไม่ค่อยชอบก่อน

หากเทียบกับหนังภาค 1 และ 2.1 “ไทบ้านฯ 2.2” มีโครงสร้างเรื่องราวที่คมชัดเป็นระบบน้อยลง

เมื่อกรอบโครงความคิดที่เคยแข็งแกร่งของหนังมีลักษณะหละหลวมขึ้น การถ่ายทอดภาพรวมหรือภาพแทนของหมู่บ้าน/ชุมชน/สังคมอีสานร่วมสมัยผ่านมุมมองเชิงวิพากษ์ ซึ่งโดดเด่นมากๆ ในสองภาคแรก จึงพลอยเลือนรางพร่าเบลอไปด้วย

การไม่มุ่งเน้นความสำคัญไปยังโครงสร้างหรือภาพกว้าง ส่งผลให้ “ไทบ้านฯ 2.2” ต้องเล่าเรื่องราวเยอะแยะยิบย่อยผ่านการลงรายละเอียดชีวิตของบรรดาตัวละคร

บ้างก็เป็นปัจเจกบุคคล บ้างก็เป็นกลุ่มคน ในหมู่บ้านอีสานแห่งหนึ่ง

เรื่องราวของบางคน/บางกลุ่มในหนังมีความเข้มข้นกำลังดี แต่น่าเสียดายที่เรื่องราวของบางคน/บางกลุ่ม ซึ่งเคยมีความสำคัญในหนังภาคก่อนๆ กลับจมหายไปท่ามกลางมหาสมุทรของเส้นเรื่องจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม สามตัวละครหลักของ “จักรวาลไทบ้าน” คือ “ป่อง” “จาลอด” และ “พระเซียง” ยังคงสถานะเป็น “สามเส้นเรื่องตรงจุดศูนย์กลาง” ผู้มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป ใน “ไทบ้านฯ 2.2”

ความหวังอันยิ่งใหญ่ในการทำธุรกิจ “สโตร์ผัก” ของ “ป่อง” กลายสภาพเป็นความจริงอันไม่สวยหรูและ (เกือบจะ) ล้มเหลว

หนุ่มอีสานลูกผู้ใหญ่บ้านที่จบปริญญาจากกรุงเทพฯ คือคนช่างคิดช่างฝัน เจ้าไอเดีย ในหัวบรรจุศัพท์เฉพาะทางการตลาดที่สุดแสนจะสวยหรูเอาไว้มากมาย

แต่เขาทำอะไรไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอัน ฝันฟุ้งเฟื่องของเขามีปัญหาเมื่อนำมาลงมือปฏิบัติจริง และเขาเริ่มรู้จักคำว่า “แพ้”

น่าผิดหวังนิดหน่อยที่หนังคลี่คลายปมปัญหานี้ ด้วยการผลักดันให้ “ป่อง” ซมซานกลับไปหาพ่อผู้ใหญ่และครอบครัว รวมทั้งปลุกเสกให้ธุรกิจที่เพิ่งล้มเหลวของเขาฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาแบบหน้าตาเฉยด้วยอิทธิฤทธิ์เฟซบุ๊ก (ไม่รู้จัก “อีตามาร์ก” ซะแล้ว)

“จาลอด” อดีตตัวละครนำของ “ไทบ้านฯ 1” เหมือนจะสูญเสียตำแหน่ง “พระเอก” ไปโดยสมบูรณ์

ในหนังภาค 2.2 เขายังเป็นเพียง “ผู้ช่วยนักธุรกิจ” ของ “ป่อง” เป็นตัวละครสมทบเมื่อประกบกับ “พระเซียง” แม้แต่เวลาเข้าฉากกับ “บักมืด” น้องชาย บทบาท-แอ๊กชั่น-อารมณ์ของ “มืด” ก็ยังแลดูเข้มข้นรุนแรงฉูดฉาดกว่า

ทว่าเมื่อ “จาลอด” ถูกนำไปจัดวางอยู่เคียงข้าง “ป่อง” ในสโตร์ผัก เขากลับกลายเป็นดังตัวแทน-ปากเสียงของชาวบ้านท้องถิ่น ที่ทั้งชีวิตแทบไม่เคยเดินทางออกไปไหนไกลนอกชุมชน/อำเภอ/จังหวัด

“จาลอด” มิใช่ “คนอีสานผู้เรียนรู้โลกกว้าง” แบบ “ป่อง” แต่เขาและชาวบ้านอีกหลายราย คือคนทำงาน ลงแรง เสียเหงื่อจริงๆ ซึ่งร่วมกันก่อร่างสร้างให้ฝันของ “ป่อง” มีลักษณะจับต้องได้เป็นรูปธรรม

และเป็น “จาลอด” นี่เอง ที่กล้าเอ่ยเตือน “ป่อง” ว่าบางสิ่งที่เขาคิดฝันว่ามันดีมันใช่นั้น “อาจไม่ใช่และไม่เวิร์ก”

หลายคนจับจ้อง “พระเซียง” กับฉากปัญหาที่ทำให้หนังเกือบไม่รอดเงื้อมมือกรรมการเซ็นเซอร์

ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ถูกตัดทิ้งออกไปนั้นลดทอนพลังดราม่าในฉากไคลแมกซ์ช่วงท้ายภาพยนตร์ลงพอสมควร

แต่ “ภาพพระร้องไห้กอดโลงศพอดีตคนรัก” ก็เป็นอะไรที่ “ขี้ปะติ๋ว” มากๆ หากเทียบกับ “ใจความสำคัญ” ที่ “พระเซียง” ครุ่นคิดเอื้อนเอ่ยมาตลอดทั้งเรื่อง

นั่นคือจุดใหญ่ใจความที่ปรากฏผ่าน “คำถาม” ว่า ณ ปัจจุบัน พุทธศาสนา/วัด/พระ ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหา/ความทุกข์ทางโลกย์ได้อยู่หรือไม่? มากน้อยเพียงใด?

นี่คือคำถามหลักของชีวิตที่ “พระเซียง” เฝ้าเน้นย้ำอยู่เสมอ ทั้งเมื่อไปเทศน์สอนเด็กๆ ที่โรงเรียน เมื่อขบคิดทบทวนตัวเองยามคะนึงถึงคนรักเก่า และเมื่อเอ่ยสารภาพอย่างเซื่องซึมกับเพื่อนฝูงหลังลาสิกขา

ใจความดังกล่าวคือสิ่งที่อำนาจรัฐควรหวาดหวั่นมากกว่าเหตุการณ์เล็กๆ เรื่อง “พระร้องไห้”

เพราะความเห็นความรู้สึกของ “พระเซียง” ถือเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของโครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึกขนาดใหญ่ ที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยมี/รู้สึกร่วมกัน

นอกจากเส้นเรื่องว่าด้วยชีวิตสุขๆ โศกๆ ดีๆ ชั่วๆ ของตัวละครหลัก มีประเด็นร่วมข้อหนึ่ง ที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งใน “ไทบ้านฯ 2.2” ได้แก่ การกำหนดให้ตัวละครแทบทุกราย “ทำผิด-คิดผิด” กันตลอดเวลา

จุดน่าสนใจข้อแรกต่อประเด็นนี้คือ หนังไม่พยายามแสวงหาความชอบธรรมให้แก่การกระทำผิดพลาดของเหล่าตัวละคร

“ไทบ้านฯ 2.2” ยอมรับอย่างซื่อๆ ง่ายๆ ว่าคนทำผิดก็คือคนทำผิด และพวกเขาต้องรับผลจากความผิดพลาดเหล่านั้น พวกเขามิได้ทำผิดเพราะมีเหตุผลที่ถูกต้อง/ฟังขึ้น/สวยๆ หล่อๆ ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ด้วยโลกทัศน์เช่นนี้ มนุษย์เราจึงมืดบอดกันได้ทุกคน โดยที่ชีวิตดีๆ แย่ๆ ยังคงดำเนินต่อไป

จุดน่าสนใจข้อต่อมาคือ ตัวละครเกือบทั้งหมดแทบจะไม่ได้สำนึกผิดหรือเอ่ยขอโทษในสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาดอย่างตรงไปตรงมา ทั้งต่อคู่กรณีและสาธารณชน

ที่สำคัญ ทุกคนมีแนวโน้มจะเดินหน้ากระทำในสิ่งที่ “อาจพลั้งผิด” ต่อไปได้เรื่อยๆ

พูดง่ายๆ ว่า ไม่มี “ไม้บรรทัดจริยธรรม” อันเคร่งครัดเที่ยงตรง มาคอยกำกับ/ตรวจสอบ/เทียบวัด “คุณงามความดี” ของหลากหลายตัวละครในหนังเรื่องนี้

อีกประเด็นที่ “ไทบ้านฯ 2.2” รับมอบมรดกตกทอดมาจากหนังสองภาคแรก ก็ได้แก่ การหยิบอุดมคติเรื่อง “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ของรัฐไทย และสถานภาพสูงส่งทรงอำนาจของ “ตัวแทนอำนาจรัฐ” มาดัดแปลง เคลื่อนย้าย เขย่า ขยี้ และหยอกล้อกันอย่างมันมือมันอารมณ์

หนังใน “จักรวาลไทบ้าน” ภาคล่าสุด ยังคงกล่าวถึงรัฐและตัวแทนอำนาจรัฐ ในฐานะของตัวแสดง/องค์กรที่ค่อนข้างจะไม่มีประสิทธิภาพ

คุณค่าหรือความหมายในทางสังคมของ “วัด” ถูกลบเลือนโดย “พระ/ทิดเซียง”

เราเห็นบทบาทของ “ครูแก้ว” ใน “ครัวเรือน” ไม่ใช่ใน “โรงเรียน” มิหนำซ้ำ “จาลอด” ยังยุกึ่งหยอกให้ “บักมืด” หยุดเรียน และไปต่อย ผอ.

“หมอปลาวาฬ” จากศูนย์สุขภาพชุมชน มีสถานะเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกฉวยใช้มาช่วยโปรโมตธุรกิจสโตร์ผัก

และเมื่อ “หัวหน้าห้องสาว” เผชิญหน้าปัญหารักสามเส้า เธอก็ถูกลดสถานะลงเป็นเพียง “อีขี้ข้า-อีลูกน้อง”

เราเห็น “ตำรวจหนุ่ม” หนึ่งนายมาร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่เกือบเจ๊งของ “ป่อง” และไม่มี “ทหาร” ปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้

พลานุภาพที่น่าเกรงขามเพียงประการเดียวของตัวแทนอำนาจรัฐในหนังคือ การหว่านเงินแบบ “ประชานิยม” (หรือจะเรียก “ประชารัฐ” ก็ได้ ฮา!) ของแม่บุญทุ่มอย่าง “ครูแก้ว” ที่ทั้งซื้อตู้เย็นให้บ้านแฟน (โดยใช้เงินพ่อ), ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้น้องชายแฟนขี่ไปจีบสาว, จ้างลูกศิษย์ไปโรงเรียน และเผลอๆ อาจจะซื้อรถเก๋งให้แฟนขับในอนาคต

ทั้งหมดนั้นคือการอุปถัมภ์สงเคราะห์ครอบครัวแค่หน่วยเดียว ผ่านสายสัมพันธ์/ความสนิทเสน่หาส่วนตัว แต่ไม่ได้สร้างโอกาสให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวงกว้างในระดับชุมชน

เมื่อ “รัฐราชการ” ปราศจากน้ำยา แล้วความหวัง/ความเปลี่ยนแปลง/อนาคตของคนหรือชุมชนอีสานใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” นั้นจะถูกฝากฝังไว้กับผู้ใดได้อีก? (นอกจากตัวชาวบ้านเอง เช่น “ป่อง” หรือ “จาลอด”)

บุคคลกลุ่มแรกที่หนังกล่าวถึงเป็นนัยๆ คือ “นักการเมือง” ผู้มาพร้อมกับความหวัง

ในที่สุด “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” นายทุนและผู้อำนวยการสร้าง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ก็ปรากฏกายเป็นนักแสดงรับเชิญของ “ไทบ้านฯ 2.2”

“สิริพงศ์” รับบทเป็นเจ้าของเงินก้อนใหม่ ซึ่งจะเข้ามาร่วมลงทุนกับธุรกิจกิจการสโตร์ผักของ “ป่อง”

เขาคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ขาดหายไปในภาพจินตนาการความคาดหวังของ “คนอีสานผู้เรียนรู้โลกกว้าง” “หนุ่มสาวอีสานผู้เปี่ยมฝัน” และหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ

โดยสรุป เขาคือเจ้าของเงินตราก้อนใหม่ ผู้ร่วมทุนรายใหม่ ผู้สนับสนุนให้เกิดการสร้างโอกาสในการประกอบวิชาชีพรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งมิใช่ผู้อุปถัมภ์สงเคราะห์แบบ “บนลงล่าง” สไตล์ “ครูแก้ว”

นอกจอภาพยนตร์ “สิริพงศ์” คืออดีตนักการเมืองหนุ่มแห่งพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเพิ่งย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย เพื่อลงสนามเลือกตั้งต้นปีหน้า

ตัวละครกลุ่มที่สองซึ่งมาพร้อมกับอนาคตของ “จักรวาลไทบ้าน” คือ “ผีตายทั้งกลม” และ “สัปเหร่อ”!

ฉากท้ายสุดของหนังภาค 2.2 บ่งบอกว่าหมู่บ้านในภาพยนตร์กำลังเคลื่อนคล้อยเข้าสู่สถานการณ์หรือยุคสมัยที่มีสิ่งลี้ลับ อำนาจเหนือธรรมชาติ และพิธีกรรม-ความเชื่อทางไสยศาสตร์ เป็นแกนกลาง

หมู่บ้านแห่งนี้จะต้องเผชิญหน้า “ผี” และ “หมอผี” ซึ่งย้อนแย้งกับแก่นแกนหลักของหนังสามภาคที่ผ่านมา นั่นคือ “ความเป็นอีสานสมัยใหม่”

ต้องจับตาว่าโครงการหนังยาวลำดับถัดจากนี้ เรื่อง “สัปเหร่อ” จะนำพา “จักรวาลไทบ้าน” เดินไปยังทิศทางไหนกันแน่?